วันตำรวจ
กิจการตำรวจได้ก่อกำเนิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ โดยพระองค์ได้ทรงโปรดเกล้า ฯ ให้ตราระเบียบการปกครองบ้านเมืองเป็น 4 เหล่า เรียกว่า "จตุสดมภ์" ได้แก่ เวียง วัง คลัง นา และพร้อมกันนี้ ได้โปรดเกล้า ฯ ให้มีการตำรวจขึ้น โดยให้ขึ้นอยู่กับเวียง อันมีเจ้าพระยาจักรีศรีองครักษ์ สมุหนายก อัครมหาเสนาบดีเป็นผู้บังคับบัญชา ในปี พ.ศ. 2405 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการปรับปรุงกิจการตำรวจครั้งสำคัญ กล่าวคือ มีการจัดตั้งกองตำรวจ ขึ้นเป็นครั้งแรกตามแบบอย่างยุโรป เรียกว่า กองโปลิศ โดยจ้างชาวมลายูและชาวอินเดีย เป็นตำรวจ เรียกว่า คอนสเตเปิล ให้มี หน้าที่รักษาการณ์แต่ในเขตกรุงเทพมหานครชั้นใน และขึ้นอยู่กับสังกัดกรมพระนครบาล ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการปรับปรุงกองโปลิศ และจัดตั้งตำรวจภูธรขึ้นเป็นทหารโปลิศ ในปี พ.ศ. 2419 เพื่อให้เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในส่วนภูมิภาคและให้สามารถปฏิบัติการทางทหารได้ด้วย โดยได้ว่าจ้างนาย G.Schau ชาวเดนมาร์ก เป็นผู้วางโครงการ ต่อมาในปี พ.ศ. 2420 กองทหารโปลิศได้เปลี่ยนชื่อมาเป็นกรมกองตระเวณหัวเมือง และได้มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นแทนกรมกองตระเวณหัวเมืองในปี พ.ศ. 2440 และได้โปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้ พลตรี พระยาวาสุเทพ (G.Schau) เป็นเจ้ากรมตำรวจภูธร และได้มีการขยายกิจการตำรวจไปยังหน่วยการปกครองส่วนภูมิภาคตามลำดับ
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการรวบรวมกิจการตำรวจมาเป็นกรมเดียวกัน เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2458 เรียกว่า กรมตำรวจภูธรและกรมพลตระเวน และในปลายปีได้เปลี่ยนเป็นกรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาล และยกฐานะของเจ้ากรมขึ้นเป็นอธิบดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2465 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้รวมกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงพระนครบาลเป็นกระทรวงเดียวกันเรียกว่า กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลจึงโอนมาขึ้นอยู่กับกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 กรมตำรวจภูธรและกรมตำรวจนครบาลได้เปลี่ยนชื่อเป็น กรมตำรวจภูธร แต่ยังคงแบ่งตำรวจออกเป็น 2 ประเภท คือ ตำรวจที่จับกุมโจรผู้ร้าย ไต่สวนทำสำนวนฟ้องศาลโปลิศสภาโดยตรงเรียกว่า ตำรวจนครบาล ส่วนตำรวจที่ทำการจับกุมโจรผู้ร้ายได้แล้ว ส่งให้อำเภอไต่สวนทำสำนวนให้อัยการฟ้องศาลอาญาประจำจังหวัดนั้น ๆ เรียกว่า ตำรวจภูธร จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 จึงได้มีการเปลี่ยนชื่อจากกรมตำรวจภูธร มาเป็นกรมตำรวจ จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันประกาศรวมกรมพลตระเวณกับกรมตำรวจภูธรเป็นกรมเดียวกัน กรมตำรวจจึงได้ยึดถือเอาวันที่ 13 ตุลาคมของทุกปี เป็นวันตำรวจ และได้มีการประกอบพิธีในวันตำรวจอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2492 ซึ่งในขณะนั้น พล.ต.อ. หลวงชาติตระการโกศล เป็นอธิบดีกรมตำรวจและจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาในปี พ.ศ. 2494 พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น ได้จัดให้มีพิธีเดินสวนสนาม และปฏิบัติต่อเนื่องมาจนถึง พ.ศ. 2500 จึงระงับการจัดพิธีเดินสวนสนาม ประกอบแต่พิธีทางศาสนา ซึ่งจัดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี
ขอบคุณที่มา : สำนักงานตำรวจแห่งชาติ