จุฬาฯฟื้น ดรัมเมเยอร์
ส่วนขบวนพาเหรดก็จะเน้นการเฉลิมพระเกียรติ 'เจ้าฟ้าพระอาจารย์' เป็นหลัก แต่หนึ่งกิจกรรมที่จะเป็น 'สีสัน' ให้กับงานนอกจากเชียร์ลีดเดอร์แล้ว ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีการรื้อฟื้น 'ดรัมเมเยอร์' ขึ้นมาอีกด้วย หลังจากที่ 'หาย' ไปนานถึง 14 ปี
ความสนุกของ "งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 64" จะเริ่มขึ้นในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้แล้ว หลังจากที่เลื่อนจากช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เนื่องจากยังอยู่ในช่วงไว้ทุกข์ 100 วัน สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สิ้นพระชนม์ งานในครั้งนี้ เน้นรูปแบบเรียบง่าย เน้นกิจกรรมการเชียร์กีฬาเป็นสำคัญ ส่วนขบวนพาเหรดก็จะเน้นการเฉลิมพระเกียรติ "เจ้าฟ้าพระอาจารย์" เป็นหลัก แต่หนึ่งกิจกรรมที่จะเป็น "สีสัน" ให้กับงานนอกจากเชียร์ลีดเดอร์แล้ว ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังมีการรื้อฟื้น "ดรัมเมเยอร์" ขึ้นมาอีกด้วย หลังจากที่ "หาย" ไปนานถึง 14 ปี "จริงๆ แล้วเริ่มต้นเพราะว่านิสิตคณะทำงานหยิบยกเรื่องดรัมเมเยอร์ขึ้นมา ซึ่งผมในฐานะรุ่นพี่ก็เห็นด้วย เพราะดรัมเมเยอร์ของจุฬาฯ ที่เป็นสีสันของงาน มันหายไปนานมาก ขณะที่ฟากธรรมศาสตร์เขามีทุกปี ครั้งสุดท้ายของจุฬาฯ คือ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ครั้งที่ 50 ซึ่งตอนนั้นเป็นเหมือนช่วงรอยต่อของงานฟุตบอลประเพณี ช่วงนั้น งานนี้เป็นที่ได้รับความสนใจมากจนถึงจุดหนึ่ง ความสนใจถึงขีดสุดแล้วก็เริ่มซาลง ดรัมเมเยอร์ของจุฬาฯจึงหายไปด้วย"
บุญเกษม เสริมวัฒนากุล กรรมการสมาคมนิสิตเก่าจุฬาฯ ฝ่ายเลขาฯ และพิธีการ ผู้ประสานงานกลาง และเป็นผู้ประดิษฐ์ท่าเชียร์ลีดเดอร์ของจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัยเล่าย้อน หลายคนสงสัยว่า ดรัมเมเยอร์แท้จริงมีหน้าที่อะไร บุญเกษมเล่าอีกว่า หน้าที่ของดรัมเมเยอร์ คือ เป็นผู้นำขบวนพาเหรด ซึ่งในอดีตนั้น ดรัมเมเยอร์ใช้อุปกรณ์คทา เพียงแต่ยกขึ้นลง แต่ปัจจุบันได้มีการปรับเปลี่ยนให้เป็นดรัมเมเยอร์ลีลามากขึ้น
เพราะว่าต้องแสดงประกอบเพลงพระราชนิพนธ์ประจำมหาวิทยาลัย เพลงมหาจุฬาลงกรณ์ด้วย เพราะฉะนั้น ท่าทางต่างๆ จึงต้องมีการคิดค้นประดิษฐ์ขึ้นใหม่เพื่อให้สามารถสื่อความหมายสอดคล้องกับเนื้อเพลงด้วย "อีกนัยหนึ่งของการที่ต้องมีดรัมเมเยอร์คือ เป็นกุศโลบายให้นิสิตนักศึกษาได้มีส่วนร่วมกับงานฟุตบอลประเพณีมากขึ้น เพราะนี่คือกิจกรรมของมหาวิทยาลัย" สำหรับ "ดรัมเมเยอร์" ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว หากย้อนกลับไป ผู้ที่ทำหน้าที่อันทรงเกียรตินี้ ล้วนแล้วแต่เป็นผู้คนมีชื่อเสียงในวงสังคมทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ท่านผู้หญิงมณฑิณี มงคลนาวิน (บุญยประสพ), ม.ร.ว.สิริมาดา ลิ่วเฉลิมวงศ์ (วรวรรณ), สัณหจุฑา จิราธิวัฒน์ (สุวรรณจินดา), ผศ.ดวงใจ อมาตยกุล จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ฐิติมา สุตสุนทร เป็นต้น
ซึ่งเรื่องนี้ ผู้ประสานงานกลางบอกว่า จะคัดเลือกจากดาวของมหาวิทยาลัย โดยในปีนี้มีจำนวน 5 คน ชาย 1 คน หญิง 4 คน "การรื้อฟื้นครั้งนี้ ผมหวังว่านอกจากมันจะช่วยสร้างสีสันให้กับงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์แล้ว ยังหวังว่าจะเป็นการนำร่องให้รุ่นน้องได้จัดต่อเนื่อง และช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น" อีกหนึ่งสีสันของงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ครั้งที่ 64