ภาพยนตร์สั้น ม.รังสิต คว้า 5 รางวัลจากมูลนิธิหนังไทย
ทุกๆปี มูลนิธิหนังไทย จะมีการจัดประกวดภาพยนตร์สั้นขึ้น เพื่อส่งเสริมให้บุคคลทั่วไป เยาวชน และนักศึกษาได้ส่งผลงานภาพยนต์สั้นเข้าประกวด และภาพยนตร์สั้นบ้างเรื่องที่ส่งเข้าประกวดหรือได้รับรางวัลจะถูกนำไปเผยแพร่ในต่างประเทศ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนและประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์สั้นระหว่างประเทศในแถบทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกา
และในปีนี้นักศึกษาสาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิตก็ไม่ทำให้ผิดหวัง คว้ารางวัลสำคัญมากว่า 5 รางวัล ได้แก่ รางวัลช้างเผือก ภาพยนตร์สั้นนักศึกษายอดเยี่ยม เรื่อง นักโทษ รางวัลถ่ายภาพยอดเยี่ยม Kodak Filmschool Competition เรื่อง Red Man รางวัลขวัญใจมหาชน Popular Vote เรื่อง เรื่อง-ของ-วัตถุ ประกาศนียบัตรชมเชย ผลงานภาพยนตร์สั้นนักศึกษา เรื่อง Red Man และ เรื่อง-ของ-วัตถุ
เรื่อง-ของ-วัตถุ
นางสาวเจนจิฬา โชติประทุม ว่าที่บัณฑิตคณะนิเทศศาสตร์ และนายภูมิ บุณยสมภพ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ภาพยนตร์สั้น เรื่อง-ของ-วัตถุ ชนะรางวัลขวัญใจมหาชน และประกาศนียบัตรชมเชย โดยเรื่องราวถูกถ่ายทอดผ่านพ่อและลูกคู่หนึ่ง ด้วยคำสัญญาที่จะต้องซื้อรถให้ลูก พ่อจึงพาลูกไปที่วัดแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นวัดที่เก็บพระพุทธรูปที่ได้รับมรดกมา เมื่อลูกได้รู้ว่าพระที่ตนต้องการนั้นเป็นพระที่ชาวบ้านแถวนั้นให้ความนับถือ กราบไว้บูชา เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำใจของคนแถวนั้น เขาจึงเปลี่ยนความคิดและมองเห็นถึงคุณค่าทางจิตใจมากกว่าที่จะนำพระองค์นี้ไปแลกเป็นค่าทางเงินตรา
หนังสั้นเรื่องนี้ เป็นหนังนิสัยดีเรื่องหนึ่งที่ทำให้คนดูมองเห็นถึงความดี ทำให้คนดูได้รู้สึกถึงคุณค่าทางจิตใจกลับไปหลังจากที่ได้รับชม แม้แต่คณะทำงานเองก็ตาม ก็ยังได้รับความคิดอีกมุมมองหนึ่งกลับไป มันทำให้เราได้เห็นคุณค่าทางวัตถุที่สำคัญของศาสนาพุทธ ได้รู้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตคือการให้เกียรติในความเชื่อของตัวเอง
ดังนั้น อารมณ์ของตัวละครที่แสดงเป็นลูกในเรื่องนี้ อาจจะทำให้ท่านผู้ชมได้ระลึกสักนิดว่า เรามองพระพุทธรูปเป็นวัตถุที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ หรือมองเป็นเพียงแค่สิ่งของเพียงชิ้นหนึ่ง
นักโทษ
ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ที่มีรูปแบบและวิธีการทำที่ไม่เคยมีมาก่อน นี่คือคำพูดแรกที่ นายปรัชญา ลำพองชาติ ศิษย์เก่าสาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต พูดถึงหนังสั้นเรื่อง นักโทษ
นายปรัชญา อธิบายต่อถึงความแตกต่างทีือนเรื่องอื่นตรงที่ ความโดดเด่นของบทเรื่องนี้ ผมไม่ได้ทำหนังเพื่อเอารางวัล แต่ผมต้องการเผยแพร่และสื่อสารรูปแบบของภาพยนตร์ในแนวใหม่ให้ผู้ชมได้เห็น อีกทั้งเพื่อสร้างความคิดใหม่ และวางรากฐานใหม่ๆ ให้กับเด็กที่จะทำหนังรุ่นต่อๆ ไป ผมทำหนังส่งเข้าประกวดมาหลายเรื่อง โดยพยายามที่จะปรับเปลี่ยนความคิดและมุมมองใหม่ๆ ลงไปในผลงาน สำหรับครั้งนี้ เรื่องนี้ผมใช้รูปแบบภาพยนตร์แบบเชิงกวี (Plastic Material) หรือเรียกว่า การใช้กระแสสำนึกของคนดู ผสมกับจิตสำนึกของคนทำ โดยต้องการให้คนดูใช้ประสบการณ์ของตนเองในการชมภาพยนตร์ ตัวหนังจะไม่ใช่การบรรยายหรือมาเล่าเรื่องเหมือนเดิมๆ แต่ออกแนวหาข้อคิดไม่เจอ ไม่ต้องตีความ เพราะมันเป็นงานศิลปะต้องใช้รสนิยมและประสบการณ์ในการคิดตาม หากพูดถึงประสบการณ์การทำหนังของผมนั้น ผมคิดว่าการกำกับที่ดีจะต้องไม่ทำให้นักแสดงรู้สึกว่าถูกกำกับอยู่ และนี่เป็นอุดมคติในการทำงานของผม
ความรู้สึกแปลกใจ เป็นความรู้สึกแรกที่ปรัชญาจำได้หลังทราบการประกาศผล เนื่องด้วยแนวทางการประกวดภาพยนตร์สั้น เป็นที่รู้กันว่าคุณลักษณะ คุณสมบัติของภาพยนตร์ที่จะได้รับรางวัลนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งนายปรัชญาบอกว่าผลงานของเขาไม่ได้ตรงกับรูปแบบการตัดสินสักเท่าไหร่ แต่ก็ยังคงรู้สึกดีใจที่ภาพยนตร์แนวศิลปะของเขานั้นได้รับรางวัล และชายคนนี้ก็ทิ้งท้ายว่า การจะสร้างผลงานชั้นเยี่ยม ไม่จำเป็นต้องใช้สมอง ไม่ต้องเป็นอัจฉริยะ ไม่จำเป็นต้องฉลาด แต่สิ่งที่ต้องมีคือความเชื่อมั่น ความศรัทธาในสิ่งที่จะทำ
Red Man
Red Man เรื่องราวเกี่ยวกับสี ที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับเหตุการณ์บ้านเมือง ณ ปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของสังคมที่เกิดความรู้สึกแบ่งแยก หรือแม้แต่ความช่วยเหลือกันที่น้อยลงในสังคมปัจจุบัน
นายณัฐพงศ์ หอมชื่น นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศ-ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้กำกับภาพยนตร์สั้น เรื่อง Red Man กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ทุกคนตีค่ากันเพียงแค่เราเห็นภายนอก เราตีความคนอื่นทั้งๆ ที่เราไม่เคยคุยกันมาก่อนและโดนชักจูงไปตามคำพูดของคนอื่นๆ และนี่จึงเป็นแรงบันดาลใจที่เขียนเรื่อง Red Man ขึ้น
Red Man คือการโยนคำถามในสังคมว่า เป็นไปได้ไหมที่วันหนึ่งคุณจะกลายเป็น Red Man เพราะหนังเรื่องนี้ไม่ได้แสดงถึงการอยู่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่มันหมายถึงคนที่ถูกตัดแยกออกจากสังคม ภาพยนตร์เรื่องนี้พูดถึงชายคนหนึ่งที่ใส่เสื้อสีแดงมาทำงาน ซึ่งทุกคนใส่สีเหลืองเพราะเป็นวันจันทร์ ดังนั้นจึงทำให้เขารู้สึกกดดาะทุกคนไม่มีใครเข้าใจหรือทราบเหตุผลเลย รวมทั้งไม่มีใครคิดที่จะถามเลยว่า ทำไม? แต่กลับตีความกันด้วยการมองภายนอก และตัดสิน สุดท้ายเขาก็ต้องไปซื้อเสื้อสีเหลืองมาใส่ระหว่างวัน เพราะเพียงอยากให้เหมือนคนอื่นๆ และไม่ถูกมองด้วยสายตากดดัน เมื่อถึงเวลากลับบ้าน เขากลับเจอคนใส่เสื้อแดงกลุ่มใหญ่ที่ป้ายรถเมล์ และนั่นทำให้เขาต้องหยุดเพื่อคิดว่า จะต้องเปลี่ยนอีกหรือเปล่า? เพราะมีเสื้อทั้งสองสีอยู่ในมือแล้ว และจะทำอย่างไรต่อไป
ด้าน นายธนุสชาญ ขเรืองศรี และ นายอิสรา อริยเอกอนันต์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของรางวัลโกดัก (ถ่ายภาพ) เล่าให้ฟังเกี่ยวกับมุมมองการถ่ายภาพให้ออกมาถูกใจคณะกรรมการให้ฟังว่า การใช้เลนส์กล้องที่เหมาะสม จะทำให้ถ่ายภาพออกมาสวย สำหรับหนังสั้นเรื่องนี้จะมีเพียงไม่กี่เฟรม ซึ่งการจัดไฟนั้นเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะบางครั้งแสงก็มีมากเกินไป บ้างครั้งก็มีน้อยเกินไป และบ้างครั้งแสงไฟก็เอฟเฟ็คเข้ากล้อง ทำให้เราต้องใช้เทคนิคในการจัดภาพเพื่อให้งานออกมาสวยนั้นค่อนข้างยาก
ภาพยนตร์สั้นรางวัลการันตี ก่อเกิดเป็นความภาคภูมิใจให้แก่ผู้ทำ นับว่าไม่ง่ายที่จะสร้างภาพยนตร์ให้ออกมาถูกใจผู้ชมและคณะกรรมการได้มากขนาดนี้ และนั่นคงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของฝีมือเพียงอย่างเดียว อีกทั้งแง่มุมในภาพยนตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความคิด การแสดงความรู้สึก การมองโลกของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งสะท้อนออกมาให้คนหลายกลุ่มได้รับรู้ และพึงพอใจ ไม่ใช่ใครที่ไหนจะทำได้ซึ่งพวกเขาเหล่านี้คือ เลือดใหม่ของวงการภาพยนตร์ที่จะเติบโตเป็นคนทำหนังต่อไป
คลิกชม หนังสั้น เรื่อง Red Man