ม.รังสิต เดินหน้าพัฒนามหาวิทยาลัย เน้นสร้างคน คุณภาพ สู่สังคม
มหาวิทยาลัยมุ่งสร้างกำลังคน โดยให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนที่มีศักยภาพและประเทศมีความต้องการสูง เน้นการผลิตบัณฑิตอย่างมีคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศไทย
ธุรกิจในยุคเศรษฐกิจเสรีมีการแข่งขันสูง ประกอบกับการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงสิทธิและประโยชน์สูงสุดอันพึงได้รับ ยิ่งส่งผลให้ผู้บริโภคหรือประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ เลือก โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความมั่นใจว่าจะเป็นการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ตนเอง ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้ต้องพิจารณาจากการรับรองมาตรฐานโดยองค์กรหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ยกตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา อาหารเสริม และเครื่องสำอาง... มองหาเครื่องหมาย อย. (อาหารและยา) ซึ่งรับรองโดย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เชื่อมั่นว่าอาหารนั้นได้ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบในเรื่องของคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค... มองหาเครื่องหมายรับรอง มอก. (มาตรฐานอุตสาหกรรม) ที่ติดอยู่บนผลิตภัณฑ์ ซึ่งรับรองโดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เพื่อให้เชื่อมั่นว่าสินค้านั้นผ่านการตรวจสอบแล้วว่ามีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามข้อกำหนด มาตรฐานการบริหารการจัดการ... มองหาเครื่องหมาย ISO ซึ่งเป็นมาตรฐานการวัดคุณภาพที่องค์กรต่างๆ ทั่วโลกเลือกใช้ ที่เกริ่นมาข้างต้นเป็นเพียงการยกตัวอย่างเครื่องมือวัดที่เป็นเหตุเป็นผลในการตรวจสอบ คุณภาพ และ มาตรฐาน หรือเรียกว่าการรับรองคุณภาพ เพราะบางอย่างที่มีคุณลักษณะเหมือนกัน เป็นแบบเดียวกัน การจะแยกแยะว่าสิ่งไหนดีกว่านั้น ย่อมทำได้ยาก จนกระทั่งมีการตรวจสอบและประเมินผลจากหน่วยงานหรือองค์กรกลางที่เชื่อถือได้มารับรอง ในแวดวงการศึกษาก็เช่นกัน มองเผินๆ ย่อมมองไม่เห็นถึงความแตกต่าง เพราะภารกิจหลักของทุกสถาบันต้องมุ่งให้การศึกษาที่ดีที่สุดแก่เยาวชน แต่จะมีสถาบันการศึกษาใดบ้าง ซึ่งตระหนักและให้ความสำคัญแก่คำว่า "คุณภาพ" อย่างแท้จริง เพราะมีเพียงการศึกษาที่มี "คุณภาพ" เท่านั้นจึงจะสามารถพัฒนา "คนคุณภาพ" ออกสู่สังคม เพื่อไปเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไปได้
การศึกษาคือรากแก้วของชาติ
มหาวิทยาลัยรังสิตประกาศนโนบายเส้นทางสู่ความเป็นเลิศ (Road Map to Excellence) มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 โดยมี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ ต้องแข่งขันได้ (Competitiveness) ต้องก้าวไกลเป็นมหาวิทยาลัยอิเล็กทรอนิกส์ (e-University) ต้องก้าวไปมีความเป็นนานาชาติ (Internationalization) ต้องรับรองมาตรฐานได้ (Certificate) และต้องพร้อมต่อโลกความจริง (Readiness for the Real World) ไม่ใช่สถาบันการศึกษาที่อยู่บนหอคอยงาช้าง ซึ่งที่มาของการกำหนดนโยบายดังกล่าวนั้นก็เพื่อให้ทุกภาคส่วนของมหาวิทยาลัยรังสิตขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกัน นั่นก็คือ การสร้างการศึกษาที่มีคุณภาพ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เชื่อมั่นว่า การศึกษาคือรากแก้วของชาติ เพราะการศึกษาสามารถกำหนดอนาคตของประเทศ สามารถสร้างรากฐานแห่งการเติบโตอย่างยั่งยืน และเป็นรากฐานของประชาธิปไตยและประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ ดังนั้น การศึกษาที่มีคุณภาพเท่านั้นจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาของชาติได้ ทั้งในมิติทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง แต่การจะสร้างการศึกษาให้มีคุณภาพได้นั้นต้องอาศัยปัจจยต่างๆ ได้แก่ คุณภาพอาจารย์และบุคลากร คุณภาพและกระบวนการพัฒนาการเรียนการสอน คุณภาพงานวิจัยของอาจารย์และนักศึกษา คุณภาพบัณฑิต และความรับผิดชอบทางสังคมขององค์กร ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ประกาศแผนการพัฒนาคุณภาพระยะยาว 10 ปี "มหาวิทยาลัยมุ่งสร้างกำลังคน โดยให้โอกาสทางการศึกษาแก่คนที่มีศักยภาพและประเทศมีความต้องการสูง เน้นการผลิตบัณฑิตอย่างมีคุณภาพในหลากหลายสาขาวิชา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประเทศไทย เช่น วิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ เทคโนโลยีสารสนเทศ วิศวกรรมศาสตร์ และสร้างอาคารนิเทศศาสตร์ที่มีอุปกรณ์ เทคโนโลยีการเรียนการสอนที่ทันสมัย มหาวิทยาลัยจึงมีความจำเป็นต้องขยายอาคารเรียนและหอพักเพิ่มเติม โดยได้ดำเนินการก่อสร้างสร้างอาคารเรียนทันตแพทย์ อาคารปฏิบัติการคณะวิทยาศาสตร์ สตูดิโอนิเทศศาสตร์ อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยไม่ได้มุ่งเน้นรับนักศึกษาในเชิงปริมาณแต่เน้นคุณภาพ การลงทุนครั้งนี้เป็นแผนระยะยาว 10 ปี ของ ม.รังสิต จะช่วยให้ประเทศไทยแข็งแกร่งและพัฒนาในสิ่งที่มีศักยภาพ ที่สำคัญการลงทุนทำให้เด็กมีโอกาสการศึกษา เป็นสิ่งที่คุ้มค่ามากกว่าการลงทุน การที่เด็กเรียนจบ ม.6 แล้วไม่ได้เรียนต่อเป็นเรื่องที่ไม่ดีต่อชาติ แต่ต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
สมช.รายงาน "สมศ. เผย ม.รังสิต เยี่ยมหลายสาขา"
"คุณภาพการศึกษามีหลายมิติ เราซึ่งเป็นคนจัดการศึกษาเองไม่สามารถบอกว่าตัวเองมีคุณภาพได้ จึงต้องมีองค์กรเอกชน ซึ่งเป็นองค์กรอิสระ เป็นองค์กรที่ปราศจากการครอบงำของรัฐและฝ่ายต่างๆ เป็นคนบอก ก็ได้สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ซึ่งเป็นที่ยอมรับกันในระดับนานาชาติออกมาบอกว่าสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งมีความโดดเด่นอย่างไร ย่อมเป็นตัวช่วยให้ผู้ปกครองและเด็กนักเรียนที่กำลังจะตัดสินใจเข้าศึกษาต่อพิจารณา" ดร.วิวรรธน์ ปาณะสิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการสำนักงานประกันคุณภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าว
สำหรับเหตุผลที่ต้องมีสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษานั้น มีการระบุชัดเจนในเว็บไซต์ของ สมศ.ว่า ในการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพ จำเป็นต้องใช้หลักการบริหารจัดการ เช่นเดียวกับการบริหารหรือดำเนินกิจการต่างๆ ที่ต้องมีการดำเนินงานให้เป็นระบบครบวงจรโดยมีขั้นตอนที่สำคัญประการหนึ่งคือ การประเมินผลเพื่อให้ได้ข้อมูลย้อนกลับ อันจะสะท้อนให้เห็นถึงผลการดำเนินงานที่ผ่านมาว่าบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้เพียงใด รวมทั้งมีจุดอ่อนหรือปัญหาในเรื่องใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การวางแผนและการดำเนินงานระยะต่อไปบรรลุเป้าหมายอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ด้วยเหตุนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสำคัญกับการประเมินผล โดยเฉพาะการประเมินคุณภาพภายนอกจากหน่วยงานที่เป็นกลาง เพราะจะทำให้เกิดกลไกในการตรวจสอบอย่างจริงจัง รวมทั้งกระตุ้นให้หน่วยงานที่จัดการศึกษาตั้งแต่ระดับชาติถึงหน่วยงานที่เล็กที่สุด คือสถานศึกษาและภายในห้องเรียนต้องมีการประเมินตนเองเพื่อพัฒนาการจัดการศึกษาให้มีคุณภาพอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ล่าสุดเมื่อประมาณเดือนกันยายนที่ผ่านมา สมศ.ได้จัดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน สรุปผลการประเมินคุณภาพรอบ 2 โดยในกลุ่ม 4 เน้นผลิตบัณฑิต จำวน 63 แห่งที่เข้ารับการประเมินพบว่ามี 52 แห่งที่ผ่านการรับรองจาก สมศ. แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐ จำนวน 34 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 18 แห่ง รอพินิจ 6 แห่ง และไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานอีกจำนวน 5 แห่ง นอกจากนี้ เมื่อจำแนกตามระดับคุณภาพพบว่ามีเพียง 4 แห่งที่อยู่ในระดับดีมาก ได้แก่ มหาวิทยาลัยรังสิต โรงเรียนายร้อยพระจุลจอมเกล้า วิทยาลัยชุมชนหนองบัวลำภู และวิทยาลัยพยาบาล กองทัพบก โดยมีเพียงมหาวิทยาลัยรังสิตเท่านั้นที่ได้ระดับดีมากหลายสาขาคือ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ และเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนเพียงแห่งเดียวที่ได้รับการประเมินอยู่ในระดับดีมาก
ดร.วิวรรธน์ กล่าวต่อว่า คณะผู้ประเมินภายนอกซึ่งได้รับมอบหมายจาก สมศ.ให้มาประเมินคุณภาพภายนอกระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยรังสิต ประกอบด้วย ศ.(พิเศษ) พ.ต.ต. ดร.ยงยุทธ สาระสมบัติ รศ.ดร.นิพันธ์ จิตะสมบัติ ศ.น.พ. พ.อ.รังษิต บุญแต้ม รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อ.ประสิทธิ์ พงษ์เรืองพันธุ์ รศ.ดร.ดุษณี ธนะบริพัฒน์ และ รศ.จันทนี เพชรานนท์ ซึ่งหลังจากตรวจเยี่ยม คณะผู้ประเมินก็สรุปผลออกมา โดยคะแนนรวมทั้งหมด 7 มาตรฐาน มหาวิทยาลัยรังสิตมีมาตรฐานคุณภาพบัณฑิต มาตรฐานการบริการวิชาการ มาตรฐานการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม และมาตรฐานการพัฒนาสถาบันและบุคลากรมีผลการประเมินระดับดีมาก ในขณะที่มาตรฐานงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ มาตรฐานหลักสูตรและการเรียนการสอน รวมถึงมาตรฐานระบบการประกันคุณภาพมีผลการประเมินระดับดี เพราะฉะนั้นผลการประเมินทั้ง 7 มาตรฐานอยู่ในระดับดีมาก (4.62) "จุดเด่นของมหาวิทยาลัยรังสิตที่คณะผู้ประเมินชื่นชมมากคือ คณะผู้บริหารมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับการศึกษาที่กว้างไกล มียุทธศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำหนดเส้นทางสู่ความเป็นเลิศ นอกจากนี้ ก็เป็นเรื่องของนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่เราผลิตออกมาถึงขั้นจดอนุสิทธิบัตรก็มีเป็นจำนวนมาก ด้านงานวิจัยก็ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากภายนอก และที่สำคัญคือเรื่องระบบการบริหารจัดการหอพักนักศึกษาที่ดีและมีประสิทธิภาพ เพราะหอพักของมหาวิทยาลัยมีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าของหอพักเครือข่าย ฯลฯ เพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่นักศึกษา ตรงนี้มีการแนะนำให้หน่วยงานภายนอกมาศึกษาดูงาน และยึดเป็นแบบอย่างให้แก่สถานศึกษาอื่นๆ"
ปี พ.ศ. 2551 มหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศนโยบาย "คุณภาพ เส้นทางแห่งศรัทธา" แสดงถึงความมุ่งมั่นที่จะสร้างให้เส้นทางการก้าวสู่ปีที่ 25 เป็นเส้นทางสู่ความเป็นเลิศและย้ำจุดยืนการเป็นมหาวิทยาลัยที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่สังคมอย่างแท้จริง