เกาหลีศึกษา จุฬาฯ

เกาหลีศึกษา จุฬาฯ

เกาหลีศึกษา จุฬาฯ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เรียนรู้แบบสหสาขาวิชา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จับมือ มหาวิทยาลัยโซลอินเตอร์เนชั่นแนล มหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของประเทศเกาหลี เตรียมเปิดหลักสูตรเกาหลีศึกษาหลักสูตรแรกของประเทศไทยต้นปีหน้า เน้นการเรียนแบบสหสาขาวิชา เรียนจบด้านใดมาก็สามารถลงเรียนในหลักสูตรนี้ได้ หวังผลิตนักวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับเกาหลี ศึกษาในศาสตร์แขนงต่าง ๆ ออกสู่วงวิชาการของไทยในอนาคต ในปีการศึกษา 2551 ที่จะถึงนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรเกาหลีศึกษาเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย เนื่องจากเล็งเห็นว่าในปัจจุบันประเทศเกาหลีได้เข้ามามีบทบาทในสังคมโลกเป็นอย่างมาก แต่ในประเทศไทยยังไม่มีนักวิชาการท่านใดที่รู้เรื่องของเกาหลีอย่างแท้จริง อาจจะเป็นเพราะว่าเราให้ความสนใจกับประเทศที่พัฒนามากกว่า อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่น และ จีน เป็นต้น ดังนั้น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงคิดว่าน่าจะเปิดหลักสูตรเกาหลีศึกษาขึ้นมา เพื่อสร้างนักวิจัยและองค์ความรู้ใหม่ ๆ เกี่ยวกับเกาหลีขึ้นมา ซึ่งหลักสูตรนี้จะเรียนแบบสหสาขาวิชา ในระดับปริญญาโท โดยที่หลาย ๆ คณะจะเข้ามาช่วยกันจัดทำหลักสูตรเกาหลีศึกษาร่วมกัน เช่น คนที่จบวิศวกรรมศาสตร์ บัญชี เศรษฐศาสตร์ หรือว่า นิเทศศาสตร์ ฯลฯ สามารถที่จะเข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ได้ เพียงแต่ว่าจะมีวิชาบังคับที่นักศึกษาต้องเรียนร่วมกัน ก็คือภาษาเกาหลีนั่นเอง เมื่อถึงช่วงที่นักศึกษาต้องทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาสามารถเลือกที่จะทำวิทยานิพนธ์ในศาสตร์ที่ตนได้เรียนมาในระดับปริญญาตรีก็ได้ เช่น นักศึกษาที่จบมาทางด้านนิเทศศาสตร์ ก็อาจจะเลือกทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องของการเขียนบทละครเกาหลี เพราะตอนนี้ละครเกาหลีกำลังมีชื่อเสียงมากในประเทศไทยและทั่วโลก หรือถ้าใครที่เรียนจบวิศวะมา ก็อาจจะเลือกทำวิทยานิพนธ์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศเกาหลีก็ได้ ทั้งในด้านของการเลียนแบบ การปรับปรุง และการเสริมแต่ง ว่าเขามีพัฒนาการอย่างไรบ้าง จากความสำคัญดังกล่าวนี้เอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงคิดว่าน่าจะเปิดหลักสูตรเกาหลีศึกษาในรูปแบบของศาสตร์แขนงต่าง ๆ ขึ้นมา ไม่ใช่เป็นหลักสูตรของคณะใดคณะหนึ่งเท่านั้น คาดว่าจะเปิดตัวหลักสูตรอย่างเป็นทางการในปีการศึกษา 2551 ที่จะถึงนี้ ซึ่งสอดคล้องกับปีเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศเกาหลีครบรอบ 50 ปีพอดี การที่นักศึกษาได้เรียนรู้ในรูปแบบของสหสาขาวิชาเป็นเรื่องที่ดีมาก เพราะนักศึกษาที่จบการศึกษาจากศาสตร์ในแขนงต่าง ๆ จะได้มาเรียนร่วมกัน เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน เมื่อถึงเวลาที่ต้องทำวิทยานิพนธ์ นักศึกษาคนนั้นสามารถที่จะเลือกทำวิจัยในศาสตร์แขนงใดก็ได้ เกาหลีศึกษา จุฬาฯ การเรียนการสอนในหลักสูตรเกาหลีศึกษา จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด แต่ในปรัชญาของการศึกษาเรามองว่า เมื่อเราเรียนรู้เกี่ยวกับประเทศไหนก็ตาม ควรที่จะต้องเรียนรู้ในเรื่องของภาษาและวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ ให้ดีในระดับหนึ่งด้วย ดังนั้น ผู้ที่เรียนในหลักสูตรเกาหลีศึกษา ก็ควรที่จะเรียนรู้ภาษาเกาหลีและวัฒนธรรมของเกาหลีให้ดีพอสมควร เรียกว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว นักศึกษาคนนั้นจะต้องเข้าใจภาษาเกาหลีได้ดีในระดับหนึ่งทีเดียว โดยทางหลักสูตรจะจัดให้นักศึกษาได้เรียนภาษาเกาหลีในครึ่งวันเช้าของทุกวันตลอดระยะเวลา 2 ปีการศึกษา ข้อแตกต่างของหลักสูตรเกาหลีศึกษาที่จุฬาฯ กับที่อื่น ๆ คือ ในเทอมแรกนักศึกษาจะเรียนหนังสือที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาในเทอมที่ 2 นักศึกษาจะได้ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยโซลอินเตอร์เนชั่นแนลที่ประเทศเกาหลี หลังจากนั้นในเทอมที่ 3 จะมีอาจารย์จากประเทศเกาหลีมาสอนหนังสือให้ที่ประเทศไทยสลับกันไปเช่นนี้ เกาหลีศึกษา จุฬาฯ สำหรับนักศึกษาที่เลือกเรียนแผน ก ด้วยการทำวิทยานิพนธ์ จะเรียนในห้องเรียนแค่ 1 ปีเท่านั้น และอีก 1 ปีที่เหลือจะเป็นการทำวิทยานิพนธ์ โดยนักศึกษาสามารถที่จะเลือกทำวิทยานิพนธ์ในประเทศไทย หรือที่ประเทศเกาหลีก็ได้ ส่วนในแผน ข นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาหลักเพิ่มเติมอีก 2 วิชา ถึงจะทำการศึกษาส่วนบุคคลได้ พร้อมทั้งทดสอบความรู้รวบยอดด้วย หลักสูตรเกาหลีศึกษาที่กำลังจะเปิดสอนนี้ รับนักศึกษาในแผน ก จำนวน 15 คน และแผน ข อีก 15 คน รวมแล้วทั้งหลักสูตรสามารถรับนักศึกษาได้ปีละ 30 คน ซึ่งค่าใช้จ่ายของหลักสูตรจะอยู่ที่ประมาณเทอมละ 60,000-70,000 บาท แต่ถ้านักศึกษาไปเรียนที่ประเทศเกาหลี ทางหลักสูตรจะมีทุนการศึกษาให้ คือ ค่าตั๋วเครื่องบินและค่าที่พักในประเทศเกาหลีให้ด้วย แต่มีข้อแม้ว่าภาษาอังกฤษจะต้องอยู่ในระดับที่ดีด้วย คือ จะต้องทำคะแนนสอบ TOEFL ได้ประมาณ 500 ซึ่งก็เหมือนกับหลักสูตรนานาชาติทั่วไปนั่นเอง เกาหลีศึกษา จุฬาฯ และเมื่อสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตรเกาหลีศึกษาไปแล้ว นักศึกษาจะได้รับปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่ในขณะเดียวกัน ใบปริญญาบัตรนั้นก็จะมีใบประกาศนียบัตรของมหาวิทยาลัยโซลอินเตอร์เนชั่นแนลรับรองอยู่ด้วย ซึ่งในอนาคตข้างหน้า นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาไปจากหลักสูตรจะได้รับปริญญาบัตรร่วมกันของทั้งสองมหาวิทยาลัยอย่างแน่นอน สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนในหลักสูตรนี้ ทางหลักสูตรอาจจะยังไม่มีการจัดสอบคัดเลือกโดยตรง แต่จะทำการคัดเลือกจากใบประวัติการศึกษาและผลการเรียนที่ผ่านมาของผู้สมัคร พร้อมทั้งจากการสัมภาษณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิของทางหลักสูตร โดยผู้สมัครจะต้องเขียนเหตุผลที่สนใจอยากจะเข้ามาเรียนในหลักสูตรเกาหลีศึกษา รวมทั้งหัวข้องานวิจัยที่จtศึกษาประมาณ 1-2 หน้ากระดาษ (ภาษาอังกฤษ) เกาหลีศึกษา จุฬาฯ ผู้ใดที่สนใจสมัครเรียนในหลักสูตรเกาหลีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คงต้องเตรียมตัวกันให้ดี โดยเฉพาะในเรื่องของภาษาอังกฤษและหัวข้องานวิจัย แล้วพบกับหลักสูตรเกาหลีศึกษาอย่างเป็นทางการได้ในปีการศึกษา 2551
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook