TGGS ป.โท-เอก พระนครเหนือ
ผลิตนักวิจัยอุตสาหกรรมมาตรฐานเยอรมนี
เรียนรู้จากของจริง
อีกหนึ่งหลักสูตรน่าเรียนที่ การศึกษาวันนี้ ภูมิใจนำเสนอ คือ หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่เกิดขึ้นมาจากการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ กับมหาวิทยาลัยอาเค่น (RWTH Aachen University) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี มหาวิทยาลัยชั้นนำด้านวิศวกรรมศาสตร์ของยุโรป
บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (The Sirindhorn International Thai-German Graduate School of Engineering) หรือ TGGS มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (KMUTNB) เปิดสอนในหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติ ระดับปริญญาโทและปริญญาเอก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบและรูปแบบการศึกษาที่เน้นการวิจัยด้านวิศวกรรมศาสตร์แนวอุตสาหกรรมตามรูปแบบของประเทศเยอรมนี เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศและเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในการศึกษาและวิจัยแนวอุตสาหกรรม ผศ.ดร.มณพิไล นรสิงห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายไทย TGGS และ Mr.Michael C. Usher Deputy German Director of TGGS ให้เกียรติมานั่งพูดคุยและให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ TGGS กับ การศึกษาวันนี้ ว่า ในอดีตที่ผ่านมา การลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างไทยกับเยอรมนีมีมานานกว่า 50 ปีแล้ว ในรูปแบบของโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน โดยทางรัฐบาลเยอรมันให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษากับรัฐบาลไทยด้วยดีตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการให้งบประมาณสนับสนุนในการก่อตั้งโรงเรียน รวมทั้งการส่งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ที่มีความรู้ความสามารถมาให้ความรู้กับนักศึกษาไทย นอกจากนี้ยังให้ทุนการศึกษากับนักศึกษาไทยที่มีผลการเรียนดีได้เดินทางไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีอีกด้วย และจากความร่วมมือทางวิชาการที่ผ่านมานี้เอง ที่ส่งผลให้เกิดการลงนามความร่วมมือทางวิชาการ ระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับมหาวิทยาลัยอาเค่นนั่นเอง
จากการวิจัยภาคอุตสาหกรรมของไทยพบว่า ประเทศไทยยังมีช่องโหว่ในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าไปอย่างที่ต้องการได้ ทั้งในเรื่องของการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ และการขอรับความช่วยเหลือทางเทคนิคและอุตสาหกรรมจากต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา อันเป็นผลมาจากระบบการศึกษาของไทยและวัฒนธรรมในการทำวิจัยยังไม่ดีพอ ซึ่งตรงนี้คือจุดอ่อนที่ต้องรีบแก้ไขอย่างเร่งด่วนในปัจจุบัน และจากเสียงสะท้อนของภาคอุตสาหกรรมพบว่าบัณฑิตที่เพิ่งสำเร็จการศึกษาออกมาส่วนใหญ่ยังทำงานไม่เป็น บริษัทต้องเสียงบประมาณและเวลาในการส่งพนักงานไปฝึกอบรมในต่างประเทศอย่างน้อย 1 ปี ถึงจะสามารถกลับมาทำงานได้ และพอเริ่มที่จะทำงานได้ก็มักจะถูกซื้อตัวจากบริษัทคู่แข่ง หรือไม่ก็ลาออกไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ซึ่งตรงนี้คือค่านิยมของสังคมไทยในปัจจุบันที่ยังหาทางแก้ไขไม่ได้ จากปัญหาดังกล่าวนี้เองได้สร้างความเบื่อหน่ายให้กับองค์กรต่าง ๆ ในภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ความก้าวหน้าของประเทศต้องหยุดชะงักงันไปโดยปริยาย เนื่องจากไม่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทำงานในองค์กร อย่างน้อยในอีก 2-3 ปีข้างหน้าก็จะต้องฝึกอบรมพนักงานใหม่อีก นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ว่าทำไมภาคอุตสาหกรรมของไทยจึงไม่สามารถพัฒนาไปสู่จุดหมายปลายทางที่ต้องการได้ หรือบางทีถ้าบริษัทต้องการทำการวิจัยต่อยอดออกไป นักวิจัยคนไทยก็ไม่สามารถทำวิจัยได้ ดังนั้น จึงต้องอาศัยการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ หรืออาศัยการนำเข้านักวิจัยจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานวิจัยแทนนั่นเอง
และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าว TGGS จึงได้ถือกำเนิดขึ้นมา ปัจจุบัน TGGS เปิดสอนในระดับปริญญาโท 8 สาขาวิชา ได้แก่ วิศวกรรมเครื่องกล เน้นการออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ วิศวกรรมการผลิต วิศวกรรมเคมีและกระบวนการ วิศวกรรมวัสดุและโลหการ วิศวกรรมยานยนต์ วิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง วิศวกรรมโทรคมนาคม และวิศวกรรมระบบซอฟต์แวร์ ซึ่งในแต่ละสาขาวิชาสามารถรับนักศึกษาได้เพียง 20 คนเท่านั้น ส่วนในระดับปริญญาเอก เปิดสอนใน 2 สาขาวิชา ได้แก่ วิศวกรรมเครื่องกลและวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 สาขาวิชา สามารถรับนักศึกษาได้สาขาละ 3-5 คน
โดย TGGS มีข้อกำหนดว่านักศึกษาปริญญาโทจะต้องมีเวลาฝึกงานอุตสาหกรรมเป็นเวลาอย่างน้อย 4 เดือน เพื่อทำวิทยานิพนธ์จากโจทย์ของอุตสาหกรรม และเพื่อรองรับการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมในอนาคต ส่วนนักศึกษาปริญญาเอกจะต้องไปทำวิจัยที่มหาวิทยาลัยอาเค่นเป็นเวลา 1 ปี เพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาจาก TGGS สามารถจะไปทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก เนื่องจากมาตรฐานของมหาวิทยาลัยอาเค่นในการผลิตบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน ได้รับการยอมรับเป็นอย่างดีจากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนั่นเอง
คุณสมบัติผู้สมัครปริญญาโท ต้องสำเร็จการศึกษาทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ เกรดเฉลี่ยอย่างน้อย 2.75 ภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับคนที่เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 2.75 ต้องมีเครื่องหมายการันตีความสามารถของตน อาทิ รางวัลจากเวทีแข่งขันระดับประเทศหรือระดับนานาชาติ หรืออาจเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการทำงานภาคอุตสาหกรรมมาแล้วก็ได้ สำหรับคุณสมบัติผู้สมัครปริญญาเอก ต้องจบปริญญาโทในสาขาที่เกี่ยวข้อง และต้องมาจากหลักสูตรที่ทำวิทยานิพนธ์เท่านั้น ภาษาอังกฤษอยู่ในเกณฑ์ดี (TOEFL 550) และพร้อมที่จะเดินทางไปทำดุษฎีนิพนธ์ที่ประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลา 1 ปี สำหรับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อจะใช้การสอบสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษจากอาจารย์ของ TGGS รวมทั้งการสอบสัมภาษณ์ทางวิชาการด้วย ผู้ที่สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ TGGS มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โทร.0-2913-2500 หรือที่ www.tggs.kmitnb.ac.th , www.tggs.rwth-aachen.de