เรียนการถ่ายภาพ ไม่ธรรมดาอย่างทีคิด
ถ้าไปถามช่างภาพหลายคนที่ประสบความสำเร็จ และไม่ได้เรียนจบมาทางด้าน ถ่ายภาพ บางคนคงสรุปให้ฟัง ว่า ไม่จำเป็นต้องเรียนทฤษฎี เพราะความหาญกล้าของช่างภาพคนนั้น เลือกที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองมากเสียกว่ามี ครูบาอาจารย์มากำหนดกรอบ ซึ่งถามว่าผิดถูกหรือไม่ คำตอบ คือ ไม่มีอะไรผิดถูก ไม่มีอะไรดีที่สุด
การเริ่มต้นศึกษาด้วยการตามหาครูบาอาจารย์นั้น นับเป็นเรื่องที่ ดี อย่างน้อยที่สุด เราจะไม่ต้องเสียเวลาไปกับการเรียนถูกหรือเรียนผิด การได้หยั่งรู้ในทฤษฎีการถ่ายภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฟิล์ม การจัดแสงเงา องค์ประกอบของศิลปะ เรื่องของการทำงานของม่านชัตเตอร์ เรื่องของรูรับแสง ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานของการตั้งไข่ในอาชีพที่สำคัญไม่ใช่น้อย การเป็นช่างภาพใครหลายคนอาจจะบอกว่าเป็นได้ไม่ยาก
แต่การถ่ายภาพได้สวยในสายตาของคนรอบข้างนั้น คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายดายเสียเท่าไร แล้วถ้าเราเรียนเกี่ยวกับทฤษฎี การปฏิบัติงานจริง แล้วมีครูบาอาจารย์คอยสอนสั่งล่ะไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรที่ตรงไหนใช่มั้ยล่ะ... ฉะนั้น คงต้องแบ่งแยกกันให้ดี ถ้าคิดว่าการมีครูบาอาจารย์ มีสถาบันคอยรองรับ แล้วจะทำให้ขาดความเป็นตัวของตัวเอง ทำให้ตัวเองอยู่แต่ในกรอบนั้น คงจะเป็นเรื่องที่ไม่จริงเสมอไป เนื่องด้วยความเป็นตัวของตัวเอง หรือสไตล์ที่จะบ่งบอกแนวคิดของเรานั้น สามารถสื่อสารออกไปได้ โดยครูบาอาจารย์คนไหนคงไม่มีใครมายับยั้งความคิดสร้างสรรค์อย่างนั้นแน่ ๆ การเลือกเรียนในสถาบันการศึกษานั้น มีความหลากหลายมากมาย การค้นหาความรู้ที่มาที่ไปของแต่ละสถาบัน วิชาที่เปิดสอน สอนแค่ให้ถ่ายภาพเป็น ถ่ายภาพได้ ถ่ายภาพแล้วแต่งรูปในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รึเปล่า และถ้ามีหลักสูตรจนถึงการนำภาพถ่ายไปเป็นสื่ออื่นล่ะ... เราจะสนใจมั้ย อะไรที่เราควรเลือกก็เลือกให้เหมาะกับตัวเราเอง ใช่สักแต่ว่าได้ยินมาว่าที่นั่นที่นี่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็แห่ตามกันไป ซึ่งไม่มีประโยชน์อันใด ถ้าไม่ใช่เป็นสิ่งที่เราต้องการ บางสถาบันอาจจะมีเครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์สุดแสนทันสมัย บางสถาบันแม้จะเล็ก ๆ แค่ห้องแถว แต่ถ้าครูบาอาจารย์ให้ความใส่ใจ ดูแลลูกศิษย์ได้ทั่วถึงก็คงไม่ใช่เรื่องที่จะส่ายหน้าปฏิเสธแต่อย่างใด การได้เรียนจากครูบาอาจารย์ตามสถาบันต่าง ๆ นั้น จริงอยู่ว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะได้พื้นฐานการถ่ายภาพตั้งแต่เริ่มต้น หลายสถาบันให้ความสำคัญกับ "ศิลปะ" สอนให้มีความคิด มีมุมมอง คือพูดง่าย ๆ ว่าสอนให้ลูกศิษย์ได้รู้จักทั้งกล้อง การถ่ายภาพ และศิลปะไปพร้อม ๆ กัน คงเคยได้ยินว่า ระหว่างคนเก่ง Photoshop กับคนเก่งเรื่องศิลปะ ใครจะทำผลงานถ่ายภาพออกมาได้สวยงามกว่ากัน คำตอบคือ... เก่งได้ทั้ง 2 คนนั่นแหละ คือถ้ารู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำอะไรได้เยอะแยะ แต่ไม่มีความรู้เรื่องศิลปะเอาเสียเลย คงยากที่จะทำให้ผลงานออกมาได้ดี และเช่นเดียวกัน คนที่เก่งศิลปะแต่ไม่เคยทำความเข้าใจกับสิ่งที่เรียกว่าวิวัฒนาการเลย ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ที่จะให้ผลงานออกมาดี ฉะนั้นก่อนที่เราจะเลือกเรียนในสถาบันไหน อย่างน้อยที่สุดเราคงต้องทำความรู้จักกับตัวเองก่อนเป็นอันดับแรก เสร็จแล้วจึงค้นหาข้อมูลของสถาบันต่าง ๆ ที่เหมาะสมกับตัวเรา อ้อ... อย่าลืมข้อที่สำคัญมากที่สุด ถามใจตัวเองให้ดีก่อนว่า.... คุณรักการถ่ายภาพจริงจังแค่ไหน? แล้วถ้าเรียนบัญชี การเงิน เป็นช่างภาพมืออาชีพไม่ได้หรือ ได้สิ ทำไมจะไม่ได้
แม้ว่าเด็กเกียรตินิยมคนหนึ่ง จะไม่เคยได้สัมผัสทฤษฎีของการถ่ายภาพ หรือศิลปะแขนงไหน คร่ำเคร่งแต่ตำราเรียน ทั้งตัวเลข ตาราง กราฟ แต่ถ้าเด็กคนนั้นได้ให้ความสนใจกับการถ่ายภาพ ด้วยใจรัก และอย่างจริงจัง การได้ไปเรียนในสถาบันที่เปิดสอนคอร์สสั้น ๆ หรือ การได้เข้าสู่ชมรม Photo ของมหาวิทยาลัยก็จะสามารถทำให้เรานั้นเรียนรู้ ฝึกทักษะแม้จะไม่ใช่ครูบาอาจารย์ แต่ก็เป็นผองเพื่อนรุ่นพี่ แม้กระทั่งนก หมา กา ไก่ ที่แสดงแบบให้เราได้ เรียนรู้สั่งสมประสบการณ์การถ่ายภาพ บางคนเรียนจบปริญญาตรีสาขาที่ไม่ได้เกี่ยวกับการถ่ายภาพ ก็ถ่ายภาพได้ดีกว่าบางคนมีอาชีพถ่ายภาพเสียด้วย บางคนเลือกที่จะเรียนการถ่ายภาพหลังจบปริญญาตรีด้วยซ้ำ เนื่องด้วยเพิ่งค้นพบสิ่งที่ตัวเองอยากเป็น อยากได้ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด หรือสายเกินไปหลายต่อหลายคนที่เป็นช่างภาพมือโปรฯ ผลงานเป็นที่ยอมรับในสังคมทั้งในและต่างประเทศ จำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้เรียนจบด้านการถ่ายภาพมาโดยตรง แต่ก็สามารถฟันฝ่ากับความฝันของตัวเองขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้าได้ แต่อย่าด่วนสรุปว่า งั้นเอาอย่างนี้ดีกว่า โปรฯเขายังทำได้เลย เพราะนั่นไม่ใช่บรรทัดฐานเพื่อใช้เป็นการตัดสินใจ แค่เป็นอีกทางเลือก อีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง เพาะช่าง สอนถ่ายภาพเพื่องานศิลป์ หลังตึกอำนวยการหลังใหญ่ดูเข้มขลังที่ผ่านกาลเวลามาอย่างยาวนาน เป็นที่ตั้งของโรงอาหารที่ไม่ใช่เป็นเพียงพื้นที่ของผู้คนในสถาบันใช้ดับความหิวโหยเท่านั้นแต่ที่นี่ยังเป็นเหมือนกับแหล่งรวม พบปะ พูดคุยเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไปจนถึงเรื่องราวของวิชาเรียนซึ่งล้วนว่าด้วยศิลปะแขนงต่าง ๆ ถึงแม้ว่าเวลาล่วงเลยมาเกือบศตวรรษแต่สถาบันแห่งนี้ก็ยังคงมีเรื่องราวและความทรงจำของเหล่าลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่าที่มีหัวใจศิลป์รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ที่นี่คือ "วิทยาลัยเพาะช่าง"มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นโรงเรียนศิลปกรรมแห่งแรกของประเทศนั่นเอง เน้นเรียนด้านศิลปะมากกว่าด้านวิทยาศาสตร์ อาคารเรียนของสาขาศิลปการถ่ายภาพ (Art of photography) ของเพาะช่างในปัจจุบันตั้งอยู่บนชั้น 6 ของอาคารคณะการออกแบบ ที่กำลังมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความทันสมัยขึ้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปีการศึกษาหน้าปี 2551 เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยที่อุปกรณ์ดิจิตอลเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนมากขึ้น ถึงแม้ว่ากล้องดิจิตอลเริ่มเข้ามามีบทบาทในแวดวงการถ่ายภาพมากขึ้นแต่ทางสถาบันยังคงให้นักเรียนชั้นปีที่ 1เรียนรู้การใช้กล้องระบบดั้งเดิมที่ใช้ฟิล์มเรียนรู้การล้าง อัด และขยายภาพ เพื่อให้นักศึกษาทุกคนได้รู้จักที่มาที่ไปของการกำเนิดภาพ และไม่ละเลยที่จะสอนวิทยาการสมัยใหม่ในการใช้กล้องดิจิตอลการปรับแต่งรูปในคอมพิวเตอร์ เพื่อนำไปใช้ในการทำงานต่อไปในอนาคตได้ ภายในอาคารของสาขาวิชาศิลปการถ่ายภาพจะประกอบไปด้วย ห้องเรียนห้องสตูดิโอ ห้องมืดสำหรับเรียนการล้างและอัดภาพทั้งสีและขาว-ดำ และอุปกรณ์ที่จำเป็นในการเรียนด้านการถ่ายภาพต่างๆ สำหรับในปีการศึกษาหน้า ทางสาขาศิลปการถ่ายภาพ จะมีการเปลี่ยนแปลงห้องเรียนและห้องที่ใช้ในการเรียนการสอนด้านการถ่ายภาพให้มีความทันสมัยมากขึ้นอีกด้วย บัณฑิตเพาะช่างต้องมีความรู้ด้านศิลปะขั้นพื้นฐาน การเรียนในสาขาศิลปการถ่ายภาพของเพาะช่างนั้นมีความโดดเด่นตรงที่การเรียนการสอนจะเน้นไปทางการผลิตและนำเสนอผลงานศิลปะมากกว่าการเน้นไปในทางด้านวิทยาศาสตร์ทางถ่ายภาพ กล่าวคือ ไม่ได้เน้นการเรียนด้านเคมีการคิดค้นสูตรสี หรือการเน้นเฉพาะไปที่เทคโนโลยีด้านการพิมพ ดังนั้นบัณฑิตที่จบจากสถาบันแห่งนี้จะเป็นบุคลลที่มีความรู้ทางด้านศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตไม่ใช่วิทยาศาสตรบัณฑิตเหมือนกับใน บางสถาบันทีสอนด้านการถ่ายภาพ โดยในแต่ละปีทางสถาบันจะเปิดรับสมัครนักศึกษาประมาณ 30 คน ปัจจุบันทางวิทยาลัยเพาะช่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ เปิดรับตรงนักศึกษาสาขาวิชาศิลปถ่ายภาพในระดับปริญญาตรีโดยเปิดรับนักเรียนที่จบการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 6 และนักเรียนที่จบการศึกษาระดับปวช. ในสายศิลปกรรมเท่านั้นโดยเริ่มขายใบสมัครกันในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ เปิดรับสมัครสอบในเดือนมีนาคม และสอบในช่วงปลายเดือนมีนาคมของทุกปี นอกจากวิชาสามัญทั่ว ๆ ไปแล้วนักเรียนที่สมัครสอบเข้าทุกคนต้องผ่านการสอบวาดภาพลายเส้น หรือ Drawing นอกจากนี้ผู้สมัครควรจัดทำผลงานส่วนตัว (Portfolio) ส่วนหนึ่งมาประกอบในการสมัครด้วย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ภาควิชาออกแบบ สาขาศิลปการถ่ายภาพ ที่ตั้ง : เลขที่ 86 ถนนตรีเพชร แขวงวังบูรพา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200 โทรศัพท์ : 0-2623-8790-5, 0-2221 -5070 โทรสาร :0-2223-4014 Website : www.pohchnag.rmutr.ac.th, www.pohchang.org โฟโต้ มหาวิทยาลัยรังสิต อาจารย์พร้อม อุปกรณ์ดี บรรยากาศภายในห้องสาขาศิลปภาพถ่ายของมหาวิทยาลัยรังสิตดูคึกคักเป็นพิเศษ เพราะภายในห้องเต็มไปด้วยนักศึกษาเด็กแนวเข้ามาส่งผลงานภาพของตัวเอง และนั่งฟังอาจารย์วิจารณ์ภาพอย่างใจจดใจจ่อผนังห้องในขณะนั้นจึงเต็มไปด้วยผลงานรูปภาพจากแรงบันดาลใจและจินตนาการต่าง ๆ ติดกันอยู่ทุกพื้นที่ของผนังห้อง บ้างเป็นภาพสี บ้างเป็นภาพขาว-ดำ แต่ทุกภาพล้วนมีความหมายและสวยงาม นึกไม่ถึงว่าภาพต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นฝีมือระดับนักศึกษาทั้งสิ้น สาขาศิลปภาพถ่ายของมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ยุคแรกของการก่อตั้งมหาวิทยาลัยคือเมื่อ พ.ศ. 2530 ปัจจุบันสาขาศิลปภาพถ่ายนี้เป็นสาขาหนึ่งในคณะศิลปะและการออกแบบ ซึ่งเป็นการเรียนทางด้านศิลปะภาพถ่ายในระดับปริญญาตรีเป็นที่แรกของประเทศไทยอีกด้วย คุณภาพของการสอนและความมีชื่อเสียงของที่นี่จึงเป็นที่รู้จักกันดีของคนที่ชื่นชอบและรักในการเรียนถ่ายภาพ ในแต่ละปีการศึกษา ทางมหาวิทยาลัยรังสิตเปิดรันสมัครนักเรียนในระดับมัธยมปลาย และระดับ ปวส. ในสาขาศิลปภาพถ่ายนี้ประมาณ 60 คน โดยรับสมัครผ่าน 2 เส้นทางด้วยกัน เส้นทางแรกรับสมัครด้วยการยื่นผลคะแนน O-NET และ A-NET และการสอบตรงกับทางมหาวิทยาลัย ในการสมัครทั้ง 2 เส้นทางนั้น นักเรียนต้องมีผลคะแนน GPA ไม่น้อยกว่า 2.00 นักศึกษาทุกคนต้องผ่านการเรียนศิลปะขั้นพื้นฐาน หลักสูตรการถ่ายภาพของมหาวิทยาลัยรังสิต มีแนวทางที่โดดเด่นให้นักศึกษาได้เรียนรู้ มีความเชี่ยวชาญและมีความคิดสร้างสรรค์ทางด้านศิลปะด้วยการใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อในการถ่ายทอดเรื่องราวในการทำงานจริง ๆ ในอนาคต การเรียนด้านภาพถ่ายของที่นี่จึงมีความชัดเจนในเรื่องของการให้นักศึกษามีจินตนาการและการทำงานที่เน้นไปทางศิลปะ หลักสูตรการถ่ายภาพของที่นี่ให้ความสำคัญไปทางการถ่ายภาพ แนวศิลปะ ทำให้นักศึกษาปี 1 ทุกคนจึงต้องผ่านการเรียนวิชาขั้นพื้นฐานของศิลปะไม่ว่าจะเป็นการเรียนวาดเส้น (Drawingเรียนรู้การลงสีน้ำ เรียนรู้ทฤษฎีสี รู้จักกับองค์ประกอบภาพที่ดีเป็นอย่างไร และเรียนรู้พื้นฐานของประวัติศาสตร์ศิลปะก่อนที่จะก้าวเข้าสู่การเรียนลงลึกในวิชาหลักของศิลปะภาพถ่ายในเทอมต่อ ๆ ไป เมื่อก้าวพ้นการเรียนในรายวิชาศิลปะขั้นพื้นฐานกันแล้ว ในช่วงของการเรียนปี 1 เทอมที่ 2 นักศึกษาจะเริ่มได้เรียนรู้วิชาหลักของการถ่ายภาพโดยตรง ตั้งแต่การเรียนการถ่ายภาพด้วยกล้อง ฟิล์ม เรียนรู้การล้าง อัด ขยายภาพขาว-ดำ เรียนรู้การใช้กล้องดิจิตอลเบื้องต้น แล็บ และถ่ายภาพในสตูดิโอ การถ่ายภาพในสตูดิโอนั้น นักศึกษาจะได้เรียนรู้การจัดแสง การวัดแสง การจัดองค์ประกอบของการถ่ายวัตถุภายในสตูดิโอ และเรียนรู้การใช้กล้องในรูปแบบต่าง ๆ ที่มีราคาค่อนข้างสูงเพื่อให้นักศึกษาได้มีโอกาสฝึกฝนและสามารถใช้งานได้อย่างคล่องแคล่วมากขึ้นก่อนก้าวไป เรียนในชั้นปีที่ 3 ซึ่งเน้นให้นักศึกษารู้จักการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และการนำความรู้พื้นฐานที่ได้เรียนนำมาใช้ในการถ่ายภาพมากขึ้นอีกด้วย มีโอกาสได้เรียนรู้กับวิทยากรที่มีความสามารถหลากหลาย เมื่อก้าวเข้าสู่ชั้นปีที่ 3 นอกจากนักศึกษาต้องนำความรู้ที่เคยได้เรียนมาประยุกต์ใช้ บวกกับความคิดสร้างสรรค์ ของตนเองแล้ว ในชั้นปีนี้นักศึกษาโฟโต้ทุกคนจะได้เรียนรู้กับวิทยากรพิเศษที่เป็นช่างภาพมืออาชีพที่มีชื่อเสียงในแขนงต่างๆ หรือผู้ที่ทำงานอยู่ในแวดวงศิลปะ หรือการถ่ายภาพมาให้ความรู้กับการทำงานในชีวิตจริง เพื่อให้นักศึกษาได้รับคำแนะนำที่หลากหลายและมีความเป็นมืออาชีพก่อนที่นักศึกษาจะออกไปเรียนรู้การทำงานในสถานประกอบการต่าง ๆ เป็นเวลา 2-3 เดือนตามโครงการสหกิจศึกษาที่ทางมหาวิทยาลัยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ออกไปเรียนรู้การทำงานจริง สำหรับการเรียนในปีที่ 4 ตลอดทั้งปี เน้นการใช้ความคิดสร้างสรรค์ผสานกับความรู้ที่สร้างสรรค์ภาพถ่ายวิทยานิพนธ์ออกมา นอกจากนักศึกษาจะได้รับความรู้จากคณาจารย์ที่มีความสามารถ และวิทยากรพิเศษแขนงต่าง ๆ แล้ว อุปกรณ์ในการเรียนถ่ายภาพก็นับว่าที่มหาวิทยาลัยรังสิตมีความพร้อมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นกล้องสำหรับการถ่ายภาพในสตูดิโอ กล้องถ่ายภาพขนาดอื่น ๆ ขาตั้งกล้อง ชุดไฟ และห้องสตูดิโอขนาดใหญ่ ห้องปฏิบัติการ ห้องล้าง อัดขยายภาพขาว-ดำ และห้องคอมพิวเตอร์ในการเรียนตกแต่งภาพระบบดิจิตอล โครงการยุวชนศิลปินภาพถ่าย ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนเป็นประจำทุกปี ทางสาขาศิลปภาพถ่าย มหาวิทยาลัยรังสิต มีการจัดโครงการยุวชนศิลปินภาพถ่าย เปิดโอกาสให้น้อง ๆ ระดับมัธยมฯ ในโรงเรียนต่าง ๆ ได้เข้าร่วมกิจกรรมเพื่อให้ความรู้ทางด้านวิชาการและการปฏิบัติทางศิลปะภาพถ่าย ในช่วงปิดภาคเรียน โดยรุ่นพี่ ๆ จากสาขาเป็นผู้ให้ความรู้อย่างเป็นกันเอง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในการเข้าร่วมกิจกรรม น้อง ๆ มัธยมฯ ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการนี้จะได้รับความรู้จากการอบรมการถ่ายภาพเบื้องต้นและแนะแนวทางการเรียนการสอนของสาขาศิลปภาพถ่าย ว่ามีการเรียนรู้อะไรบ้างในอนาคต สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการยุวชนศิลปินภาพถ่ายของมหาวิทยาลัยรังสิต สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สาขาศิลปภาพถ่าย โดยจะมีการจัดกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นในช่วงประมาณเดือนมีนาคมของทุกปี สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยรังสิต คณะศิลปะและการออกแบบ (อาคาร 6) ที่ตั้ง : หมู่บ้านเมืองเอก ถนนพหลโยธิน ต.หลักหก อ.เมือง จ.ปทุมธานี 12000 โทรศัพท์ : 0-2997-2220-30 ต่อ 3434, 3436 Website : www.rsu.ac.th, www.rsu.ac.th/arts/