ชีวิตที่เลือกได้...สไตล์นักเดินเรือ

ชีวิตที่เลือกได้...สไตล์นักเดินเรือ

ชีวิตที่เลือกได้...สไตล์นักเดินเรือ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ชีวิตที่เลือกได้...สไตล์นักเดินเรือ อีกหนึ่งอาชีพแนะนำสำหรับชายไทยหัวใจแกร่งทั้งหลาย ที่นอกเหนือจากอาชีพทหารและตำรวจแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอาชีพที่น่าสนใจและมีเอาไว้รองรับผู้ที่มีความสามารถอย่างแท้จริง ที่สำคัญยังเป็นอาชีพที่ทำรายได้เข้ากระเป๋าเป็นกอบเป็นกำอีกด้วย อาชีพดังกล่าวก็คือ อาชีพ ?กัปตันเรือ? และอาชีพ ?ต้นกลเรือ? ที่ทำงานอยู่บนเรือพาณิชย์ทั้งหลายนั่นเอง บางคนอาจจะสงสัยและอยากที่จะรู้รายละเอียดเพิ่มเติม ?การศึกษาวันนี้? มีคำตอบให้ค่ะ ?ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี? เป็นสถาบันชั้นนำของประเทศไทยที่ผลิตนักเดินเรือฝีมือเยี่ยมออกสู่ท้องทะเลมาแล้วมากมายหลากหลายรุ่น ขณะนี้ทางสถาบันกำลังเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ถึง 3 หลักสูตรด้วยกัน คือ หลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ (หลักสูตรปรกติ) 5 ปี หลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ (หลักสูตรพิเศษ) 3 ปี และหลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ (หลักสูตรเร่งรัด) 2.5 ปี ซึ่งทั้ง 3 หลักสูตรนี้จะมีเป้าหมายเดียวกันที่ว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาไปจากสถาบันแล้ว จะทำหน้าที่เป็นกัปตันเรือชั้นเยี่ยมและต้นกลเรือชั้นยอด ไม่ว่าจะจบมาจากหลักสูตรไหนก็ตาม โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานมีเท่าเทียมกันหมด เอาเป็นว่า ?การศึกษาวันนี้? จะมาขยายความเกี่ยวกับหลักสูตรทั้ง 3 ให้ได้ฟังกัน เริ่มต้นกันที่ ?หลักสูตรนักเรียนเดินเรือพาณิชย์ (หลักสูตรปรกติ) 5 ปี? เป็นหลักสูตรที่รับนักเรียนที่สำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์เท่านั้น โดยจะเปิดสอนใน 2 สาขาวิชาด้วยกัน คือ สาขาวิชาเดินเรือ และสาขาวิชาช่างกลเรือ โดยผู้สมัครต้องผ่านการฝึกวิชาทหารจากกรมรักษาดินแดน ไม่ต่ำกว่าชั้นปีที่ 3 สายตาปรกติและไม่บอดสี ว่ายน้ำได้เป็นอย่างดี ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง เกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) ไม่ต่ำกว่า 2.00 มีส่วนสูงไม่ต่ำกว่า 160 เซนติเมตร อายุไม่เกิน 21 ปีบริบูรณ์ โดยมีเกณฑ์ในการคัดเลือกนักศึกษาใหม่ ดังนี้ ดูจากเกรดเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตร (GPAX) 10 เปอร์เซ็นต์ เกรดเฉลี่ยสะสม (GPA) กลุ่มสาระที่กำหนดอีก 20 เปอร์เซ็นต์ (ได้แก่ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์) ดูจากผลคะแนน O-NET อีก 55 เปอร์เซ็นต์ และต้องสอบวิชาความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเดินเรือพาณิชย์ 1 รายวิชา อีก 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหนังสือความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเดินเรือพาณิชย์ ทางสถาบันจะแจกให้กับผู้สมัครในวันที่มาสมัครกับทางสถาบัน โดยผู้สมัครจะต้องเลือกสาขาวิชาที่สนใจเรียนตั้งแต่ในวันรับสมัครเลย ซึ่งในปีการศึกษานี้จะรับนักศึกษาใหม่ในหลักสูตรนี้จำนวน 120 คน ในสาขาวิชาเดินเรือ ส่วนในสาขาวิชาช่างกลเรือจะรับนักศึกษาใหม่จำนวน 60 คน จุดที่พิเศษอีกอย่างหนึ่งของหลักสูตรปรกติ 5 ปีนี้คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากที่นี่ นอกจากจะได้รับใบประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาจากศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวีแล้ว ยังจะได้ปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยบรูพาอีกด้วย โดยผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาเดินเรือจะได้รับปริญญาตรีวิทยาศาสตรบัณฑิต ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาสาขาวิชาช่างกลเรือจะได้รับปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเครื่องกลเรือเช่นกัน เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานบนเรือพาณิชย์กันสักหน่อยดีกว่า เรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ฝ่ายด้วยกัน คือ ฝ่ายเดินเรือ ที่มีหน้าที่ในการรับผิดชอบสินค้าและนำเรือ หรืออาจจะเรียกกันว่าฝ่ายปากเรือก็ได้ ตำแหน่งในสายงานนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่ ต้นหน ผู้ช่วยต้นหน ต้นเรือ ไปจนถึงกัปตันเรือ ส่วนฝ่ายช่างกลเรือ จะทำหน้าที่ดูแลรักษาเครื่องยนต์กลไกทั้งหมดของเรือ ตำแหน่งในสายงานนี้จะเริ่มตั้งแต่ นายช่างกล นายช่างเครื่อง รองต้นกล ไปจนถึงต้นกล ไม่ว่าจะเลือกเรียนในสาขาวิชาใดก็ตาม โอกาสเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานแทบจะไม่แตกต่างกันเลย รายได้เริ่มต้นของคนที่ทำงานบนเรือพาณิชย์ทั้ง 2 ฝ่าย จะอยู่ที่ 20,000-40,000 บาท ซึ่งรายได้ที่ได้รับในแต่ละเดือนจะไม่แตกต่างกันมากนัก เพียงแต่ว่าตำแหน่งบนเรือที่ใหญ่ที่สุด คือ กัปตันเรือ ที่มาจากฝ่ายเดินเรือในฐานะที่มีหน้าที่รับผิดชอบสูงสุดบนเรือนั้น ๆ แต่เมื่อขึ้นมาทำงานบนบก ผู้ที่จบมาทางด้านช่างกลเรือจะมีตลาดงานรองรับมากกว่า เช่น อู่ต่อเรือ อู่ซ่อมเรือ เป็นต้น ส่วนผู้ที่จบมาทางด้านเดินเรือ อาจจะไปทำหน้าที่เป็นผู้บริหารในบริษัทเดินเรือ หรือผู้บริหารท่าเรือก็ได้ แต่งานบนบกสำหรับฝ่ายเดินเรือค่อนข้างที่จะมีน้อยกว่าฝ่ายช่างกลเรือพอสมควร จะเห็นได้ว่าโอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงานของทั้ง 2 ฝ่าย จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคลเป็นสำคัญ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ ชีวิตที่เลือกได้...สไตล์นักเดินเรือ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook