ประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ข้อมูลทั่วไป

ภูมิประเทศ ญี่ปุ่นมีพื้นที่ 377,835 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของโลก จึงเป็นที่มาของชื่อ " ดินแดนอาทิตย์อุทัย " หมู่เกาะที่ทอดตัวยาวมีลักษณะเหมือนพระจันทร์เสี้ยว ประกอบด้วย 4 เกาะใหญ่ ได้แก่ ฮอกไกโด ฮอนชู ชิโกกุ คิวชู และมีเกาะใหญ่น้อยอีกกว่า 6,800 เกาะ ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขา มีพื้นที่ราบเพียงร้อยละ 25 เท่านั้น มีจังหวัดต่างๆ ทั้งหมด 47 จังหวัด (Prefecture) แบ่งเป็นเมืองต่างๆ รวมทั้งหมดมากกว่า 650 เมือง โดยมีโตเกียวเป็นเมืองหลวงของประเทศมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2411 ญี่ปุ่นมีขนาดเล็กกว่าไทยประมาณ 0.7 เท่า แต่มีประชากรมากกว่าประมาณ 2 เท่า

ภูมิอากาศและฤดูกาล ภูมิอากาศในแต่ละท้องถิ่นจะแตกต่างกันออกไป เนื่องจากลักษณะพื้นที่ของประเทศที่ทอดตัวเป็นแนวยาว ทางเหนือ คือ เกาะฮอกไกโด มีอากาศหนาวจัดเกือบทั้งปี มีหิมะตกหนักในฤดูหนาว ในขณะที่ทางใต้ คือคิวชูและโอกินาวาจะมีสภาพอากาศแบบเมืองร้อน และฝนตกชุกในฤดูฝน

ประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นมี 4 ฤดูกาล คือ ฤดูใบไม้ผลิ อยู่ระหว่างเดือนมีนาคม พฤษภาคม เป็นฤดูที่สวยงาม ดอกไม้บานสะพรั่ง คนญี่ปุ่นถือว่าเป็นฤดูแห่งการเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ และเป็นช่วงเปิดเทอม ช่วงปลายเดือนเมษายน ต้นเดือนพฤษภาคม (29 เมษายน ถึง 5 พฤษภาคม) เป็นช่วง Golden Week ของชาวญี่ปุ่นที่จะได้หยุดพักผ่อนติดต่อกันเป็นเวลาหลายวัน ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายน สิงหาคม ช่วงต้นฤดูร้อนจะมีฝนตกแทบทุกวันประมาณ 3-4 สัปดาห์ ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมอากาศร้อนชื้น และเป็นช่วงของการปิดภาคเรียนฤดูร้อน กิจกรรมที่นิยมกันมากที่สุดคือ การพักผ่อนตามชายหาด อาบแดด และแคมปิ้ง ในช่วงนี้ชาวญี่ปุ่นนิยมส่งการ์ดถึงกันและกันเพื่อถามเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในฤดูนี้ ซึ่งการ์ดนี้เรียกว่า Shochu mimai

ฤดูใบไม้ร่วง เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน พฤศจิกายน เป็นฤดูที่แสนโรแมนติก ใบไม้สีเขียวสีแดงค่อยๆร่วงหล่นในบริเวณทั่วไป และฤดูนี้ยังเป็นช่วงชองการแข่งกีฬาระหว่างโรงเรียนอีกด้วย ในฤดูนี้จะมี 1 วันที่พระอาทิตย์ส่องแสงยาวนานที่สุด ซึ่งเรียกว่า Geshi

ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนธันวาคม กุมภาพันธ์ ในช่วงนี้ภูมิภาคทางเหนืออย่าง ฮอกไกโด โตโฮกุ อากาศจะหนาวเย็นมากและมีหิมะตกหนัก แต่ในฤดูนี้มีเทศกาลที่มีความสำคัญที่สุดคือ ปีใหม่ คนในครอบครัวจะฉลองกันด้วย บะหมี่ข้ามปี หรือที่เรียกว่า Toshikoshi soba (ถือกันว่าบะหมี่นี้แทนความมีอายุยืน เพราะมีลักษณะเป็นเส้นยาว) และรอคอยฟังเสียงระฆังต้อนรับปีใหม่ ผู้ที่ตีระฆังนี้คือ พระและจะตีทั้งหมด 108 ครั้ง เพราะคนญี่ปุ่นเชื่อว่า คนเราจะมีสิ่งไม่ดีอยู่ 108 อย่าง โดยเริ่มนับถอยหลังไปเรื่อยๆ เมื่อตีครบจำนวนจะเท่ากับว่า เราจะได้เริ่มต้นชีวิตใหม่กับสิ่งที่ดีๆ

ประชากร ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 127.5 ล้านคน (ตุลาคม 2545 ชาย 62.3 ล้านคน หญิง 65.2 ล้านคน) นับเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 8 ของโลก

ศาสนา ศาสนาสำคัญในญี่ปุ่นมีสองศาสนา ได้แก่ ชินโต และพุทธศาสนา แม้ว่าคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันกล่าวว่าพวกเขาไม่มีความเชื่อในศาสนาใดเป็นพิเศษ แต่ส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติตามประเพณีและพิธีกรรมของทั้งชินโตและพุทธศาสนา

ภาษา ภาษาญี่ปุ่นเป็นภาษาราชการของญี่ปุ่น และในแต่ละภูมิภาคจะมีภาษาท้องถิ่นของตนเอง ภาษาอังกฤษ จะใช้บ้างในบางที่ เช่น สนามบิน โรงแรมใหญ่ๆ หรือสถานที่ราชการบางแห่งที่ต้องติดต่อสื่อสารกับคนต่างชาติ เด็กนักเรียนญี่ปุ่นจะเริ่มเรียนภาษาอังกฤษเมื่ออยู่ชั้นมัธยมต้น แต่การเรียนการสอนมักจะเน้นเพื่อการสอบแข่งขันมากกว่าใช้ปฏิบัติจริง ดังนั้น แม้ว่าคนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นจะใช้ภาษาอังกฤษได้มากขึ้น แต่ภาษาญี่ปุ่นยังคงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการใช้ชีวิตในประเทศญี่ปุ่น

 ระบบการเมืองการปกครอง ประเทศญี่ปุ่นมีระบบการปกครองแบบประชาธิปไตย

ระบบเศรษฐกิจ ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มาจากพื้นฐานอุตสาหกรรมการผลิต รถยนต์คือหนึ่งในผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่นที่รู้จักกันดีที่สุด ในปี พ.ศ. 2539 ญี่ปุ่นผลิตรถยนต์ รถโดยสารขนาดใหญ่ และรถบรรทุก ประมาณ 10.3 ล้านคัน มากเป็นที่สองของการผลิตรถยนต์ของโลก ญี่ปุ่นยังเป็นผู้นำของโลกในอุปกรณ์โทรคมนาคม ย่านอะกิฮาบาระ ในโตเกียว เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะ "เมืองแห่งเครื่องไฟฟ้า" ที่มีร้านรวงขายเครื่องไฟฟ้ายาวสุดลูกหูลูกตา

สังคมวัฒนธรรม ทุกวันนี้ ครอบครัวญี่ปุ่นส่วนมากมีบุตรเพียงหนึ่งหรือสองคนเท่านั้น ผลก็คือ อายุเฉลี่ยของประชากรญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปัจจุบันมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีจำนวน 20.014 ล้านคน แต่มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 64 ปีถึง 18.261 ล้านคน ผู้สูงอายุจำนวนมากขึ้นอาศัยอยู่โดยลำพัง และคนหนุ่มสาวแต่งงานช้าลง อายุเฉลี่ยของการแต่งงานของผู้ชายคือ 29.8 ปี และของผู้หญิงคือ 27.3 ปี ด้วยเหตุนี้ ญี่ปุ่นจึงต้องเรียนรู้วิธีการใหม่ ๆ ที่จะช่วยเหลือให้ทั้งคนหนุ่มสาวและผู้สูงอายุใช้ชีวิตในสังคมสมัยใหม่ วัฒนธรรมญี่ปุ่นประกอบขึ้นจากการผสมกัน ระหว่างวัฒนธรรมเก่าและใหม่ วัฒนธรรม ทางตะวันตกและตะวันออก ทางด้านอุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน ยังมีร่องรอยของความ เป็นประเทศกสิกรรม หลงเหลืออยู่ แม้ว่าความเจริญทางอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ผ่าน มาจะทำให้ญี่ปุ่นได้แปรสภาพ เป็นประเทศที่มี ความก้าวหน้า ทางด้านอุตสาหกรรม สูงสุดประเทศหนึ่งของโลก

นักเรียนญี่ปุ่น

ระบบการศึกษาของญี่ปุ่นคล้ายกับประเทศไทย คือ แบ่งเป็นระดับประถมศึกษา 6 ปี, ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 3 ปี และตอนปลายอีก 3 ปี รวมทั้งหมด 12 ปีโดยประมาณ การศึกษาต่อ ณ ประเทศญี่ปุ่น

การเข้าศึกษาต่อในสถาบันระดับสูงของญี่ปุ่นนั้น นักศึกษาต่างชาติจะต้องจบการศึกษาในระดับโรงเรียนมาแล้วเป็นเวลา 12 ปีเป็นอย่างต่ำ คือจบระดับชั้นมัธยมปลายหรือเทียบเท่า และจะต้องมีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ สถาบันการศึกษาระดับสูงของญี่ปุ่นที่นักศึกษาต่างชาติสามารถเข้าศึกษาต่อได้แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ

1. มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น

แบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ มหาวิทยาลัยรัฐบาล คือ มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งโดยรัฐบาลกลางของญี่ปุ่น กระจายอยู่ทั่วประเทศทั้งหมด 97 แห่ง (ข้อมูลปี 2545) ในแต่ละจังหวัดจะมีมหาวิทยาลัยของรัฐบาล 1 แห่งเป็นอย่างต่ำ

มหาวิทยาลัยท้องถิ่น คือ มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งโดยองค์กรปกครองตนเองส่วนท้องถิ่น มีอยู่ทั้งสิ้น 75 แห่งทั่วประเทศ

มหาวิทยาลัยเอกชน คือ มหาวิทยาลัยที่จัดตั้งโดยเอกชน มีอยู่ทั้งสิ้น 512 แห่งทั่วประเทศ ซึ่ง 40% ของมหาวิทยาลัยเอกชนอยู่ในกรุงโตเกียว

การศึกษาในระดับปริญญาตรีตามหลักสูตรปกติ จะใช้เวลาทั้งหมด 4 ปี ยกเว้นคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี หลักสูตรปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่จะสอนเป็นภาษาญี่ปุ่น โดยทั่วไปมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นจะประกาศรับสมัครนักศึกษาในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมของทุกปี โดยเปิดภาคการศึกษาแรกในเดือนเมษายน และมีเพียงบางแห่งที่เปิดเรียนในภาคปลายคือเดือนกันยายนหรือตุลาคม

การสอบเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นนั้น ตั้งแต่ปีพ.ศ.2545 ทางสมาคมการศึกษานานาชาติแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้จัดให้มีการสอบแบบใหม่ขึ้นคือ การสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นสำหรับนักศึกษาต่างชาติทุนส่วนตัว (Examination for Japanese University หรือ E.J.U) จัดสอบปีละสองครั้ง โดยจัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นและตามเมืองใหญ่ๆ 10 แห่งทั่วทวีปเอเชีย รวมทั้งกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งผลการสอบนี้ สามารถนำไปประกอบการพิจารณารับเข้าศึกษาต่อจากมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นได้โดยตรง อย่างไรก็ตาม ยังมีมหาวิทยาลัยญี่ปุ่นอีกจำนวนมากที่ไม่ได้ใช้การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาจากผลการสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่นฯ นี้ มหาวิทยาลัยญี่ปุ่นจำนวนมากมีวิธีการคัดเลือกนักศึกษาต่างชาติแตกต่างกันไปตามแต่คณะของแต่ละมหาวิทยาลัย เช่น การพิจารณาจากเอกสาร การสอบข้อเขียน สอบสัมภาษณ์ การเขียนบทความ การสอบวิชาเฉพาะหรือความถนัดอื่นๆ ซึ่งนักศึกษาต้องมาสอบคัดเลือกที่ประเทศญี่ปุ่น ฉะนั้น จึงควรศึกษาระเบียบการรับสมัครของมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าศึกษาต่อเป็นแห่งๆ ไปอย่างละเอียดรอบคอบ

2. บัณฑิตวิทยาลัย หลักสูตรระดับปริญญาโท เป็นหลักสูตรที่มีนักศึกษาชาวไทยสนใจเข้าเรียนมากที่สุด หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรีในเมืองไทยแล้ว ระยะเวลาการเรียนไม่เกิน 2 ปี หลักสูตรระดับปริญญาเอก ใช้เวลาเรียนไม่เกิน 5 ปี ยกเว้นผู้ที่เข้าศึกษาในคณะแพทยศาสตร์ , ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ซึ่งใช้เวลาเรียน 6 ปี

นักศึกษาวิจัย คือ นักศึกษาที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำวิจัย ในหัวข้อที่พิเศษเป็นระยะเวลาสั้นๆ ในมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องการปริญญา และไม่ได้รับหน่วยกิตจากวิชาที่ทำวิจัย ระยะเวลาในการทำวิจัย คือ 6 เดือน หรือ 1 ปีการศึกษา โดยนักศึกษาในระบบนี้จะต้องเป็นผู้ที่จบระดับปริญญาตรีหรือปริญญาโทขึ้นไป โดยชื่อและระบบก็จะแตกต่างกันไปตามมหาวิทยาลัย การพิจารณาคัดเลือกนักศึกษาในระดับบัณฑิตวิทยาลัยโดยทั่วไปจะใช้วิธีการตรวจสอบจากเอกสาร รายละเอียดสรุปของวิทยานิพนธ์ สอบปากเปล่า ซึ่งเน้นในเนื้อหาวิชาเฉพาะที่นักศึกษาสมัคร นอกจากนี้ยังมีการสอบข้อเขียนในวิชาเอก วิชาภาษาญี่ปุ่น อังกฤษหรือภาษาต่างประเทศภาษาอื่น วิธีการคัดเลือกจะแตกต่างกันไปตามแต่คณะ บัณฑิตวิทยาลัยหลายแห่งอาจกำหนดให้นักศึกษาติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาเพื่อให้อาจารย์รับรองก่อนสมัครเรียน ดังนั้น นักศึกษาควรสอบถามไปยังมหาวิทยาลัยที่ต้องการสมัครเข้าเรียนก่อนว่าจำเป็นต้องติดต่ออาจารย์ที่ปรึกษาหรือไม่

3. วิทยาลัยหลักสูตรระยะสั้น การเรียนในหลักสูตรวิทยาลัยโดยทั่วไปใช้เวลา 2 ปต่ถ้าเป็นสาขาเทคนิคการแพทย์และพยาบาลศาสตร์ จะใช้เวลา 3 ปี เนื้อหาการเรียนการสอนมุ่งเน้นเพื่อใช้ในการปฏิบัติจริง คณะส่วนใหญ่ที่เปิดสอนในวิทยาลัยได้แก่ คณะมนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, ศึกษาศาสตร์ ,คหกรรมศาสตร์ โดยประมาณร้อยละ 44 ของวิทยาลัยในญี่ปุ่นนี้จะเปิดรับเฉพาะนักศึกษาผู้หญิง ซึ่งเรียกว่า Joshi Tanki Daigaku หลังจากจบหลักสูตรนี้แล้วนักศึกษาสามารถโอนหน่วยกิตเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีได้ ในการเข้าศึกษาในวิทยาลัยนั้น นักศึกษาจะต้องสอบผ่านการสอบคัดเลือกเข้าวิทยาลัยที่จัดขึ้นในญี่ปุ่น มีวิทยาลัยประมาณ 40% ที่มีวิธีการพิจารณาพิเศษสำหรับนักศึกษาต่างชาติ ยิ่งไปกว่านั้น มีวิทยาลัยถึง 69% ใช้ผลการสอบวัดระดับความสามารถทางภาษาญี่ปุ่น และ 37% ใช้ผลการสอบสามัญทั่วไป สำหรับนักศึกษาต่างชาติเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือก

4. วิทยาลัยอาชีวศึกษา หลักสูตรวิชาชีพชั้นสูง การเรียนในวิทยาลัยอาชีวศึกษานี้ เนื้อหาและหลักสูตรจะต่างกับการเรียนในมหาวิทยาลัยและวิทยาลัย หลักสูตรนี้จะเน้นเสริมสร้างความรู้และความชำนาญเฉพาะด้านในสายงานต่างๆ เช่น งานพยาบาล, งานสาธารณสุข, สังคมสงเคราะห์, อุตสาหกรรม, ออกแบบ, ดนตรี, การท่องเที่ยว, ล่าม, นักแปล , การสื่อสารมวลชน , การวาดการ์ตูน, ช่างเสริมสวย, การทำอาหาร ฯลฯ โดยระยะเวลาเรียนในการเรียนแตกต่างกันไปตามหลักสูตร ซึ่งจะอยู่ในระยะเวลา 1- 4 ปี แต่ในโรงเรียนส่วนใหญ่จะกำหนดหลักสูตรไว้ 2 ปี และหลังจากจบการศึกษาจะได้ใบรับรองเป็นผู้เชี่ยวชาญ (Senmon-shi)ในสายอาชีพนั้นๆ

หลักสูตรที่เปิดสอนในวิทยาลัยอาชีวศึกษา หลักสูตรวิชาชีพชั้นสูงนี้ แบ่งออกเป็น 8 สาขาได้แก่

อุตสาหกรรม เช่น ไฟฟ้า , เครื่องกล , วิศวกรรมโยธา , วิศวกรรมก่อสร้าง , ช่างสำรวจ , สถาปัตยกรรม

เกษตรศาสตร์ เช่น การเกษตรกรรม , การจัดสวน , เทคโนโลยีชีวภาพ

การรักษาพยาบาล เช่น พยาบาล , เทคนิคทันตกรรม , กายภาพบำบัด

การศึกษาและสังคมสงเคราะห์ เช่น การดูแลเด็กอ่อนและคนชรา , สวัสดิการสังคม

สาธารณสุขศาสตร์ เช่น อาหาร , โภชนาการ , ช่างทำผม , ช่างเสริมสวย

พาณิชยศาสตร์ เช่น บัญชี , เลขานุการ , ธุรกิจท่องเที่ยว , การโรงแรม

คหกรรมศาสตร์ เช่น ตัดเย็บเสื้อผ้า , ธุรกิจแฟชั่น, ออกแบบ , การตัดเย็บแบบญี่ปุ่น

ศิลปวัฒนธรรมและการศึกษาทั่วไป เช่น ภาษาศาสตร์ , ศิลปกรรม , ดนตรี , กีฬา , ถ่ายภาพ , การแสดง

5. วิทยาลัยเทคนิค หลักสูตรนี้จะเน้นอบรมความรู้และทักษะที่จำเป็นแก่อาชีพทางสายเทคนิค เพื่อรับรองการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ซึ่งสถาบันส่วนใหญ่เป็นวิทยาลัยเทคนิคทางวิศวกรรมศาสตร์และสาขาที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นเป็นสาขาพิเศษต่างๆ เช่น การเดินเรือพาณิชย์ ซึ่งจะใช้เวลาเรียน 5 ปี 6 เดือน ในปัจจุบันนี้มีวิทยาลัยเทคนิคประเภทนี้ไม่มากนักที่รับนักศึกษาต่างชาติทุนส่วนตัวเข้าเรียน

ประเทศญี่ปุ่น

ค่าใช้จ่ายโดยประมาณ ค่าเล่าเรียน สถาบันสอนภาษาญี่ปุ่น ประมาณ 200,000 - 300,000 บาทต่อปี มหาวิทยาลัยรัฐบาล ประมาณ 200,000 บาทต่อปี มหาวิทยาลัยเอกชน ประมาณ 250,000 - 1,000,000 บาทต่อปี วิทยาลัยวิชาชีพ ประมาณ 200,000 - 300,000 บาทต่อปี

ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น

ค่าที่พัก เดือนละประมาณ 35,000 - 60,000 เยน (11,000 20,000 บาท)

อาหารและค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด จะตกประมาณเดือนละ 70,000 - 80,000 เยน (25,000 30,000 บาท) นอกจากนั้น จะต้องมีค่าธรรมเนียมแรกเข้าสำหรับสถาบันการศึกษา, หอพัก, เงินประกัน, เงินมัดจำต่างๆ อีกมากมาย

สรุปแล้วในการเรียน 1 ปี ควรจะต้องมีเงินประมาณ 8 แสนบาท 1 ล้านบาทเป็นอย่างต่ำ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละเมืองและความประหยัดของนักเรียนด้วยเช่นกัน ถ้าอยู่ในโตเกียว แน่นอนว่าค่าครองชีพไม่ว่าจะเป็นค่าที่พักหรืออาหารก็จะแพงกว่า จังหวัดอื่นๆ หรือหากนักเรียนทำอาหารง่ายๆ ทานเอง ก็จะช่วยประหยัดค่าอาหารไปได้มากขึ้น

ประเทศญี่ปุ่น

สกุลเงิน ญี่ปุ่นใช้เงินสกุลเยน เงิน 100 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 3.5 บาท เงินเหรียญที่ใช้มีตั้งแต่ 1, 5 , 10 , 50 , 100 และ 500 เยนตามลำดับ ธนบัตรมีตั้งแต่ 1,000 , 2,000 , 5,000 และ 10,000 เยน ที่ญี่ปุ่นมักชำระด้วยเงินสด แต่ในปัจจุบันมีห้างร้านที่รับชำระด้วยบัตรเครดิต อีกทั้งยังมีร้านค้าที่รับชำระด้วยบัตรเดบิต (บัตรเงินสดที่สามารถชำระเงินได้ ณ ธนาคาร หรือไปรษณีย์) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนเช็คเงินสดนั้นปกติแล้วจะไม่ค่อยนิยมใช้กันมากเท่าใดนัก

ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ทั่วโลกรู้จักกันในฐานะที่เป็นประเทศหนึ่งที่มีค่าครองชีพสูง ระบบไฟฟ้า ญี่ปุ่นใช้ไฟฟ้ากระแสสลับขนาด 100 โวลท์ ซึ่งแตกต่างจากเมืองไทย ซึ่งใช้กระแสไฟ 220 โวลท์ ฉะนั้นหากจะนำเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเมืองไทยไปใช้ที่ญี่ปุ่น จึงจำเป็นที่จะต้องมีเครื่องแปลงระบบไฟฟ้า ( Adapter) ปลั๊กไฟส่วนใหญ่จะเป็นแบบสองขาแบน

น้ำประปา น้ำประปาที่ญี่ปุ่นสามารถดื่มจากก๊อกน้ำได้เลย เนื่องจากผ่านการบำบัดให้ใช้ดื่มได้ แต่คนญี่ปุ่นโดยทั่วไปมักไม่ดื่มน้ำเปล่าจากก๊อกน้ำ น้ำเปล่าที่จำหน่ายโดยทั่วไปในร้านสะดวกซื้อส่วนใหญ่จะเป็นน้ำแร่ ( Mineral water) ซึ่งมีราคาสูง

โทรศัพท์ โทรศัพท์สาธารณะในญี่ปุ่นสามารถพบได้ทั่วไปทุกหนทุกแห่ง มีทั้งแบบหยอดเหรียญและใช้บัตรโทรศัพท์ ค่าบริการโทรศัพท์ในญี่ปุ่นนั้นจะคิดต่อนาที โทรศัพท์ภายในประเทศคิดนาทีละ 10 เยน ไม่ได้คิดต่อการโทรหนึ่งครั้งเหมือนในประเทศไทย

หากต้องการโทรศัพท์ทางไกลจากประเทศไทยไปญี่ปุ่น กด 001 + รหัสประเทศญี่ปุ่น + รหัสเมือง (ไม่ต้องกดศูนย์ ) + หมายเลขโทรศัพท์ 8 หลัก เช่น โทรไปโตเกียว กด 001 + 81 + 3 + 12345678 เวลา ทั่วประเทศญี่ปุ่น อยู่ในรัศมีเส้นแบ่งเวลาเดียวกันตลอดทั้งประเทศ คือ 9 ชั่วโมงเร็วกว่าเวลามาตรฐานกรีนิช เวลาที่ญี่ปุ่นเร็วกว่าประเทศไทย 2 ชั่วโมง ใช้เวลาเดินทางจากประเทศไทยประมาณ 6 ชั่วโมง

สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ( แผนที่ ) website : http://www.th.emb-japan.go.jp/ เลขที่ 177 ถนนวิทยุ แขวงลุมพินี เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 โทรศัพท์ : 0-2207-8500 | 0-2696-3000 โทรสาร : 0-2207-8510 เวลาทำการ 8.30-12.00 น. และ 13.30-18.00 น.

แผนกกงสุล แผนกหนังสือเดินทางญี่ปุ่น ใบรับรอง : 0-2207-8501 | 0-2696-3001 แผนกคุ้มครองคนญี่ปุ่น : 0-2207-8502 | 0-2696-3002 หมายเลขฉุกเฉิน (โทรศัพท์มือถือ) : 081-846-8265 | 081-809-6074 แผนกวีซ่า : 0-2207-8503 | 0-2696-3003 โทรสาร : 0-2207-8511 เวลาทำการ 8.30-11.45 น. และ 13.30-16.00 น.

สำนักข่าวสารญี่ปุ่น โทรศัพท์ : 0-2207-8504 | 0-2696-3004 โทรสาร : 0-2207-8512 เวลาทำการ 8.30-12.00 น. และ 13.30-16.30 น. สถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ปิดทำการวันเสาร์ วันอาทิตย์ และ วันหยุด หรือ

สอบถามเพิ่มเติมได้ที่แผนกกงสุล สถานทูตญี่ปุ่น สามารถสอบถามได้ด้วยภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาอังกฤษ หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2259-0444, 0-2259-0725 และ 0-2258-9915

ประเทศญี่ปุ่น

ระเบียบการขอวีซ่าสำหรับ "Pre-college Student" ที่ได้รับใบสถานภาพการพำนัก

1.หนังสือเดินทาง (ในวันยื่นขอวีซ่ามีอายุเหลืออย่างน้อย 6 เดือน และมีหน้าที่ไม่มีตราประทับมาก กว่า 2 หน้าขึ้นไป หากมีหนังสือเดินทางเล่มเก่า กรุณานำมาแสดงด้วย)

2.ใบคำร้องขอวีซ่า( แบบฟอร์มของสถานทูตฯ หรือพิมพ์มาจากโฮมเพจของสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ) 1 ใบ

3.รูปถ่าย (ขนาด 2 x 2 นิ้ว สีหรือขาวดำ ที่มีพื้นหลังเป็นสีอ่อน ไม่มีลวดลาย ไม่มีการแต่งภาพถ่าย จะต้องเป็นรูปถ่ายที่ชัดเจน และถ่ายมาไม่เกิน 6 เดือน ห้ามใช้รูปถ่ายที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอล) 1 ใบ ( หากรูปถ่ายไม่ได้มาตรฐานจะไม่สามารถรับคำร้องได้ )

4.ใบสถานภาพการพำนัก(Certificate of Eligibility) ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

5.ทะเบียนบ้าน ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

6.หนังสือรับรองการสำเร็จการศึกษา หรือใบประกาศนียบัตร จากสถาบันการศึกษาที่สำเร็จการศึกษามาครั้งล่าสุด ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

7. กรณีที่เคยผ่านการทำงาน ให้แสดง หนังสือรับรองการผ่านงาน จากหน่วยงานที่เคยทำงานในอดีต ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

8. ผู้ที่เดินทางเป็นครั้งแรก หากเคยเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล หรือผู้ที่ได้เปลี่ยนชื่อตัว-สกุลหลังจากเดินทางไปญี่ปุ่นครั้งที่แล้ว ให้เตรียม เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล เช่นใบเปลี่ยนชื่อตัว-สกุล ใบสำคัญการสมรส ใบจดทะเบียนหย่า ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

9. สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร (ของผู้ยื่นคำร้อง) ฉบับจริงและสำเนาทุกหน้า 1 ชุด กรณีผู้รับภาระค่าใช้จ่ายซึ่งรวมค่าเล่าเรียนและค่ากินอยู่เป็นบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ ผู้ยื่นคำร้องและค่าใช้จ่ายทั้งหมดส่งมาจากประเทศไทย นอกจากเอกสารในข้อ 1 ถึง 8 แล้ว ให้เตรียมเอกสารของผู้รับภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

10.หลักฐานแสดงความเกี่ยวข้องกับผู้รับภาระค่าใช้จ่าย เช่นทะเบียนบ้าน หรือใบสำคัญการสมรสเป็นต้น ฉบับจริงและสำเนา 1 ชุด

11.1 หนังสือรับรองการทำงานจากบริษัทที่สังกัดของผู้รับภาระค่าใช้จ่าย (ให้ระบุตำแหน่ง วันเริ่มทำงาน อัตราเงินเดือน)

11.2 กรณีที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว ให้แสดง หนังสือรับรองการจดทะเบียนจากกระทรวงพาณิชย์(เอกสารทุกอย่างจะต้องออกไม่เกิน 3 เดือน) ฉบับจริง 1 ชุด

12.สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร (ของผู้รับภาระค่าใช้จ่าย) ฉบับจริงและสำเนาทุกหน้า 1 ชุด

หมายเหตุ:

1. หากเอกสารที่จัดเตรียมมาไม่ครบ ถูกต้องตามที่ระบุไว้ข้างต้น กรุณารับทราบด้วยว่าทางแผนกกงสุลฯ จะไม่สามารถรับคำร้องขอวีซ่าได้

 2. เอกสารอ้างอิงอื่นๆ อาจจะมีการขอเพิ่มเติมได้ ถ้าต้องการ จะแจ้งให้ทราบเป็นกรณีไป

3. รับคำร้องขอวีซ่า เปิดรับคำร้องขอวีซ่าในช่วงเช้าเวลา 8.00 - 11.45 น. เท่านั้น

4. สำหรับวันและเวลาในการคืนหนังสือเดินทาง(การฟังผลวีซ่า) สถานทูตจะให้ใบนัดฟังผลในวันที่ยื่นคำร้อง กรุณาตรวจยืนยันวันที่คืนหนังสือเดินทางตามที่ระบุไว้ในใบนัดฟังผล โดยทถานทูตจะคืนหนังสือเดินทางให้ใช้เวลาเร็วที่สุดคือ

อีกสองวันทำการถัดไปนับจากวันที่ยื่นคำร้องในเวลา 13.30-16.00 น. ในกรณีที่ได้รับการอนุมัติ วีซ่าจะติดในหนังสือเดินทาง สำหรับผู้ยื่นที่ทางเจ้าหน้าที่คิดว่าอาจใช้เวลาพิจารณามากกว่าสองวันทำการถัดไป เช่น ผู้ที่เดินทางไปญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก หรือตามวัตถุประสงค์ในการเดินทางหรือแล้วแต่สถานการณ์ต่างๆ เป็นต้น ซึ่งในบางกรณีอาจมีการขอเอกสารเพิ่มเติม, การสัมภาษณ์ผู้ยื่นขอวีซ่า หรือมีความจำเป็นต้องตรวจสอบไปยังกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ทางสถานทูตจะให้ใบนัดฟังผลและระบุว่าให้รอ[ทางสถานทูตจะติดต่อทางโทรศัพท์ให้มาฟังผลในภายหลัง] ซึ่งกรณีเช่นนี้อาจจะไม่สามารถพิจารณาวีซ่าได้ทันตามกำหนดการเดินทางที่ต้องการ ฉะนั้นกรุณายื่นขอวีซ่าล่วงหน้าหลายๆ วันก่อนการเดินทาง กรณีที่ยังไม่ได้รับการติดต่อจากสถานทูตญี่ปุ่น หลังจากที่ยื่นวีซ่าไปแล้วเป็นเวลามากกว่า1สัปดาห์ ผู้ยื่นสามารถโทรศัพท์สอบถามได้โดยให้แจ้งหมายเลขใบนัดฟังผล(ตัวอักษรภาษาอังกฤษกับตัวเลข 5 หลัก) และหมายเลขบาร์โค้ด(ตัวเลข 8 หลัก) อนึ่ง กรุณารับทราบด้วยว่าการพิจารณาออกวีซ่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยสองวันทำการ จึงไม่สามารถออกวีซ่าให้ได้เร็วกว่านี้ตามคำร้องขอเป็นกรณีพิเศษ

เอกสารที่ใช้ประกอบ (1) กรุณาระวังเกี่ยวกับเอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องขอวีซ่าซึ่งจะแตกต่าง กันไปขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการเดินทาง ถ้าเอกสารไม่ครบจะทำให้ไม่สามารถรับยื่นคำร้องได้และถึงแม้ว่าเอกสารที่ยื่นไว้จะครบสมบูรณ์ก็ตามไม่ได้ หมายความว่าทางสถานทูตจะพิจารณาออกวีซ่าให้เสมอไป (2) กรุณาเรียงลำดับเอกสารตามระเบียบการขอวีซ่าขณะยื่นคำร้อง (3) หากยื่นเอกสารปลอมหรือเท็จ ทางสถานทูต จะปฏิเสธการพิจารณาออกวีซ่า และถึงแม้ว่าเอกสารที่ยื่นไว้จะครบสมบูรณ์ก็ตามไม่ได้หมายความว่าจะได้รับการออกวีซ่าเสมอไป (4) โดยหลักการ เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นคำร้องจะไม่คืนให้กับผู้ยื่น หากมี เอกสารใดๆก็ตามที่ต้องการขอคืนกรุณาแนบสำเนาและแจ้งให้กับเจ้าหน้าที่ที่เคาน์เตอร์ขณะยื่นคำร้องทราบด้วย อื่นๆ (1) สำหรับผู้ที่มีวัตถุประสงค์ในการเดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อการพำนักอาศัยมากกว่า 90 วัน,การไปทำงานประเภทต่างๆ,ฝึกงานภาคปฏิบัติ,ศึกษาต่อมากกว่า3เดือน กรุณายื่นวีซ่าหลังจากได้รับใบสถานภาพการพำนักจากกองตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่นแล้วเท่านั้น

ขั้นตอนในการดำเนินการขอใบสถานภาพการพำนัก กรุณาติดต่อสอบถาม โดยตรงที่ กองตรวจคนเข้าเมือง ประเทศญี่ปุ่น (เว็บไซต์กองตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงยุติธรรม ประเทศญี่ปุ่น http://www.immi-moj.go.jp/) (2) ในกรณีที่มีการยื่นขอวีซ่าเป็นหมู่คณะ คือมีวัตถุประสงค์และกำหนดการ เดินทางเหมือนกัน ขอแนะนำให้ยื่นวีซ่าพร้อมกันเป็นหมู่คณะไม่ควรแยกจากกัน (3) ในกรณีที่มีการปฏิเสธการออกวีซ่า ทางสถานทูตขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่อธิบาย เหตุผล ถ้าต้องการยื่นวีซ่าอีกครั้งด้วยวัตถุประสงค์เดิม ไม่สามารถยื่นได้ ภายใน 6 เดือน หลังจากวันที่ได้รับการปฎิเสธวีซ่า (4) ขอแนะนำผู้ยื่นวีซ่า ให้ซื้อตั๋วเครื่องบินหลังจากทางสถานทูตอนุมัติวีซ่าแล้ว (ยกเว้นกรณียื่นวีซ่าทรานซิทเท่านั้น) ทางสถานทูตไม่สามารถรับผิดชอบใดๆได้ ในกรณีที่วีซ่าไม่ผ่านแต่ผู้ยื่นแจ้งว่าได้ซื้อตั๋วเครื่องบินก่อนแล้ว

การอนุญาตให้ตัวแทนดำเนินการยื่นวีซ่า โดยหลักการผู้ยื่นต้องมายื่นคำร้องด้วยตัวเอง แต่ทางสถานทูตจะอนุญาตให้ผู้แทน (เช่นพนักงานของบริษัทที่ผู้ยื่นสังกัดอยู่ ญาติ และอื่นๆ) มาดำเนินการแทนได้เฉพาะกรณีดังมีรายละเอียดต่อไปนี้ (1) ผู้ที่มีอายุไม่ถึง16 ปีบริบูรณ์หรือผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ในวันยื่นหรือผู้ทุพพลภาพ (2) ผู้ที่เดินทางด้วยวัตถุประสงค์เพื่อธุรกิจ (3) ผู้ที่เคยได้รับวีซ่าและเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นมาแล้วภายในระยะเวลา5ปี นับจากวันที่ออกจากญี่ปุ่นครั้งล่าสุด(ตรวจสอบได้จากหนังสือเดินทางเท่านั้น) (4) สำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต หรือหนังสือเดินทางราชการ (5) ผู้ยื่นคำร้องขอวีซ่าที่เดินทางไปกับบริษัททัวร์ที่ได้รับการจดทะเบียนกับทางสถานทูต อนึ่ง ผู้ที่ไม่ได้ถือสัญชาติไทย จะเสียค่าธรรมเนียมวีซ่าแตกต่างกันไป (ขึ้นอยู่กับประเทศหรือดินแดนในอาณัติซึ่งผู้ยื่นคำร้องพำนักอาศัยอยู่) กรุณาสอบถามเพิ่มเติมได้ที่แผนกกงสุล สถานทูตญี่ปุ่น สามารถสอบถามได้ด้วยภาษาไทย ภาษาญี่ปุ่น หรือภาษาอังกฤษ หมายเลขโทรศัพท์ : 0-2207-8503, 0-2696-3003

ค่าใช้จ่าย อัตราค่าธรรมเนียมวีซ่า ค่าธรรมเนียมวีซ่าสำหรับคนไทย ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อ วันที่ 1 เมษายน 2008 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ วีซ่าทั่วไป 900 บาท วีซ่า Multiple 1,800 บาท (สำหรับการเดินทางหลายครั้ง) วีซ่าทรานซิท 220 บาท (สำหรับการเดินทางผ่าน)

เวลาทำการของสถานทูต 08.00 น. 12.00 น. (เปิดรับยื่นวีซ่า) เปิดรับคำร้องขอวีซ่าในช่วงเช้าจนถึงเวลา 11:15 น. เท่านั้น 13.30-16.00 น. (รับเล่ม)

++ ข้อแนะนำในการยื่นวีซ่า / รายละเอียด - ดาวน์โหลดแบบฟอร์มวีซ่าประเภทต่างๆ

++ EJU - Examination for Japanese University การสอบเพื่อศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น สำหรับนักศึกษาต่างชาติทุนส่วนตัวที่ต้องการศึกษาต่อในประเทศญี่ปุ่น

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ

อัลบั้มภาพ 1 ภาพ ของ ประเทศญี่ปุ่น

ประเทศญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook