ประสบการณ์นักเรียนทุน
แนะนำตัวก่อนว่า ชื่อสุปราณี เลิศธนกิจเจริญ หรือชื่อเล่น เลี้ยง นะคะ ปัจจุบันทำงานที่ บมจ.ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ก็ขอนำประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ได้ไปศึกษาอบรมยังต่างประเทศมาเล่าสู่กันฟังนะคะ เผื่ออาจเป็นประโยชน์กับผู้สนใจทั่ว ๆ ไป
สมัยเด็ก ๆ ก็เรียนโรงเรียนของ กทม. นี่ล่ะค่ะใกล้บ้าน ขออนุญาตเอ่ยชื่อโรงเรียนนะคะ (เผื่อบางที น้อง ๆ ที่กำลังอ่านอยู่อาจบังเอิญเป็นรุ่นน้องโรงเดรียนเดียวกัน) สมัยประถมฯ เรียนที่โรงเรียนวัดสิทธารามค่ะ ย่านบางกอกใหญ่ ต่อมามัธยมฯ ก็สอบเข้าโรงเรียนใกล้บ้านอีก คือที่โรงเรียนวัดประดู่ในทรงธรรม ท่าพระ ย่านฝั่งธนฯ เช่นกัน ช่วงมัธยมปลายนั้นก็เป็นช่วงที่หลาย ๆ คนจะเรียนระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) หรือที่เรียกกันว่า สอบเทียบค่ะ (ก็นานมากแล้วเนอะ) พอสอบเทียบได้ตอนชั้นมัธยม 5 ก็เรียนปริญญาตรีที่ จุฬาฯ ค่ะ คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จบสาขาประกันภัย (อย่าเพิ่งงง ค่ะ ที่ภาควิชามี 4 สาขาประกันภัย เป็น 1 ในนั้น และที่จุฬาฯ ก็เรียกได้ว่า เป็นแห่งแรกในบ้านเราที่เปิดสอนประกันภัย นอกนั้นก็จะเป็น ม.อัสสมันชัญ หรือ ABAC ในสมัยตอนนั้นนะคะ) พอเรียนจบก็ทำงานในสายธุรกิจประกันเลย ซึ่งงานที่ทำจะให้เรียแบบเข้าใจง่าย ก็น่าจะเรียกว่า งานวิเคราะห์ หรือพิจารณาความเสี่ยง หรือ Risk underwriting ค่ะ โดยทำที่ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อค่ะ ต้องดูแลลูกค้าที่เป็นองค์กร ซึ่งก็คือบริษัทประกันภัยมั่นคงนั่นเอง
ช่วงที่ทำงานที่ บมจ.ไทยรับประกันภัยต่อนี่เอง (ขออนุญาตเรียกว่า ไทยรีฯ นะคะ มาจากชื่อภาษาอังกฤษว่า Thai Reinsurance PCL. ซึ่งก็ใช้เป็นชื่อเดิมในตลาดหลักทรัพย์ว่า THAIRE ด้วย ปล.ตอนนี้เป็น THRE แล้วค่ะ) ช่วงที่ทำมาได้ประมาณ 2 ปี ก็สอบได้ทุนของ AITF หรือ ASEAN Insurance Training Fund ซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลมาเลเซียสนับสนุนให้กับบุคลากรสายธุรกิจประกันภัย จากประเทศในแถบ ASEAN ทั้ง 10 ประเทศ (ขณะนั้น) ประเทศละ 1 ทุน ไปศึกษาในระดับ Graduate Diploma สาขา Risk Management หรือการบริหารความเสี่ยงในธุรกิจประกัน ที่ The Malaysian Insurance Institute เป็นเวลา 1 ปีค่ะ ซึ่งทางไทยรีฯ เอง ก็สนับสนุนในเรื่องค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากตัวทุน AITF ค่ะ ซึ่งในช่วงที่เรียนก็ได้มีโอกาสศึกษาธุรกิจของมาเลเซีย ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่ล้ำหน้าเราไประดับหนึ่งไปด้วย อีกทั้งเพื่อนร่วมชั้นเรียนก็มีความหลกหลายมาก ถึงแม้จะมาจากประเทศเพื่อนบ้านก็ตามค่ะ (เรียกได้ว่าสนุก และน่าสนใจมาก)
เมื่อเรียนจบก็กลับมาทำงานใช้ทุนที่ไทยรีฯ ค่ะ ในระหว่างนั้นก็ตัดสินใจว่าจะเลือกเรียนโท สาขาอะไรดี จริง ๆ ก็ยังไม่แน่ใจ ยังคงต้องค้นหาตัวเองอีกมาก (อยากบอกน้อง ๆ ว่า เป็นเรื่องธรรมดาค่ะ ถ้าจะรู้สึกแบบนี้ในช่วงการเปลี่ยนแปลงของชีวิต แต่ขอให้พยายาม และรักการเรียนรู้) แต่ก็รู้สึกว่าตัวเองสนใจการตลาด อยากรู้ว่าเป็นอย่างไร และมีอะไรในการตลาด จึงเลือกสอบเข้าหลักสูตรปริญญโท การตลาด ภาคภาษาอังกฤษที่ ม.ธรรมศาสตร์ หรือที่น้อง ๆ อาจคุ้นมากกว่า ถ้าจะเอ่ยชื่อว่า โครงการ MIM Master in Marketing Programme ค่ะ ซึ่งเมื่อสอบได้ก็ทำงานใช้ทุนไปด้วย และเรียนไปด้วย เพราะเป็นหลักสูตรที่เรียนตอนเย็น (จริง ๆ ต้องขอเรียกว่า หลักสูตรภาคดึกมากกว่าค่ะ หรือภาคโต้รุ่งก็คงได้? เพราะบางครั้งทำการบ้านจนเช้า จริง ๆ บ่อยทีเดียว) เป็นโครงการมาราธอนมาก) แต่ก็เรียนจบได้ด้วยดีคุ่ เหนื่อยแต่ก็คุ้ม และสนุก (มองย้อนไปก็รู้สึกดีเสมอค่ะ) MIM เป็นโครงการ 2 ปี ค่ะ โดยช่วงที่เรียนไปครบ 1 ปี ก็ลองสอบเพื่อเรียนโครงการแลกเปลี่ยนทางการศึกษา หรือที่เรียกว่า Exchange Programme โดยเลือกไปเรียนที่ยุโรปค่ะ เลือกไป The Copenhagen Business School ที่เดนมาร์ก เป็นเวลา 1 เทอม ก็เกือบครึ่งปีค่ะ วิชาที่เลือกไปเรียนก็จะเป็นแนวสื่อสาร และการจัดการองค์กร (หรือ International Marketing & Communication และ Organizarional Management / Value-based Management) ซึ่งก็ต้องขอลางานไปชั่วคราว และก็กลับมาเรียนต่อที่ ม.ธรรมศาสตร์อีกครึ่งปีจนจบพร้อม ๆ กับทำงานที่เดิมไปด้วย
ซึ่งก็บังเอิญอีกว่า ช่วงที่เรียนใกล้จบนั้น บังเอิญไปเห็นประกาศที่บอร์ดของคณะ เกี่ยวกับโครงการ APLP ของ The East West Center ก็เกิดความสนใจประกอบกับมีเพื่อนที่เป็นนักเรียนฮาวาย และเพื่อนที่ทำงานสายการบินที่ต้องไปฮาวายเป็นประจำ จึงโทร.คุยกับเพื่อน และสอบถามถึงความเป็นมาของสถาบันค่ะ ซึ่งก็ได้ความว่าเป็นสถาบันที่มีชื่อเสียง และมีบทบาทพอสมควรในฮาวาย ที่ให้ความช่วยเหลือนักเรียนพร้อมทุนการศึกษาต่าง ๆ จึงลองเข้าไปอ่านใน Website ก็เกิดความสนใจมากขึ้นค่ะ ไม่ว่าจะความแข็งแรงของสถาบันเอง เพราะเป็นสถาบันที่สนับสนุนโดยรัฐบาลอเมริกัน ประกอบกับตัวทุน APLP เองนั้นมีเนื้อหาที่แตกต่างกับพื้นฐานการศึกษาของเราเองเลย คือ หลักสูตรจะครบเลยค่ะ ทั้งความเป็นผู้นำ (ก็มีการสื่อสารด้วยนะคะ) ทักษะต่าง ๆ ความรู้ทางสังคมศาสตร์ รวมถึงการเมือง เศรษฐศาสตร์ ประชากร และสิ่งแวดล้อม เรียกได้ว่า เป็นสิ่งที่เราได้สัมผัสแบบผิวเผินมากค่ะ คือเราจบสถิติ จบประกัน ทำงานเกี่ยวกับตัวเลข แล้วก็เรียนโท การตลาด และการสื่อสารอีก ก็รู้สึกว่าถ้าได้รู้ตรงนี้เราก็ครบสูตร จะแนววิทย์ แนวศิลป์ เราก็เห็นภาพ ประกอบกับเมื่อพิจารณาองค์ประกอบของตัวทุนแล้ว ทั้ง funding โปรแกรมทัศนศึกษา และการมีโอกาสได้เลือกเรียนวิชาเลือกกับ University of Havaii at Manoa (UH) ซึ่งถือเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ อันดับหนึ่งในฮาวายก็ว่าได้ (คือ ขออนุญาตอธิบายนิดหนึ่งนะคะ การเรียนของ APLP นั้นจะเป็น 2 ส่วนหลักค่ะ คือ หลักสูตรหลักที่เป็นแนว Social Science ที่พูดถึงเราจะเรียนกับ The East West Center (EWC) และในขณะเดียวกันทาง EWC ก็เปิดโอกาสให้เราเลือกเรียนวิชาเลือกตามความสนใจของแต่ะละคน แต่ก็เฉียดฉิวมาก เพราะเรามีเวลาเตรียมตัวน้อย เนื่องากช่วงนั้นก็ยุ่งกับการทำ Business Project และการสอบ comprehensive ให้จบโทด้วย