การใช้ชีวิตที่ดีในมหาวิทยาลัย
หากถามว่า ช่วงใดที่นิสิตนักศึกษาทุกคนจะต้องปรับตัวมากที่สุดในการเรียนในมหาวิทยาลัย หลายคนคงนึกถึงช่วงเวลาในปีแรกที่ได้ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย หรือที่เรียกว่า "เฟรชชี่" ที่เป็นช่วงเวลาหนึ่งที่ถือได้ว่า นักศึกษาซึ่งมาจากต่างที่ ต่างสถานศึกษาจะได้รับประสบการณ์ใหม่พร้อม ๆ กับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปในทุกด้าน ซึ่งบางเรื่องอาจเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากการเรียนในระดับมัธยมศึกษาอย่างสิ้นเชิง ขณะที่บางเรื่องอาจไม่แตกต่างมากนักแต่เป็นการเรียนรู้ที่มีความเข้มข้นมากขึ้น นักศึกษาที่ปรารถนาความสำเร็จในการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น จึงควรทำความเข้าใจกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นและพยายามปรับตัวใหม่ให้เหมาะสม ในที่นี้จึงขอเสนอแนวทาง 3 ประการที่นักศึกษาพึงเตรียมความพร้อม และลงมือปฏิบัติขณะใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย
ประการแรก : วางแผนการใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพ
การเรียนการสอนในรั้วมหาวิทยาลัยนั้นจะมีอิสระกว่าการเรียนในระดับมัธยมศึกษานั่นคือ นักศึกษาจะมีจำนวนชั่วโมงเรียนที่น้อยลง มีตารางเรียนไม่ต่อเนื่องตลอดทั้งวัน นอกจากนี้นักศึกษายังมีอิสระในการเลือกเรียนวิชาต่าง ๆ ได้ โดยที่แต่ละวิชาอาจจะมีเวลาเริ่มและเลิกเรียนไม่ตรงกัน ทำให้ในแต่ละวันนักศึกษาจะมีเวลาว่างจากการเรียนมาก แต่เวลาที่ว่างมากขึ้นนี้อาจกลายเป็น "กับดัก" ที่ล่อให้นักศึกษาที่ไม่ได้วางแผนการใช้เวลาอย่างดีอาจประสบปัญหาในการเรียนและชีวิตส่วนตัวได้ ดังนั้นหากนักศึกษามีการวางแผนการใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว เวลาเหล่านั้นจะกลายเป็นเครื่องมือที่ดี ในการเก็บสะสมประสบการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมากมาย เช่น การร่วมกิจกรรมกับชมรมต่าง ๆ ที่เป็นความชอบ ความถนัดของนักศึกษา การทำงานพิเศษเพื่อหารายได้ การเรียนหลักสูตรพิเศษเพื่อประโยชน์ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นภาษาต่างประเทศ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ใหม่ ๆ รวมถึงการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
ประการที่สอง : เรียนรู้ผ่านกิจกรรมนอกหลักสูตร
เวลาว่างนอกเหนือจากการเข้าชั้นเรียนนั้น นักศึกษาควรตระหนักว่า เป็นดั่งโอกาสทองในการเตรียมตัวเพื่อการทำงานในอนาคต ดังนั้นจึงควรจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการทำกิจกรรมในขณะเรียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะสิ่งนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยพัฒนาชีวิตของนักศึกษาให้ครบทุกด้าน ซึ่งเป็นการแสวงหาความรู้นอกเหนือจากตำราเรียนเพียงด้านเดียว การทำกิจกรรมต่าง ๆ จะช่วยพัฒนาทักษะในการทำงานร่วมกับผู้อื่น ทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบกว่านักศึกษาที่มุ่งเรียนเพียงอย่างเดียว ที่อาจเป็นคนเก่งที่รู้ทฤษฎีต่าง ๆ จำนวนมาก แต่ขาดความเข้าใจในทางปฏิบัติ ซึ่งเมื่อเข้าสู่โลกการทำงานอาจไม่สามารถประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้เรียนมาได้ให้มีประสิทธิผลที่ดี
ประการที่สาม : เลือกคบเพื่อนดี
การเลือกคบเพื่อนในระดับมหาวิทยาลัยจะมีอิทธิพลต่ออนาคตโดยตรงของนักศึกษามากกว่าเพื่อนในระดับมัธยมฯ เพราะอยู่ในวัยที่เตรียมปรับตัวเป็นผู้ใหญ่เพื่อเข้าสู่ชีวิตทำงาน ดังนั้นการเลือกคบเพื่อนในช่วงการเรียนในมหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญ หากเลือกคบเพื่อนที่มีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเหมาะสม ย่อมทำให้เราได้รับอิทธิพลเชิงลบมาด้วย และอาจนำไปสู่การใช้เวลาอย่างไม่เหมาะสม ไม่เกิดประโยชน์สูงสุดนักศึกษาบางคนอาจต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนสูง จึงอาจยอมทำตามกลุ่มเพื่อนจนสูญเสียความเป็นตัวเอง ซึ่งการเป็นคนที่ติดเพื่อนมากจนไม่อาจแยกแยะในการทำสิ่งที่เหมาะสมกับตนได้นั้น ย่อมเป็นการเสียโอกาสในชีวิตไปอย่างน่าเสียดาย ในทางกลับกันหากนักศึกษารู้จักคบเพื่อนที่เหมาะสมแล้ว จะส่งผลด้านบวกต่อตนเอง ทำให้เรามีเพื่อนที่เป็นกำลังใจและคอยช่วยเหลือสนับสนุนกันในการเรียนและการพัฒนาชีวิตด้านต่าง ๆ ทั้งจากการทำกิจกรรมร่วมกัน การศึกษาหาความรู้และร่วมฝ่าฟันอุปสรรคในการเรียนไปด้วยกัน
ดังนั้น ในการทำความรู้จักกับเพื่อนใหม่ นักศึกษาควรเรียนรู้จักเพื่อนแต่ละคน โดยการสังเกตและประเมินทั้งจุดเด่นและจุดด้อยของแต่ละคน เลือกคบคนที่พร้อมจะช่วยเหลือดูแลกันให้ทำสิ่งที่ถูกต้อง ส่งเสริมกันและกันให้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งด้านการเรียนและกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อทำสิ่งดีที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง มหาวิทยาลัยและสังคมต่อไป
การก้าวข้ามจากชีวิตนักเรียนมัธยมฯ มาสู่ชีวิตนักศึกษาในรั้วมหาวิทยาลัยนั้น จึงถือได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญ เป็นจุดเปลี่ยนของเวลาที่พร้อมจะนำชีวิตของนักศึกษาแต่ละคนให้หันเหไปสู่ความสำเร็จหรือล้มเหลวในอนาคตได้ ดังนั้นนักศึกษาที่ดีย่อมรู้จักเลือกกระทำในสิ่งที่เหมาะสมในช่วงเวลาต่าง ๆ ในชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นประตูบานสำคัญที่จะเปิดไปสู่เส้นทางที่จะประสบความสำเร็จที่ยั่งยืนในอนาคต
ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.nalineetaveesin.com/
ดร.นลินี ทวีสิน
กรรมการบริหารบริษัทซัคเซสมีเดีย จำกัด