แนะวิธีการเลือกหมอน

แนะวิธีการเลือกหมอน

แนะวิธีการเลือกหมอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

โรงพยาบาลกรุงเทพแนะวิธีการเลือกหมอนที่เหมาะสมเพื่อช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น และลดอาการปวดคอและหลังได้ เนื่องจากกระดูกสันหลังของคนเรามีลักษณะคล้ายกับตัว S ที่ช่วงหน้าอกจะงอไปข้างหลัง ช่วงคอจะงอมาด้านหน้า ทำให้เวลานอนคนเราจำเป็นต้องมีหมอนหนุนคอ เพื่อให้ได้โค้งงอไปตามธรรมชาติ

หมอนที่ดีควรนุ่มหนุนสบายเพื่อ รองรับศีรษะ หนุนตั้งแต่ต้นคอถึงศีรษะ ความสูงของหมอนประมาณ 4-6 นิ้ว หากนอนหมอนเตี้ยและนุ่มเกินไป เวลานอนหมอนจะยุบลงทำให้แรงดันในหลอดเลือดสูง โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง เมื่อตื่นขึ้นมาจะเกิดอาการมึนศีรษะ หน้าและหนังตาบวม อาจทำให้มีอาการเหมือนคนตกหมอน ปวดเคล็ดต้นคอ และหันลำบาก

ส่วนหมอนที่สูง และแข็งเกินไปจะทำให้ส่วนของศีรษะสัมผัสกับหมอนน้อย บริเวณที่สัมผัสกับหมอนเลือดจะไหลเวียนไม่สะดวก และทำให้คอตั้งมากเกินไป เลือดไปเลี้ยงสมองไม่สะดวกซึ่งอาจทำให้เป็นโรคเกี่ยวกับข้อต่อกระดูกต้นคอ ทับหลอดเลือดและเส้นประสาทหรือเกิดอาการเป็นเฉพาะที่ เช่น ปวดต้นแขน

แพทย์แนะนำผู้ที่เป็นโรคหัวใจ และปอดว่าควรจะนอนหมอนสูงเพื่อให้หัวใจ และปอดทำงานเบาขึ้น ส่วนผู้ป่วยที่มีไข้สูงควรหาหมอนน้ำให้หนุน เพื่อให้ความเย็น และช่วยลดความร้อนที่ศีรษะให้ดีขึ้น

อาการปวดคอเวลานอนยังขึ้นอยู่กับ ท่าการนอนด้วย ท่านอนที่ดีคือท่านอนหงาย และใช้หมอนนิ่มและไม่สูง ให้มีการรองรับส่วนเว้าของกระดูกคอ หน้าไม่เงยไปข้างหลัง ถ้าชอบนอนตะแคงควรใช้หมอนที่ไม่สูงเกินไปและมีหมอนข้างอีกใบไว้ระหว่างขา หรืออาจจะใช้ผ้าขนหนูม้วนหนุนข้อมือด้านที่ตะแคงก็ได้ ท่านอนตะแคงที่เหมาะสม คือหมอนต้องสูงเท่ากับระดับความสูงจากไหล่มายังศีรษะโดยศีรษะต้องอยู่ในแนวเดียวกับกึ่งกลางลำตัว

อีกสาเหตุหนึ่ง คือนอนตกหมอนซึ่งมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ ความจริงแล้ว ไม่ได้เกิดจากการนอนตกหมอน แต่เกิดจากการอักเสบของกล้ามเนื้อกลุ่มหนึ่งซึ่งอยู่ระหว่างสะบักอาจเป็น ด้านเดียวหรือสองด้านก็ได้

วิธีแก้ไขอย่างง่ายๆ ทำได้ 2 วิธี คือนวดโดยใช้นิ้วมือกดบริเวณที่ปวดแรงๆ แช่ไว้นานๆ ประมาณ 2 อึดใจเพื่อไล่เลือด และกรดที่คั่งในกล้ามเนื้อออกไปเพื่อให้เลือดได้สะดวก

อีกวิธีหนึ่งคือใช้ความร้อนจะใช้ กระเป๋าน้ำร้อน ผ้าชุบน้ำร้อนหรือใช้ขวดใส่น้ำร้อนห่อผ้า วางบริเวณที่ปวด และคลึงเบาๆ ก็จะช่วยให้กล้ามเนื้อที่อักเสบคลายตัวได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก :  รพ.กรุงเทพ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook