วันฉัตรมงคล 5 พฤษภาคม
ความสำคัญ
วันฉัตรมงคล เป็นวันที่ระลึกในการครบรอบปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ คือพระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้วจึงได้เสร็จนิวัติประเทศไทย และรัฐบาลไทยได้น้อมเกล้าฯ จักพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2493 เหล่าพสกนิกรชาวไทย ได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันฉัตรมงคลรำลึก
พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
ขั้นเตรียมงานพระราชพิธี เริ่มตั้งแต่พิธีตักน้ำ และทำพิธีเสกน้ำ ณ เจดีย์สถานสำคัญจากสถานที่ตักน้ำ ก่อนที่จะส่งเข้ามาทำพิธีต่อไปในพระนคร น้ำที่เสกนี้ใช้สำหรับถวายสำหรับถวายเป็น น้ำอภิเษก และสรงมุรธาภิเษก โดยมีระเบียบกำหนดให้ใช้น้ำจากแม่น้ำ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมนา อิรวดี มหิ และสรภู ในชมพูทวีป หรือที่เรียกว่า "ปัญจมหานที" แต่เนื่องจากประเทศไทยอยู่ห่างจากชมพูทวีปมาก ไม่สะดวกในการเดินทาง จึงเปลี่ยนมาใช้น้ำจากแม่น้ำ18 แห่ง จากภายในพระราชอาณาจักรแทน นอกจากนี้ยังมีพิธีจารึกดวงพระราชสมภพในพระสุพรรณบัฏ และแกะพระราชสัญจกร
พิธีเบื้องต้น เริ่มตั้งแต่ตั้งนำวงด้าย จุดเทียนชัย และเจริญพระพุทธมนต์
พระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก เริ่มจากสรงมุรธาภิเษก ต่อจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินไปประทับเหนือพระที่นั่งอัฐทิศอุทุมพรราชอาสน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และพราหมณ์นั่งประจำทิศทั้ง 8 กล่าวคำถวายพระพรชัยมงคล และถวายดินแดนให้อยู่ในความคุ้มครองของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้นทรงรับน้ำอภิเษก ขึ้นสู่พระที่นั่งภัทรบิฐพระราชอาสน์องค์ใหม่ พระมหาราชครูเริ่มร่ายเวทย์พิธีพราหมณ์เมื่อร่ายเวทย์เสร็จแล้วจึงกราบทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวลงพระปรมาภิไธย ถวายเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือ เครื่องหมายแสดงความเป็นพระมหากษัตริย์ ได้แก่พระมหาพิชัยมงกุฎ พระแสงขรรค์ชัยศรี ธารพระกร วาลวิชนี ฉลองพระบาทเมื่อทรงรับพระมหาพิชัยมงกุฎมาสวมพระเศียร เจ้าพนักงานจะประโคมดนตรี ทหารยิงปืนใหญ่ พระสงฆ์เคาะระฆัง และสวดชัยมงคลคาถาทั่วพระราชอาณาจัก หลังจากนั้นพราหมณ์ถวายพระแสงศาสตราวุธเป็นอันเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก
พิธีเบื้องปลาย เมือเสร็จพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกแล้ว จะเสด็จออก ณ มหาสมาคม เพื่อให้เหล่าข้าราชการ และประชาชนได้ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวโรกาสทรงเข้าพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก และตั้งแต่รัชกาลที่ 7 เป็นต้นมา ได้มีพระราชพิธีประกาศสถาปนาสมเด็จพระบรมราชินี นอกจากนั้นเสร็จพระราชดำเนินเพื่อประกาศพระองค์เป็นศาสนูปถัมภกษัตริยาธิราชเจ้า ในพระบรมมหาราชวัง
เสด็จเยี่ยมราษฎร เมื่อทรงเสร็จพระราชพิธีต่างๆ ที่เกี่ยงข้องแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนิน ให้ราษฎรได้มีโอกาสชมพระบารมี
การจัดพระราชพิธีเฉลิมฉลองวันฉัตรมงคลในอดีต
แต่เดิมเป็นงานพิธีเฉลิมฉลองของเจ้าพนักงานในพระราชฐานที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในหกเดือน ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำดิว่า ในอารยประเทศย่อมนับถือว่า วันคล้ายวันบรมราชาบรมราชาภิเษกเป็นวันมงคลสมัยควรเฉลิมฉลอง จึงทรงริเริ่มวันฉัตรมงคลขึ้นแต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่อธิบายใหฟังก็ไม่เข้าใจ เผอิญวันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่เดิม จึงทรงอธิบายว่า ฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภคทำให้ไม่มีใครติดใจสงสัย
พระบาทสมเด็จพระจอมเจ้าอยู่หัวได้มีการเฉลิมฉลองโดยนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทด้วยเหตุนี้จึงถือว่า การเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีในรัชกาลของพระบาลสมเด็จพระจอมเจ้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ในสมัยรัชกาลที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จะโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 ก็ไม่มีผู้ใหญ่ท่านใดยินยอม จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูโภคอยู่ตามเดิม รูปงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นดังนี้จนถึงปัจจุบัน
การจัดงานวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน
ในขั้นตอนการจัดงานวันฉัตรมงคลในปัจจุบัน มักกำหนดให้เป็น 3 วัน คือ วันที่ 3 พฤษภาคม มีงานบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุประทาน คือ พิธีทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่พระบรมราชบุพการี ซึ่งเป็นพิธีสงฆ์ ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ซึ่งในวันนี้ได้เพิ่มพระราชพิธีตรึงหมุดธงชัยเฉลิมพลที่จะพระราชทานแก่หน่วยทหารบางหน่วยเข้าไว้ด้วย
ในวันที่ 4 พฤษภาคม เป็นวันเริ่มพระราชพิธีฉัตรมงคล เจ้าพนักงานจะได้อัญเชิญเครื่องราชกกุธภัณฑ์ขึ้นประดิษฐานบนพระแท่นใต้พระมหาปฎลเศวตฉัตร พระครูหัวหน้าพราหมณ์อ่านประกาศพระราชพิธีฉัตรมงคล แล้วทรงสดับพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์
ในวันที่ 5 ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล พระบาทสมเด็จเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินไปถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ ทรงบูชาเครื่องกกุธภัณฑ์ พราหมณ์เบิกแว่นเวียนเทียนสมโภช พระมหาเศวตฉัตรและราชกกุธภัณฑ์
ตอนเย็นพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้าแก่ผู้มีความดีความชอบ แล้วเสด็จนมัสการพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร และถวายบังคมพระบรมรูปสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้าที่ปราสาทพระเทพบิดร เป็นเสร็จพระราชพิธี
ในวันฉัตรมงคลสำนักพระราชวังได้เปิดปราสาทหลายแห่งให้ประชาชนได้เข้าชมและถวายบังคม
งานพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นเครื่องหมายยืนยันว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติมาครบรอบปีด้วยดีอีกวาระหนึ่ง และตลอดเวลาที่ผ่านมา พระองค์ได้ประกอบพระราชกรณียกิจอันเป็นคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติ และปวงชนชาวไทยนับอเนกอนันต์
ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ประชาชนชาวไทยจึงได้จัดให้มีการเฉลิมฉลองเนื่องในวันฉัตรมงคลเป็นประจำทุกปี
และเนื่องในมหามงคลสมัย ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จเถลิงถวัลย์ราชสมบัติครบรอบปี 50 ปีในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2539 ทางราชการจัดงานพระราชพิธีกาญจนาภิเษก เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมงคลยิ่ง
กิจกรรมที่ควรปฏิบัติเนื่องในวันฉัตรมงคล
1. ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ
2. ร่วมทำบุญตักบาตร ประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล
3. น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระพรชัยพร้อมเพรียงกัน กล่าวคำถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่งยืนนาน เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปชั่วกาลยิ่งยืนนาน
แหล่งอ้างอิง
1. ธนากิต วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541.
2. ธนากิต ประเพณี พิธีมงคล และ วันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2539.
3. วรนุช อุษณกร. ประวัติวันสำคัญที่ควรรู้จัก. กรุงเทพฯ : โอ.เอส.พริ้นติ้ง เฮ้าส์,2528.