พอร์ต โฟลิโอ (แฟ้มสะสมผลงาน) ทำอย่างไร ?
เราควรมาทำความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Portfolio กันใหม่ เพราะพวกเรามักติดอยู่กับการรับโจทย์แบบมีรายละเอียดประกอบ เช่น ต้องทำกี่หน้า ใช้กระดาษอะไร มีข้อมูลอะไรบ้าง พอคุณครูบอกว่าทำอย่างไรก็ได้ ก็เลยไม่รู้จะทำอย่างไร คุณครูคงมากำหนดให้เราไม่ได้จริงๆครับเพราะพอร์ตโฟลิโอ คือการบันทึกสิ่งต่างๆที่แสดงความสนใจ ความถนัด ความสามารถ และความคิดเห็นของตัวเรา
ในพอร์ตโฟลิโอ ของเรา อาจมีข้อมูลต่าง ๆ ต่อไปนี้ครับ
- กิจกรรมที่เคยทำ เช่นเคยเป็นคณะกรรมการนักเรียน เคยร่วมแข่งขันกีฬาฯ เคยร่วมจัดโครงงาน คือเคยทำอะไร เมื่อไร ก็ใส่ลงไปครับ เราไม่จำเป็นต้องใส่กิจกรรมทุกอย่างที่เราเข้าร่วม เพราะบางทีถ้าใส่มากเกินไปจะทำให้ผู้อ่าน ดูไม่ออกเลยว่าเราสนใจอะไรกันแน่
- ในส่วนนี้อาจใส่ความรู้สึกของคนอื่นที่มีต่อกิจกรรมที่เราทำ หรือ ความรู้สึกที่มีต่อตัวเราในการทำกิจกรรมนั้นๆ
- นอกจากนั้นนักเรียนควรบันทึกเรื่องของความภูมิใจ และรางวัลที่เคยได้รับในกาณทำกิจกรรม หรือการเรียน และถึงแม้ไม่ได้รับรางวัลใดๆแต่การเข้าร่วมประกวดแข่งขันต่าง ๆ ก็บ่งบอกถึงความสนใจของเรา นักเรียนก็สามารถบันทึกได้เช่นกัน
ในเรื่องนี้ขอยกตัวอย่างในการพิจารณา เปรียบเทียบพอร์ตโฟลิโอของนักเรียนสองคน
- พอร์ต ที่หนึ่ง นักเรียนเข้าร่วมประกวดถ่ายภาพและได้รับรางวัล จากการประกวด มีหลักฐานรางวัล แสดงไว้
- พอร์ตที่สอง ถึงแม้ไม่เคยรับรางวัลแต่ส่งเข้าร่วมประกวดมากมาย พร้อมมีรูปงานแสดงภาพถ่ายต่างๆที่ตนเองเข้าร่วมประกวด
ผมคงพิจารณาว่า เจ้าของพอร์ตที่สองน่าจะเป็นผู้ที่เหมาะสมกว่า ถ้าต้องคัดเอาเพียงคนเดียวเพื่อเข้าเรียนสาขาการถ่ายภาพ บางทีแค่การไปร่วมงาน ไปดูงานนิทรรศการ ที่เราสนใจก็นำมาบันทึกได้ เพราะพอร์ตคือสิ่งที่จะบ่งบอกความสนใจในตัวเรา บางคนสนใจเรื่องวิชาการ ก็เอาเกรด เอารายงานที่ทำระหว่างเรียน เอาเรื่องราวของการทำโครงงานด้านวิชาการต่างๆ ที่เคยทำมาแสดง มาสรุป หรือนำภาพถ่ายของตนเองในงานนั้นๆมาบันทึกไว้ในพอร์ต ก็ดูน่าสนใจครับ
คนที่สนใจด้านสังคมก็เอากิจกรรม ที่ทำ บางทีอาจให้เพื่อนเขียนถึงเราก็ได้ว่าเราดีตรงไหน ประทับใจอะไรเรา ให้ครู พ่อแม่ หรือคนที่เรารู้จัก เขียนถึงเราได้ทั้งนั้นไม่ผิดกติกามีนักเรียนถามว่า การบันทึกพอร์ตโฟลิโอต้องมีหลักฐานหรือไม่ สำหรับผมคิดว่าถ้ามีก็ดี ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะถ้าผู้อ่านสนใจเขาก็มาถามเราต่อได้ เช่นถ้าเราเคยร่วมกิจกรรมปลูกป่า แต่เราไม่มีรูป เราก็อาจเขียนความประทับใจในงานนั้น โดยไม่มีหลักฐาน ไม่มีคนเซ็นรับรอง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาใดๆ
นักเรียนที่สนใจด้านเทคโนโลยี อาจทำพอร์ตแบบดิจิตอล คือทำเป็น เวป หรือโปรแกรม นำเสนอ ก็ดูน่าสนใจ ใส่ภาพ เสียง ผมว่าน่าจะสนุกครับเป็นการบ่งบอกความสนใจของเราได้อย่างดี คำถามที่ว่าจะใช้กระดาษอย่างไร ความหนาเท่าไร หรือ จำนวนกี่หน้า ผมคิดว่าขึ้นอยู่กับตัวเรานะ พอร์ตที่แสดงความเป็นตัวเราได้นั่นคือพอร์ตโฟลิโอที่ดี เคยเห็นพอร์ตของนักเรียนที่ สนใจด้านศิลปะ ทำออกมาไม่กี่หน้าแต่ออกแบบน่าสนใจ มีทั้งภาพกราฟฟิค และภาพถ่ายที่ตั้งใจทำอย่างดี อย่างนี้เอาไปสมัครเข้าเรียนต่อด้านศิลปะ การออกแบบสื่อ ก็น่าจะประสบความสำเร็จ
การที่มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีการกำหนดให้ พอร์ตโฟลิโอ เป็นส่วนหนึ่งของการคัดนักเรียนเข้าเรียนต่อ ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริมมากครับ น่าจะมีผลดีกว่าการคัดนักเรียนจากการสอบเพียงอย่างเดียว บางคนไม่เคยคิดเคยทำประโยชน์อะไรให้สังคมส่วนรวมเลย แต่สอบเข้าคณะส้งคมสงเคราะห์ อย่างนี้จะหวังให้จบมาทำงานด้านนี้ คงยากครับ
การคัดเลือกโดยใช้พอร์ตโฟลิโอเป็นส่วนประกอบจึงน่าจะช่วยให้
มหาวิทยาลัยได้คัดเอาผู้ที่มีความสนใจ ในสาขาวิชานั้นๆ เข้าไปเรียน ซึ่งจะทำให้นักเรียนเรียนอย่างมีความสุข และประสบความสำเร็จในการเรียน การเรียนต่อ หรือ การทำงานในอนาคต
ที่มา : http://blog.eduzones.com