มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

King Mongkut's University of Teshnology Thonburi (KMUTT)

ก่อตั้ง:   พ.ศ. 2541
ต้นไม้ประจำสถาบัน:  ต้นธรรมรักษา
สีประจำสถาบัน: สีแสด-เหลือง
จำนวนคณะ:  9 คณะ 1 สถาบัน 1 ศูนย์
จำนวนนักศึกษา:  ประมาณ 15,606 คน
อัตราค่าเล่าเรียน:  หน่วยกิตละ 400 และ 1,200 บาท ยกเว้นบางหลักสูตรใช้ระบบเหมาจ่าย
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
วิทยาเขตบางมด 126 ถนนประชาอุทิศ แขวงบางมด เขตทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร
โทรศัพท์ 0 2427 0039, 0 2470 8000
วิทยาเขตบางขุนเทียน 83 หมู่ 8 ถนนบางขุนเทียน แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร
วิทยาเขตราชบุรี อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี
เว็บไซต์: http://www.kmutt.ac.th/

"วิทยาลัยเทคนิคธนบุรีนับเป็นวิทยาลัยเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทย"


ประวัติ
จากเจตนารมย์ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ฯพณฯ ม.ล. ปิ่น มาลากุลที่ต้องการผลิตผู้ประสานงานระหว่างวิศวกรและ Skill Labours ให้ได้ในระยะเวลาอันสั้น อาจารย์สนั่น สุมิตร อธิบดีกรมอาชีวศึกษา จึงเสนอให้จัดตั้ง "วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี" ขึ้นในบริเวณที่ดินของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ณ ต.บางมด อ.ราษฎร์บูรณะ ธนบุรี และได้รับการประกาศจัดตัวอย่างเป็นทางการจากกระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2503 โดยครั้งนั้นรับนักศึกษาจากผู้จบเตรียมอุดมศึกษา (ม. 6 ในปัจจุบัน) เฉพาะสายวิทยาศาสตร์ ศึกษาต่อ 3 ปี ได้รับวุฒิ ปวส. นับเป็นวิทยาลัยเทคนิคแห่งแรกในประเทศไทย

ต่อมาในปี 2514 ได้รวมเข้ากับวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ และวิทยาลัยเทคนิคโทรคมนาคมเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า วิทยาเขตธนบุรี สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นวิทยาเขตหนึ่งในสามของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ส่วนอีก 2 วิทยาเขตคือ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ต่อจากนั้นจึงได้ยกฐานะเป็นสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ สังกัดทบวงมหาวิทยาลัยในปี 2517

ในปี 2529 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตธนบุรีได้แยกเป็นสถาบันอิสระเรียกว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการและรองรับความต้องการในการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และในปี 2541 จึงถึงเวลาเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของสถาบัน คือได้รับการยกฐานะขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล โดยใช้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

ปัจจุบันสถาบันแห่งนี้มีชื่อเสียงด้านการเรียนวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ ทั้งนักศึกษาและคณาจารย์ก็ทำชื่อเสียงมากมายในการประดิษฐ์เครื่องมืออุตสาหกรรมและการเกษตรขึ้นมาเพื่อช่วยงานคนไทย และชื่อเสียงที่ได้ยินกันบ่อยมากเห็นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการประดิษฐ์หุ่นยนต์แบบต่างๆ ที่มักจะถูกนำมาร่วมแสดงทุกครั้งในงานนิทรรศการเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัย

สัญลักษณ์
ตราประจำมหาวิทยาลัยนำมาจากพระราชลัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประกอบด้วย ลายกลางเป็น "ตราพระมหามงกุฎ" ซึ่งนำมาจากพระบรมนามาภิไธย เดิม "มงกุฎ" และเป็นศิราภรณ์สำคัญ หนึ่งในเครื่องราชเบญจกกุธภัณฑ์ของพระมหากษัตริย์ มีฉัตรบริวารขนาบอยู่บริเวณด้านข้างทั้งสอง

"สีแสด-เหลือง" เป็นสีที่แสดงถึงความเคลื่อนไหว ความไม่หยุดนิ่ง ความแข็งแรง ทั้งยังเป็นสีที่กระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้น เปรียบเทียบได้กับชีวิต เครื่องมือเครื่องจักร ความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่งนี้เป็นส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย การเรียนรู้ และของชีวิต

"ดอกธรรมรักษา" ด้วยเหตุที่เป็นไม้ดอกที่พบมากในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง และสีของดอกยังสอดคล้องกับสีประจำมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีนามที่เป็นมงคลต่อนักศึกษาและบุคลากรในด้านจริยธรรม และสอดคล้องกับคติธรรมที่ว่า "ธรรมะย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม"

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมระบบควบคุมและเครื่องมือวัด
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม
วิศวกรรมวัสดุ
วิศวกรรมเครื่องมือ
วิศวกรรมเมคคาทรอนิกส์
2.คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
คณิตศาสตร์
เคมี
ฟิสิกส์ประยุกต์
จุลชีววิทยา
วิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์
สถิติประยุกต์
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
3.คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีการพิมพ์
วิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์-มัลติมีเดีย
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
เทคนิคการพิมพ์
หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (5 ปี)
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมอุตสาหกรรม
ครุศาสตร์เทคโนโลยี (ต่อเนื่อง 2 ปี)
4.คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาการคอมพิวเตอร์ (หลักสูตรภาษาอังกฤษ)
เทคโนโลยีสารสนเทศ (ต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต
เทคโนโลยีสารสนเทศ (ต่อเนื่อง 2 ปี)
5.คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ
หลักสูตรสถาปัตยกรรมบัณฑิต (5 ปี)
สถาปัตยกรรม (English Programme)
สถาปัตยกรรมภายใน (English Programme)
การออกแบบอุตสาหกรรม (English Programme)
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
ออกแบบนิเทศศิลป์ (International Programme)
6. คณะศิลปศาสตร์
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
7. คณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
8. คณะพลังงานสิ่งแวดล้อมและวัสดุ
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
9.บัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
10. สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
11. ศูนย์ศึกษาในเมือง มจธ.
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)

ค่าใช้จ่าย
ค่าลงทะเบียนรายวิชาแตกต่างกันแล้วแต่หลักสูตรและรายวิชา สำหรับคณะวิศวกรรมศาสตร์หลักสูตรปกติอยู่ที่หน่วยกิตละ 400 บาท หลักสูตรวิศวกรรมโยธา (นานาชาติ) หน่วยกิตละ 1,200 บาท ยกเว้นหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้ระบบเหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 17,200 บาท และนานาชาติเหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 46,600 บาท ส่วนคณะวิศวกรรมศาสตร์หลักสูตรสองภาษาเหมาจ่าย 3 งวดคือ งวดแรก 15,000 บาท งวดที่ 2-3 งวดละ 35,000 บาท และสำหรับคณะวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ หน่วยกิตละ 1,200 บาท นอกจากค่าลงทะเบียนรายวิชาแล้ว นักศึกษาส่วนใหญ่ยังต้องจ่ายค่าบำรุงการศึกษาอีกภาคละ 10,000 บาท และค่าประกันอุบัติเหตุภาคละ 75 บาท ยกเว้นหลักสูตรวิศวกรรมโยธา (นานาชาติ) ที่ต้องจ่ายค่าบำรุงการศึกษาภาคละ 25,000 บาท ส่วนหลักสูตรที่ใช้ระบบเหมาจ่ายนั้น ค่าบำรุงการศึกษาและค่าประกันอุบัติเหตุคิดรวมอยู่ในนั้นแล้ว

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- ห้องสมุด มีทรัพยากรสารสนเทศในสาขาวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยีชีวภาพ เทคโนโลยีวัสดุ และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องให้บริการตั้งแต่ หนังสือ วารสาร ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ วิทยานิพนธ์ วิดีทัศน์ ซีดีรอม ดีวีดี วีซีดี และมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมไทยทุกชนิด นอกจากนี้ยังมีบริการแพร่ภาพการเรียนการสอน โดยผู้สนใจสามารถรับชมและรับฟังได้จากคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายของมหาวิทยาลัยที่ http://digital.lib.kmutt.ac.th
- สำนักคอมพิวเตอร์ ให้บริการอินเทอร์เน็ต และระบบสารสนเทศแก่นักศึกษา เพื่อสนับสนุนการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพด้านการใช้คอมพ์ ตลอดจนสนับสนุนการวิจัย การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและให้บริการวิชาการ และเพื่อเป็นการสนับสนุนเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายในด้านการศึกษา ที่นี่ยังมีบริการเครือข่าย KMUTT Wireless LAN ครอบคลุมพื้นที่ทั่วมหาวิทยาลัยอีกด้วย
- ลงทะเบียนวิชาเรียนทางระบบอินเทอร์เน็ต/Telebank ที่ www.ktb.co.th สามารถจ่ายค่าเล่าเรียนทางเอทีเอ็มได้ โดยนักศึกษาต้องมีเงินในบัญชีธนาคารกรุงไทย ครบตามจำนวนที่นักศึกษาจะต้องลงทะเบียน
- สนามกีฬา มหาวิทยาลัยจัดให้มีสนามกีฬากลางแจ้ง ซึ่งเป็นสนามกีฬาขนาดใหญ่ใช้เล่นฟุตบอลและกีฬากลางแจ้งอื่นๆ นอกจากนี้ก็มีสนามเทนนิสที่ชั้น 4 อาคารพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ 190 ปี โรงยิมและฟิตเนสเซ็นเตอร์ ซึ่งภายในประกอบด้วยอุปกรณ์ออกกำลังกายที่ทันสมัยหลากหลายประเภท ตั้งอยู่ที่ชั้น 3 อาคารพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ 190 ปี
- งานพยาบาล มจธ. เป็นหน่วยงานช่วยเหลือและรักษานิสิตที่มีปัญหาด้านสุขภาพ จะเหมือนคลินิกย่อมๆ ซึ่งนักศึกษาใหม่จะต้องได้รับการตรวจสุขภาพจากหน่วยงานพยาบาล
- การประกันอุบัติเหตุ โดยนักศึกษาชำระเบี้ยประกันเพียงปีละ 150 บาทเท่านั้น แล้วจะได้รับความคุ้มครองจากการประสบภัยเนื่องจากอุบัติเหตุทุกกรณีตลอดปีการศึกษา ในวงเงินค่ารักษาพยาบาล 10,000 บาท/ครั้ง ในวงเงินเสียชีวิต 200,000 บาท สามารถเข้ารับการรักษาได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐบาล เอกชน หรือคลินิก
- ร้านสหกรณ์มหาวิทยาลัย จำหน่ายเครื่องหมาย นักศึกษา สินค้าที่ระลึกมหาวิทยาลัย เครื่องเขียน อุปกรณ์การเรียนต่างๆ สินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหารว่างและเครื่องดื่มต่างๆ และยังเปิดรับนักศึกษาที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปี เพื่อเป็นสมาชิกผู้ถือหุ้นด้วย
- ศูนย์หนังสือ จำหน่ายหนังสือต่างประเทศตำราเรียนของมหาวิทยาลัย หนังสือภาษาไทย ของที่ระลึก เครื่องแบบนักศึกษา เครื่องเขียน และอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และมีบริการอื่นๆ อีก เช่น ถ่ายเอกสาร เข้าเล่ม และเคลือบบัตร
- โรงอาหารที่นิยมตั้งอยู่ที่อาคารพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ 190 ปี มีขนาดกว้างใหญ่ มีร้านค้าประมาณ 20 ร้าน ถือว่าเป็นศูนย์รวมชีวิตของนักศึกษา
- งานแนะแนวการศึกษาและอาชีพ เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมในเรื่องการเรียน แก้ไขปัญหาส่วนตัวและปัญหาปรับตัวในสังคม และยังมีการแนะแนวนักศึกษาก่อนเข้าสู่การประกอบอาชีพและการศึกษาต่อ
- รถโดยสารระหว่างวิทยาเขต มี 3 เส้นทางคือ มจธ. บางขุนเทียน-บางกอกโค้ด มจธ. บางมด-มจธ.บางขุนเทียน และ มจธ. บางขุนเทียน-เซ็นทรัลพระราม 2
- บริการการขอลดราคาค่าโดยสารรถไฟ เฉพาะนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่กองกิจการนักศึกษา
- หอพักนักศึกษา วิทยาเขตบางมด มีบริการหอพักให้ทั้งนักศึกษาหญิง-ชาย โดยหอพักหญิงเป็นอาคาร 11 ชั้น รับนักศึกษาได้ 944 คน และหอพักเป็นอาคาร 10 ชั้น รับนักศึกษาเข้าพักได้ 388 คน ภายในห้องพักของมหาวิทยาลัยมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น เตียง โต๊ะ ตู้เสื้อผ้า ชั้นวางของ ราวตากผ้า สำหรับห้องพักสองคนจะมีห้องน้ำภายในด้วย นอกจากนี้ในส่วนของตัวอาคารยังประกอบไปด้วย ห้องคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ห้องคาราโอเกะ ห้องฟิตเนส ห้องดูทีวี ห้องอ่านหนังสือ ห้องซักผ้ารีดผ้า ห้องพระ ร้านอาหารร้านซักรัดเสื้อผ้า เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญร้านถ่ายเอกสาร ร้านเสริมสวย และสนามกีฬาแจ้ง และที่วิทยาเขตบางขุนเทียนก็มีหอพักเช่นกัน

ทุนการศึกษา
ทุนการศึกษาระดับปริญญาตรี แบ่งออกเป็น 3 ประเภทดังนี้คือ
1.ประเภททุนทั่วไป ประกอบด้วย ทุนให้เปล่า 1 ปีการศึกษา ทุนให้เปล่าต่อเนื่องจนสำเร็จการศึกษา ทุนมีเงื่อนไข ทุนดอกผลจากเงินบริจาค และทุนงบประมาณแผ่นดิน
2.ประเภทกองทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาประกอบด้วย ทุนเพชรพระจอมเกล้า ทุนให้เปล่า ทุนเงินยืมเพื่อการศึกษา ทุนเงินยืมฉุกเฉิน ทุนส่งเสริมนักศึกษาดีเด่น และทุนจ้างงาน
3.ประเภทกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล

ชีวิตนักศึกษา
นักศึกษาที่นี่รู้จักกันในนาม "เด็กบางมด" ตามชื่อมหาวิทยาลัย ส่วนใหญ่นักศึกษาจะใช้ชีวิตอยู่ในมหาวิทยาลัยมากทั้งเรียนและเล่น และยอกจากสาเหตุที่สถานที่มีขนาดเล็ก ทำให้แทบทุกคนจะรู้จักกันหรือไม่ก็ต้องเคยเห็นหน้ากัน การเรียนที่บางมดยังเน้นการทำงานในภาคปฏิบัติร่วมกัน ดังนั้นนักศึกษาจึงมีความผูกพันกันมาก แต่ก็มีบางวิชาที่นักศึกษาสามารถเรียนแบบออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต ไม่ต้องเดินทางมาเรียนที่มหาวิทยาลัยก็ได้
ยามว่าง มหาวิทยาลัยมีการจัดกิจกรรมมากมาย เพื่อเสริมสร้างสัมพันธภาพระหว่างนักศึกษา เช่น การจัดค่ายพี่น้องสัมพันธ์ ซึ่งเมื่อก่อนจะเป็นค่ายต่างจังหวัด แต่ปัจจุบันจัดที่มหาวิทยาลัย โดยรุ่นน้องต้องค้างคืน แต่ก็ไม่มีการบังคับ นอกจากนั้นก็ยังมีงานแรกพบมดน้อย งานลอยกระทง ประกวด Mr & Miss Freshy จากภาควิชาต่างๆ การแสดงคอมเสิร์ต การแข่งฟุตบอล 3 พระจอมฯ ชิงถ้วยพระราชธาน พิธีไหว้ครู ประชุมเชียร์ ซึ่งเป็นธรรมเนียมที่จัดขึ้นทุกปี หรือหากต้องการพักผ่อนนักศึกษาบางมดสามารถออกไปเดินเล่นตามห้างได้ เพื่อไม่ให้ตกยุตสมัย ห้างที่ไปบ่อยๆ ก็คือ เซ็นทรัลพระราม 2 และเดอะมอลล์ท่าพระ
พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 และศาลพระพรหมเป็นที่เคารพสักการะของเด็กบางมด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook