มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

King Mongkut's University of Technology North Bangkok (KMUTNB)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2529
ต้นไม้ประจำสถาบัน: ต้นประดู่แดง
สีประจำสถาบัน: สีแดงหมากสุก
จำนวนคณะ: 9 คณะ 1 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 22,298 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: หน่วยกิตละ 100-200 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
- วิทยาเขตกรุงเทพฯ 1518 ถนนพิบูลสงคราม เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
โทร. 0 2913 2500
- วิทยาเขตปราจีนบุรี 129 หมู่ 6 ตำบลเนินหอม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี
โทร. 0 3721 7300
เว็บไซต์: www.kmutnb.ac.th

"ปรัชญาของ มจพ. คือ พัฒนาคน พัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี"

ประวัติ
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กำเนิดขึ้นในปี 2502 จากความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งเป็นความร่วมมือในการพัฒนาการศึกษาด้านช่างอุตสาหกรรม ในขณะนั้นสถาบันนี้มีฐานะเป็นโรงเรียนในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ใช้ชื่อนี้ว่า "โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ" ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วไปในนาม "เทคนิคไทย-เยอรมัน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตช่างฝีมือระบบเยอรมันที่เน้นการปฏิบัติและประสบการณ์จริงในโรงงาน

ในปี 2507 โรงเรียนเทคนิคพระนครเหนือ ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นวิทยาลัย จนกระทั่งในปี 2514 ได้มีการรวมวิทยาลัยเทคนิคพระนครเหนือ วิทยาลัยเทคนิคธนบุรี และวิทยาลัยโทรคมนาคมนนทบุรีแล้วจัดตั้งเป็น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า โดยทั้ง 3 วิทยาลัยได้เปลี่ยนรูปแบบมาเป็นวิทยาเขต 3 แห่งของสถาบัน

ต่อมาเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529 มีประกาศพระราชบัญญัติสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พ.ศ. 2528 กำหนดให้แต่ละวิทยาเขตแยกเป็นสถาบันอุดมศึกษาอิสระเพื่อความคล่องตัวในการบริหารงานทางการศึกษาของแต่ละสถาบัน ให้มีฐานะเป็นกรมเทียบเท่ามหาวิทยาลัยทั้ง 3 แห่ง โดยวิทยาเขตพระนครเหนือใช้ชื่อว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ"

หลังจากนั้นในปี 2538 สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือได้ขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งวิทยาเขตปราจีนบุรีขึ้น โดยมีคณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรมเป็นคณะแรกที่จัดการศึกษาขึ้นที่นี่

สัญลักษณ์
ตราประจำมหาวิทยาลัย คือ "พระมหามงกุฎ" ซึ่งเป็นพระบรมราชสัญจกรประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4
"สีแดงหมากสุก" ซึ่งเป็นสีประจำพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่มหาวิทยาลัยอัญเชิญมาเป็นสีประจำสถาบัน
"ต้นประดู่แดง" เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีความแข็งแกร่งซึ่งแสดงถึงความแข็งแกร่งของมหาวิทยาลัย ดอกมีสีแดงเข้มเหมือนหมากสุกซึ่งตรงกับสีประจำสถาบัน และจะออกดอกในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งตรงกับวันสถาปนามหาวิทยาลัยคือ วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ของทุกปี

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม
หลักสูตรครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต
วิศวกรรมการผลิต
วิศวกรรมเครื่องกล
(ปกติ และต่อเนื่อง 2-3 ปี)
- วิศวกรรมไฟฟ้า
(ปกติ และต่อเนื่อง 2-3 ปี)
วิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์
วิศวกรรมโยธา (ต่อเนื่อง 2-3 ปี)
เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (ต่อเนื่อง 2-3 ปี)
2. คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
เทคโนโลยีสารสนเทศ
หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีเครื่องจักรกลเกษตร
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
การจัดการอุตสาหกรรม
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่ออุตสาหกรรม
(ต่อเนื่อง 2 ปี)
การบริหารงานก่อสร้าง
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
การจัดการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรม
3. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
4. คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
คณิตศาสตร์ประยุกต์
เคมีอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตร
เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหาร
ฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์
อุปกรณ์การแพทย์ (ต่อเนื่อง 2 ปี)
วิทยาการคอมพิวเตอร์ประยุกต์
วิทยาการคอมพิวเตอร์ (ต่อเนื่อง 2 ปี)
สถิติประยุกต์ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
สถิติธุรกิจและการประกันภัย
เทคโนโลยีชีวภาพ
5. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมการบินและอวกาศ
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมการผลิต
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมขนถ่ายวัสดุ
วิศวกรรมวัสดุ
วิศวกรรมระบบเครื่องมือวัด
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมอุตสาหกรรม
หลักสูตรอุตสาหกรรมศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีขนถ่ายวัสดุ (ปกติ และต่อเนื่อง)
เทคโนโลยีการผลิต (ต่อเนื่อง)
เทคโนโลยีไฟฟ้าอุตสาหกรรม (ต่อเนื่อง)
6. คณะศิลปศาสตร์ประยุกต์
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
7. คณะอุตสาหกรรมเกษตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีอุตสาหกรรมเกษตรและการจัดการ
พัฒนาผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเกษตร
8. วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์กำลัง
เทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีวิศวกรรมยานยนต์
เทคโนโลยีวิศวกรรมไม้
เทคโนโลยีวิศวกรรมแม่พิมพ์และเครื่องมือ
เทคโนโลยีวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์
เทคโนโลยีวิศวกรรมพอลิเมอร์
เทคโนโลยีวิศวกรรมการออกแบบและผลิตเครื่องจักรกล
เทคโนโลยีวิศวกรรมการทำความเย็นและปรับอากาศ
เทคโนโลยีวิศวกรรมการเชื่อม
เทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- การจัดการเทคโนโลยีการผลิตและสารสนเทศ
หลักสูตรศิลปะบัณฑิต
ออกแบบภายใน
ออกแบบเซรามิกส์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
(ต่อเนื่อง 2-3 ปี)
เทคโนโลยีศิลปะอุตสาหกรรม
เทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา
เทคโนโลยีการเชื่อม
เทคโนโลยีเครื่องกล
เทคโนโลยีเครื่องต้นกำลัง
เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์กำลัง
เทคโนโลนีอิเล็กทรอนิกส์
9. บัณฑิตวิทยาลัย
10. บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน

ค่าใช้จ่าย
ค่าลงทะเบียนวิชาทฤษฎีหน่วยกิตละ 100 บาท วิชาปฏิบัติหน่วยกิตละ 200 บาท และค่าใช้จ่ายทั้งภาคเรียนไม่เกินคนละ 10,000 บาท แต่คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรมและวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ค่าใช้จ่ายจะสูงกว่านั้น แต่ก็ไม่เกินภาคเรียนละ 15,000 บาท เพราะต้องเสียค่าธรรมเนียม เงินพัฒนาวิชาการ มากกว่าคณะอื่นๆ

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- สำนักคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมีหน้าที่ให้บริการทางวิชาการและเทคโนโลยี ทำการค้นคว้า วิจัยและพัฒนางานด้านคอมพิวเตอร์และสารสนเทศ และเป็นศูนย์กลางในการบริการอุปกรณ์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และระบบเครือข่ายใยแสงฯ แก่นักศึกษาและคณาจารย์ ตลอดจนให้คำปรึกษาและฝึกอบรมด้านคอมพิวเตอร์และโปรแกรม
- สำนักหอสมุดกลาง เปิดให้บริการ Access Point สำหรับการเชื่อมต่อแบบไร้สาย ที่ชั้น 2 และชั้น 5 อาคารนวมินทรราชินี อีกทั้งยังมีห้องสมุดของแต่ละคณะด้วย นอกจากนี้สำนักหอสมุดกลางโดยฝ่ายเทคโนโลยีสารนิเทศห้องสมุด ได้พัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการใช้งาน WEP กับการให้บริการในห้องสมุด เพื่อสามารถให้บริการได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อให้สมาชิกห้องสมุดมีทางเลือกในการเข้าถึงสารสนเทศต่างๆ ได้
- ศูนย์วัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส เป็นศูนย์ฝึกปฏิบัติงานและวิจัยด้านเทคโนโลยีชั้นสูงสำหรับนักศึกษาและอาจารย์ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และเป็นศูนย์ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีนำสมัยของฝรั่งเศส
- มีสนามกีฬาอยู่ในอาคารกิจกรรม ในนั้นจะประกอบไปด้วย สนามวอลเล่ย์บอล สนามแบดมินตัน สนามบาส น้องนิสิตเข้าไปใช้ได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
- โรงอาหาร ในสถาบันมีโรงอาหารส่วนกลางอยู่ 2 จุด ที่นิยมก็จะอยู่ที่ตึกกิจกรรม ซึ่งเป็นโรงอาหารขนาดใหญ่ยักษ์ บรรจุคนได้ประมาณ 2,000 คน มีร้านอาหารประมาณ 30 ร้าน นอกจากนี้ยังมีโรงอาหารประจำคณะอีก 3 จุดกระจายกันไป
- หอพักนักศึกษา ที่วิทยาเขตปราจีนบุรี จัดให้มีหอพักนักศึกษา 2 อาคาร แยกเป็น อาคารหอพักนักศึกษาหญิง และอาคารหอพักนักศึกษาชาย

ทุนการศึกษา
เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาได้มีโอกาสได้เรียนต่อโดยเท่าเทียมกัน มหาวิทยาลัยจึงได้จัดให้มีทุนการศึกษาทั้งของสถาบันเองและจากหน่วยงานภายนอกอันประกอบด้วย
1. ทุนการศึกษาภายในสถาบัน ได้แก่ ทุนอุดหนุนนักศึกษานักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ (ยกเว้นค่าหน่วยกิต) ทุนการศึกษาจากเงินพัฒนาวิชาการ (ทุนเรียนดี ทุนผู้มีความสามารถดีเด่น ทุนขาดแคลน และทุนการศึกษาอื่นๆ ที่คณะกำหนด) ทุนการศึกษาจากเงินงบประมาณแผ่นดิน ทุนเล่าเรียนหลวงกาญจนาภิเษกตลอดหลักสูตร 4 ปี และทุนการศึกษาช่วยเหลือฉุกเฉินกรณีต่างๆ
2. ทุนการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น บริษัท มูลนิธิ กองทุนผู้มีจิตศรัทธา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.)
3. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)
4. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (Income Contingent Loan: ICL)
สอบถามรายละเอียดที่ งานแนะแนวการศึกษาและอาชีพ กองกิจการนักศึกษา

ชีวิตนักศึกษา
ไลฟ์สไตล์ของนิสิต มจพ. ออกเป็นแนวเด็กช่าง แม้แต่นักศึกษาหญิงส่วนใหญ่ของที่นี่ก็ออกแนวลุยๆ แต่ว่ากันว่านักศึกษาหญิงของคณะวิทยาศาสตร์จะดูหญิงที่สุด
เนื่องจากแต่ละวิชาของที่นี่เรียนค่อนข้างยากและนักศึกษาแต่ละคนก็มาจากหลากหลายพื้นฐานการเรียน ดังนั้นน้องๆ ที่เข้าไปใหม่ต้องตั้งใจเรียนให้มาก ทางสถาบันได้จัดโต๊ะไม้และโต๊ะหินอ่อนให้นักศึกษานั่งคุย อ่านหนังสือ และติวกันเอง การจัดติวเป็นกลุ่มนั้นมีอยู่ตลอดเวลา เด็กบางคณะจะมีห้องพิเศษในคณะของตัวเองเพื่อเข้าไปนั่งระหว่างรอเรียน อย่างเช่น ห้องของคณะวิศวะ เป็นต้น
ที่วิทยาเขตกรุงเทพฯ พื้นที่ภายในมหาวิทยาลัยค่อนข้างคับแคบและไม่ค่อยมีที่จอดรถ นักศึกษาส่วนใหญ่จึงนิยมนั่งรถเมล์หรือไม่ก็รถตู้มาเรียน และเนื่องจากจำนวนนิสิตที่มีเป็นหมื่นคน ตึกแต่ละตึกจึงมีความสูงตั้งแต่ 10 ชั้นขึ้นไปเพื่อรองรับนักศึกษาจำนวนมากนั้น แม้กระทั่งสนามกีฬาก็ยังอยู่ในตึก คืออยู่ในอาคารกิจกรรม ซึ่งมี 11 ชั้น
ศาลเจ้าพ่อพิชัยดาบหัก เป็นที่พักพิงทางจิตใจของนักศึกษาที่นี่ แต่เขาเรียกกันว่า "ศาลยีราฟ" เนื่องจากมียีราฟเต็มศาล เพราะคนนิยมแก้บนด้วยตุ๊กตารูปยีราฟ คนที่จะสอบพระจอมเกล้าส่วนใหญ่ก็จะมาบนที่นี่ สถานที่ศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ได้แก่ พระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 4 ซึ่งเป็นที่เคารพของนักศึกษาของสถาบันพระจอมเกล้าทั้งหมด เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้มีคุณูปการต่อสถาบัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook