เบต้าแคโรทีน คืออะไร?
ช่วยให้ผิวสวย ลดความเสื่อมเซลล์ตา
เมื่อพูดถึง เบต้าแคโรทีน บางคนคงสงสัยว่ามันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร? เบต้าแคโรทีน คือสารตั้งต้นของวิตามินเอ (โปรวิตาในเอ) มีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพและเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง โดยปกติร่างกายของมนุษย์เราสามารถเปลี่นเบต้าแคโรทีนไปเป็นวิตามินเอได้ตามปริมาณที่ร่างกายต้องการ นอกจากนี้ เบต้าแคโรทีนยังเป็นสารต้านอนุมูลอิสระและพบว่าสามารถลดอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งได้อีกด้วย ในปัจจุบันมีการนำเบต้าแคโรทีนผสมในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมหลายชนิด โดยจะผสมวิตามินและเกลือแร่ชนิดอื่นหลายชนิดเข้าไปด้วยเพื่อบำรุงร่างกาย
เบต้าแคโรทีน พบมากในผัก และผลไม้ที่มีสีส้ม เหลือง หรือแดง เพราะเบต้าแคโรทีน คือ ตัวการทำให้พืชผักและผลไม้มีสีสันดังกล่าว เช่น แครอท ฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง ข้าวโพดอ่อน แตงโม แคนตาลูป มะละกอสุก และผักที่มีสีเขียว เช่น บรอคโคลี มะระ ผักบุ้ง ต้นหอม ผักคะน้า ผักตำลึง
สำหรับปริมาณในการรับประทานของวิตามินเอเพื่อรักษาสุขภาพโดยทั่วไปคือ 5,000 หน่วยสากล (IU) ซึ่งเทียบเท่ากับเบต้าแคโรทีน 3 มิลลิกรัม และสำหรับปริมาณของเบต้าแคโรทีนที่ควรรับประทานต่อวันเพื่อรักษาสุขภาพให้แข็งแรงนั้น คือ 15 มิลลิกรัม ในขณะที่การรับประทานเพื่อหวังผลในการรักษาจะต้องได้รับในปริมาณมากกว่านี้
เบต้าแคโรทีนนั้น มีประโยชน์ต่อร่างกาย และผิวพรรณอย่างมาก คือ ช่วยให้มองเห็นในที่มืดได้ดี ลดความเสื่อมของเซลล์ของลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก ช่วยป้องกันผิวที่อาจเกิดจากอันตรายของรังสีอัลตราไวโอเลตที่มากับแสงแดดได้ จึงทำให้ผิวพรรณมีสุขภาพดี ไม่มีริ้วรอยแก่ก่อนวัย แลดูสดใสอยู่เสมอ นอกจากนี้ยังช่วยรักษาสภาพปกติของเซลล์เยื่อบุตาขาว กระจก ตา ช่องปาก ทางเดินอาหาร ทางเดินหายใจ รวมถึงทางเดินปัสสาวะให้เป็นปกติ และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีอีกด้วย
นอกจากเบต้าแคโรทีน จะมีประโยชน์ต่อร่างกายและผิดพรรณของคนเราแล้ว มันยังสามารถทำอนตรายกับตัวเราได้เช่นกัน เนื่องจาก เบต้าแคโรทีนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Anti-Oxidant) ที่เมื่อร่างกายได้รับมากกว่าความต้องการจะหันไปทำหน้าที่ในทางตรงกันข้าม โดยกลายตัวเป็น "Pro-Oxidant" ซึ่งเป็นสารที่ส่งเสริม "การเกิด" อนุมูลอิสระ ดังนั้นการบริโภคเบต้าแคโรทีนที่มากเกินไป อาจเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะการรับประทานเบต้าแคโรทีนในรูปแบบของผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ขณะที่การรับประทานอาหารแบบธรรมชาติทั่วไป เช่น มะละกอสุก ฟักทอง ตำลึง โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารนี้มากเกินไปจะเป็นไปได้ยาก เพราะเราจะอิ่มก่อนได้รับปริมาณมากเกินไป
ที่มา: วารสารสุขสาระ ฉบับที่ 58