ทีม Skuba มก. โชว์ความพร้อมก่อนลงชิงชัย World RoboCup 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์
ทีม Skuba โชว์ความพร้อมป้องกันแชมป์ World RoboCup 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์
รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นประธานเปิดการแถลงข่าว "ทีมหุ่นยนต์เตะฟุตบอล Skuba พร้อมป้องกันแชมป์ World RoboCup 2010 ณ ประเทศสิงคโปร์" ณ ห้อง Lab จักรกลอัจฉริยะ อาคารวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อโชว์ความสามารถและสาธิตการแข่งขันด้วยเทคนิคต่าง ๆ ของหุ่นยนต์เตะฟุตบอลอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ประดิษฐ์ที่มีระบบการมองเห็นและการตัดสินใจแบบอัตโนมัติ ลักษณะหุ่นยนต์เป็นทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 18 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 15 เซนติเมตร โดยลงโปรแกรมกลยุทธ์ให้หุ่นยนต์สามารถแข่งขันกันเองได้ (Artificial Intelligence) โดยไม่มีการควบคุมจากมนุษย์ให้กับหุ่นยนต์ในระหว่างการแข่งขัน
อาจารย์ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาทีม Skuba กล่าวถึงความเป็นมาของการแข่งขันและการเตรียมความพร้อมในครั้งนี้ ว่า ในปี 2551 ทีม Skuba ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยม ในรุ่น Small-Size League จากการแข่งขัน World RoboCup 2008 ณ เมืองซูโจว์ สาธารณรัฐประชาชนจีน และในปี 2552 ทีม Skuba สามารถคว้าแชมป์โลกในรุ่น Small-Size League พร้อมกับรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมและรางวัลเอกสารงานวิจัยหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม รวม 3 รางวัล จากการแข่งขัน World RoboCup 2009 ณ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย และในปีเดียวกันทีม Skuba ยังได้ลงแข่งขันในรายการ China RoboCup 2009 ณ เมืองต้าเหลียน สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นการแข่งขันระดับภูมิภาค สามารถคว้าแชมป์ในรุ่น Small-Size League และรางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมมาได้อีกหนึ่งรางวัล
สำหรับการแข่งขัน World RoboCup 2010 ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21 - 24 มิถุนายน 2553 ณ ประเทศสิงคโปร์ ทีม Skuba ได้เตรียมความพร้อมสูงสุดโดยได้พัฒนาขีดความสามารถของหุ่นยนต์อย่างเต็มที่ เพื่อลงแข่งขันในรุ่น Small-Size League ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณสร้างหุ่นยนต์และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไป แข่งขันจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มูลนิธิสวิตา และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำหรับความพร้อมของหุ่นยนต์ที่ได้เตรียมการไว้มีความพิเศษเพิ่มขึ้น อาทิ การเคลื่อนที่ได้เร็วซึ่งอาจเรียกได้ว่าเคลื่อนที่ได้เร็วที่สุดสำหรับทีม แข่งขันในตอนนี้ โดยขณะนี้หุ่นยนต์มีความเร็วสูงสุด 3.5 m/s มีการพัฒนาระบบการปรับจูนหุ่นยนต์อัตโนมัติทำให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่ ได้ในทุกสภาพความเสียดทานของสนาม กล่าวคือ สนามที่เป็นพรมเรียบ ซึ่งพรมเรียบนั้นก็มีหลายสภาพของความเสียดทานตามแต่ชนิดหรือวัสดุที่ใช้ทำ พรม หรือตามแต่สภาพการใช้งานของสนาม ซึ่งถ้าใช้งานมานานแข่งกันมาหลาย Match พรมจะมีสภาพของการแตกเป็นขุย ๆ ทำให้ความเสียดทานก็จะแปรปรวนมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหุ่นยนต์ทีม Skuba สามารถปรับจูนตัวเองให้เข้ากับสภาพความเสียดทานของสนามที่อาจแตกต่างกันได้ ในขณะที่วิ่งอยู่ในสนาม
อาจารย์กาญจนพันธุ์ สุขวิชชัย ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ผู้จัดการทีม Skuba กล่าวถึงการพัฒนาแผนการเล่นรูปแบบใหม่ให้สามารถรับมือทีมที่มีความสามารถใน การตั้งรับสูง ว่า ทีม Skuba ถือว่าเป็นทีมที่มีแผนการเล่น เน้นการรุก มีการบุกอย่างต่อเนื่อง โดยไม่เปิดโอกาสให้คู่แข่งรุกเราได้ สำหรับเรื่องของการแบ่งสายแข่งขันนั้นทางเจ้าภาพจัดแบ่งเป็น 4 สาย โดยแต่ละสายจะพบกันหมด(round robin) แล้วเอาที่ 1 ของแต่ละสายไปพักรอในรอบ Quarter Final (มี 4 ทีมที่รอในรอบนี้แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้ทีมที่เก่งที่สุดในสายจะได้มีเวลาพักและหุ่นยนต์ไม่บอบช้ำ เกินไป) ส่วนทีมที่ได้ที่ 2 และ 3 ของแต่ละสายจะมีการแข่งกันต่อเพื่อคัดให้ได้เหลือ 4 ทีม เพื่อไปสู่รอบ Quarter Final ดังนั้นสุดท้ายในรอบ Quarter Final ก็จะมีจำนวนทีมทั้งสิ้น 8 ทีม ซึ่งจะแข่งแบบให้ทีมที่ 1 ของแต่ละสายเดิม ได้แข่งกับทีมที่ 2 ของต่างสายกัน (เพื่อถนอมทีมที่ได้ที่ 1 ของแต่ละสายไม่ให้เจอกันเอง) ผ่านรอบนี้มาได้ ก็จะคัดเหลือ 4 ทีม ก็จะเข้าสู่รอบ Semifinals ซึ่งจะคัดให้เหลือ 2 ทีมสุดท้าย เพื่อเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศ
สำหรับการแข่งขัน RoboCub Thailand Championship ในประเทศไทยนั้น มีการแข่งขันในปี 2008 เป็นปีสุดท้าย หลังจากนั้นก็ไม่มีการจัดการแข่งขันอีกเลย เนื่องจากมีทีมมาสมัครน้อยมากเพราะการแข่งขันชนิดนี้ต้องใช้หุ่นยนต์จำนวน มาก และใช้เทคโนโลยีที่สูงมาก ไม่มีการใช้คนบังคับเลย ทำให้ลงทุนสูงและต้องการจำนวนคนทำหุ่นยนต์จำนวนมากหลากหลายสาขา และการแข่งขันนี้ในทุก ๆ ปี จะต้องมีการต่อยอดจากปีเก่า คือเทคโนโลยีของหุ่นยนต์จะต้องพัฒนาดีขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้หลายทีมประสบปัญหาการหาสมาชิกทีมใหม่ ๆ มารับช่วงองค์ความรู้ที่สะสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่นจึงทำได้ลำบาก เมื่อปี 2008 ทีมจากประเทศไทยที่มีศักยภาพสามารถเข้าแข่งขันได้มี 3 ทีม ได้แก่ ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และได้ไปแข่งขันต่อในเวทีโลกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นโอกาสของทีม Skuba ที่ถึงแม้จะไม่เคยได้แชมป์ประเทศไทย แต่ก็ได้มีโอกาสไปเปิดตัวในเวทีโลก และในปีนั้นเราก็คว้าที่ 3 ของโลกมาได้ และปี 2009 ซึ่งไม่มีแข่งในประเทศไทยอีกแล้ว ก็มีทีมจากประเทศไทยไปแข่งขันในเวทีโลกที่ประเทศออสเตรีย 2 ทีม คือ ทีมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งในปีนั้น ทีม Skuba ประสบความสำเร็จสูงสุด คว้าแชมป์โลก , แชมป์เทคนิคยอดเยี่ยม และ แชมป์เอกสารงานวิจัยหุ่นยนต์ยอดเยี่ยม คือได้ทีเดียว 3 รางวัลซ้อน และในปี 2010 นี้ มีทีมจากประเทศไทยที่ได้ไปแข่งขันในเวทีโลกที่ประเทศสิงค์โปร์เพียง 1 ทีมเท่านั้น คือ ทีม Skuba มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ที่มา : ประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์