อาจารย์ ม.รังสิต คว้าทุนศึกษาต่อสาขาการประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยที่เยอรมัน
อาจารย์ ม.รังสิต คว้าทุนศึกษาต่อสาขาการประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยที่ ประเทศเยอรมัน
จากผลงานการประพันธ์เพลงอันไพเราะที่มืชื่อว่า "เดือนช่วงดวงเด่นฟ้าดาดาว" จนทำให้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการ Young Thai Artist Awards แล้ว เพลงนี้ยังถูกนำมาใช้ในงานพิธีเปิดการแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกเมื่อครั้งที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพอีกด้วย ผลงานอันน่าภาคภูมิใจชิ้นนี้เป็นฝีมือของอาจารย์สุระศักดิ์ อุตสาห์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันยังได้รับทุนการศึกษาในสาขาการประพันธ์ดนตรีร่วมสมัย หลักสูตร Internationalen Ferienkurse fur Neue Musik Darmstadt (The International Summer Course for New Music Darmstadt) จากสถาบันวัฒนธรรมเยอรมันประจำกรุงกัวลาลัมเปอร์ (Goethe Institute Malaysia) สหพันธ์รัฐเยอรมนีเพื่อไปศึกษาต่อในสาขาดังกล่าว
ทุนการศึกษาในสาขาการประพันธ์ดนตรีร่วมสมัย
หลังจากที่ส่งเพลงเข้าประกวดในงาน Malaysian Contemporary Music Festival ที่ประเทศมาเลเซีย และได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 คน จากทั้งหมด 62 คน ให้ได้รับตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางไปที่ประเทศมาเลเซีย เพื่ออธิบายบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้น พร้อมรับทุนการศึกษาในสาขาการประพันธ์ดนตรีร่วมสมัย โดยผู้อำนวยการสถาบันวัฒนธรรมเยอรมัน ประเทศมาเลเซียได้มอบให้กับผู้ที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 5 คน ไปศึกษา ในหลักสูตรดนตรีที่ International Musikinsitut (IMD) เมืองดาร์มสตัดท์ ประเทศเยอรมนี เป็นระยะเวลา 40 วัน
แรงบันดาลใจในการแต่งเพลง
หัวข้อสำหรับการประกวดครั้งนั้น คือ "บทเพลงใดที่สามารถสื่อได้ถึงเมืองที่เราอาศัยอยู่" จึงทำให้คิดถึงวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ เช่น การเดินทางไป ไม่ว่าจะเป็นการนั่งรถไฟฟ้า รถส่วนตัว หรือรถโดยสาร ความวุ่นวายของการจราจรในกรุงเทพฯ แต่ในความวุ่นวาย ก็ยังมีความสวยงามอยู่บนพื้นฐานการดำรงชีวิตแบบไทย เช่น การทำบุญตักบาตร การค้าขาย จากนั้นจึงคิดที่จะนำทำนองเพลงไทยสอดแทรกร่วมกับลักษณะดนตรีร่วมสมัยของตะวันตก ซึ่งการอ้างอิงบันไดเสียงนั้นถอดรหัสมากจากคำว่า "Bangkok" โดยนำมาแทนค่าเป็นตัวเลขและปรับเปลี่ยนแทนค่าอีกครั้งกลับเป็นตัวโน้ต ในการทำเพลงแนวนี้เรียกว่า Minimalist คือการทำเพลงตามทฤษฎีศิลปะ เป็นการประพันธ์เพลงที่สร้างมาจากวัตถุดิบที่น้อยที่สุดให้กลายเป็นวัตถุดิบที่ใหญ่ได้ โดยใช้ระยะเวลาประพันธ์ประมาณ 1-2 เดือน และมีความยาวประมาณ 10 นาที
ความคาดหวัง
เมื่อมีโอกาสในการศึกษาต่อในสาขาการประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยครั้งนี้แล้วก็อยากจะต่อยอดการศึกษาจากครั้งนี้ไปอีก เพื่อให้ได้ประสบการณ์และความรู้มาใช้พัฒนาการประพันธ์เพลงและการสอนต่อไปในวันข้างหน้า