วันภาษาไทย 29 กรกฎาคม
ภาษาเป็นระบบการสื่อสารที่สำคัญอย่างหนึ่งของมนุษย์ เพราะมนุษย์ต้องใช้ภาษาในการติดต่อ บอกความประสงค์ ความรู้สึกนึกคิด ถ่ายทอดประสบการณ์ และความรู้แก่กัน ภาษาไทยก็เป็นภาษาที่ใช้เป็นสื่อในการแสดงความรู้ ความคิด ประสบการณ์ และวัฒนธรรมของชาติ ซึ่งมีลักษณะเด่นเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์แตกต่างจากภาษาอื่น
ปัจจุบัน การใช้ภาษาไทยมีการเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก ทั้งในด้านที่เป็นความงอกงามของภาษา และในด้านที่ตรงข้ามซึ่งควรปรับปรุงแก้ไข กล่าวคือภาษาไทยมีคำใช้มากขึ้น เหมาะแก่ความเจริญก้าวหน้าของวิทยาการต่างๆ ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ภาษาอย่างมักง่าย มีการตัดคำตามสะดวก และใช้คำผิดหน้าที่ ปัญหาการใช้ภาษาไทยเป็นปัญหาที่เกิดมานาน และเปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ในแต่ละยุคแต่ละสมัย ซึ่งมีผู้เพียรพยายามที่จะรักษาความถูกต้องเพื่อรักษามาตรฐานของภาษา จึงได้มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน มหาวิทยาลัย โรงเรียน สื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งผู้สนใจอนุรักษ์ภาษาได้ดำเนินการแก้ไขการใช้ภาษาที่ผิดๆ ด้วยวิธีการอันหลากหลายเพื่อส่งเสริมการใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง เช่น การกำหนดให้มีการสอบวิชาภาษาไทย ในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปเป็นประธานและทรงร่วมอภิปราย ในการประชุมทางวิชาการของชุมนุมภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ หอประชุมคณะอักษรศาสตร์ เมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ในงานวันกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรสฯทรงเปิด อภิปรายในหัวข้อเรื่อง "ปัญหาการใช้คำไทย" และได้ทรงแสดงความห่วงใยการใช้ภาษาไทยดังความตอนหนึ่ง จากกระแสพระราชดำรัสที่พระราชทานในการทรงร่วมอภิปรายเรื่องปัญหาการใช้คำไทย ว่า "ภาษานั้นเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี ประเทศไทยนั้นมีภาษาเป็นของเราเอง ซึ่งต้องหวงแหน ประเทศใกล้เคียงของเราหลายประเทศมีภาษาของตนเอง แต่ว่าเขาก็ไม่ค่อยแข็งแรง เขาต้องพยายามหาทางที่จะสร้างภาษาของตนเองไว้ให้มั่นคง เราโชคดีที่มีภาษาของตนเองแต่โบราณกาลจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้..."
นอกจากนี้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๒ ได้พระราชทานพระบรมราโชวาทแก่บัณฑิต ซึ่งแสดงความห่วงใยถึงการใช้ภาษาไทย ดังความตอนหนึ่งว่า "ในปัจจุบันนี้ ปรากฏว่า ได้มีการใช้ถ้อยคำออกจะฟุ่มเฟือยและไม่ตรงกับความหมายจริงอยู่เนืองๆ ทั้งออกเสียงก็ไม่ถูกต้องตามอักขรวิธี ถ้าปล่อยให้เป็นดังนี้ ภาษาของเราก็มีแต่จะทรุดโทรม ชาติไทยเรามีภาษาของเราใช้เองเป็นสิ่งประเสริฐอยู่แล้ว เป็นมรดกอันมีค่าตกทอดมาถึงเราทุกคน จึงมีหน้าที่จะต้องรักษาไว้ ฉะนั้น จึงขอให้บรรดานิสิตและบัณฑิต ตลอดจนครูบาอาจารย์ได้ช่วยกันรักษาและส่งเสริมภาษาซึ่งเป็นอุปกรณ์และหลักประกัน เพื่อความเจริญวัฒนาของประเทศชาติ"
และในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ได้พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าถวายฯ ชัยมงคล ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ดังความตอนหนึ่งว่า "นอกจากนั้นมีการเปลี่ยนแปลงของวรรณยุกต์ เสียงจะสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เสียงโทกลายเป็นเสียงตรี เสียงตรีกลายเป็นเสียงจัตวา เลยทำให้ฟังดูแปลก เป็นอย่างนี้ได้อย่างไร..."
ดังนั้นในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๖ รอบ คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลของนายชวน หลีกภัย จึงเห็นชอบและมีมติให้วันที่ ๒๙ กรกฎาคมของทุกปี เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ตามการเสนอของทบวงมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง และสนองพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ด้านภาษาไทย และเพื่อกระตุ้นให้สถาบันการศึกษา องค์กรหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนให้ตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย และร่วมใจกันใช้ภาษาไทยอย่างถูกต้อง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://www.lib.ru.ac.th/