มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Thammasat University (TU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2477
ต้นไม้ประจำสถาบัน: ต้นหางนกยูง
สีประจำสถาบัน: สีเหลือง-แดง
จำนวนคณะ: 17 คณะ 1 สถาบัน 1 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 33,930 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: หน่วยกิตละ 300 และ 1,500 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
- ศูนย์ท่าพระจันทร์ 2 ถนนพระจันทร์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โทร. 0 2613 3333
- ศูนย์รังสิต 99 หมู่ 18 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
โทร. 0 2564 4440-59
- ศูนย์ลำปาง ถนนลำปาง-เชียงใหม่ อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง
โทร. 0 5426 8701-8
- ศูนย์พัทยา 39/4 หมู่ 5 ตำบลโป่ง อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี
โทร. 0 3825 9010
เว็บไซต์: www.tu.ac.th, lampang.tu.ac.th (ลำปาง),
www.pattayacenter.tu.ac.th (พัทยา)

"ฉันรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศษสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน"

ประวัติ
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก่อตั้งขึ้นจากเจตนารมณ์ของ ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การ ที่มีความประสงค์จะก่อตั้งมหาวิทยาลัยที่เปิดกว้างเพื่อให้โอกาสแก่สามัญชนในการศึกษา และเพื่อผลิตบุคลากรที่มีความรู้ในด้านกฎหมาย การเมือง การปกครอง เพื่อมารับใช้ชาติที่เพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยได้รับการสถาปนาในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ซึ่งเป็นวันที่เดียวกันกับวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศไทย ในครั้งนั้นใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" แต่จากการผันผวนทางการเมืองในปี พ.ศ. 2495 มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองถูกตัดคำว่า "การเมือง" ออกไปเหลือเพียง "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์"

ต่อมาในปี 2529 ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จากที่แต่เดิมเป็นมหาวิทยาลัยด้านสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เปิดวิทยาเขตศูนย์รังสิตเพื่อขยายการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์ เปิดคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นคณะแรก และให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ไปเรียนรวมกันที่ศูนย์รังสิตเป็นปีแรก จนกระทั่งในปี 2547 จากภัยพิบัติคลื่นยักษ์สึนามิ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิขึ้นที่ศูนย์รังสิต ซึ่งทำให้วิทยาเขตแห่งใหม่นี้มีฐานะและบทบาทเท่าเทียมกันกับวิทยาเขตท่าพระจันทร์เดิม และได้รับบทบาทสำคัญอีกครั้งเมื่อได้รับเลือกให้เป็นสถานที่หลักในการจัดแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลกฤดูร้อน ครั้งที่ 24 ในปี 2550 ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ขยายโอกาสทางการศึกษาออกไปสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น โดยเปิดอีก 2 วิทยาเขต คือ ศูนย์ลำปาง และศูนย์พัทยา

สัญลักษณ์
"ตราธรรมจักร" เป็นรูปธรรมจักรสีเหลือง ตัดด้วยเส้นสีแดง มีพานรัฐธรรมนูญสีแดงสลับเหลืองอยู่ตรงกลาง ตราธรรมจักรนี้บอกความหมายว่า สถาบันแห่งนี้ยึดถือคติธรรมของพุทธศาสนา เป็นหลักกล่อมเกลาบัณฑิต สิ่งที่อยู่กลางธรรมจักรคือ พานรัฐธรรมนูญ หมายถึง การยึดมั่นเชิดชูรัฐธรรมนูญเป็นหลักการที่ มธก. ยึดถือ และประพฤติปฏิบัติ
"ตึกโดม" เป็นอาคารหลังแรกของมหาวิทยาลัย ออกแบบโดยนายหมิว อภัยวงศ์ ตึกโดมปรับปรุงจากตึกเก่า 4 หลังของทหาร แต่สร้างหลังคาเชื่อมแต่ละตึกจนกลายเป็นอาคารหลังเดียวกัน ส่วนกลางของตึกได้สร้างอาคาร 3 ชั้นเพิ่มเติมโดยมี "โดม" เป็นสัญลักษณ์ตรงกลาง รูปแบบของโดมนี้กล่าวกันว่า นำรูปแบบมาจากดินสอแปดเหลี่ยมที่เหลาจนแหลมคม เพื่อแสดงถึงภูมิปัญญาที่สูงส่งของการจัดการศึกษา
"สีแหลือง-แดง" ศจ.ดร.ปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้เลือกสองสีนี้ ซึ่งภายหลังสันนิษฐานว่า สีเหลืองน่าจะเป็นสีของศาสนา และสีแดง หมายถึงสีอันเข้มข้นของเลือด
"ต้นหางนกยูง" ถือเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย หลังจากที่พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงดนตรีที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2506 และได้ทรงปลูกต้นหางนกยูงจำนวน 5 ต้น เพื่อเป็นต้นไม้ประจำสถาบันตามที่นักศึกษาขอพระราชทาน ซึ่งผู้ขอคือ นายวิทยา สุขดำรง

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
2. คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
การเงิน
การตลาด
การบริหารทรัพยากรมนุษย์และองค์การ
การบริหารอุตสาหการและปฏิบัติการ
การบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
International Programme (โครงการพิเศษ)
การบัญชี
การเงิน
การตลาด
หลักสูตรควบบัญชีบัณฑิต และบัญชีมหาบัณฑิต
(บูรณาการ)
หลักสูตรควบบริหารธุรกิจบัณฑิต (การจัดการแบบบูรณาการ) และวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต
3. คณะรัฐศาสตร์
หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต
การเมืองการปกครอง
บริหารรัฐกิจ
การระหว่างประเทศ
4. คณะเศรษฐศาสตร์
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
เศรษฐศาสตร์
International Programme
เศรษฐศาสตร์
5. คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์
หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตร์บัณฑิต
6. คณะศิลปศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์
ประวัติศาสตร์
ภาษาศาสตร์
จิตวิทยา
ภาษาและวรรณคดีอังกฤษ
ภาษาอังกฤษ
ภาษาไทย
ภาษาฝรั่งเศส
ปรัญชา
ภาษาญี่ปุ่น
ภูมิศาสตร์
ภาษาเยอรมัน
ภาษาจีน
ภาษารัสเซีย
หลักสูตร (โครงการพิเศษ)
อังกฤษ-อเมริกันศึกษา (International Programme)
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา
รัสเซียศึกษา
วิชาการสื่อสารภาษาอังกฤษเชิงธุรกิจ
7. คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน
หลักสูตรวารสารศาสตรบัณฑิต
International Programme
สื่อมวลชนศึกษา
8. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
หลักสูตรสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาบัณฑิต
9. คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
ศาสตร์คอมพิวเตอร์
สถิติ
คณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
เทคโนโลยีชนบท
เทคโนโลยีการเกษตร
เคมี
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
คณิตศาสตร์ประยุกต์
ฟิสิกส์อิเล็กทรอนิกส์
เทคโนโลยีชีวภาพ
ฟิสิกส์
วัสดุศาสตร์
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ
หลักสูตร (โครงการพิเศษ)
ศาสตร์คอมพิวเตอร์
สถิติ
คณิตศาสตร์
10. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
Twinning Engineering Programmes : TEP
(โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตสองสถาบัน)
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
Thammasat English Programme of Engineering : TEPE
(โครงการหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตภาคภาษาอังกฤษแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
11. คณะแพทยศาสตร์
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
(5ปี และ 6 ปี)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
การแพทย์แผนไทยประยุกต์
12. คณะสหเวชศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคนิคการแพทย์
กายภาพบำบัด
13. คณะทันตแพทยศาสตร์
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
(5 ปี และ 6 ปี)
14. คณะพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
15. คณะศิลปกรรมศาสตร์
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต
การละคร
ศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์
ศิลปะการออกแบบหัตถอุตสาหกรรม
16. คณะสถาปัตยกรรมศาสตรและการผังเมือง
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สถาปัตยกรรม
หลักสูตรสถาปัตยกรรมภายในบัณฑิต
หลักสูตรการผังเมืองบัณฑิต
หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต
17. คณะสาธารณสุขศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- สาธารณสุขศาสตร์
18. สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร
- วิศวกรรมเคมี
- วิศวกรรมเครื่องกล
- วิศวกรรมโยธา
- วิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร
- วิศวกรรมอุตสาหการ
- การจัดการวิศวกรรม
- เทคโนโลยีการจัดการ
- เทคโนโลยีสารสนเทศ
- วิทยาการคอมพิวเตอร์
19. วิทยาลัยสหวิทยาการ ศูนย์ลำปาง
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สหวิทยาการสังคมศาสตร์

ค่าใช้จ่าย
การเรียนในหลักสูตรปกติคิดหน่วยกิตละ 300 บาท ยกเว้นของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมืองที่คิดหน่วยกิตละ 1,500 บาท บวกค่าธรรมเนียมพิเศษอีก 9,000 บาท นอกจากนี้ก็ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าขึ้นทะเบียนนักศึกษาในภาคการศึกษาแรก ค่าบำรุงห้องสมุด ค่าบำรุงกีฬา กิจกรรม และสุขภาพ ค่าบำรุง มธ. ค่าธรรมเนียมศึกษาเพื่อพัฒนา ค่าธรรมเนียมการใช้บริการเครือข่าย เป็นต้น โดยเมื่อรวมค่าใช้จ่ายแต่ละคณะตลอดหลักสูตร 4 ปีแล้ว คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาจะอยู่ที่ 87,580 บาท นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 89,980 บาท พาณิชยศาสตร์และการบัญชี เศรษฐศาสตร์ วารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน 98,780 บาท ศิลปะศาสตร์ 102,780 บาท วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สหเวชศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ สาธารณสุขศาสตร์ 106,380 บาท วิศวกรรมศาสตร์ แพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ 125,980 บาท และสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง 408,780 บาท

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- ห้องสมุดกลางธรรมศาสตร์ ทั้งที่ท่าพระจันทร์และรังสิต เป็นแหล่งรวบรวมความรู้ หนังสืองานวิจัย ของทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันอื่นๆ นอกจากหอสมุดกลางแล้ว ในแต่ละคณะก็ยังมีห้องสมุดย่อยเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลเฉพาะด้านไว้เพื่อการค้นคว้าของนักศึกษาด้วย
- ศูนย์วิทยบริการด้านคอมพิวเตอร์ ทั้งที่ท่าพระจันทร์และรังสิต มีบริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตเพียงพอต่อจำนวนนักศึกษา นอกจากศูนย์คอมพ์ส่วนกลางแล้วก็ยังมีบริการคอมพ์กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปตามคณะด้วย
- ศูนย์บรรณสารสนเทศ บริการด้วยระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์
- ศูนย์หนังสือธรรมศาสตร์ ทั้งที่ท่าพระจันทร์และรังสิต เป็นศูนย์หนังสือที่มีหนังสือและอุปกรณ์การเรียนมากมายเพื่อจำหน่าย โดยเฉพาะหนังสือด้านวิชาการที่หายาก นอกจากหนังสือก็ยังมีสินค้าที่ระลึกของมหาวิทยาลัยจำหน่ายด้วย สามารถเช็คข้อมูลสินค้าออนไลน์ได้ที่ bookstore.tu.ac.th ศูนย์หนังสือ มธ. ยังมีบริการรับฝากขายหนังสือเก่าโดยผู้นำมาฝากเป็นผู้ตั้งราคาเอง แต่จะถูกหักค่าดำเนินการ 20%
- ศูนย์บริการการกีฬา ประกอบด้วย สนามกีฬาหลักและสนามกีฬารอง ซึ่งเป็นสนามกีฬากลางแจ้งระดับมาตรฐาน ใช้เล่นฟุตบอล กรีฑา และกีฬากลางแจ้งอื่นๆ อาคารยิมเนเซียม 4, 5, 7 เป็นโรงยิมเนเซียมขนาดใหญ่ อาคารยิมเนเซียม 6 เป็นโรงยิมเนเซียมขนาดกลางสามารถเล่นกีฬาได้หลายชนิดแตกต่างกัน ได้แก่ แบดมินตัน วอลเลย์บอล ปิงปอง ฟุตบอลในร่ม เซปัคตะกร้อ และบาสเก็ตบอล นอกจากนี้ยังมีสนามเทนนิสแบบฮาร์ทคอร์ด และศูนย์กีฬาทางน้ำที่ทันสมัย
- คลินิกเทคโนโลยี ทำหน้าที่เป็นตัวกลางการถ่ายทอดเทคโนโลยี และเป็นแหล่งที่รวมข้อมูลเทคโนโลยีวัตกรรมและภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งนอกจากนักศึกษาจะสามารถเข้าไปใช้บริการแล้ว บุคคลภายนอกก็เป็นกลุ่มเป้าหมายเช่นกัน
- การบริการการรักษาพยาบาลเบื้องต้น
- การบริการแนะแนวอาชีพ
- การบริการลดหย่อนค่าโดยสารรถไฟ
- การบริการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา
- โครงการจักรยานพอพัก เปิดโอกาสให้นักศึกษาและบุคลากรที่เรียนหรือทำงานที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้เช่าจักรยานในราคาถูกเพื่อช่วยลดภาวะโลกร้อน โดยนักศึกษาจ่ายค่าเช่าเพียง 100 บาทต่อภาคการศึกษา
- บริการรถสวัสดิการ รับ-ส่ง นักศึกษา และบุคลากรภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เป็นรถโดยสารที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซ NGV และยังมีรถตู้โดยสารปรับอากาศบริการรับ-ส่ง ระหว่างศูนย์ท่าพระจันทร์-ศูนย์รังสิต อีกด้วย
- หอพัก นักศึกษาที่เรียนที่ศูนย์รังสิตสามารถอยู่หอพักได้ โดยทางมหาวิทยาลัยได้จัดหอพักนักศึกษาไว้อย่างเพียงพอ ดังนี้
1. หอพักเอเชี่ยนเกมส์ มีห้องพัก 2 แบบคือ อาคารหอพักโซน C ห้องพักเดี่ยว (2 คน) และโซน E (พัก 2 คน) ส่วนห้องพักอีกแบบคือ อาคารหอพักโซน B เป็นหอพักชุด (4 คน) ค่าเช่าหอพักแห่งนี้คิด 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน นอกนั้นก็เป็นค่าน้ำ ค่าประกัน และค่าทำบัตรผู้พักอาศัย ส่วนค่าไฟฟ้า (ยูนิตละ 4 บาท) และค่าโทรศัพท์เรียกเก็บตามการใช้จริง
2. อาคารหอพักธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต (หอพักใน) เป็นห้องเดี่ยว (4 คน) อัตราค่าห้องพักอยู่ที่ 600-900 บาทต่อคนต่อเดือน บวกค่าประกัน ค่าน้ำ (ยกเว้นห้องที่ไม่มีห้องน้ำในตัว) และค่าไฟฟ้า (ยูนิตละ 2.50 บาทสำหรับห้องพัดลม และยูนิตละ 4 บาทสำหรับห้องแอร์)
3. อาคารหอพักโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ สำหรับนักศึกษากลุ่มสุขศาสตร์ปีที่ 2 ขึ้นไป เป็นห้องพักเดี่ยว (3 คน) แบ่งเป็น 2 ฝั่งคือ ฝั่ง A สำหรับนิสิตหญิง และฝั่ง B สำหรับนิสิตชาย อัตราค่าห้องพัก 900 บาทต่อคนต่อเดือน บวกค่าประกัน ค่าน้ำ และค่าไฟ (ยูนิตละ 2.50 บาท)
4. อาคารหอพัก T.U. Dome Resident Complex ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ริมถนนเชียงราก เป็นอาคาร 9 ชั้น จำนวน 3 อาคาร
5. อาคารเซอร์วิสพาร์ทเมนต์ T.U. Dome Resident Complex ตั้งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ริมถนนเชียงราก เป็นอาคาร 10 ชั้น จำนวน 1 อาคาร
6. อาคารหอพัก 50 ยูนิต ค่าห้องพัก 300 บาทต่อเดือน
7. อาคารหอพัก 14 ชั้น ค่าห้องพัก 750, 1,100 และ 4,000 บาทต่อเดือน
8. อาคารหอพักรัชดาภิเษก ศูนย์ท่าพระจันทร์ตั้งอยู่ในเขตตลิ่งชัน อัตราค่าเช่า (รวมค่าน้ำค่าไฟแล้ว) สำหรับนิสิตปริญญาตรีอยู่ที่ 800 บาทต่อคนต่อเดือน และนิสิตปริญญาโทอยู่ที่ 2,000 บาทต่อคนต่อเดือน นอกจากนี้ยังมีค่าประกัน และค่าทำบัตรหอพัก

ทุนการศึกษา
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดสวัสดิการด้านทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่มีปัญหาด้านทุนทรัพย์ ดังนี้คือ ทุนการศึกษาทั่วไป ทุนช่วยเหลือในกรณีพิเศษ ทุนสงเคราะห์จ้างนักศึกษาทำงาน ทุนประเภทเรียงความ ซึ่งยังแบ่งได้เป็น ทุนภูมิพล ทุนปาลพนมยงค์ และทุนศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก นอกจากนี้ก็ยังมีทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาซึ่งเป็นทุนของรัฐบาลที่จัดสรรให้มหาวิทยาลัยเป็นประจำทุกปี

ชีวิตนักศึกษา
ปัจจุบันนักศึกษาปริญญาตรีทุกคณะจะต้องเรียนที่ศูนย์รังสิตตลอด 4 ปี หรือตลอดหลักสูตร การเดินทางไปศูนย์รังสิตทำได้อย่างสะดวกเพราะเข้าได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นรถส่วนตัว รถโดยสารประจำทางและรถตู้ ซึ่งมีบางสายวิ่งเข้าถึงภายในมหาวิทยาลัยหรือไม่ก็ขึ้นรถไฟชานเมืองไปลงที่สถานีรถไฟ มธ.ศูนย์รังสิต นอกจากนี้ยังมีบริการรถบัสสวัสดิการ และรถไมโครบัสท่าพระจันทร์-รังสิต ราคาเที่ยวละ 40 บาทอีกด้วย และเนื่องจากภายในศูนย์รังสิตมีบริเวณกว้างขวางกว่า 1,700 ไร่ ทางสถาบันจึงได้จัดรถรับ-ส่งระหว่างตึกเรียนฟรี

ช่วงเวลาว่างระหว่างรอเรียน นักศึกษาจะนั่งกันที่โต๊ะที่ทางมหาวิทยาลัยจัดให้ตามใต้อาคาร หรือไปนั่งชุมนุมกันที่โรงอาหาร บางส่วนก็ไปเล่นเน็ตที่ศูนย์คอมพ์ พวกที่เรียนท่าพระจันทร์ก็จะไปเดินเล่นที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า คนที่มีรถก็ชอบขับไปสยาม แต่พวกที่ไม่ชอบเดินทางก็จะออกมาหาอะไรทานแถวท่าพระจันทร์ หรือไม่ก็เข้าห้องสมุด ส่วนนักศึกษาโซนรังสิต ก็มักไปเดินเล่นแถวฟิวเจอร์ปาร์ครังสิตและโลตัส

สังคมธรรมศาสตร์จะเป็นเพื่อนๆ กันโดยไม่ค่อยซีเรียสว่าใครรุ่นพี่ รุ่นน้อง แต่ก็จะให้ความเคารพต่อกันด้วยการให้หนังสือเรียน ซึ่งเปรียบเสมือนมรดกจากรุ่นพี่สู่รุ่นน้อง นอกจากนั้นรุ่นพี่จะช่วยในการวางแผนการเรียนให้น้องๆ ด้วย นักศึกษาธรรมศาสตร์จะรักความเป็นธรรมศาสตร์ และส่วนมากจะถูกปลูกฝังให้เป็นตัวของตัวเอง
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของธรรมศาสตร์ทั้ง 2 ศูนย์เห็นจะเป็น ศาลเจ้าแม่สิงโต ศาลพระภูมิ และอนุสาวรีย์ของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ และอาจารย์ป๋วย อึ้งภากรณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook