มหาวิทยาลัยทักษิณ (มทษ.)
Thaksin University (TSU)
ก่อตั้ง : พ.ศ. 2539
ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นปาริชาต (ต้นทองหลาง)
สีประจำสถาบัน : สีเทา-ฟ้า
จำนวนคณะ : 9 คณะ 2 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา : ประมาณ 11,570 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : ค่าหน่วยกิตแตกต่างกันแล้วแต่รายวิชา
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ :
- วิทยาเขตสงขลา 140 ถนนกาญจนวิช หมู่ที่ 4 ตำลเขารูปช้าง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา โทร 0 7431 1885, 0 7431 1711
- วิทยาเขตพัทลุง 222 หมู่ 2 ตำบบ้านพร้าว อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง โทร 0 7460 9600
เว็บไซต์ : www.tsu.ac.th, www.pt.tsu.ac.th (พัทลุง)
ประวัติ
ถึงแม้ว่าชื่อมหาวิทยาลัยทักษิณจะเป็นที่รู้จักในหมู่นักศึกษาในประเทศได้เพียงสิบกว่าปี แต่มหาวิทยาลัยนี้มีต้นกำเนิดเก่าแก่ถึง 40 ปีแล้ว โดยเริ่มต้นจากการขยายงานออกสู่ส่วนภูมิภาคของวิทยาลัยวิชาการศึกษา ซึ่งได้กระจายโอกาสทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาให้แก่นักเรียนในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสมาศึกษาต่อ จึงมีการจัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลาขึ้นเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2511 ต่อมา จากผลการพัฒนาของวิทยาลัยวิชาการศึกษาจึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในปี 2517 และวิทยาลัยวิชาการศึกษาสงขลาก็ได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วิทยาเขตสงขลาด้วย
จากการที่มหาวิทยาลัยได้ตระหนักในหน้าที่และภาระงานด้านการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศเสมอมา ในปี 2532 มหาวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งคณะใหม่ๆขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมในหลากหลายสาขาวิชา แต่เนื่องจากพื้นที่เดิมแถบตำบลเขารูปช้างมีบริเวณไม่เพียงพอ จึงได้วางแผนและขยายงานไปยังพื้นที่ในจังหวัดพัทลุง และเปลี่ยนชื่อเป็น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้
จากนั้น มหาวิทยาลัยก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่เพื่อให้การดำเนินงานและการบริหารงานเป็นไปด้วยความคล่องตัวมากขึ้น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ภาคใต้ จึงได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศ ใช้ชื่อว่า "มหาวิทยาลัยทักษิณ" ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
และด้วยเหตุผลที่มหาวิทยาลัยทักษิณได้รับการพัฒนามาจากศูนย์การศึกษาวิชาการศึกษาของภูมิภาคและเป็นอดีตวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งมีชื่อเสียงด้านคณะศึกษาศาสตร์อยู่แล้ว คณะศึกษาศาสตร์ของที่นี่จึงนับว่ามีศักยภาพเป็นอันดับต้นๆเช่นกัน
แต่ทั้งนี้มหาวิทยาลัยทักษิณก็ยังมีการเรียนการสอนทั้งสายวิทย์และสายศิลป์ โดยเฉพาะคณะมนุษยศาสตร์ซึ่งเปิดสอนสาขามลายู อันเป็นภาษาหลักของภาคใต้ และที่เด่นมากคือ มีสถาบันทักษิณศึกษาซึ่งเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลทางวัฒนธรรมและชีวิตความเป็นอยู่ของชาวใต้ไว้อย่างครบถ้วน เพื่อเป็นทั้งศูนย์ข้อมูลและสถาบันที่ส่งเสริมงานวิจัยเกี่ยวกับวัฒนธรรมใต้ นอกจากนั้นยังมีบริการห้องพักสำหรับผู้ที่ต้องการไปเยี่ยมชมอีกด้วย
ส่วนคณะวิทยาศาสตร์ก็เปิดสอนสาขาวิชาที่จะเป็นประโยชน์แก่การทำมาหากินของคนในท้องถิ่น เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และเทคโนโลยีการผลิตสัตว์ และมหาวิทยาลัยยังเคยทำชื่อเสียงในการวิจัยเรื่องโลหะหนักร่วมกับมหาวิทยาลัยในบริเวณใกล้เคียง เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเคยเป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมาก่อนเช่นกัน
สัญลักษณ์
ตราประจำมหาวิทยลัยทักษิณ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ "มงกุฏ" หมายถึง ปีกาญจนาภิเษกครบรอบ 50 ปี "ตำราการศึกษา" หมายถึง ปัญญา จริยธรรม และการพัฒนา และส่วนสุดท้ายคือ "ชื่อมหาวิทยาลัยทักษิณ" ซึ่งสื่อถึง มหาวิทยาลัยแห่งภาคใต้
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยทักษิณคือ "ดอกปาริชาต" หรือ "ดอกทองหลาง" เชื่อกันว่าเป็นดอกไม้ในสวนของพระอินทร์ ประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์จะเริ่มออกช่อดอก และบานสะพรั่งเมื่อถึงปลายเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่นิสิตมหาวิทยาลัยทักษิณสำเร็จการศึกษา
ส่วน "สีเทา-ฟ้า" เป็นสีประจำมหาวิทยาลัย สีเทาเป็นสีของสมอง หมายถึง ความคิด ส่วน สีฟ้า เป็นสีของทะเลและท้องฟ้า หมายถึง ความกว้างไกล รวมแล้วจึงหมายถึง ความคิดที่กว้างไกล หรือ คิดอย่างมีวิสัยทัศน์
มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ภาษาไทย
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาจีน
- ภาษาญี่ปุ่น
- การพัฒนาชุมชน (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- ประวัติศาสตร์
- การจัดการทรัพยากรมนุษย์ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- ภูมิศาสตร์
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต
- ภาษาอังกฤษ
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษา
2. คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาเขตสงขลา
- คณิตศาสตร์
- วิทยาการคอมพิวเตอร์
- เคมี
- ฟิสิกส์
- ชีววิทยา
- จุลชีววิทยา
วิทยาเขตพัทลุง
- สถิติ
- เทคโนโลยีสารสนเทศ
- ฟิสิกส์ประยุกต์พลังงาน
- วิทยาศาสตร์การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
- วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
3. คณะศึกษาศาสตร์
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต
- เทคโนโลยีการศึกษา
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (5 ปี)
- การศึกษาปฐมวัย
- การวัดผลและการประเมินผลการศึกษา
- คณิตศาสตร์
- ภาษาไทย
- สังคมศึกษา
- เคมี
- ฟิสิกส์
- พลศึกษา
- จิตวิทยาการแนะแนว
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- พลศึกษา (ต่อเนื่อง 2 ปี)
4. คณะศิลปกรรมศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
- ดุริยางคศาสตร์ไทย
- ดุริยางคศาสตร์สากล
- ศิลปะการแสดง
- ทัศนศิลป์ (จิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์)
5. คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา (วิทยาเขต พัทลุง)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- สาธารณสุขศาสตร์
- สุขศาสตร์อุตสาหกรรมและความปลอดภัย
- วิทยาศาสตร์การกีฬา
6. คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน (วิทยาเขตพัทลุง)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- เทคโนโลยีการเกษตร
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร
7. คณะเศรษฐศาสตรและบริหารธุรกิจ
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
- เศรษฐศาสตร์
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- การตลาด
- การบัญชี
- การประกอบการและการจัดการ
- การจัดการการค้าปลีก
8. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรยัณฑิต
- นิติศาสตร์
9. บัณฑิตวิทยาลัย
10. วิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน (ไม่มีหลักสูตรปริญาตรี)
11. วิทยาลัยการจัดการพื่อการพัฒนา
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
- การบริหารงานท้องถิ่น
- การจัดการทรัพยากรมนุษย์
- การจัดการธุรกิจการบิน
- การบริหารงานตำรวจและกระบวนการยุติธรรม
ค่าใช้จ่าย
ค่าธรรมเนียมสำหรับวิชาบรรยายอยู่ที่หน่วยกิตละ150 บาทต่อชั่วโมงต่อสัปดาห์ หมายความว่าถ้ารายวิชาบรรยายที่ลงเรียนต้องเรียน 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมหนวยกิตละ 150x3 = 450 บาทต่อภาคการเรียน ส่วนค่าธรรมเนียมในรายวิชาปฏิบัติแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ตั้งแต่ 200, 300 และ 400 บาท ต่อชั่วโมงต่อสัปดาห์ วิธีคิดค่าหน่วยกิตของวิชาปฏิบัติก็เช่นเดียวกับวิชาบรรยาย
สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
* ทางมหาวิทยาลัยมีศูนย์คอมพิวเตอร์ ช่วยในเรื่องการอบรมการใช้คอมพิวเตอร์ให้แก่นักศึกษา โดยมีจำนวนคอมพิวเตอร์ประมาณ 200 เครื่องไว้บริการและมีศูนย์ห้องสมุดเพื่อนการค้นคว้า
* อินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยเป็นอีกแหล่งชองข้อมูลที่รวดเร็วทันสมัย โดยนักศึกษาสามารเข้ามาดูข่าวประชาสัมพันธ์ต่างๆได้ที่นี่ เช่น ปฎิทินการเรียน กำหนดการลงทะเบียน ข่าวการรับนักศึกษาในโครงการพิเศษ หรือการสอบตรง
* นักหอสมุด ให้บริการยืม-คืน สืบค้นฐานข้อมูลต่างๆ ที่สำนักหอสมุดมีหนังสือใหม่ๆ มากมายไว้ให้บริการ รวมทั้งยังมีสิ่งพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บในรูปแบบ PDF ไฟล์ สามารถเปิดอ่านได้ด้วยโปรแกรม Acrobat Reader
* มีฟิตเนสติดแอร์ ไม่เก็บค่าบริการ แต่ไม่มีสระว่ายน้ำ
* โรงอาหารในมหาวิทยาลัย ซึ่งมี 3 โรง อยุ่ใกล้สำนักคอมพิวเตอร์
* บริการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย การรักษาพยาบาล อาหารและยา ตลอดจนการแพทย์ด้านต่างๆ รวมถึงให้การปฐมพยาบาล และตรวจร่างกายโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
* บริการทำบัตรขอลดค่าโดยสารรถไฟให้แก่นักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดครึ่งราคา ปีละครั้ง
* หอพักนักศึกษา นักศึกษาปี 1 ต้องอยู่หอพักในมหาวิทยาลัย แต่ถ้าปีการศึกษาใดมีจำนวนนักศึกษาชั้นปีที่ 1 มากกว่าจำนวนที่พัก จะใช้วิธีจับฉลาก
ทุนการศึกษา
มหาวิทยาลัยส่งเสริมให้นิสิตที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้มีโอกาสศึกษาจนจบหลักสูตร โดยจัดให้มีทุนการศึกษาหลากหลายประเภท ได้แก่
1. ทุนการศึกษาแบบให้เปล่า คือ ทุนการศึกษาที่ผู้มีจิตเมตตา เช่น สมาคม มูลนิธิ ธนาคาร บริษัทห้างร้าน และบุคคลทั่วไป มอบให้
2. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล
3. ทุนเงินยืมฉุกเฉิน เป็นการให้ความช่วยเหลือนิสิตอย่างเร่งด่วน โดยไม่คิดดอกเบี้ย
4. ทุนอุดหนุนการจ้างงานนิสิต เป็นทุนที่นิสิตจะต้องทำงานในหน่วยงานของมหาวิทยาลัยโดยได้รับเงินค่าตอบแทนจากการทำงานนั้นๆ
5. กองทุนสวัสดิการนิสิต เป็นการให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในกรณีนิสิตได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากประสบภัยพิบัติหรืออุบัติเหตุในขณะทำกิจกรรมของมหาวิทยาลัย หรือเจ็บป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาโดยเร่งด่วน