มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.)
Thailand Web Stat

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.)

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี (มอบ.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Ubon Rajathanee University (UBU)

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2533
ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นกันเกรา
สีประจำสถาบัน : สีเหลือง
จำนวนคณะ : 9 คณะ 1 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา : ประมาณ 11,523 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : หน่วยกิตละ 150-300 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ : 85 ถนนสถลมาร์ค อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร. 0 4528 8400-3
เว็บไซต์ : www.ubu.ac.th

ประวัติ

มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นมหาวิทยาลัยที่ยกฐานะมาจาก วิทยาลัยอุบลราชธานี สังกัดมหาวิทยาลัยขอยแก่น ตามมติคณะรัฐมนตรีปี พ.ศ.2533 ในรัฐบาลของ พลเอก ชาติชาย ชุณหวัณ ด้วยความมุ่งหมายให้เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งที่ 2 ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อจากมหาวิทยาลัยขอยแก่น โดยการจัดการศึกษาเน้นหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อตอบสนองความต้องการพัฒนากำลังคนของประเทศ ซึ่งกำลังมุ่งพัฒนาประเทศไปสู่การเป็นประเทศกึ่งอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังเป็นการกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่ประชาชนในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ได้รับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น

วิทยาลัยอุบลราชธานีเปิดทำการเรียนการสอนครั้งแรกในปีการศึกษา 2531 ในสาขาวิชาเกษตรศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ มีนักศึกษารุ่นแรกจำนวน 67 คน ซึ่งฝากเรียนไว้ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น จนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 29 กรกฏาคม 2533 จึงได้ย้ายสถานที่จัดการศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น มาประจำ ณ สถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัยบริเวณกิโลเมตรที่ 10-11 ถ.วารินเดชอุดม ต.เมืองศรีไค อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี และได้ถือเอาวันที่ 30 กรกฏาคมของทุกปีเป็นวันคล้ายวันสถาปนามหาวิทยาลัย

สัญลักษณ์

"เจดีย์ทรงล้านช้าง" อันเป็นศิลปวัฒนธรรมของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายในมีดอกบัวหลวงประดิษฐานอยู่บนแท่งรองรับของเส้น 3 เส้น เปรียบได้กับลำน้ำสายสำคัญของภาค คือ แม่น้ำโขง แม่น้ำชี และแม่น้ำมูล ลักษณะของดอกเป็นประเภทบัวเหนือน้ำที่พร้อมจะเบ่งบานให้ความดีงามแก่มหาชนที่ได้ชื่นชม กลีบดอกด้านล่าง 2กลีบ หมายถึง คุณธรรมและปัญญา อันเป็นเครื่องห่อหุ้มสถาบันที่ทรงคุณค่า ส่วนดอกบัวตูมสามกลีบ หมายถึง องค์พระรัตนตรัย สีน้ำเงินที่เป็นขอบเส้นของตราสัญลักษณ์ หมายถึง ความมั่นคงแข็งแรง และสีเหลืองสดของพื้นตราสัญลักษณ์นั้นเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย

"ต้นกันเกรา" เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ต้นไม้นี้เป็นไม้ยืนต้นชนิดหนึ่งที่พบมากในบริเวณมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี สามารถเจริญเติบโตงอกงามได้ดีแม้จะขึ้นอยู่ในดินอันขาดความอุดมสมบูรณ์ เนื้อไม้กันเกราแข็งแรงและทนทานมาก ปลวกไม่สามารถทำลายได้ ทั้งยังมีน้ำมันในเนื้อไม้ ซึ่งช่วยรักษาเนื้อไม้ได้ดีและขัดเงาได้สวยงาม เปรียบได้กับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่แม้มีขนาดเล็ก ได้รับการจัดสรรงบประมาณไม่มากนัก แต่ก็ใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และดอกที่ออกพร้อมกันทั้งต้นก็เปรียบได้กับความสามัคคีร่วมมือร่วมใจของบุคลากรและนักศึกษาในการที่จะสร้างสถาบันแห่งนี้ให้เจริญก้าวหน้าสืบต่อไป

มีอะไรเรียนบ้าง

1. คณะเกษตรศาสตร์
หลักสูตรวิทยศาสตรบัณฑิต
- เกษตรศาสตร์ (พืชไร่, พืชสวน, สัตวศาสตร์)
- เทคโนโลยีอาหาร
- ประมง

2. คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยศาสตรบัณฑิต
- จุลชีววิทยา
- เคมี
- ฟิสิกส์
- วิทยาการคอมพิวเตอร์
- เทคโนโลยีสารสนเทศ (ปกติ และต่อเนื่อง)
- วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง

3. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
- วิศวกรรมเครื่องกล
- วิศวกรรมอุตสาหการ
- วิศวกรรมไฟฟ้า
- วิศวกรรมโยธา
- วิศวกรรมเคมีและชีวภาพ

4. คณะบริหารศาสตร์
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
- การจัดการทั่วไป
- การจัดการการตลาด
- การจัดการธุรกิจบริการ
- การเงินและการธนาคาร
- การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ
- ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
- การบัญชี (ปกติ และต่อเนื่อง)
หลักสูตรบริหารศาสตรบัณฑิต
- เศรษฐกิจพอเพียง

Advertisement

5. คณะศิลปะศาสตร์
หลักสูตรศิลปะศาสตรบัณฑิต
- ภาษาอังกฤษและการสื่อสาร
- การท่องเที่ยว
- การพัฒนาสังคม
- ประวัติศาสตร์
- ภาษาจีน
- ภาษาและวรรณคดีเวียดนาม
- ภาษาไทยและการสื่อสาร
- ภาษาญี่ปุ่น
- ศิลปะการแสดง
- นิเทศศาสตร์

6. คณะเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต
- เภสัชศาสตร์

7. คณะศิลปประยุกต์และการออกแบบ
หลักสูตรศิลปประยุกต์บัณฑิต
- การออกแบบผลิตภัณฑ์

8. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
- นิติศาสตร์

9. คณะรัฐศาสตร์
หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต
- การปกครอง

10. วิทยาลัยแพทยศาสตร์และการสาธารณสุข
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
- แพทยศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- สาธารณสุขศาสตร์
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
- สาธารณสุขศาสตร์ (ต่อเนื่อง)

ค่าใช้จ่าย

ภาคบรรยายหน่วยกิตละ 150 บาท ภาคปฎิบัติ 300 บาท ฤดูร้อน 450 บาท ซึ่งรวมๆแล้วไม่เกินภาคละ 10,000 บาท

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน

* สำนักคอมพิวเตอร์ มีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนมากไว้ให้บริการ เปิดบริการ 9.00-22.00 น. และในบริเวณชั้นล่างของอาคารสำนักคอมพิวเตอร์เปิดให้บริการตลอด 24 ชม. อีกทั้งยังมีการเปิดอบรมคอมพิวเตอร์ให้แก่นักศึกษาฟรี
* ห้องสมุดกลาง บริการตลอด 24 ชม. รวมทั้งมีห้องฉายภาพยนตร์ มีบริการอินเทอร์เน็ตสำหรับสืบค้นข้อมูล และในบางคณะจะมีห้องสมุดประจำคณะด้วย
* ห้องฟิตเนส อุปกรณ์ทันสมัย นอกจากนี้ยังมีสนามแบตมินตันในร่ม โต๊ะปิงปอง และสระว่ายน้ำ
* มีบริการรักษาพยาบาล นักศึกษาสามารถใช้บริการของการจัดการรักษาพยาบาลได้ที่หน่วยพยาบาลภายในมหาวิทยาลัย
* โรงอาหาร ในมหาวิทยาลัยมี 2แห่ง ในช่วงกลางวันก็จะนิยมไปที่โรงอาหารข้างห้องสมุด และตอนเย็นก็จะไปกันที่ Food Center นอกจากนี้ก็ยังมีโรงอาหารเล็กๆกระจายไปตามคณะ อาหารที่นี่ราคาค่อนข้างถูกและสะอาด
* หอพักนักศึกษา นักศึกษาปี 1 ทุกคนมีสิทธิ์ได้พักในหอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งสามารถรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 1,140 คน ราคาภาคการศึกษาละ 1,500 บาท ส่วนปีถัดไปนักศึกษานิยมออกมาเช่าหอนอกอยู่ ราคาหอนอกจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1,000-3,000 บาท

ทุนการศึกษา

มีทุนการศึกษาทั้งของภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกหลากหลายประเภทไว้ให้กับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์

ชีวิตนักศึกษา

นักศึกษาส่วนใหญ่จะรู้จักกันระหว่างคณะในช่วงปี 1 เพราะนอกจากวิชาพื้นฐานจะเรียนรวมกันแล้ว ทุกคนยังถูกบังคับให้อยู่หอแบบคละคณะทำให้มีความสนิทสนมกลมเกลียวกัน ซึ่งบางคนก็กลายเป็นเพื่อนรักกันจนกระทั่งเรียนจบก็มี ส่วนพอขึ้นชั้นปี 2 นักศึกษาก็สามารถย้ายออกไปพักหอนอกได้

บางครั้งยามว่าง นักศึกษาก็อาจจะไปเดินเล่นที่บิ๊กซี หรือไม่ก็ดูหนังกันที่โรงหนังเนวาด้า พวกที่อยู่มหาวิทยาลัยก็มักเล่นกีฬา เช่น เตะฟุตบอล หรือไม่ก็เล่นแบดมินตัน แต่ถ้าเป็นตอนเย็นก็มักจะวิ่งออกกำลังกายกัน ซึ่งบริเวณยอดนิยมสำหรับการวิ่งคือรอบๆหนองน้ำ ส่วนเวลาพอเหมาะคือราวๆ 5 โมงเย็น

เนื่องจากพื้นที่ในมหาวิทยาลัยกว้างขวาง อาคารแต่ละแห่งจึงอยู่ค่อนข้างไกลกัน ดังนั้นนักศึกษาส่วนใหญ่จึงขี่มอเตอร์ไซค์กัน แม้แต่น้องปี 1 ก็ใช้มอเตอร์ไซค์ ส่วนน้องที่ขับรถไม่เป็นก็ไม่ต้องกังวล สามารถอาศัยรอมอเตอร์ไซค์ของเพื่อนได้

ศาลพระภูมิประจำมหาวิทยาลัยเป็นจุดศูนย์รวมพลังใจของนักศึกษา มีการบนและกราบไหว้กันเป็นประจำ

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
kookkak

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เราใช้คุกกี้เพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดบน
เว็บไซต์ของเรา โปรดศึกษาเพิ่มเติมที่
นโยบายความเป็นส่วนตัว และ นโยบายคุกกี้