มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยมหิดล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Mahidol University (MU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2512
ต้นไม้ประจำสถาบัน: ต้นกันภัยมหิดล
สีประจำสถาบัน: สีน้ำเงินแก่
จำนวนคณะ: 16 คณะ 6 วิทยาลัย0.
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 25,660 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: หลักสูตรปกติหน่วยกิตละ 200-400 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
- มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา 25/25 หมู่ 5 ถนนพุทธมณฑล สาย 4 ศาลายา พุทธมณฑล จังหวัด นครปฐม
โทร. 0 2441 9522
- มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี 199 หมู่ 9 ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี
โทร. 0 3458 5058
- มหาวิทยาลัยมหิดล ณ นครสวรรค์ ตำบลบึงเสนาท อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์
โทร. 0 5627 4335
เว็บไซต์: www.mahidol.ac.th, www.ka.mahidol.ac.th (กาญจนบุรี), www.na.mahidol.ac.th (นครสวรรค์)


"ปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล - ปัญญาของแผ่นดิน"

ประวัติ
มหาวิทยาลัยมหิดลมีอายุยาวนานมากว่า 100 ปี โดยมีวิวัฒนาการแบ่งได้เป็น 5 ยุค คือ ยุคโรงศิริราชพยาบาล ยุคโรงเรียนแพทยากร ยุคโรงเรียนราชแพทยาลัย โดยเป็นคณะหนึ่งของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยุคมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ และยุคมหาวิทยาลัยมหิดล

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ถือเป็นผู้ให้กำเนิดมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2429 นั้น พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะคอมมิตตีจัดสร้างโรงพยาบาล และพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ 200 ชั่ง (16,000 บาท) ให้เป็นทุน และได้พระราชทานที่ดินส่วนหนึ่งของวังหลังมาเป็นสถานที่สร้างโรงพยาบาลแห่งแรก ซึ่งพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงพยาบาลนี้เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2431 ล และพระราชทานนามว่า "โรงศิริราชพยาบาล"

จากนั้นในปี 2432 ได้มีพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนแพทย์ขึ้น ณ โรงศิริราชพยาบาล รับนักเรียนซึ่งมีพื้นความรู้อ่านออกเขียนได้ ใช้เวลาเรียน 3 ปี จบแล้วได้รับประกาศนียบัตรแพทย์ โดยนักเรียนแพทย์รุ่นแรกมีทั้งสิ้น 15 คน แต่สำเร็จการศึกษาเพียง 9 คน โรงเรียนแพทย์แห่งนี้ต่อมาได้ถูกตั้งชื่อว่า "โรงเรียนแพทยากร" ในปี 2436 จนกระทั่งในปี 2439 สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้สร้างโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลขึ้นในบริเวณโรงศิริราชพยาบาล นับเป็นโรงเรียนพยาบาลแห่งแรกของประเทศไทย และยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกเรียนและเรือนพักนักเรียนแพทย์ขึ้นใหม่ในปีต่อมา

ในวันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2443 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเปิดตึกโรงเรียนแพทย์แห่งใหม่นี้ และพระราชทานนามใหม่ให้ว่า "โรงเรียนราชแพทยาลัย" โดยมีนายแพทย์ ยอร์ช บี แมคฟาร์แลนด์ (ศาสตราจารย์พระอาจวิทยาคม) เป็นผู้อำนวยการทั้งฝ่ายโรงพยาบาลและฝ่ายโรงเรียนแพทย์ หลังจากนั้นในปี 2446 หลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตรก็ถูกขยายออกเป็น 4 ปี และในปี 2456 หลักสูตรได้ถูกขยายออกไปอีกเป็น 5 ปี และรับนักเรียนที่จบชั้นมัธยมปีที่ 6
ต่อมาในปี 2459 "โรงเรียนข้าราชการพลเรือนในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ได้รับการสถาปนาเป็น "จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" โรงเรียนราชแพทยาลัยถูกรวมเข้าเป็น "คณแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย" ซึ่งในปีต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น "คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล" เปิดสอนหลักสูตรแพทย์ประกาศนียบัตร 6 ปี
หลักสูตรปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเริ่มต้นขึ้นในปี 2464 หลังจากที่มูลนิธิ ร็อกกี้เฟลเลอร์ เข้ามาช่วยปรับปรุงการศึกษาแพทย์ และรับนิสิตเตรียมแพทย์ปริญญารุ่นแรกจากนักเรียนจบชั้นมัธยมปีที่ 8

จนกระทั่งในปี 2486 ได้มีการสถาปนามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ โดยแยกคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาฯ มาตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข หลังจากนั้นก็มีการจัดตั้งคณะวิชาอื่นๆ ขึ้นมาอีกหลายสาขา เช่น คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ คณะอายุรศาสตร์เขตร้อน (ปัจจุบันเป็นคณะเวชศาสตร์เขตร้อน) และคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ (ปัจจุบันคือคณะวิทยาศาสตร์) รวมถึงได้มีการโอนย้ายสังกัดบางคณะ เช่น โอนคณะสัตวแพทยศาสตร์ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ ไปสังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโอนคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ไปสังกัดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และในที่สุดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ปรับปรุงมหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่สมบูรณ์ โดยจัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยขึ้นใหม่ และพระราชทานนาม "มหิดล" อันเป็นพระนามของพระบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และยังเป็นบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันและการสาธารณสุขในประเทศไทยเป็นชื่อมหาวิทยาลัย
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหิดลตั้งอยู่ใน 3 พื้นที่ ได้แก่
1. พื้นที่เขตบางกอกน้อย กทม. มีเนื้อที่ประมาณ 72 ไร่ เป็นที่ตั้งของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เทคนิคการแพทย์ และพยาบาลศาสตร์
2. พื้นที่เขตราชเทวี กทม. มีเนื้อที่ประมาณ 198 ไร่ ซึ่งยังแบ่งได้อีกเป็น 3 บริเวณคือ บริเวณถนนศรีอยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะเภสัชศาสตร์ บริเวณถนนพระราม 6 ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะวิทยาศาสตร์ และแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี และบริเวณถนนราชวิถี ซึ่งเป็นที่ตั้งของคณะสาธารณสุขศาสตร์ เวชศาสตร์เขตร้อน และทันตแพทย์ศาสตร์
3. พื้นที่ ต.ศาลายา อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม มีเนื้อที่ประมาณ 1,239 ไร่ เป็นที่ตั้งของคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ชั้นที่ 1-2 คณะสัตวแพทยศาสตร์ วิทยาลัยราชสุดา วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา วิทยาลัยนานาชาติ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ และวิทยาลัยศาสนศึกษา นอกจากนี้ยังเป็นที่ตั้งของสำนักงานอธิการบดี บัณฑิตวิทยาลัย และสถาบันต่างๆ ของมหาวิทยาลัยมหิดลอีกด้วย

นอกจากนี้ ม.มหิดล ยังมีหน่วยงานที่ตั้งอยู่ภายนอกมหาวิทยาลัยอีกคือ วิทยาลัยการจัดการ (College of Management) 2 แห่งสำหรับการศึกษาระดับปริญญาโท-เอก คือที่ ชั้น 4 อาคาร 2 อาคารไทยพาณิชย์ปาร์คพลาซ่า ถ.รัชดาภิเษก กทม. ซึ่งเป็นสถานที่สำหรับหลักสูตรนานาชาติ และที่ชั้น 13 อาคารรัจนาการ ถ.สาทรใต้ กทม. สำหรับหลักสูตรภาษาไทย และได้ดำเนินโครงการขยายการศึกษาไปยังส่วนภูมิภาค 3 แห่ง ได้แก่ จ.กาญจนบุรี จ.นครสวรรค์ และ จ.อำนาจเจริญ

สัญลักษณ์
ตรามหาวิทยาลัย ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2512
"สีน้ำเงิน" ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล (พระยศในขณะนั้น) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2512
"ต้นกันภัยมหิดล" จากการที่มหาวิทยาลัยมหิดลได้จัดการประกวดต้นไม้สัญลักษณ์ในปี 2542 สมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ประทานพระกรุณาธิคุณทรงมีพระวินิจฉัยชี้ขาดให้ต้นกันภัยมหิดลเป็นต้นไม้สัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย โดยมีเหตุผลว่า เป็นต้นไม้ที่พบในประเทศไทย สามารถปลูกได้ง่าย ลักษณะสวยงามแม้จะเป็นไม้เถา มีนามเป็นมงคลและพ้องกับนามมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังมีอายุยืนหลายปี แม้เมื่อเถาแห้งไป ก็สามารถงอกงามขึ้นได้ใหม่ ซึ่งความเป็นไม้เถานี้สื่อความหมายถึงความก้าวหน้าและความสามารถในการปรับตัวให้พัฒนาไปตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างดี

มีอะไรเรียนบ้าง
มหาวิทยาลัยมหิดล ณ ศาลายา
1. คณะทันตแพทยศาสตร์
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)
2. คณะเทคนิคการแพทย์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาขาเทคนิคการแพทย์
สาขารังสีเทคนิค
3. คณะพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
4. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี (6 ปี)
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
5. คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล (6 ปี)
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
กายอุปกรณ์
วิทยาศาสตร์การบริการโลหิต
หลักสูตรการแพทย์แผนไทยประยุกต์บัณฑิต
6. คณะเภสัชศาสตร์ (5 ปี)
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต
7. คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (เรียนที่พญาไท)
เคมี
ฟิสิกส์
คณิตศาสตร์
ชีววิทยา
พฤกษศาสตร์
เทคโนโลยีชีวภาพ
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
(เรียนที่กาญจนบุรี)
เทคโนโลยีการอาหาร
วิทยาศาสตร์การเกษตร
ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์
ธรณีศาสตร์
International Programme (เรียนที่ศาลายา)
- เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
8. คณะศิลปะศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
ภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ
9. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมบัณฑิต
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมชีวการแพทย์
10. คณะเวชศาสตร์เขตร้อน
(ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
11. คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เวชระเบียน (ต่อเนื่อง)
12. คณะสัตวแพทยศาสตร์
หลักสูตรสัตวแพทยศาสตร์บัณฑิต (6 ปี)
13. คณะสาธารณสุขศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สาธารณสุขศาสตร์
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง)
ภาคพิเศษ
14. คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม
15. คณะกายภาพบำบัดและวิทยาศาสตร์การเคลื่อนไหวประยุกต์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
กายภาพบำบัด
กิจกรรมบำบัด
16. บัณฑิตวิทยาลัย
17. วิทยาลัยนานาชาติ

Bachelor of Business Administration
Finance
Information Systems
International Business
Marketing
Business Economics
Tourism and Hospitality Management
Bachelor of Arts
Social Science
Travel Industry Management
Animation Production
Film Production
Television Production
Communication Design
Bachelor of Science
Applied Mathematics
Biological Sciences
Chemistry
Computer Science
Environmental Science
Food Science and Technology
Physics
Bachelor of Engineering
- Computer Engineering
Bachelor of Nursing Science
18. วิทยาลัยการจัดการ (ไม่มีหลักสูตรปริญญาตรี)
19. วิทยาลัยดุริยางคศิลป์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
ดนตรีตะวันตก
ดนตรีแจ๊ส
ดนตรีไทยและดนตรีตะวันออก
เทคโนโลยีดนตรี
ธุรกิจดนตรี
ดนตรีสมัยนิยม
การประพันธ์เพลง
20. วิทยาลัยราชสุดา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
หูหนวกศึกษา
21.วิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
- วิทยาศาสตร์การกีฬา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
การออกกำลังกายและกีฬา
22. วิทยาลัยศาสนศึกษา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
ศาสนศึกษา


มหาวิทยาลัยมหิดล ณ กาญจนบุรี
หลักสูตรการจัดการบัณฑิต
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
การจัดการทั่วไป
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
การบัญชี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
ชีววิทยาเชิงอนุรักษ์
เทคโนโลยีการอาหาร
วิทยาศาสตร์การเกษตร
ธรณีศาสตร์


มหาวิทยาลัยมหิดล ณ นครสวรรค์
หลักสูตรการจัดการบัณฑิต
ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ
การจัดการทั่วไป
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม

สถาบันสมบท 20 แห่งดังนี้
1.วิทยาลัยแพทยศาสตร์พระมงกุฎเกล้า
2.วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก
3.วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล
4.วิทยาลัยพยาบาลเกื้อการุณย์
5.วิทยาลัยพยาบาลกองทัพเรือ
6.วิทยาลัยพยาบาลทหารอากาศ และสถาบันพระบรมราชชนก สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งประกอบด้วย
7.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี กรุงเทพ
8.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี จักรีรัช
9.วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ชัยนาท
10. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี พระพุทธบาท
11. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ราชบุรี
12. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สระบุรี
13. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สุพรรณบุรี
14. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ศรีธัญญา
15. วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดชลบุรี
16. วิทยาลัยพยาบาลพระจอมเกล้า จังหวัดเพชรบุรี
17. โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา
18. โรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช
19. โรงพยาบาลราชบุรี
20. โรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์

ค่าใช้จ่าย
ในหลักสูตรปกติ วิชาบรรยายจะอยู่ที่หน่วยกิตละ 200 บาท และวิชาปฏิบัติหน่วยกิตละ 400 บาท แต่ก็มีบางหลักสูตร เช่น หลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์ ที่จะเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่านี้

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- ห้องสมุด ที่ศาลายานับเป็นศูนย์กลางห้องสมุดและข้อมูลข่าวสารของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งประกอบด้วยหนังสือ วิทยานิพนธ์ และรายงานการวิจัยกว่าล้านเล่ม นอกจากนี้ยังมีสื่อสิ่งพิมพ์ บาความอิเล็กทรอนิกส์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมด้วยโสตทัศนูปกรณ์อีกมากมายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากห้องสมุดใหญ่ๆ ที่มีอยู่มากถึง 10 แห่งทั่วมหาวิทยาลัยแล้ว ก็ยังมีห้องสมุดเล็กๆ ซึ่งเป็นห้องสมุดเฉพาะสาขาเปิดให้บริการอีกด้วย เช่น ห้องสมุดทางการแพทย์ที่ รพ.ศิริราช
- บริการคอมพิวเตอร์และระบบสื่อสาร เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักศึกษาและบุคลากรในมหาวิทยาลัย เช่น บริการอินเทอร์เน็ตระบบ MU Wifi และอินทราเน็ต ที่สามารถเชื่อมโยงทุกวิทยาเขตเข้าด้วยกันด้วยระบบ hi-speed และบริการห้องสมุดดิจิตัล เป็นต้น นักศึกษาจะได้รับ Internet account ส่วนตัวหลังจากลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว และสามารถเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตได้ตลอด 24 ชม. นอกจากนี้นักศึกษายังมีสิทธิ์ในการเข้าใช้ห้องคอมพิวเตอร์แล็บในแต่ละวิทยาเขตด้วย
- การสนับสนุนด้านวิชาการที่ศาลายา โดยจะมีงานส่งเสริมการศึกษา ศูนย์ศาลายา และฝ่ายบริการการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ ช่วยประสานงานด้านการเรียนการสอนและการบริการวิชาการในเรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นประกาศเกี่ยวกับการเรียนการสอนหรือการสอบ การบริการให้คำปรึกษา ใบรับรองการศึกษาหรือการลาพักการศึกษา ตลอดจนการให้บริการโสตทัศนูปกรณ์ที่ทันสมัยในห้องเรียน การจัดหอพักนักศึกษา การจัดกิจกรรมนันทนาการ บริการด้านกีฬา และการจัดหาทุนการศึกษา ฯลฯ
- ศูนย์หนังสือ อยู่ในบริเวณชั้นล่างอาคารกิจกรรมกลาง จำหน่ายสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ทั้งด้านวิชาการ สารคดี บันเทิง ฯลฯ ตลอดจนบัตรอวยพร ฟิล์มถ่ายภาพ แผ่นดิสก์ เครื่องเขียนทุกชนิด ของที่ระลึก และเครื่องแบบนักศึกษา
- การบริการสุขภาพนักศึกษา มหิดลจัดตั้งหน่วยบริการสุขภาพนักศึกษาขึ้น 8 หน่วย ได้แก่ ที่ศาลายา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะเวชศาสตร์เขตร้อน คณะวิทยาศาสตร์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ และคณะทันตแพทยศาสตร์ โดยเปิดให้บริการตลอดเวลาราชการ
- บริการด้านการให้คำปรึกษา นักศึกษาสามารถขอคำปรึกษาในด้านต่างๆ เช่น การเรียน การปรับตัว หรือปัญหาส่วนตัวได้ที่มหิดล ศาลายา โดยสามารถติดต่อได้ด้วยตัวเองที่ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนานักศึกษา สำนักงานอธิการบดี ชั้น 2 หรือที่งานส่งเสริมการศึกษา ศูนย์ศาลายา (ใต้ตึกกิจกรรม) หรือที่งานกิจการนักศึกษาของคณะต่างๆ รวมถึงอาจารย์ที่ปรึกษาประจำหอพัก นอกจากนี้ยังสามารถติดต่อทางโทรศัพท์ที่ 0 2800 2959 กด 1 หรือ 2 หรือติดต่อทางอินเทอร์เน็ตที่ www.mahidol.ac.th/mahidol/or/orsa/consult.html
- บริการการกีฬา มหาวิทยาลัยได้จัดให้มีทั้งสนามกีฬากลางแจ้งและสนามกีฬาในร่ม เช่น สนามเทนนิส สนามฟุตบอล สนามแบดมินตัน สนามบาสเกตบอล สนามวอลเลย์บอล โต๊ะปิงปอง สนามตะกร้อ สนามเปตอง และให้บริการยืมอุปกรณ์กีฬาบางชนิดด้วย นอกจากนี้ยังมีบริการสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน ซึ่งนักศึกษาสามารถเข้าใช้บริการได้ทั้งในแบบเป็นสมาชิก หรือเข้าใช้เป็นครั้งคราวก็ได้
- บริการนันทนาการและดนตรี เปิดบริการให้นักศึกษาในช่วงเย็นที่ศูนย์ศาลายา โดยจะจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรต่างๆ เช่น การฝึกดนตรีไทย-สากล กีตาร์คลาสสิก กิจกรรมศิลปะ การอบรมบุคลิกภาพ การอบรมการเป็นผู้นำเยาวชน การฉายภาพยนตร์เพื่อการศึกษาและบันเทิง เป็นต้น เพื่อพัฒนาทักษะ ความรู้ความสามารถ และให้เกิดความเพลิดเพลินในการสร้างสรรค์ ผ่อนคลายความตึงเครียดจากการเรียน
- ร้านอาหาร ที่ศาลายามีโรงอาหารใหญ่ ซึ่งมีร้านค้าย่อยประมาณ 15 ร้าน และร้านคาเฟทีเรีย 1 ร้าน นอกจากนี้ยังมีโรงอาหารชั่วคราวและร้านอาหารริมคลอง รวมถึงซุ้มอาหารว่างตามจุดต่างๆ อีกมากมายที่เปิดบริการทุกวัน ส่วนร้านอาหารที่สโมสรคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เปิดเฉพาะวันทำการปกติ และในบริเวณอาคารเรียน อาคารหอพักนักศึกษา อาคารศูนย์กีฬา และบริเวณทางเดิน ก็มีตู้จำหน่ายเครื่องดื่มอัตโนมัติให้บริการด้วย
- บริการด้านการสื่อสาร โดยจะมีไปรษณีย์อนุญาตเอกชน เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาและข้าราชการ ตั้งอยู่บริเวณชั้นล่าง อาคารกิจกรรมกลาง
- ธนาคาร มีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาศาลายา เปิดให้บริการที่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย และสาขาย่อย ม.มหิดล ศาลายา อยู่ที่ชั้นล่าง ตึกอำนวยการศูนย์ศาลายา แล้วยังมีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาพุทธมณฑล อยู่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ประตู 2 ส่วนในบริเวณใกล้เคียงมีธนาคารทหารไทย จำกัด สาขาพุทธมณฑล อยู่ใกล้กับตลาดพุทธมณฑล
- ร้านตัดเสื้อและร้านเสริมสวย อยู่ในบริเวณใกล้กับศูนย์หนังสือ
- หน่วยรักษาความปลอดภัย มีเจ้าหน้าที่ประจำตลอด 24 ชม. เพื่อให้บริการด้านจราจรและรักษาความปลอดภัยโดยรอบมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นหน่วยประสานงานกับสถานีตำรวจ สภอ.พุทธมณฑลเพื่อช่วยเหลือในยามฉุกเฉิน
- บริการรถโดยสาร วิ่งรับ-ส่งระหว่างวิทยาเขตศาลายา พญาไท และบางกอกน้อย ฟรี สำหรับนักศึกษาและเจ้าหน้าที่ โดยทำการวิ่งระหว่าง 6 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็นโดยประมาณ
- บริการสำหรับนักศึกษาต่างชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักศึกษาต่างชาติ จึงมีบริการรับนิสิตต่างชาติจากสนามบินมาส่งที่มหาวิทยาลัย จากนั้นจะมีการปฐมนิเทศ และมอบหนังสือคู่มือการใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยให้ โดยรายละเอียดในหนังสือก็จะเป็นเรื่องของการติดต่อธนาคาร การคมนาคมขนส่ง ค่าครองชีพ บริการสุขภาพ และหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญ เป็นต้น
- หอพักนักศึกษา มีอยู่ในทุกวิทยาเขต โดยมุ่งเน้นให้บริการกับนักศึกษาระดับปริญญาตรี และที่ศาลายามีดังนี้คือ
1. หอพักนักศึกษามีทั้งหมด 10 หอ คือ หอ 1-4 และ 10 สำหรับนิสิตหญิง และหอ 6-9 สำหรับนิสิตชาย จัดให้นักศึกษาเข้าพักห้องละ 4 คน มีเตียง 2 ชั้น (เฉพาะหอ 10 เป็นเตียงเดี่ยว) ตู้เสื้อผ้า โต๊ะเขียนหนังสือคนละ 1 ชุด ห้องน้ำรวม กำหนดเวลาเปิด-ปิด หอพักคือ 06.00-22.00 น. อัตราค่าหอพักสำหรับหอ 1-9 เป็นเงิน 2,050 บาทต่อคนต่อเทอม ส่วนหอ 10 ราคา 4,100 บาทต่อคนต่อเทอม
2. คอนโดมหาวิทยาลัย ราคาห้องละ 12,000 บาท ตามสัญญาอยู่ได้ถึง 4 คนต่อ 1 ห้อง
ส่วนที่ศูนย์กาญจนบุรีก็มีหอพักภายในมหาวิทยาลัยเช่นกัน โดยอัตราค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ประมาณ 2,700 บาทต่อคนต่อเทอม และในบางคณะหรือบางวิทยาลัยยังมีหอพักสำหรับนักศึกษาของตนโดยเฉพาะ เช่น ที่คณะแพทย์ศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ และวิทยาลัยนานาชาติ เป็นต้น

ทุนการศึกษา
มีทุนการศึกษาสำหรับนักศึกษาใหม่ที่มีปัญหาด้านการเงิน ไม่ว่าจะเป็นนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือผู้ปกครองส่งเงินมาให้ล่าช้าแต่มีความจำเป็นต้องใช้เร่งด่วน ได้แก่
1.ทุนการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์
2.ทุนอุดหนุนการศึกษาแก่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ณ ศาลายา สำหรับนักศึกษาใหม่ที่พักอยู่ในหอพักนักศึกษาและขาดแคลนคุณทรัพย์ นอกจากนี้ยังจัดสรรทุนอาหารกลางวันอีกส่วนหนึ่งด้วย
3.ทุนฉุกเฉิน สำหรับนักศึกษาที่ประสบเหตุการณ์ร้ายแรง ซึ่งมีผลกระทบต่อฐานะของครอบครัว เช่น ไฟไหม้บ้าน หรือ บิดามารดาเสียชีวิต เป็นตัน
4.ทุนอุดหนุนการศึกษาประจำปีของมหาวิทยาลัย ซึ่งประกอบด้วยทุนของมหาวิทยาลัยมหิดลและทุนต่างๆ ที่มีผู้บริจาค นิสิตมีสิทธิ์ขอรับทุนได้เมื่อศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 2
5.เงินยืมสำหรับนักศึกษา เป็นเงินให้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน เช่น รอเงินจากทางบ้าน ทั้งนี้ทางมหาวิทยาลัยให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย แต่ต้องส่งคืนภายใน 6 เดือน
สามารถติดต่อขอคำปรึกษาเรื่องทุนการศึกษาได้ที่ งานแนะแนวและจัดหางาน กองกิจการนักศึกษา ตึกสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

ชีวิตนักศึกษา
มหิดล ศาลายา จะเป็นศูนย์รวมของทุกคณะ เพราะน้องๆ ปี 1 ทุกคนจะต้องเรียนที่นี่ บางคณะเรียนเฉพาะปี 1 และปี 2 เวลาว่างๆ นักศึกษาส่วนใหญ่ที่นี่จะจับกลุ่มคุยกันที่คาเฟทีเรีย หรือไม่ก็กลับหอพัก ซึ่งอยู่ใกล้ๆ บริเวณเรียน ประมาณ 200 เมตร แต่ส่วนใหญ่แล้วที่นี่จะไม่มีเวลาว่างระหว่างรอเรียนเพราะทางมหาวิทยาลัยจะจัดตารางเรียนให้ คือเริ่มเรียนตั้งแต่เช้าพอช่วงบ่ายก็จะไม่มีเรียน แต่ถ้าเลิกเรียนแล้วน้องๆ นักศึกษาก็นิยมไปเดินเล่นที่เซ็นทรัลปิ่นเกล้า หรือไม่ก็ดูหนังที่เมเจอร์ปิ่นเกล้า โดยนั่งรถตู้สายมหิดล-เมเจอร์
ที่ศาลายานิยมปั่นจักรยานทั้งนิสิตชายและหญิง ไม่ว่าจะเป็นการปั่นไปเรียนตามอาคารต่างๆ ซึ่งก็ไม่ไกลกันมากนัก หรือจะปั่นเพื่อออกกำลังกายในช่วงเย็น
นักศึกษาที่นี่มักจะอยู่นวมกันเป็นกลุ่มๆ และไม่จำกัดคณะ เนื่องจากทุกคณะจะจัดกิจกรรมหรือทำกิจกรรมร่วมกันเสมอ ทำให้มีความสนิทสนมกลมเกลียวระหว่างคณะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook