มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Srinakharinwirot University (SWU)

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2517
ต้นไม้ประจำสถาบัน : ต้นราชพฤกษ์
สีประจำสถาบัน : สีเทา-แดง
จำนวนคณะ : 12 คณะ 2 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา : ประมาณ 18,582 คน
อัตราค่าเล่าเรียน : เหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 4,000 - 60,000 บาท (แล้วแต่หลักสูตร)
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์ :
วิทยาเขตประสานมิตร 114 ซอยสุขุมวิท 23 เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร
โทร. 0 2664 1000
- วิทยาเขตองครักษ์ 107 หมู่ที่ 6 ถนนรังสิต - นครนายก คลอง 16 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก
โทร. 0 2664 1000
เว็บไซต์ : www.swu.ac.th

 "มศว. เจริญงอกงามด้วย อารยวัฒิ 5 ประการ คือ งอกงามด้วยศรัทธา ศีล สุตะ (การฟัง) จาคะ (ความเอื้อเฟิ้อ) และปัญญา"

ประวัติ
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พัฒนามาจาก "โรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงและวิทยาลัยวิชาการศึกษา" ซึ่งได้สถาปนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อผลักดันการศึกษาในด้านวิชาชีพครู เพราะในขณะนั้นวิชาชีพครูขาดแคลนและไม่สมดุลกับการขยายตัวของสังคม และศาสตร์ทางด้านการศึกษาศาสตร์ยังใหม่ต่อสังคมไทยอยู่มาก
ต่อมาในปี 2497 ปัญหาการขาดแคลนครูและนักการศึกษาได้ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในสังคมไทย ศาสตราจารย์ ดร.สาโรช บัวศรี ผู้นำการศึกษาสมัยใหม่ หรือผู้นำการศึกษาพิพัฒนาการนิยม (Progressivism) ได้เสนอต่อกระทรวงศึกษาธิการให้ก่อตั้ง "วิทยาลัยวิชาการศึกษา" (College of Education) ขึ้นแทนโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง เพื่อพัฒนาปรัชญาแนวคิดและความรู้ความสามารถรอบด้าน การศึกษาสมัยใหม่ ให้สอดคล้องผสานสัมพันธ์กับสังคมประชาธิปไตย วิทยาลัยวิชาการศึกษานี้ยังเป็นผู้นำในการจัดการศึกษาในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาภายใต้ระบบโรงเรียนสาธิต (Demonstration School) เพื่อเป็นแปลงทดลองค้นคว้าในระบบการศึกษาใหม่ พร้อมกับจัดระบบการศึกษาแบบวิทยาเขต โดยขยายไปยังวิทยาเขตปทุมวัน วิทยาเขตบางแสน วิทยาเขตพิษณุโลก วิทยาเขตมหาสารคาม วิทยาเขตสงขลา วิทยาเขตบางเขน และวิทยาเขตพลศึกษา โดยมีวิทยาเขตประสานมิตรเป็นศูนย์กลางการบริหาร

จนกระทั่งก่อนหน้าเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ท่ามกลางการปกครองที่เข้มงวดรุนแรงของรัฐบาล ทหาร ได้มีการเรียกร้องให้ปรับฐานะวิทยาลัยวิชาการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัย เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนาโครงสร้าง การบริหาร และการเรียนการสอนที่จำกัด จนในที่สุดมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒก็ได้รับการสถาปนาขึ้นในวันที่ 29 มิถุนายน 2517 โดยพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามอันเป็นมงคลแก่มหาวิทยาลัย ซึ่งก็คือชื่อ มหาวิทยาลัยศรีคนรินทรวิโรฒ (อ่านว่า สี-นะ-คะ-ริน-วิ-โรด) มีความหมายว่า "มหาวิทยาลัยที่เจริญเป็นศรีสง่าแก่มหานคร" คำว่า "วิโรฒ" เป็นคำในภาษาสันสกฤต แปลว่า ความงอกงามหรือเจริญ เทียบได้กับคำว่า "วิรุฬห์" ในภาษาบาลี
ปี พ.ศ. 2532 มศว. วิทยาเขตพลศึกษา ได้ยุบรวมกับคณะพลศึกษา และในปี 2533 วิทยาเขตบางแสน ได้แยกตัวและยกฐานะเป็น มหาวิทยาลัยบูรพา หลังจากนั้นไม่นาน วิทยาเขตพิษณุโลก ก็แยกตัวออกมาและยกฐานะขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยนเรศวร ตามด้วยวิทยาเขตสงขลา ที่แยกตัวและยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยทักษิณ ในปี 2539
ต่อมาในปีเดียวกัน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒได้ขยายตัวไปที่อำเภอองครักษ์ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นสถานที่เรียนของนักศึกษาชั้นปี 1 ของทุกคณะ เนื่องจากมหาวิทยาลัยต้องการให้นิสิตได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกันก่อนที่จะแยกย้ายกันไปเรียนตามสาขาวิชา แต่ก็มีนิสิตบางคณะที่ต้องเรียนที่นี่ตลอดหลักสูตร เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะเภสัชศาสตร์

ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร ได้พัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยกลางเมืองที่ทันสมัยก้าวหน้าผสมผสานกับกระแสสากล และพัฒนาการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ องครักษ์ ก็พัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม และผสานสัมพันธ์กับชุมชน

สัญลักษณ์
"Y = ex" ซึ่งเป็นรูปกราฟที่เขียนแทนสมการทางคณิตศาสตร์ หมายถึง การเพิ่มหรือการงอกงาม ซึ่งตรงกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า การศึกษาคือความเจริญงอกงาม (สิกขา วิรุฬ หิ สมปตตา)
"สีแดง - เทา" สีเทา คือ สีของสมอง หมายถึง ความคิดหรือสติปัญญา ส่วน สีแดง คือ สีของเลือด หมายถึง ความกล้าหาญ เมื่อทั้งสองสีมารวมกันจึงหมายความถึง การคิดอย่างกล้าหาญ
"ต้นราชพฤกษ์" หรือ "ต้นคูน" เป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะทันตแพทยศาสตร์

หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต (6 ปี)
2. คณะพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต (4 ปี และต่อเนื่อง 2 ปี)
3. คณะพลศึกษา
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
นันทนาการ (การจัดการนันทนาการ และผู้นำนันทนาการ)
พลศึกษา
วิทยาศาสตร์การกีฬา
สุขศึกษา
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (5 ปี)
พลศึกษา
สุขศึกษา
4. คณะแพทยศาสตร์
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (โครงการร่วมฯ) (6 ปี)
5. คณะเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต
เภสัชศาสตร์ (5 ปี)
บริบาลทางเภสัชกรรม (6 ปี)
6. คณะมนุษยศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
จิตวิทยา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
ภาษาเพื่ออาชีพ
บรรณารักษศาสตร์และสารสนเทศศาสตร์
วรรณกรรมสำหรับเด็ก
ปรัชญาและศาสนา
ภาษาอังกฤษ
ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาไทย
ภาษาจีน
ภาษาญี่ปุ่น
ภาษาเกาหลี
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (5 ปี)
ภาษาอังกฤษ
ภาษาไทย
7. คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (5 ปี)
คณิตศาสตร์
วิทยาศาสตร์-เคมี
วิทยาศาสตร์-ชีววิทยา
วิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์
วิทยาศาสตร์ทั่วไป
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
คณิตศาสตร์
วิทยาการคอมพิวเตอร์
สถิติ
คหกรรมศาสตร์
วิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการ
เคมี
จุลชีววิทยา
ชีววิทยา
ฟิสิกส์
วัสดุศาสตร์ (อัญมณีและเครื่องประดับ)
8. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมไฟฟ้า แขนงวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง
วิศวกรรมไฟฟ้า แขนงวิศวกรรมโทรคมนาคม
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม
วิศวกรรมอุตสาหการ
9. คณะศิลปกรรมศาสตร์
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต
ออกแบบทัศนศิลป์
ดุริยางคศาสตร์สากล
ทัศนศิลป์
ศิลปะการแสดง
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต
ศิลปกรรมศาสตร์ศึกษา
10. คณะศึกษาศาสตร์
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (5 ปี)
การแนะแนว
การประถมศึกษา
เทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา
และยังมีอีก 11 หลักสูตรที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ หลักสูตรการสอน การอ่าน การสอนภาษา การศึกษาปฐมวัย คอมพิวเตอร์ศึกษา การศึกษาพิเศษ อุตสาหกรรมศึกษา การศึกษาผู้ใหญ่และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ จิตวิทยาการแนะแนว เทคโนโลยีสื่อสารการศึกษา และวิทยาการการจัดการเรียนรู้
นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรที่เป็นความร่วมมือเปิดสอนกับคณะต่างๆ ดังนี้คือ สุขศึกษา และพลศึกษา (ร่วมกับคณะพลศึกษา) วิทยาศาสตร์ทั่วไป วิทยาศาสตร์-เคมี วิทยาศาสตร์-ชีววิทยา วิทยาศาสตร์-ฟิสิกส์ วิทยาศาสตร์กายภาพชีวภาพ และคณิตศาสตร์ (ร่วมกับคณะวิทยาศาสตร์) ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ (ร่วมกับคณะมนุษยศาสตร์) ศิลปกรรมศาสตร์ศึกษา ศิลปศึกษา ดุริยางคศาสตร์สากล และดุริยางคศาสตร์ไทย (ร่วมกับคณะศิลปกรรมศาสตร์) สังคมศึกษา (ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์)
11. คณะสหเวชศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
กายภาพบำบัด
12. คณะสังคมศาสตร์
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (4 ปี)
การเงิน
การจัดการการท่องเที่ยวและการโรงแรม
การตลาด
การบัญชี
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต (ต่อเนื่อง)
การตลาด
การบัญชี
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
การพัฒนาชุมชน
การพัฒนาชุมชนเมือง
ประวัติศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
ภูมิศาสตร์
หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
หลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (5 ปี)
สังคมศึกษา
13. วิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
นวัตกรรมสื่อสารสังคม
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (4 ปี)
นวัตกรรมสื่อสารสังคม

14. วิทยาลัยนานาชาติเพื่อศึกาความยั่งยืน
Bachelor of Arts Programme (4 ปี)
Ecotourism and Hospitality Management
Sustainble Tourism


ค่าใช้จ่าย
ค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับปริญญาตรีใช้ระบบเหมาจ่าย แต่ค่าใช้จ่ายของแต่ละคณะจะไม่เท่ากัน ดังนี้ คณะทันตแพทยศาสตร์ เทอมละ 20,000 บาท คณะแพทยศาสตร์ เทอมละ 20,000 บาท และ 60,000 บาท (โครงการพิเศษ) คณะเภสัชศาสตร์ 15,000 บาท และ 50,000 บาท (โครงการพิเศษ)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ 16,000 บาท คณะสหเวชศาสตร์ 15,000 บาท คณะวิทยาศาสตร์ 8,000 บาท และ 12,000 บาท (เฉพาะสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์) คณะศิลปกรรมศาสตร์ 12,000 บาท คณะพลศึกษา 6,000 บาท และ 9,000 บาท (เอกวิทยาศาสตร์การกีฬา) คณะสังคมศาสตร์ 4,000 บาท และ 9,000 บาท (เอกบริหารธุรกิจ ภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และสังคมศึกษา) คณะศึกษาศาสตร์ 7,000 บาท คณะมนุษยศาสตร์ 8,000 บาท คณะศึกษาศาสตร์ 7,000 บาท และวิทยาลัยนานาชาติ เทอมละ 50,000 บาท

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- สำนักหอสมุดกลาง ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ และหอสมุด มศว.องครักษ์ เปิดให้บริการงานเทคโนโลยีการศึกษา เช่น ยืม-คืน โสตทัศนวัสดุ คอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์งาน ศูนย์การเรียนรู้ นานาชาติและเรียนรู้ทางภาษาด้วยตนเอง ให้ บริการยืม-คืน สืบค้น หนังสือ แบบเรียน วารสาร สิ่งพิมพ์ และปริญญานิพนธ์ นอกจากนี้ยังเป็นจุดให้บริการเครื่องถ่ายเอกสาร และเป็นบริเวณใช้เครือข่ายไร้สาย
- สำนักคอมพิวเตอร์ มีบทบาทและหน้าที่ประสานงานการวางแผนและกำหนดนโยบายด้านคอมพิวเตอร์ และพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อการบริหารของมหาวิทยาลัย รวมทั้งสนับสนุนให้บริการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการสำหรับการเรียนการสอน และบริการอุปกรณ์ต่างๆ ปัจจุบันสำนักคอมพิวเตอร์ ได้พัฒนาเครือข่ายบัวศรี ซึ่งเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เพื่อใชเป็นเส้นทางสำหรับการเชื่อมโยงการใช้ทรัพยากรและการติดต่อสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างอาจารย์ ข้าราชการ และนิสิตในสถาบัน และสามารถเชื่อมโยงกับเครือข่ายอื่นๆ ทั่วโลกได้ด้วย
- สำนักสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา เป็นสำนักบริการทางวิชาการในด้านการผลิต การใช้ การบำรุงรักษา การฝึกอบรม และการวิจัยพัฒนาสื่อเทคโนโลยีการศึกษาแก่อาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งฝึกทักษะปฏิบัติสำหรับนิสิตสาขาเทคโนโลยีการศึกษาและสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้อง และเป็นแหล่งจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์และผลิตภัณฑ์สื่อและเทคโนโลยีการศึกษาในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต สำนักสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา เปิดให้บริการสื่อโสตทัศน์เพื่อการเรียนการสอนและกิจกรรมของ มศว. บริการระบบการสอนทางไกลปฏิสัมพันธ์ บริการระบบวีดิทัศน์ และบริการโทรทัศน์วงจรปิด
- สัวสดิการนิสิต หากต้องการติดต่อหางานทำในมหาวิทยาลัยสามารถไปที่นี่ได้ หรือไม่ก็โทร 0 2664 1000 ต่อ 5356-7 (มศว. ประสานมิตร) หรือ 0 2664 1000 ต่อ 1134 (มศว. องครักษ์) ซึ่งจะเปิดรับนิสิตสมัครทำงาน part time ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนเพื่อทำงานภายในมหาวิทยาลัย หรืองานภายนอกมหาวิทยาลัย ค่าตอบแทนประมาณวันละ 200 บาท หรือไม่ก็ไปฝึกงานตามบริษัทต่างๆ โดยที่ผู้สนใจจะต้องติดตามข่าวทางคณะอยู่เป็นประจำ
- งานบริการลดหย่อนค่ารถยนต์ รถไฟ
- งานประกันอุบัติเหตุ ซึ่งนักศึกษาสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้เท่าจำนวนจริงแต่ไม่เกินครั้งละ 20,000 บาท
- มีรถโดยสารบริการรับ-ส่งภายในมหาวิทยาลัย ซึ่งใครก็ตามที่เข้ามาใน มศว. องครักษ์ จะต้องรู้สึกสะดุดตากับรถโดยสารสีขาว ด้านข้างของตัวรถเปิดโล่ง มองเห็นผู้โดยสารที่นั่งอยู่ภายใน รถเหล่านี้เป็นนวัตกรรมที่เกิดจากฝีมือและพลังสร้างสรรค์ของนิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ของ มศว. นั่นเอง
- หอพักนักศึกษา มศว. มีนโยบายให้นิสิตชั้นปีที่ 1 อยู่หอพักของทางมหาวิทยาลัยเพื่อความสะดวก ปลอดภัย และสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างนิสิต และเนื่องจากการเรียนชั้นปีที่ 1 ของทุกสาขาวิชาจำทำการเรียนการสอนกันที่วิทยาเขตองครักษ์ ดังนั้นนักศึกษาใหม่จึงต้องพักรวมกันที่นั่นทั้งหมด ที่องครักษ์จึงจัดให้มีหอพักไว้ให้บริการทั้งนิสิตหญิงและชายเป็นจำนวนทั้งสิ้น 10 อาคาร โดยแต่ละอาคารจะแตกต่างกันตรงใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศ และมีห้องน้ำส่วนตัวหรือไม่ อัตราค่าที่พักในภาคการศึกษาปกติอยู่ที่ประมาณ 3,200 - 4,000 บาทต่อคนต่อเทอม ส่วนในภาคฤดูร้อนลดลงครึ่งหนึ่ง

ทุนการศึกษา
มหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษาให้กลากหลายประเภท ตลอดจนทุนการศึกษาของแต่ละคณะ สอบถามรายละเอียดได้ที่ กองกิจการนิสิต หรือที่แต่ละคณะ

ชีวิตนักศึกษา
มศว. จะเป็นสังคมรุ่นพี่รุ่นน้อง มีสายรหัส รุ่นพี่ที่จบไปแล้วเป็นปีก็ยังเข้ามาเยี่ยมรุ่นน้องที่มหาวิทยาลัย รุ่นพี่จะมีการเทคแคร์โดยให้หนังสือและช่วยติวให้ที่องครักษ์ เนื่องจากอยู่ห่างไกลตัวเมืองและมีพื้นที่กว้างใหญ่ ทำให้จักรยานเป็นพาหนะยอดนิยม แต่หากใครไม่ต้องการจะเป็นสิงห์นักปั่น ทางมหาวิทยาลัยก็มีรถสวัสดิการวิ่งรอบสถาบัน เป็นรถนั่งเหมือนรถวิ่งที่สนามกอล์ฟแต่ตัวรถจะยาว เด็กบางคนจะเรียก "รถกระป๊อ"

ช่วงว่างระหว่างเรียนในแต่ละวัน นักศึกษาที่วิทยาเขตประสานมิตรนิยมไปเดินเล่นและดูหนังที่เมเจอร์เอกมัย บางคนก็นั่งรถไฟฟ้าไปเที่ยวแถวสยาม มาบุญครอง เพราะสามารถกลับมาเรียนได้ทันเวลา

ถ้าเป็นเด็กองครักษ์ก็จะเข้าห้องสมุด หรือไม่ก็ไปเล่นอินเทอร์เน็ตที่ศูนย์คอมพ์ ซึ่งมีเครื่องคอมพ์จำนวนมากเพียงพอกับจำนวนนักศึกษา และนิสิตไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น นอกจากนี้ยังสามารถยืมหนังจากห้องสมุดและมีบริการทีวีสำหรับเปิดดู โดยหนัง 1 เรื่อง/คน/ทีวีหนึ่งเครื่อง เพียงนิสิตเป็นสมาชิกห้องสมุดเท่านั้น แต่ก็มีหลายคนที่เลือกเดินชอปปิ้งในยามว่างที่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต จะมีรถตู้สวัสดิการไปส่งที่ฟิวเจอร์ และมีรถประจำทางจากประสานมิตรถึงองครักษ์ โดยเข้าไปจอดถึงตัวมหาวิทยาลัย

ที่ประสานมิตร อนุสาวรีย์ของ อาจารย์สาโรชน์ บัวศรี เป็นที่พึ่งทางใจของเด็กๆ ส่วนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่องครักษ์ คือ หอพระ ช่วงใกล้สอบเด็กจะไปบนขอให้สอบผ่าน และแก้บนโดยการวิ่งรอบวงเวียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook