มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)

มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)

มหาวิทยาลัยศิลปากร (มศก.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Silpakorn University (SU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2486
ต้นไม้ประจำสถาบัน: ต้นจัน
สีประจำสถาบัน: สีเขียวเวอร์ริเดียน
จำนวนคณะ: 14 คณะ 1 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 18,163 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: หน่วยกิตละ 120-150 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
สำนักงานอธิการบดี ตลิ่งชัน 22 ถนนบรมราชชนนี เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
โทร. 0 2880 7374, 0 2880 9925-36
วิทยาเขตวังท่าพระ (หน้าพระลาน) 31 ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
โทร. 0 2623 6115-22
วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (ทับแก้ว) ถนนราชมรรคาใน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม
โทร. 0 3425 3910-9, 0 3425 3840-1, 0 3427 0222-4
วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี 1 หมู่ที่ 3 ตำบลสามพระยา อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี
โทร. 0 3259 4029-30
เว็บไซต์: www.su.ac.th, www.pitc.su.ac.th (เพชรบุรี)

"มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นศูนย์กลางทางวิชาการ บนพื้นฐานการอนุรักษ์พัฒนาภูมิปัญญาและวัฒนธรรมไทย"

ประวัติ
หากพูดถึงศิลปากร ใครๆ ก็ต้องนึกถึงนักศึกษามาดเซอร์ วาดรูปเก่ง เป็นศิลปิน ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น จวบจนถึงทุกวันนี้มหาวิทยาลัยศิลปากรนับได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่เน้นการเรียนศิลปะทุกแขนง นักศึกษาที่นี่ส่วนใหญ่ต้องมีฝีมือในการวาด การปั้น การประดิษฐ์ หรือการออกแบบเป็นอย่างดี จึงจะสามารถเข้าได้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยศิลปากรได้พัฒนาการเรียนการสอนให้เทียบเท่าสากล กล่าวคือมีคณะที่ไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะเพิ่มขึ้นอีกมากมายครอบคลุมทุกสาขาวิชา
มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อตั้งโดยศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี (เดิมชื่อ Corrado Feroci) ประติมากรชาวอิตาเลียนซึ่งเดินทางมารับราชการในประเทศไทยในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ในปี 2476 โดยเริ่มแรกมีฐานะเป็น "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" สังกัดกรมศิลปากร เปิดสอนวิชาจิตรกรรมและประติมากรรมให้แก่ข้าราชการและนักเรียนในสมัยนั้น โดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน โรงเรียนแห่งนี้ได้มีการพัฒนาเรื่อยมาจนกระทั่งได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2486 โดยใช้สถานที่ของวังท่าพระ ซึ่งเป็นบริเวณของพระราชวังเก่าแก่ถึง 3 วัง ที่สร้างตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 ซึ่งอยู่ในพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ตรงข้ามพระบรมมหาราชวังเป็นที่ตั้ง วังท่าพระแห่งนี้เดิมเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัตติวงศ์ ซึ่งเป็นนายช่างเอกท่านหนึ่งของประเทศไทยอีกด้วย ในครั้งนั้นคณะจิตรกรรมและประติมากรรมได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นคณะแรก ถัดจากนั้นคือ คณะสถาปัตยกรรมไทย คณะโบราณคดี และคณะมัณฑนศิลป์
ต่อมาในปี พ.ศ. 2509 มหาวิทยาลัยศิลปากร มีนโยบายที่จะเปิดคณะวิชาและสาขาวิชาที่หลากหลายขึ้น แต่เนื่องจากเนื้อที่บริเวณวังท่าพระค่อนข้างคับแคบ จึงได้ขยายเขตการศึกษาไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม ซึ่งเคยเป็นพระราชวังของรัชกาลที่ 6 และจัดตั้งคณะอักษรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม และคณะดุริยางคศาสตร์ขึ้นตามลำดับ
จนกระทั่งปี 2540 มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ขยายเขตการศึกษาอีกครั้งเพื่อกระจายการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาค โดยไปจัดตั้งวิทยาเขตแห่งใหม่ที่ จ.เพชรบุรี โดยใช้ชื่อว่า "วิทยาเขตสารสนเทศเพชรบุรี" เปิดสอนคณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ และคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และที่วิทยาเขตนี้ยังถือเป็นวิทยาเขตแห่งแรกของประเทศไทยที่มีการออกแบบอาคารและวางแผนแม่บทให้ประหยัดพลังงาน ทั้งในเรื่องการลดความร้อน การใช้แสงสว่างและลมธรรมชาติ และรักษาสภาพแวดล้อม โดยนำของเสียและพลังงานหมุนเวียนมาใช้ประโยชน์ อาคารทุกหลังจะสูงไม่เกิน 5 ชั้น และใช้บันไดแทนลิฟท์
มหาวิทยาลัยศิลปากรยังได้ขยายงานการศึกษาอย่างต่อเนื่อง โดยได้จัดตั้งบัณฑิตวิทยาลัยขึ้นเพื่อรับผิดชอบงานในระดับบัณฑิตศึกษาในปี 2515

สัญลักษณ์
"พระคเณศ" หรือ "พระพิฆเนศ" ซึ่งเป็นเทพแห่งศิลปะ และเป็นที่เคารพนับถือในหมู่ศิลปินทุกแขนง
สีประจำมหาวิทยาลัย ได้แก่ "สีเขียวเวอร์ริเดียน" และต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัย คือ "ต้นจัน"

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะจิตกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์
หลักสูตรศิลปะบัณฑิต (5 ปี)
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ภาพพิมพ์
ศิลปไทย
ทฤษฎีศิลป์
2. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมไทย
3. คณะโบราณคดี
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
โบราณคดี
ประวัติศาสตร์ศิลปะ
มานุษยวิทยา
ภาษาไทย
ภาษาตะวันออก
ภาษาอังกฤษ
ภาษาฝรั่งเศส
4. คณะมัณฑนศิลป์
หลักสูตรศิลปบัณฑิต
การออกแบบภายใน
การออกแบบนิเทศศิลป์
การออกแบบผลิตภัณฑ์
ประยุกตศิลปศึกษา
เครื่องเคลือบและดินเผา
การออกแบบเครื่องประดับ
หลักสูตรศิลปบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
การออกแบบเครื่องแต่งกาย
การออกแบบนิเทศศิลป์
5. คณะอักษรศาสตร์
หลักสูตรอักษรศาสตรบัณฑิต
นาฏศาสตร์
สารสนเทศและบรรณารักษศาสตร์
ประวัติศาสตร์
ปรัชญา
ภาษาเกาหลี
ภาษาจีน
ภาษาญี่ปุ่น
ภาษาไทย
ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาเยอรมัน
ภาษาอังกฤษ
ภูมิศาสตร์
สังคมศาสตร์การพัฒนา
สังคีตศิลป์ไทย
เอเชียศึกษา
6. คณะศึกษาศาสตร์
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
การประถมศึกษา
การศึกษาปฐมวัย
ภาษาไทย
ภาษาอังกฤษ
สังคมศึกษา
คณิตศาสตร์
เคมี
ชีววิทยา
ฟิสิกส์
วิทยาศาสตร์ทั่วไป
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีการศึกษา
การศึกษาตลอดชีวิต
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
จิตวิทยา
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาศาสตร์การกีฬา
7. คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
คณิตศาสตร์
ชีววิทยา
เคมี
ฟิสิกส์
สถิติ
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
วิทยาการคอมพิวเตอร์
จุลชีววิทยา
เทคโนโลยีสารสนเทศ
สถิติประยุกต์
8. คณะเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
เภสัชศาสตร์
9. คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีอาหาร
เทคโนโลยีชีวภาพ
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
ปิโตรเคมีและวัสดุพอลิเมอร์
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมเคมี
เทคโนโลยีการจัดการอุตสาหกรรม
10. คณะดุริยางคศาสตร์
หลักสูตรดุริยางคศาสตรบัณฑิต
การแสดงดนตรี
ดนตรีแจ๊ส
ดนตรีเชิงพาณิชย์
11. คณะสัตวศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สัตวศาสตร์และเทคโลโนยีการเกษตร
เทคโนโลยีการผลิตสัตว์น้ำ
เทคโนโลยีการผลิตพืช
เทคโนโลยีการสัตวแพทย์
12. คณะวิทยาการจัดการ
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
การจัดการชุมชน
การจัดการการท่องเที่ยว
การจัดการธุรกิจทั่วไป
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
การจัดการชุมชน
การจัดการธุรกิจทั่วไป
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
การตลาด
การโรงแรมและที่พัก
การจัดการธุรกิจและภาษาอังกฤษ
13. คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ
เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการออกแบบ
14. วิทยาลัยนานาชาติ
Bachelor of Business Administration in Hospitality Managemant (Double Degree)
Bachelor of Fine Arts in Multimedia Design Double Degree)
15.บัณฑิตวิทยาลัย

ค่าใช้จ่าย
ค่าธรรมเนียมการศึกษาในระดับปริญญาตรีคิดหน่วยกิตละ 120 สำหรับวิชาบรรยาย และหน่วยกิตละ 150 บาทสำหรับวิชาปฏิบัติ นอกจากนี้ก็ยังมีค่าธรรมเนียมพิเศษขึ้นอยู่กับแต่ละคณะวิชาที่ศึกษา

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- สำนักหอสมุดกลาง มีสถานที่ให้บริการ 3 แห่ง คือ ที่วิทยาเขตวังท่าพระ พระราชวังสนามจันทร์ และเพชรบุรี หอสมุดทั้ง 3 วิทยาเขตให้บริการห้องสมุดอัตโนมัติ จึงสามารถให้บริการสืบค้นข้อมูลได้ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้หอสมุดพระราชวังสนามจันทร์ได้จัดทำฐานข้อมูลโครงการจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยศิลปากร และหอสมุดสาขาวังท่าพระได้จัดทำฐานข้อมูลแหล่งสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ทางศิลปะในประเทศไทยอีกด้วย
- ศูนย์คอมพิวเตอร์ มีหน้าที่ให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์และการวิจัยในรายวิชาคอมพิวเตอร์ และรายวิชาต่างๆ ที่สอนในมหาวิทยาลัย รวมทั้งให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลและคอมพิวเตอร์ในการฝึกอบรมตลอดจนดำเนินการวิจัยในด้านการพัฒนาซอฟท์แวร์ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ศูนย์คอมพิวเตอร์ให้บริการครอบคลุมทุกวิทยาเขต โดยให้บริการเครื่อง PC เพื่อใช้ในทุกหน่วยงานภายใน บริการอินเทอร์เน็ตด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประสิทธิภาพสูง จัดระบบไมโครคอมพิวเตอร์เพื่อให้บริการการเรียนการสอนในรายวิชา เป็นศูนย์กลางการสอนทางไกลระหว่างวิทยาเขตทับแก้วและวิทยาเขตเพชรบุรี นอกจากนี้ยังเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ด้วยตนเองด้วย
- ศูนย์เครื่องมือวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นหน่วยงานในกำกับคณะวิทยาศาสตร์ โดยให้เป็นศูนย์เครื่องมือกลางของคณะเพื่อประโยชน์ต่อการเรียนการสอน การวิจัย ทั้งภายในคณะและคณะวิชาต่างๆ รวมทั้งหน่วยงานภายนอก
- บริการด้านกีฬาและนันทนาการ โดยที่วังท่าพระ มีสนามบาสเกตบอล สนามเปตอง สนามยูโด โต๊ะปิงปอง สนามแบดมินตัน และห้องบริหารร่างกาย ส่วนที่พระราชวังสนามจันทร์ ก็จัดให้มี สนามฟุตบอล 2 สนาม สระว่ายน้ำ โรงฝึกพลศึกษา สนามเทนนิส สนามตะกร้อ สนามบาสเกตบอลและวอลเลย์บอลกลางแจ้ง สนามแบดมินตัน โต๊ะปิงปอง สนามยูโด สนามยิงปืน และลู่วิ่งและที่เพชรบุรี มีโรงพละ ประกอบด้วย สนามบาสเกตบอล วอลเล่ย์บอลและตะกร้อ ซึ่งด้านนอกยังมีสนามเทนนิส และสนามฟุตบอล
- มีบริการแนะแนวให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาที่ประสบปัญหาต่างๆ ทั้งด้านการเรียน การปรับตัว การเลือกอาชีพ ฯลฯ โดยมีนักแนะแนวให้คำปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเป็นผู้ให้การศึกษา นอกจากนี้ยังมีบริการจัดส่งนักศึกษาเข้าฝึกงานในองค์กรต่างๆ และแนะแนวการศึกษาต่อ โดยจัดห้องสมุดอาชีพไว้เป็นที่รวบรวมข้อมูลในเรื่องต่างๆ รวมทั้งให้บริการจัดหางานและแนะแนวการเตรียมตัวเพื่อประกอบอาชีพแก่นักศึกษาและบัณฑิตอีกด้วย
- ร้านค้ามหาวิทยาลัยและร้านขายเครื่องเขียน และอุปกรณ์ จำหน่ายของที่ระลึกและอุปกรณ์สำหรับเรียนและทำงานศิลป์
- ศูนย์หนังสือ ที่มีวิทยาเขตวังท่าพระและสนามจันทร์ เปิดให้บริการจำหน่ายตำรา หนังสือ วารสาร สิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์การเรียนการสอน เครื่องเขียน และของที่ระลึก
- โรงอาหาร ที่วังท่าพระจะมีโรงอาหารเดียว ซึ่งมีร้านค้าไม่มากนัก เนื่องจากสถานที่คับแคบ ส่วนที่ทับแก้วมีโรงอาหารชื่อ สระแก้ว
- SU Radio Net นิสิตสามารถฟังวิทยุโดยผ่านทางอินเทอร์เน็ต เนื้อหาการดำเนินรายการประกอบด้วยข่าวประชาสัมพันธ์และเพลง โดยกระจายเสียงด้วย 2 ระดับความเร็วคือ 128 kB/sec สามารถฟังได้ในมหาวิทยาลัยโดยใช้ Window Media Player 9 และความเร็ว 20 kB/sec สำหรับโมเด็ม
- บริการด้านสุขภาพอนามัย โดยจัดให้มีห้องพยาบาลอยู่บริเวณตึกสำนักงานอธิการบดี ทั้งที่วิทยาเขตวังท่าพระและวิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ มีแพทย์และพยาบาลอยู่ประจำตามตารางเวลาของแต่ละที่เพื่อคอยให้การรักษาพยาบาลเบื้องต้น เช่น จ่ายยาตามอาการ และทำแผล
- บริการทำสมุดลดราคาค่ารถไฟ ให้กับนักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดด้วย
- หอพักนักศึกษา ที่หน้าพระลานไม่มีหอพัก แต่นักศึกษาที่เรียนที่ทับแก้วมีทั้งหมด 9 อาคาร หอพักชาย 2 อาคาร และหญิง 7 อาคาร รับนักศึกษาได้ทั้งหมดประมาณ 1,886 คน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนนักศึกษาที่มีทั้งหมดกว่า 3,000 คน โดยทางมหาวิทยาลัยแก้ปัญหานี้โดยทำการคัดเลือกในแต่ละปี ซึ่งกฎเกณฑ์ก็จะแตกต่างกันไปอีก โดยส่วนมากจะให้นักศึกษาที่มีภูมิลำเนาอยู่ห่างไกลก่อน อัตราค่าที่พักอยู่ที่ประมาณ 500-2,500 บาทต่อภาคการศึกษาต่อคน และที่เพชรบุรีก็มีอาคารหอพักสูง 5 ชั้นอีก 5 อาคาร ด้านล่างของแต่ละอาคารจัดให้มีบริการสำหรับนักศึกษา เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านซักรีด ร้านจำหน่ายอาหาร ร้านเสริมสวย ห้องอ่านหนังสือ และห้องพยาบาล

ทุนการศึกษา
มหาวิทยาลัยศิลปากรได้จัดสรรทุนการศึกษาหลากหลายประเภท ได้แก่ ทุนที่ได้รับจากกการพระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์และกองทุนการศึกษา ทุนอุดหนุนจากงบประมาณแผ่นดิน ทุนการศึกษา ยกเว้นค่าธรรมเนียมพิเศษ ทุนยกเว้นค่าหน่วยกิต ทุนการศึกษาที่ได้รับจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ทุนการศึกษาที่ได้รับจากธนาคาร ทุนการศึกษาที่ได้รับจากบริษัท ห้าง ร้าน ทุนการศึกษาที่ได้รับจากนิสิตเก่า ทุนการศึกษาที่ได้รับจากมูลนิธิ ทุนการศึกษาที่ได้รับจากผู้มีจิตศรัทธา ทุนการศึกษาจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทุนการศึกษาที่คณะวิชามอบให้ รวมทั้งสิ้นกว่า 1,400 ทุน

ชีวิตนักศึกษา
มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นหนึ่งมหาวิทยาลัยที่เก่าแก่ และอยู่ในย่านที่มีบรรยากาศย้อนยุคมีเสน่ห์มากที่สุดย่านหนึ่งของกรุงเทพฯ บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยท่าพระจะไม่เหมือนที่อื่นเพราะเคยเป็นวังเก่า ประกอบด้วยตึกต่างๆ ที่มีสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

การเรียนที่ศิลปากรจะทำให้นักศึกษาสนิทกับเพื่อนๆ มากเพราะต้องใช้เวลาทำงานอยู่ที่มหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะ ไม่ใช่อะไรที่เรียนจบในแต่ละวันแล้วแยกย้ายกันกลับบ้านเหมือนที่อื่น ดังนั้น จะเห็นได้ว่านักศึกษาศิลปากรจะสนิมกันมากในแต่ละรุ่น และมีการสนิทข้ามรุ่นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้องด้วย ซึ่งในเวลาที่ไม่มีเรียน นักศึกษาวิทยาเขตท่าพระมักจะรวมกลุ่มนั่งคุยกันตามใต้ตึก ในสวนแก้ว หรือไม่ก็ที่ร้านมิ่งหลี ซึ่งเป็นร้านอาหารเก่าแก่ของชาวศิลปากรมาหลายรุ่น และร้านยังคงบรรยากาศเก่าๆ ไว้ หรือไม่ก็เดินไปหาของกินแถวท่าพระจันทร์ ซึ่งมีทั้งของคาวของหวานนานาชนิดให้เลือก ส่วนใครที่ชอบชอปปิ้งของถูกก็มักนั่งเรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยาไปจับจ่ายใช้สตางค์กันที่ตลาดวังหลัง ใกล้โรงพยาบาลศิริราช ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องสินค้ามือสองที่สุด

การเดินทางไปเรียนที่หน้าพระลานทำได้สะดวก เพราะเป็นทางผ่านของรถประจำทางหลายสาย ซึ่งมาจากทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางมาทางน้ำก็ได้ เพราะอยู่ใกล้กับแม่น้ำเจ้าพระยา มีทั้งเรือด่วน เรือธรรมดา รวมถึงเรือข้ามฟากให้บริการ นอกจากนี้ยังสามารถใช้บริการเรือคลองแสนแสบ มาลงที่ท่าสะพานผ่านฟ้าฯ ใกล้ป้อมพระสุเมรุ จากนั้นก็นั่งรถประจำทาง ตุ๊กตุ๊ก หรือมอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อมาอีกนิด

และที่สนามจันทร์ สามารถเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเพชรเกษม-นครปฐม หรือเส้นทางพุทธมณฑล-นครชัยศรี-นครปฐม หรือขึ้นรถประจำทางจากสถานีขนส่งสายใต้ สายกรุงเทพฯ-นครปฐม (ออกทุก 10 นาที) หรือไม่ก็เดินทางด้วยรถไฟสายใต้

ส่วนที่เพชรบุรี สามารถเดินทางโดยรถยนต์จากกรุงเทพฯ วิ่งเส้นธนบุรี-ปากท่อ ไปเพชรบุรี หรือจะใช้บริการรถโดยสารไปเพชรบุรีทั้งแบบธรรมดา และรถปรับอากาศ หรือจะโดยสารรถประจำทางสายใต้ ก็มีหลายสายที่วิ่งผ่าน เช่น สายกรุงเทพฯ-หัวหิน สายกรุงเทพฯ-ชุมพร เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟสายใต้ได้เช่นกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook