มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Sukhothai Thammathirat Open University (STOU)

ก่อตั้ง : พ.ศ. 2521
ต้นไม้ประจำสถาบัน: ต้นทองหลางลาย (ต้นปาริชาต)
สีประจำสถาบัน: สีเขียว-ทอง
จำนวนคณะ: 12 สาขาวิชา
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 150,616 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: ค่าชุดวิชาละ 700-3,200 บาท (แล้วแต่ชุดวิชา)
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
9/9 หมู่ 9 ถนนแจ้งวัฒนะ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทุบรี
โทร. 0 2504 7777
เว็บไซต์: www.stou.ac.th

 "มสธ. ได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยดีเด่นจากสภานานาชาติว่าด้วยการศึกษาทางไกล และองค์การจัดการศึกษาเพื่อเครือจักรภพ ในประเภทสถาบันที่มีความเป็นเลิศในด้านการจัดการการศึกษาทางไกลในปี 2538 โดยคัดเลือกจากสถาบันทั้งหมด 79 ประเทศทั่วโลก"

 ประวัติ
แนวคิดเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยเปิด เป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะขยายโอกาสเพื่อการศึกษาระดับอุดมศึกษาแก่ประชาชนให้มากที่สุด แนวคิดนี้ได้เคยนำมาใช้ในประเทศไทยแล้วโดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2476 เป็นการศึกษาระบบ "ตลาดวิชา" รับนักศึกษาโดยไม่มีการสอบคัดเลือก ไม่บังคับให้ฟังบรรยาย แต่ภายหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้เปลี่ยนระบบมาจำกัดการรับนักศึกษาเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยอื่นๆ

ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เปิดตัวขึ้นมาเป็นมหาวิทยาลัยแบบตลาดวิชาขึ้นอีกแห่ง แต่ยังคงจัดการศึกษาโดยอาศัยระบบชั้นเรียนเป็นหลัก ทำให้มหาวิทยาลัยรามฯ ประสบปัญหาเรื่องอาคารสถานที่เรียนไม่เพียงพอกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหานี้ รัฐบาลจึงจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีกแห่ง มีลักษณะเป็นมหาวิทยาลัยเปิดดำเนินการสอนโดยใช้ระบบการสอนทางไกล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อ "มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช" ตามพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศ เป็น "กรมหลวงสุโขทัยธรรมราชา"

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 5 กันยายน พ.ศ. 2521 นับเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งที่ 11 สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย และเป็นมหาวิทยาลัยเปิดแห่งแรกในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกล คือมีการบรรยายทางโทรทัศน์และวิทยุผ่านดาวเทียม ซึ่งการใช้ระบบการเรียนการสอนทางไกลและเปิดรับนักศึกษาไม่จำกัดจำนวนนี้ เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนชาวไทยได้ศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพิ่มมากขึ้น นับเป็นการกระจายการศึกษาสู่ภูมิภาคที่ดีเยี่ยม มสธ. จึวเหมาะที่จะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา แต่ไม่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยในระบบเอนทรานซ์ได้ หรือผู้ที่ต้องการเรียนด้วยตนเอง ไม่มีการบังคับเวลาเรียน

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จัดการศึกษาเป็นระบบตลาดวิชา รับนักศึกษาโดยไม่มีการสอบคัดเลือก นักศึกษาที่นี่ไม่ต้องเข้าฟังบรรยายในชั้นเรียน ทุกอย่างตั้งแต่การลงทะเบียน การเรียน สามารถทำทางไกลผ่านทางไปรษณีย์ และสามารถรับบริการการสอนผ่านทางวิทยุและโทรทัศน์ เมื่อเรียนเสร็จก็จะมีวันนัดหมายให้ไปสอบตามศูนย์การสอบซึ่งอยู่ใกล้ๆ บ้านของนักศึกษา และหากมีข้อข้องใจเกี่ยวกับการเรียนจริงๆ ก็สามารถโทรศัพท์สอบถามอาจารย์ที่เข้าเวรอยู่ที่มหาวิทยาลัยได้

นอกจากได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากประชาชนชาวไทยแล้ว มสธ. ยังได้รับการยอมรับจากต่างประเทศโดยเฉพาะ UNESCO ซึ่งยกย่องใหเป็นสถาบันนำทางด้านการศึกษาทางไกลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และในปี 2535 สถาบันการบริหารแห่งเอเชีย (Asian Instiute of Management) ประเทศฟิลิปปินส์ได้ตัดสินให้รางวัล The Asian Management Award in Development Management แก่ มสธ. ในฐานะที่เป็นองค์กรที่มีการพัฒนาการบริหารดีเยี่ยม และในปี 2538 มสธ. ยังได้รับรางวัลมหาวิทยาลัยเปิดดีเด่นของโลกแห่งปี 1995-1996 COL-ICDE Award of Excel-lence จากสภานานาชาติว่าด้วยการศึกษาทางไกล International Council for Distance Education (ICDE) และองค์การจัดการศึกษาเพื่อเครือจักรภพ Commonwealth of Learning (COL)

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้จัดตั้ง ศูนย์วิทยพัฒนา ขึ้น 10 แห่ง ได้แก่ ที่ลำปาง สุโขทัย นครสวรรค์ อุดรธานี อุบลราชธานี นครนายก เพชรบุรี จันทบุรี นครศรีธรรมราช และยะลา ศูนย์วิทยพัฒนาแต่ละที่นี้จะให้บริการครอบคลุมจังหวัดใกล้เคียงด้วย และยังได้จัดตั้งศูนย์บริการการศึกษา ณ โรงเรียนประจำจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อเป็นสถานที่ดำเนินกิจกรรมทางวิชาการของมหาวิทยาลัย เช่น การปฐมนิเทศนักศึกษา การสอนเสริม และการสอบ

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้รับความร่มมือจากกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักบริหารการศึกษานอกโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงแรงงาน ได้มีการจัดการศึกษาสำหรับคนไทยในต่างประเทศ เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาตลอดชีวิตให้กับคนไทยเหล่านั้น โดยมีการศึกษาสำหรับคนไทยในประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน ซาอุดิอาระเบีย บรูไน เมืองฮ่องกง และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ทั้งนี้นักศึกษาต้องเดินทางมาเข้ารับการฝึกอบรมชุดวิชาประสบการณ์วิชาชีพ หรือชุดวิชาที่มีการฝึกปฏิบัติ ณ สถานที่ที่มหาวิทยาลัยจัดให้

สัญลักษณ์
"ตราพระราชลัญจกรในรัชกาลที่ 7" ซึ่งเป็นรูปพระแสงศรสามองค์เรียงกัน ภายใต้พระมหามงกุฏนำมาประกอบกับส่วนยอดของ "เจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรุงสุโขทัย
สีประจำมหาวิทยาลัยคือ "สีเขียว-ทอง" ซึ่งสีเขียว เป็นสีประจำวันพุธ ซึ่งเป็นวันพระราชสมภพของรัชกาลที่ 7 ส่วนสีทอง เป็นสีของความเป็นสิริมงคล
ต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยนั้นได้แก่ "ต้นปาริชาต" หรือ "ทองหลางลาย" เนื่องจากมีใบเป็นสีเขียว-ทอง ตามสีประจำมหาวิทยาลัย

มีอะไรเรียนบ้าง
มสธ. มีการเรียนการสอนระดับปริญญาตรีแบ่งออกได้เป็น 12 สาขาวิชา ดังนี้
1.สาขาวิชาศิลปะศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สารสนเทศศาสตร์
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
ไทยคดีศึกษา (ต่อเนื่อง 2 ปี)
2. สาขาวิชาศึกษาศาสตร์
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาการแนะแนว
แขนงวิชาการศึกษานอกระบบ
แขนงวิชาการวัดและประเมินผลการศึกษา
แขนงวิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา
3. สาขาวิชาวิทยาการจัดการ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
แขนงวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการจัดการทั่วไป (ปกติ และ(ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการเงินและการธนาคาร (ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการตลาด (ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาบริหารธุรกิจ วิชาเอกการจัดการการท่องเที่ยว (ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงการจัดการงานก่อสร้าง วิชาเอกการจัดการงานก่อสร้าง (ต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาบริหารรัฐกิจ วิชาเอกรัฐประศาสนศาสตร์
4. สาขาวิชานิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
5. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุภาพ
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
- แขนงวิชาสาธารณสุขศาสตร์ วิชาเอกสาธารณสุขศาสตร์ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- แขนงวิชาสาธารณสุขศาสตร์ วิชาเอกบริหารสาธารณสุข (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
- แขนงวิชาสาธารณสุขศาสตร์ วิชาเอกอาชีวอนามัยและความปลอดภัย (ต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรแพทย์แผนไทยบัณฑิต
(ต่อเนื่อง 2 ปี)
6. สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
แขนงวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาเอกเศรษฐศาสตร์ (ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาเศรษฐศาสตร์ วิชาเอกเศรษฐศาสตร์
7. สาขาวิชามนุษยนิเวศศาสตร์
หลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต
วิชาเอกโภชนาการชุมชน
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต
วิชาเอกพัฒนาการเด็กและครอบครัว
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
หลักสูตรคหกรรมศาสตรบัณฑิต
แขนงวิชาคหกรรมศาสตร์ วิชาเอกการโรงแรมและภัตตาคาร (ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาคหกรรมศาสตร์ธุรกิจ วิชาเอกธุรกิจอาหาร (ต่อเนื่อง 2 ปี)
8. สาขาวิชารัฐศาสตร์
หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต
แขนงวิชาทฤษฎีและเทคนิคทางรัฐศาสตร์
แขนงวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการเมือง
9. สาขาวิชาส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์
หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาส่งเสริมการเกษตร วิชาเอกส่งเสริมการเกษตร
แขนงวิชาการจัดการการเกษตร วิชาเอกการจัดการการผลิตพืช การจัดการการผลิตสัตว์ การจัดการทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม และธุรกิจการเกษตร
หลักสูตรส่งเสริมการเกษตรและสหกรณ์บัณฑิต
(ปกติ และต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาสหกรณ์ วิชาเอกสหกรณ์
10. สาขาวิชานิเทศศาสตร์
หลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต
11. สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม วิชาเอกเทคโนโลยีการพิมพ์
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
แขนงวิชาเทคโนโลยีพณิชยกรรม วิชาเอกเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจ
12. สาชาวิชาพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
(ต่อเนื่อง 2 ปี)


ค่าใช้จ่าย
ค่าธรรมเนียมการศึกษาและค่าลงทะเบียนเรียนของ มสธ. แตกต่างจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ คือ มีเพียงค่าธรรมเนียมแรกเข้า 500 บาท ค่าบำรุงการศึกษา 300 บาท และค่าชุดวิชารวมค่าวัสดุการศึกษาอีก 700-3,200 บาท (แล้วแต่ชุดวิชา)

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
เนื่องจากไม่มีการเปิดการเรียนการสอนเลย ทางมหาวิทยาลัยจึงมีบริการในด้านต่างๆ น้อย แต่ก็มีบุคลากรคอยรับเรื่องต่างๆ หรืออำนวยความสะดวกแก่ผู้เข้ามาติดต่อ อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชก็ได้จัดให้มี

- บริการการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม โดยรับฟังได้ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย เครือข่ายเพื่อการศึกษา ระบบ A.M ความถี่ 1467 Khz หรือไม่ก็รับบริการการสอนผ่านรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เวลา 05.00-06.00 น. รายการวิทยุโทรทัศน์ เพื่อการศึกษาทางไกล ออกอากาศทาง True Vision และ DLTV 8 ช่อง 88 เวลา 18.00-20.00 น. รายการวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา ออกอากาศทาง ETV ช่อง 96 (ดาวเทียม) เวลา 21.00-21.30 น.
- บริการจัดสอบในต่างประเทศ สำหรับนักศึกษาที่ลงทะเบียนในไทย แต่ในช่วงเวลาสอบมีภารกิจในต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่สถานที่จัดสอบก็คือที่สถานกงสุล หรือสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศนั้นๆ สามารถติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายจัดสอบ สำนักทะเบียนและวัดผล โทร. 0 2503 2681- e-Tutorials เป็นบริการสอนเสริมผ่านอินเทอร์เน็ต นักศึกษาสามารถดาวน์โหลดชุดวิชาที่ต้องการจากเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยได้ และรับชมการสอนเสริมด้วยโปรแกรม Windows Media Player Version 10 เป็นอย่างต่ำ ส่วนเอกสารประกอบการสอนต่างๆ จะจัดให้ในรูปแบบของไฟล์ PDF ทั้งหมดซึ่งสามารถเปิดอ่านได้ด้วยโปรแกรม Acrobat Readers นอกจากนี้ยังมีบริการสอนเสริมทางไกลผ่านดาวเทียมอีกด้วย

- ห้องสมุด เป็นแหล่งสารสนเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วารสาร สารคดี บทความทั่วไป สารสนเทศดิจิทัล สารสนเทศสาขาวิชา สารสนเทศเฉพาะด้าน
- ศูนย์บริการการศึกษา มสธ. ร่วมมือจากสถาบันการศึกษา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยแบ่งเป็นลักษณะต่างๆ ได้แก่ ศูนย์บริการการศึกษาภาค ศูนย์บริการการศึกษาจังหวัด ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ สาขาวิชา ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ มุม มสธ. ศูนย์วิทยพัฒนา และศูนย์วิทยบริการบัณฑิตศึกษา
- บริการแนะแนวการศึกษาและอาชีพ เพื่อช่วยให้นักศึกษาสามารถศึกษาสามารถศึกษาด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
- สหกรณ์ร้านค้า อยู่ที่ชั้นล่าง อาคารวิชาการ 2 จำหน่ายเครื่องใช้อุปโภคบริโภค และของที่ระลึก เปิดให้บริการจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.30-18.00 น. และวันเสาร์เวลา 09.00-15.00 น. และในส่วนของด้านหน้าสหกรณ์ร้านค้า ยังมีบริการอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายด้วย
- สโมสร อยู่บริเวณอาคารสุโขสโมสร เป็นสถานที่ที่ให้นักศึกษาและข้าราชการได้มาออกกำลังกาย โดยมีบริการสระว่ายน้ำ สนามแบดมินตัน และอุปกรณ์อื่นๆ เสียค่าบริการตามที่สโมสรกำหนด นอกจากนี้ยังมีอาหารและเครื่องดื่มจำหน่ายในราคาย่อมเยา
- โรงอาหาร ภายในมหาวิทยาลัยมีโรงอาหาร 3 แห่ง และบริเวณรอบนอกของมหาวิทยาลัยเป็นหมู่บ้านจัดสรรเมืองทองธานี จึงมีร้านอาหารมากมายโดยรอบ

ทุนการศึกษา
ประกอบด้วย ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งเป็นทุนการศึกษาที่นำดอกเบี้ยมาจัดสรรเป็นทุนการศึกษาให้กับนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ แต่ต้องเป็นผู้ที่ศึกษากับมหาวิทยาลัยมาแล้วอย่างน้อย 1 ภาคการศึกษา และยังมีทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล (กยศ.)

ชีวิตนักศึกษา
การเรียนที่นี่เป็นแบบทางไกลล้วนๆ โดยเมื่อลงทะเบียนทางไปรษณีย์เสร็จ นักศึกษาก็จะได้รับหนังสือและตำราต่างๆ ทางไปรษณีย์ จากนั้นก็จะต้องอ่านคู่มือที่จัดส่งมาโดยละเอียด ทางมหาลัยจะมีคู่มือประเมินผลให้ หรือบางครั้งก็จะมีแนวข้อสอบให้ พอถึงเวลาสอบก็จะมีการแจ้งมาทางไปรษณีย์อีกเช่นกันว่าจะให้ไปสอบที่ศูนย์ใด ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับภูมิลำเนาของนักศึกษาว่าอาศัยอยู่ที่ไหน ดังนั้นที่นี่จึงเป็นการเรียนแบบไม่มีสังคมการเรียนเหมือนมหาวิทยาลัยอื่นๆ แต่มีข้อดีคือเหมาะสำหรับคนที่ต้องการจัดเวลาเรียนเอง หรือคนที่ไม่ค่อยมีเวลาว่างและสามารถหาความรู้จากตำราเพียงอย่างเดียวได้

มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์บริการการศึกษาในลักษณะต่างๆ ได้แก่ ศูนย์บริการการศึกษาภาค 7 ศูนย์ ศูนย์บริการการศึกษาจังหวัด 80 ศูนย์ ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ สาขาวิชา ศูนย์บริการการศึกษาเฉพาะกิจ มุม มสธ. ศูนย์วิทยพัฒนา และศูนย์วิทยบริการบัณฑิตศึกษา เพื่อให้บริการแก่นักศึกษาในด้านการปฐมนิเทศ การสอนเสริม การฝึกงาน การฝึกปฏิบัติ การจัดสอน รวมถึงบริการข่าวสารและสื่อการศึกษา
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัยคือ พระรูปรัชกาลที่ 7 ซึ่งนักศึกษาจะบนขอให้เรียนจบ ส่วนใหญ่หากเข้ามาเรียนได้หนึ่งเทอมแล้วไม่ผ่าน ก็จะออกไปเรียนที่อื่นเลย เพราะที่นี่จะไม่มีแรงจูงใจในการเรียน ไม่มีการเข้าชั้นเรียน ไม่มีเพื่อน จึงทำให้หลายคนเบนเข็มไปเรียนมหาวิทยาลัยเอกชน หรือไม่ก็มหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆ

การสอบจะเป็นการสอบปลายภาคครั้งเดียวไม่มีคะแนนเก็บ และการจัดสอบก็จะจัดขึ้นตามศูนย์ต่างๆ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะมีศูนย์สอบของตนเอง ในเขตกรุงเทพฯ ก็จะเปิดศูนย์สอบตามโรงเรียนต่างๆ

การพบอาจารย์ผู้สอนอาจจะยากสักนิด ถ้าต้องการพบหรือสอบถามข้อสงสัย ต้องโทรติดต่อทางคณะ อาจารย์ที่จัดสอนจะสลับกันอยู่เวรเพื่อตอบคำถามนักศึกษา แต่ถ้าคำถามนั้นเป็นส่วนที่อาจารย์ที่อยู่เวรไม่ได้ออก ก็ต้องโทรมาสอบถามอีกครั้ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook