มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Chiang Mai University (CMU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2507
ต้นไม้ประจำสถาบัน: ต้นทองกวาว
สีประจำสถาบัน: สีม่วงดอกรัก
จำนวนคณะ: 21 คณะ 1 วิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 31,992 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: หน่วยกิตละ 40-100 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์: 239 ถนนห้วยแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โทร. 0 5322 1699, 0 5321 7143
เว็บไซต์: www.cmu.ac.th

"มช. เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในส่วนภูมิภาค"

ประวัติ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 ได้มีการเรียกร้องให้ขยายการศึกษาระดับอุดมศึกษาออกสู่ภูมิภาค โดยขอให้รัฐบาลจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ในที่สุดการเรียกร้องก็สัมฤทธิ์ผล ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจและดีใจอย่างยิ่งแก่ชาวล้านนาไทย ต่อมาในปี พ.ศ. 2503 คณะรัฐมนตรีให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้น และเริ่มเปิดสอนเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2507 ซึ่งในระยะเริ่มแรกมีเพียง 3 คณะเท่านั้นคือ คณะมนุษยศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2508 ได้รับโอนกิจการคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลนครเชียงใหม่ จากมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มาเป็นคณะแพทยศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และในปีเดียวกันนี้เอง คณะเกษตรศาสตร์ก็ได้ก่อตั้งขึ้น ต่อจากนั้นก็มีการเปิดการเรียนการสอนขึ้นอีกหลายคณะ จวบจนปัจจุบันมีคณะทั้งสิ้น 20 คณะ และ 1 วิทยาลัย

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่ตั้งขึ้นในส่วนภูมิภาค และเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่เรียกชื่อตามชื่อเมือง มหาวิทยาลัยนี้ถือได้วาเป็นศูนย์กลางการศึกษาของภาคเหนือ และนอกจากจะเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งแล้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ก็ยังเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมล้านนาอันมีวัฒนธรรมยาวนานกว่า 700 ปี โดยเป็นสถานที่จัดงานและศูนย์ข้อมูลทางวัฒนธรรมมากมาย นอกจากนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่จัดเป็นสถาบันศึกษาที่มีสิ่งแวดล้อมร่มรื่นเอื้ออำนวยต่อบรรยากาศการศึกษาและการพัฒนาในทุกๆ ด้าน ภายในอาณาบริเวณกว่า 8,502 ไร่

เนื่องจากมหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากตัวเมืองไม่มากนัก (ประมาณ 4 กม.) และอยู่บริเวณเชิงดอยสุเทพ จึงทำให้เป็นมหาวิทยาลัยในเมืองซึ่งนักศึกษายังสามารถออกมาหาความแปลกใหม่ของเมือง และกลับไปสู่บรรยากาศความอบอุ่นแบบล้านนาได้อย่างครบถ้วน

สัญลักษณ์
มหาวิทยาลัยมีตราสัญลักษณ์เป็น "รูปช้างโชว์คบเพลิง" และมีสุภาษิตบาลีว่า "อตฺตานํ ทมยนฺติ ปณฺฑิตา" ที่แปลว่า "บัณฑิตทั้งหลายย่อมฝึกตน" อยู่ในวงล้อมรูปช้าง ช้างมีท่าทางเหมือนธรรมชาติ งวงจับคบเพลิงชูขึ้นเหนือหัว เปรียบเสมือนแสงสว่างส่องทางให้นักศึกษาที่จะไปสู่ควมเจริญรุ่งเรืองต่อไป

มีอะไรเรียนบ้าง
1. คณะแพทยศาสตร์

หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
2. คณะทันตแพทยศาสตร์
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต
3. คณะเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (6 ปี)
บริบาลเภสัชกรรม
4. คณะเทคนิคการแพทย์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคนิคการแพทย์
กิจกรรมบำบัด
กายภาพบำบัด
รังสีเทคนิค
5. คณะพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
International Programme in Nursing Science
6. คณะสัตวแพทยศาสตร์
หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต
7. คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
สัตววิทยา
สถิติ
ฟิสิฟส์
จุลชีววิทยา
คณิตศาสตร์
วัสดุศาสตร์
เคมีอุตสาหกรรม
ธรณีวิทยา
อัญมณีวิทยา
วิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
เคมี
ชีววิทยา
ชีวเคมีและชีวเคมีเทคโนโลยี
8. คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมเหมืองแร่
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมอุตสาหการ
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมเครื่องจักรกลเกษตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
การจัดการงานช่างและผังเมือง (ภาคพิเศษ เสาร์-อาทิตย์)
9. คณะเกษตรศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เกษตรศาสตร์ สาขาพืชสวน
เกษตรศาสตร์ สาขาปฐพีศาสตร์และอนุรักษ์ศาสตร์
เกษตรศาสตร์ สาขาโรคพืช
เกษตรศาสตร์ สาขากีฏวิทยา
เกษตรศาสตร์ สาขาสัตวศาสตร์
เกษตรศาสตร์ สาขาพืชไร่
เกษตรศาสตร์ สาขาการส่งเสริมการเกษตร
เศรษฐศาสตร์เกษตร
10. คณะอุตสาหกรรมเกษตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีการพัฒนาผลิตภัณฑ์
เทคโนโลยีการบรรจุ
เทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ทางทะเล
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร
วิศวกรรมกระบวนการอาหาร
เทคโนโลยีชีวภาพในอุตสาหกรรมการเกษตร
11. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตร์
12. คณะมนุษยศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
การท่องเที่ยวและการโรงแรม
ภาษาไทย
ปรัชญา
ภาษาญี่ปุ่น
สารสนเทศศึกษา
บ้านและชุมชน
ประวัติศาสตร์
ภาษาเยอรมัน
ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาอังกฤษ
ภาษาจีน
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
จิตวิทยา
13. คณะศึกษาศาสตร์
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
ภาษาไทย
สังคมศึกษา
วิทยาศาสตร์
การศึกษาปฐมวัย
พลศึกษา
คณิตศาสตร์
อุตสาหกรรมศึกษา
คหกรรมศาสตร์
สุขศึกษาและการส่งเสริมสุขภาพ
ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาอังกฤษ
ประถมศึกษา
บริหารธุรกิจ
ศิลปศึกษา
เกษตรกรรม
14. คณะสังคมศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
ภูมิศาสตร์
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
ไทยศึกษา
15. คณะวิจิตรศิลป์
หลักสูตรศิลปบัณฑิต
ศิลปะไทย
การออกแบบ
ภาพพิมพ์ (5 ปี)
จิตรกรรม (5 ปี)
ประติมากรรม (5 ปี)
16.คณะบริหารธุรกิจ
หลักสูตรบัญชีบัณฑิต
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
17. คณะเศรษฐศาสตร์
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
18. คณะการสื่อสารมวลชน
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
วิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
การหนังสิพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์
การประชาสัมพันธ์และการโฆษณา
สื่อสารการแสดง
สื่อใหม่
19. คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์
หลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
20. คณะนิติศาสตร์
21. วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
แอนิเมชั่น
International Programme in Software Engineering
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
การจัดการสมัยใหม่และเทคโนโลยีสารสนเทศ
22. บัณฑิตวิทยาลัย

ค่าใช้จ่าย
ในภาคการศึกษาปกติ ค่าลงทะเบียนวิชาบรรยายหน่วยกิตละ 40 บาท และวิชาปฏิบัติหน่วยกิตละ 100 บาท ยกเว้นคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ใช้ระบบเหมาจ่าย 23,000 บาทต่อเทอม ส่วนหลักสูตรที่เป็นภาคพิเศษ จะใช้ระบบเหมาจ่ายดังนี้คือ มนุษยศาสตร์ ภาคพิเศษ เหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 28,000 บาท สังคมศาสตร์ ภาคพิเศษ 21,400 บาท วิศวกรรมศาสตร์ ภาคพิเศษ 35,000 บาท และเภสัชศาสตร์ ภาคพิเศษ 47,800 บาท
และยังมีค่าธรรมเนียมการศึกษาพิเศษ ซึ่งเรียกเก็บเพิ่มเติมดังนี้ คณะแพทยศาสตร์ (สาขาวิชาแพทยศาสตร์) ปี 1 เก็บ 5,000 บาทต่อเทอม ปี 2-6 เก็บ 12,000 บาทต่อปี คณะทันตแพทยศาสตร์ และสัตวแพทยศาสตร์ ปี 1-3 เก็บ 5,000 บาทต่อเทอม ปี 4-6 เก็บ 10,000 บาทต่อปี คณะวิทยาศาสตร์ วิจิตรศิลป์ เกษตรศาสตร์ อุตสาหกรรมเกษตร พยาบาลศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ แพทยศาสตร์ (สาขาสาธารณสุขศาสตร์) เก็บ 3,000 บาทต่อเทอม และคณะมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และบริการธุรกิจ เก็บ 2,000 บาทต่อเทอม นอกนั้นก็เป็นค่าบำรุงเบ็ดเตล็ด และค่าธรรมเนียมเทคโนโลยีสารสนเทศอีกนิดหน่อย
สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- สำนักหอสมุด มช. เป็นแหล่งจัดหา รวบรวม รักษา บริการ และเผยแพร่เอกสาร วารสาร นิตยสาร หนังสือพิมพ์ โสตทัศนวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนฐานข้อมูลสำเร็จรูป ซีดีรอม และฐานข้อมูลออนไลน์
- ห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นข่ายงานห้องสมุดของมหาวิทยาลัยส่วนภูมิภาค (Provincial Library Network) ทั้ง 12 แห่ง ให้สามารถใช้ทรัพยากรสารนิเทศร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- บริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้บริการระบบเครือข่ายสื่อสารข้อมูลใยแก้วนำแสง เชื่อมต่อคณะและหน่วยงานต่างๆ เพื่อให้บริการข้อมูลต่างๆ ในการเรียนการสอน และยังให้บริการอินเทอร์เน็ต
- คอมพิวเตอร์ นักศึกษาสามารถใช้บริการคอมพิวเตอร์ได้ที่บริเวณคณะทุกคณะ ที่หอพักนักศึกษาทุกแห่ง ที่สำนักหอสมุด ที่สำนักทะเบียนและประเมินผล และที่อาคารกิจกรรมนักศึกษา
- ศูนย์หนังสือ จำหน่ายตำรา นิตยสาร วารสาร สิ่งพิมพ์ต่างๆ สำหรับนักศึกษาและบุคลากรของ มช. อยู่ติดกับสำนักหอสมุด และที่คณะสังคมศาสตร์
- ห้องกีฬา ทางมหาวิทยาลัยมีศูนย์กีฬา ชมรมกีฬา ซึ่งมีกีฬาเกือบทุกประเภท มีแอโรบิก มีอาจารย์สอนแอโรบิกมานำเต้น เทนนิส ว่ายน้ำ แบดมินตัน
- โรงอาหาร มีโรงอาหารกลางซึ่งเป็นศูนย์รวมนักศึกษา มีเวทีตั้งอยู่บางครั้งก็มีการแสดงของชมรมต่างๆ และยังมีโรงอาหารที่คณะมนุษยศาสตร์ เป็นสถานที่ยอดนิยมของนักศึกษาหนุ่มๆ เพราะว่ากันว่านักศึกษาหญิงคณะมนุษย์หน้าตาดี
- บริการรถโดยสารภายในบริเวณมหาวิทยาลัย จะมีรถขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า เพื่อลดภาวะมลพิษ เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีนโยบายรักษาสภาพแวดล้อม หรือถ้าสะดวกจะขับมอเตอร์ไซค์ก็ได้
- ในบริเวณมหาวิทยาลัยมีโรงพยาบาลขนาดเล็ก ชื่อโรงพยาบาลไผ่ล้อม ให้การรักษานักศึกษาที่เรียนฝั่งสวนสัก และโรงพยาบาลสวนดอก สำหรับนักศึกษาฝั่งสวนดอก
- บริการอนามัย ม.เชียงใหม่ได้จัดตั้ง "ศูนย์สุขภาพมหาวิทยาลัยเชียงใหม่" ขึ้นบริเวณฝั่งทิศตะวันตกของสโมสรข้าราชการ มช. และ "ศูนย์สุขภาพสวนดอก" ที่ภาควิชาเวชศาสตร์ครอบครัว โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เพื่อให้บริการด้านรักษาพยาบาล และเป็นหน่วยสร้างเสริมและพัฒนาสุขภาพของนักศึกษา นอกจากนี้ยังมีคลินิกทันตกรรมที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มช.อีกด้วย
- ร้านค้าสหกรณ์ มช. จำหน่ายสินค้าจำเป็นแก่นิสิตและบุคลากรของมหาวิทยาลัย โดยจัดในรูปแบบสหกรณ์ นักศึกษาสามารถซื้อหุ้นเข้าเป็นสมาชิกเพื่อร่วมดำเนินการค้าและรับเงินปันผลรายปีจากการจำหน่ายสินค้า
- ที่ทำการไปรษณีย์ ตั้งอยู่ใกล้อาคารสำนักงานอธิการบดี ให้บริการด้านการไปรษณีย์ โทรเลข โทรสาร โทรศัพท์ทางไกลต่างจังหวัดและข้ามทวีป ตลอดจนการรับ-ส่งธนาณัติ พัสดุ และจำหน่ายตั๋วแลกเงินไปรษณีย์
- ธนาคาร ทีธนาคารหลายแห่งที่อยู่ในละแวกมหาวิทยาลัย ได้แก่ ธ.ออมสิน (สาขาดอยสุเทพ) ธ.ไทยพาณิชย์ (สาขา มช.) ธ.กรุงไทย (สาขา มช.) และ ธ.กรุงเทพ (สาขา มช.) ตลอดจนมีตู้ ATM หลายแห่งในมหาวิทยาลัย
- หอพักนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มี 3 ส่วนหลัก ได้แก่
1. หอพักนักศึกษาบริเวณเชิงดอย มีจำนวน 15 อาคาร เป็นหอพักชาย 7 อาคาร หญิง 8 อาคาร รองรับนักศึกษาได้ 6,674 คน ค่าบำรุงหอพักในภาคปกติอยู่ที่ประมาณคนละ 900 บาท ค่าสาธารณูปโภคคนละ 500 บาท และค่าบำรุงปรับปรุงคุณภาพชีวิต นักศึกษาในหอพักและขนส่งมวลชนมหาวิทยาลัยอีกคนละ 300 บาท นอกนั้นก็เป็นค่าไฟฟ้าจากการนำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาใช้ประมาณคนละ 200 บาทต่อเดือน
2. หอพักบริเวณสวนดอก เป็นหอพักนักศึกษาสายการแพทย์ ประกอบด้วย หอพักนักศึกษาคณะเทคนิคการแพทย์ 3 อาคาร หอพักนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ 2 อาคาร หอพักนักศึกษาพยาบาล 1 อาคาร หอพักนักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ 3 อาคาร หอพักนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ 6 อาคาร ค่าบำรุงหอพักบวกกับค่าสาธารณูปโภคอยู่ที่ประมาณ 1,300-3,000 บาทต่อภาคการศึกษาปกติ (แล้วแต่หอ)
3. หอพักในกำกับของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แบ่งเป็น 3 แห่งคือ หอพักนักศึกษาหญิงในกำกับ 1 (หอสีชมพู) และหอพักนักศึกษาหญิงในกำกับ 2 (หอพยาบาล) สำหรับนักศึกษาหญิงเท่านั้น และหอพักนักศึกษาในกำกับ 3 (หอแม่เหียะ) สำหรับนักศึกษาหญิงและชาย เป็นห้องพัก 2 คน ค่าห้องคนละประมาณ 800-1,200 บาทต่อเดือน

ทุนการศึกษา
ทางมหาวิทยาลัยจัดให้มีทุนการศึกษาแยกเป็น 2 ส่วนคือ
1. ทุนการศึกษาส่วนกลาง เป็นทุนการศึกษาที่เจ้าของทุนไม่ได้ระบุให้นักศึกษาคณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ มีจำนวนปีละประมาณ 600 ทุน
2. ทุนการศึกษาคณะ มีจำนวนปีละประมาณ 1,500 ทุน
นอกจากนี้ก็มี เงินช่วยเหลือพิเศษ โดยพิจารณาคัดเลือกจากนักศึกษาที่ผ่านเข้าเรียนใน มช. ตามระบบโควตา 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการศึกษา เพื่อใช้ในการเตรียมตัวในระยะแรกที่เข้าศึกษา กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาของรัฐบาล และบริการเงินยืมฉุกเฉินมหาวิทยาลัย

ชีวิตนักศึกษา
มหาวิทยาลัยจะแยกพื้นที่การเรียนการสอนเป็น 2 ฝั่ง แยกระหว่างสายวิทย์และสายศิลป์ ฝั่งสายวิทย์จะเรียกว่า ฝั่งสวนดอก อยู่ติดกับโรงพยาบาลสวนดอก และฝั่งสายศิลป์จะเรียกว่า ฝั่งสวนสัก นักศึกษาที่นี่หรือที่เรียกกันว่า เด็ก มช. แต่ละรุ่นถือเป็นลูกช่างแต่ละเชือก เช่น ลูกช้างเชือก 48 และลูกช้างที่นี่ส่วนมากจะพูดคำเมือง เพราะมีพื้นเพอยู่ในภาคเหนือ นอกจากนั้นยังเป็นมหาวิทยาลัยที่ได้รับความเชื่อถือจากคนในภาคเหนือและชาวเชียงใหม่ เรียกได้ว่าเป็นมหาวิทยาลัยที่เด็กภาคเหนืออยากเข้าเรียนมากที่สุด
กิจกรรมระหว่างวันของนักศึกษาส่วนมากจะอยู่ในห้องสมุด เพราะแอร์เย็น และมีหนังสือเยอะแยะ ให้เลือกอ่านกันได้อย่างจุใจ นับเป็นสวรรค์ของคนที่เป็นหนอนหนังสือ ยิ่งในช่วงใกล้สอบที่นี่จะคึกคักเป็นพิเศษ ส่วนตอนเย็นๆ ค่ำๆ ก็มักออกไปเดินเล่นซื้อของ กินข้าว หรือไม่ก็เดินเที่ยวรอบๆ มหาวิทยาลัยซึ่งก็มีของขายทั้งอาหารและเสื้อผ้า
ประตูที่สำคัญคือ ประตูหน้า ติดถนนห้วยแก้ว และประตูหลัง ติดถนนสุเทพ หน้ามหาวิทยาลัยแบ่งเป็น 2 โซน คือ โซนขายของทั่วๆ ไป เช่น ของใช้จุกจิกและเสื้อผ้า และโซนร้านอาหาร

นักศึกษาจะนั่งเป็นกลุ่มอยู่ใต้คณะ เช่น คณะสังคมศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ และจะแบ่งโต๊ะนั่งตามวิชาเอกด้วย เช่น น้องๆ ที่เรียนเอกภาษาไทยก็จะนั่งรวมกลุ่มกัน ส่วนคณะวิทย์จะมีลักษณะพิเศษคือ นอกจากแบ่งตามวิชาเอกแล้ว ยังมีห้องของตัวเอง เช่น ห้องธรณี ซึ่งเป็นศูนย์รวมของนักศึกษาเอกธรณีวิทยา เป็นต้น
กิจกรรมรับน้องที่นี่มีหลากหลาย เช่น รับน้องขึ้นดอย หรือ พาลูกช้างขึ้นดอย ไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ โดยให้น้องๆ เดินออกจากแระตูหน้าระหว่างทางก็จะมีด่านต่างๆ ให้น้องหยุดพัก เมื่อขึ้นไปบนดอยจะให้น้องๆ แสดงกิจกรรม และจะมีรุ่นพี่ที่จบไปแล้วมาต้อนรับน้องๆ ด้วย ซึ่งบรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่นระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง งานรับน้องรถไฟ เป็นการรับน้องจากกรุงเทพฯ รุ่นพี่จะมารอรับน้องที่หัวลำโพง พาน้องไป มช. พาน้องเข้าหอ ทำกิจกรรม เนื่องจากน้องที่มาจากกรุงเทพฯ อาจจะไม่คุ้นเคยจังหวัดเชียงใหม่ มีระบบสายรหัส รุ่นพี่จะกลับมาเยี่ยมน้องๆ ทุกปี

ส่วนใหญ่เด็กหอจะเดินไปเรียน หรือไม่ก็ขับมอเตอร์ไซค์ บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยดี มีต้นไม้ดอกไม้เยอะ เนื่องด้วยมหาวิทยาลัยเปิดมานานแล้ว ว่างจากการเรียนเด็กจะไปเที่ยวตามสถานที่ธรรมชาติในเชียงใหม่ หรือไม่ก็ไปเดินเล่นดูหนังที่เซ็นทรัลแอร์พอร์ตพลาซ่า
สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัยได้แก่ ศาลาธรรม จะเปิดให้ไหว้ตอนมีพิธีสำคัญ และศาลพระภูมิหน้าศาลาธรรม นิสิตสามารถไปสักการะได้ และหากบน นิยมแก้บนด้วยการถวายลูกช้าง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook