มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)

มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.)
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Khon Kaen University (KKU)

ก่อตั้ง: พ.ศ. 2509
ต้นไม่ประจำสถาบัน: ต้นกัลปพฤกษ์
สีประจำสถาบัน: สีดินแดง
จำนวนคณะ: 21 คณะ 4
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 34,382 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: เหมาจ่ายภาคการศึกษาละ 8,000-12,000 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์:
วิทยาเขตขอนแก่น 123 ถนนมิตรภาพ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
โทร. 0 4324 6534-53
วิทยาเขตหนองคาย 112 ตำบลหนองกอมเกาะ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย
โทร. 0 4241 5600
เว็บไซต์: www.kku.ac.th, www.nkc.kku.ac.th (หนองคาย)

"มข. เป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมทางการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ"

ประวัติ
มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นสถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้กำเนิดของมหาวทิยาลัยจะมีแนวความคิดย้อนหลังไปได้ถึงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่การเตรียมการก่อสร้างอย่างจริงจังเริ่มมีขึ้นตั้งแต่รัฐบาล ฯพณฯ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในขณะที่เริ่มพัฒนาภูมิภาคส่วนนี้ของประเทศเมื่อ พ.ศ. 2505 และได้ลงมือก่อสร้างในปี 2507 โดยมีมติจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ขึ้นที่บ้านสีฐาน จ.ขอนแก่น และเสนอชื่อสถาบันนี้ว่า "มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" มีชื่อภาษาอังกฤษว่า "Khon Kaen Institute of Technology" ซึ่งต่อมาในปี พ.ศ. 2508 คณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น "มหาวิทยาลัยขอนแก่น" โดยมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยขอนแก่นประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2509 ซึ่งถือเป็นวันสถาปนาของมหาวิทยาลัย
ม. ขอนแก่น ตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 5,800 ไร่ ซึ่งมีลักษณะเป็นเนินดินลูกคลื่นสีแดง จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อว่า "มอดินแดง" และในปี 2537 ม.ขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย ได้ถูกจัดตั้งขึ้นตามนโยบายกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล และเริ่มเปิดรับนักศึกษารุ่นแรกในปี 2541

มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นศูนย์รวมทางความคิด สติปัญญาของสังคม และเป็นศูนย์รวมการศึกษาของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาสู่ภูมิภาค และเนื่องจากมีที่ตั้งอยู่กลางภูมิภาคอินโดจีน จึงนับเป็นหน่วยงานสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากในการให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและวิชาการแก่ประเทศต่างๆ ในแถบนี้ โดยเฉพาะในด้านการศึกษา การฝึกอบรม และการให้ความช่วยเหลือด้านผู้เชี่ยวชาญเพื่อการวิจัยการเกษตรและการสาธารณสุข ตลอดจนเป็นฐานของความช่วยเหลือทางวิชาการจากประเทศที่สาม ขณะนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นแหล่งฝึกอบรมระยะสั้น การศึกษาในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทของนักศึกษาจากประเทศลาว กัมพูชา และเวียดนาม นอกจากนั้นยังมีโครงการเปิดสอนหลักสูตรนานาชาติอีกหลายสาชาวิชาเพื่อให้นักศึกษาประเทศเพื่อนบ้านได้นำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาประเทศของตน

สัญลักษณ์
ตราประจำมหาวิทยาลัยเป็น "รูปเทพยดากระหนาบองค์พระธาตุพนม" อัญเชิญมิ่งมงคลประทานแก่สถาบัน สถิตเหนือขอนไม้ ซึ่งสลักเป็นชื่อมหาวิทยาลัย พื้นหลังแบ่งเป็น 3 ช่อง มีความหมายว่า คุณธรรมของนักศึกษา 3 ประการ ได้แก่ วิทยา (ความรู้ดี) จริยา (ความประพฤติดี) และปัญญา (ความฉลาด เกิดแต่การเรียนดี และคิดดี)
สีประจำมหาวิทยาลัยคือ "สีดินแดง" อันมีความหมายโยงไปถึงลักษณะ และภูมินามของพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย
"ดอกกัลปพฤกษ์" เป็นต้นไม้ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกพระราชาทานเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2510

มีอะไรเรียนบ้าง
วิทยาเขตขอนแก่น
1.คณะวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
ชีววิทยา
เคมี
คณิตศาสตร์
ฟิสิกส์
สถิติ
จุลชีววิทยา
วิทยาการคอมพิวเตอร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
ชีวเคมี
วิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม
คณิตศาสตร์ประยุกต์
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ปกติและโครงการพิเศษ)
ภูมิสารสนเทศศาสตร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
2.คณะเกษตรศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
พืชไร่
สัตวศาสตร์
ปฐพีศาสตร์
เกษตรทั่วไป
เศรษฐศาสตร์การเกษตร
กีฏวิทยา
โรคพืชวิทยา
พืชสวน
การประมง
ส่งเสริมการเกษตร
ทรัพยากรที่ดินและสิ่งแวดล้อม
หลักสูตรเกษตรศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
ส่งเสริมการเกษตร
3.คณะวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมโยธา (ปกติ และโครงการพิเศษ)
วิศวกรรมไฟฟ้า (ปกติ และโครงการพิเศษ)
วิศวกรรมเกษตร
วิศวกรรมอุตสาหการ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
วิศวกรรมเครื่องกล (ปกติ และโครงการพิเศษ)
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม (ปกติ และโครงการพิเศษ)
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
International Double Degree Programmes (collaborative programme with University of Regina)
Electrical Engineering
Industrial Engineering
Environmental Engineering
4. คณะศึกษาศาสตร์
หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
คณิตศาสตร์ศึกษา
วิทยาศาสตร์ศึกษา
การสอนภาษาไทย
สังคมศึกษา
ศิลปศึกษา
พลศึกษา
คอมพิวเตอร์ศึกษา
การสอนภาษาญี่ปุ่น
International Double Degree Programmes
- Teaching English to Speakers of Other Languages & English Education (collaborative programme with Northern Arizona University, USA)
- Teaching Chinese as a Foreign Language (collaborative programme with Southwest University)
5. คณะแพทยศาสตร์
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)
แพทยศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาศาสตร์การแพทย์ (6 ปี)
รังสีเทคนิค (ต่อเนื่อง 2 ปี)
เวชนิทัศน์ (ต่อเนื่อง 2 ปี)
6. คณะพยาบาลศาสตร์
หลักสูตรพยาบาลศาสตรบัณฑิต
พยาบาลศาสตร์
7. คณะเทคนิคการแพทย์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคนิคการแพทย์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
กายภาพบำบัด
8. คณะทันตแพทยศาสตร์
หลักสูตรทันตแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)
ทันตแพทยศาสตร์
9. คณะสาธารณสุขศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาศาสตร์อนามัยสิ่งแวดล้อม
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต (ต่อเนื่อง 2 ปี)
10. คณะเภสัชศาสตร์
หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
เภสัชศาสตร์ (ปกติ โครงการพิเศษ และ English Programme)
11. คณะสัตวแพทยศาสตร์
หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต (6 ปี)
สัตวแพทยศาสตร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาศาสตร์การสัตวแพทย์
12. คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์
หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต
สารสนเทศศาสตร์
การจัดการการพัฒนาสังคม
สังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
ภาษาอังกฤษ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
ภาษาไทย
ภาษาฝรั่งเศส
ภาษาเยอรมัน
ภาษาอังกฤษธุรกิจ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
ภาษาจีน
ภาษาญี่ปุ่น
ภาษาสเปน
ภาษาจีนธุรกิจ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
หลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรบัณฑิต
รัฐประศาสนศาสตร์
13. คณะเทคโนโลยี
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีชีวภาพ
เทคโนโลยีการอาหาร
เทคโนโลยีธรณี
เทคโนโลยีการผลิต (ปกติ และโครงการพิเศษ)
เทคโนโลยีพลังงาน
เทคโนโลยีวัสดุ
14. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์
หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (5 ปี)
สถาปัตยกรรมศาสตร์ (ปกติ และโครงการพิเศษ)
ออกแบบอุตสาหกรรม (ปกติ และโครงการพิเศษ)
15. คณะวิทยาการจัดการ
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
การเงิน (ปกติ และโครงการพิเศษ)
การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว (ปกติ และโครงการพิเศษ)
การบัญชี (ปกติ และต่อเนื่อง 3 ปี)
การตลาด
การจัดการ
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
เศรษฐศาสตร์
16. คณะศิลปกรรมศาสตร์
หลักสูตรศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต
จิตรกรรม
ประติมากรรม
ออกแบบนิเทศศิลป์
ดนตรีไทย
ดนตรีสากล
ดนตรีและการแสดงพื้นเมือง
17. คณะนิติศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
นิติศาสตร์
18. วิทยาลัยการปกครองส่วนท้องถิ่น
หลักสูตรรัฐศาสนศาสตรบัณฑิต
การปกครองท้องถิ่น
การจัดการการคลัง
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต
การจัดการระบบสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต
การจัดการงานช่างและผังเมือง
19. วิทยาลัยนานาชาติ
Bachelor of Arts Programme in Internayional Affairs
Bachelor of Business Administration Programme in Global Business
20. บัณฑิตวิทยาลัย
21. วิทยาลัยบัณฑิตศึกษาการจัดการ (ไม่มีหลักสูครปริญญาตรี)

วิทยาเขตหนองคาย
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาการคอมพิวเตอร์
ประมง
เทคโนโลยีอาหาร
เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต
การจัดการโรงแรมและการท่องเที่ยว
การเงิน
ธุรกิจระหว่างประเทศ
การบัญชี
หลักสูตรเศรษฐศาสตรบัณฑิต
เศรษฐศาสตร์
หลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต
นิติศาสตร์


ค่าใช้จ่าย
ค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคปกติแบ่งตามกลุ่มสาขาวิชา ดังนี้คือ ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 8,000 บาท ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 10,000 บาท และด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ 12,000 บาท ส่วนค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคฤดูร้อน ชำระครึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมการศึกษาภาคปกติ

สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- สำนักวิทยบริการ หรือหอสมุดกลาง เป็นหอสมุดขนาดใหญ่ เอื้ออำนวยต่อการค้นคว้าหาความรู้ นอกจากนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่นยังมีระบบห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ให้บริการด้วย
- ศูนย์หนังสือมหาวิทยาลัย เป็นเสมือนศูนย์รวมการใช้ชีวิตของนักศึกษาที่นี่ มีลักษณะเหมือนห้างสรรพสินค้า ชั้นล่างเป็นโรงอาหาร ใช้เป็นที่อ่านหนังสือตอนไม่มีการขายอาหาร (เย็นๆ) และที่ตึกยังมีลานบันไดใหญ่เป็นที่นัดพบของนักศึกษาที่นี่ ชั้นสามเป็นศูนย์หนังสือ มีร้านอินเทอร์เน็ตด้วย ลักษณะเป็นล็อคๆ เหมือนพลาซ่าในห้าง
- ศูนย์คอมพิวเตอร์ ทำหน้าที่ให้บริการ ด้านการเรียนการสอน ระบบบริหารงานวิจัยและเผยแพร่วิทยาการคอมพิวเตอร์สู่สังคม
- ศูนย์บริการวิชาการ ให้บริการศึกษาอบรมแก่ประชาชนทั่วไปทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในหัวข้อทั้งวิชาการและวิชาชีพ
- สนามกีฬา สระว่ายน้ำ สนามเทนนิส เนื่องจากอาณาบริเวณกว้างใหญ่ มหาวิทยาลัยจึงสามารถให้บริการนันทนาการและการกีฬาต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน พร้อมมีบริการศูนย์สุขภาพสำหรับนักศึกษาและบุคลากร
- บริการสำหรับนักศึกษาในการแนะแนวจัดหางานและบริการสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีบริการจัดหางานสำหรับนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย และบริการจัดหางานพิเศษระหว่างเรียน
- เนื่องจากมหาวิทยาลัยขอนแก่นมีพื้นที่กว้างใหญ่และมีนักศึกษาตลอดจนบุคลากรจำนวนมาก จึงนับเป็นชุมชนขนาดใหญ่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันภายในมหาวิทยาลัย ไม่ว่าจะเป็นสหกรณ์ร้านค้า ที่ทำการไปรษณีย์ ธนาคาร และโรงพยาบาล
- บริการ Hotline 11993 เป็นบริการให้คำศึกษาทางโทรศัพท์ เมื่อนักศึกษามีปัญหาหรือไม่สบายใจเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ และจะปกปิดปัญหาของนักศึกษาเป็นความลับ สามารถใช้บริการได้ในวันและเวลาราชการ
- หอพักนักศึกษา หอพักภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตขอนแก่น สามารถแบ่งประเภทออกได้เป็น
1. หอพักส่วนกลาง มีจำนวนมากถึง 26 หอพัก โดยแบ่งออกเป็นหอพักนักศึกษาชาย 11 หอพัก รับนักศึกษาได้ 1,786 คน และหอพักนักศึกษาหญิง 15 หลัง รับนักศึกษาได้ 2,952 คน ส่วนอัตราค่าธรรมเนียมหอพัก (รวมค่าห้องพัก ค่าน้ำ และค่าไฟ) อยู่ที่คนละ 1,400-3,000 บาทต่อภาคการศึกษา
2. หอพัก 9 หลัง แบ่งเป็นหอพักชาย 4 หลัง รับนักศึกษาได้ 856 คน และหอพักหญิง 5 หลัง รับนักศึกษาได้ 1,070 คน อัตราค่าธรรมเนียมหอพักอยู่ที่ประมาณคนละ 3,150-4,725 บาทต่อภาคการศึกษา
3. หอพักสวัสดิการนักศึกษา เคเคยูวรเรสซิเดนซ์ ประกอบด้วยอาคารพักอาศัย 4 ชั้น จำนวน 8 หลัง มีห้องพัดลม ห้องแอร์ธรรมดา และห้องแอร์พิเศษ สามารถรองรับนักศึกษาได้ประมาณ 2,000 คน พักได้ห้องละไม่เกิน 2 คน อัตราค่าธรรมเนียมหอพักอยู่ที่ประมาณเดือนละ 2,400-4,800 บาทต่อห้อง

ส่วนที่วิทยาเขตหนองคายมีหอพักนักศึกษา 3 แห่ง คือ
1. หอพักนักศึกษาหญิง อาคารเรียนรวม (อคร.) มีจำนวน 90 ห้อง รับนักศึกษาได้ 540 คน
2. หอพักนักศึกษาหญิง 2 มีจำนวน 100 ห้อง รับนักศึกษาได้ 200 คน
3. หอพักนักศึกษาชาย 1 มีจำนวน 100 ห้อง รับนักศึกษาได้ 200 คน
อัตราค่าธรรมเนียมหอพักอยู่ที่ประมาณคนละ 2,200-3,000 บาท

ทุนการศึกษา
มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้จัดสรรเงินทุนสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เช่น เงินช่วยเหลือค่าอาหารกลางวัน ทุนการศึกษาทั้งจากภายในและภาคนอกสถาบัน รวมถึงทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาและเงินยืมฉุกเฉิน (โทร. 1995)

ชีวิตนักศึกษา
บรรยากาศของมหาวิทยาลัยตอนเย็นๆ คนค่อนข้างเยอะจนบางครั้งอาจดูพลุกพล่าน เพราะมหาวิทยาลัยเปิดให้คนเข้าออกตลอด แต่มีป้อมยามและป้อมตำรวจคอยดูแลอยู่ นักศึกษา ม.ขอนแก่น นิยมใช้มอเตอร์ไซค์และจักรยานในบริเวณมหาวิทยาลัย เพราะมีพื้นที่กว้างขวาง

นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นส่วนมากมาจากภาคอีสาน และภาคเหนือ แต่ที่มาจากภาคกลางก็มีจำนวนไม่น้อย สังคมที่นี่จะรู้จักกันข้ามคณะ มีเพื่อนเป็นกลุ่มใหญ่ประมาณ 10-20 คนต่อกลุ่ม เป็นเพราะนักศึกษาต้องทำกิจกรรมร่วมกันหลากหลาย ทำให้รู้จักกันมากขึ้น

ที่นี่มีงานประเพณีรับน้องใหม่เป็นประจำทุกปี มีกิจกรรมกระชับความสัมพันธ์ โดยแบ่งน้องใหม่ออกเป็นกลุ่มๆ เน้นความสามัคคีในหมู่น้องใหม่ กิจกรรมกลุ่มจะมีต่อเนื่อง 2-3 วัน และหลังจากนั้นจะเป็นพิธีประเพณีอื่นๆ เช่น การพาน้องใหม่ไหว้เจ้าพ่อมอดินแดง และการบายศรีสู่ขวัญน้องใหม่ งานเด่นอีกงานของสถาบันก็คือ งานลอยกระทงบึงสีฐาน มีการจัดแห่ขบวนรถของแต่ละคณะและหน่วยงาน ซึ่งเส้นทางที่ใช้ในการแห่ขบวนรถได้แก่ ถ.มะลิวัลย์ โดยเริ่มจากศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เข้าสู่ประตูมหาวิทยาลัยด้านบึงสีฐาน ภายในงานมีร้านค้าและการละเล่นมากมาย โดยประกอบด้วยซุ้มของแต่ละคณะและสาขาต่างๆ นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดประกวดนางนพมาศ และวงดนตรีอีกด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook