มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.)
Suranaree University of Technology (SUT)
ก่อตั้ง: พ.ศ. 2533
ต้นไม่ประจำสถาบัน: ต้นปีบทอง
สีประจำสถาบัน: สีแสด-ทอง
จำนวนคณะ: 5 สำนักวิชา
จำนวนนักศึกษา: ประมาณ 10,367 คน
อัตราค่าเล่าเรียน: หน่วยกิตละ 500 บาท
ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์: 111 ถนนมหาวิทยาลัย ตำบลสุรนารี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา
โทร. 0 4422 0314-5
เว็บไซต์: www.sut.ac.th
"มทส. มีปณิธานอันมั่นคงที่จะดำรงความเป็นเลิศในทุกภารกิจ พัฒนาคุณภาพชีวิต มุ่งผลสัมฤทธิ์ ในการสะสมและสร้างสรรค์ภูมิรู้ ภูมิธรรม และภูมิปัญญา เพื่อพัฒนามนุษยชาติชั่วนิรันดร์"
ประวัติ
ช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 รัฐบาลมีนโยบายกระจายโอกาสทางการศึกษาระดับอุดมศึกษาไปสู่ภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ดังนั้นใน พ.ศ. 2527 ทบวงมหาวิทยาลัยจึงเสนอให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ในภาคเหนือ 1 แห่ง ภาคใต้ 1 แห่ง ภาคตะวันออก 1 แห่ง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 แห่ง ในส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้จัดตั้งวิทยาลัยในสังกัดมหาวิทยาลัยขอนแก่นขึ้นที่ จ.อุบลราชธานี และ จ.นครราชสีมา โดยวิทยาลัยที่นครราชสีมานั้น ให้ใช้ชื่อว่า "วิทยาลัยสุรนารี" และเลือกพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมบริเวณอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง อ.เมืองนครราชสีมา เนื้อที่ประมาณ 7,000 ไร่ เป็นที่ตั้ง
ต่อมารัฐบาลซึ่งมี ฯพณฯ พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้เล็งเห็นความจำเป็นในการเร่งรัดจัดตั้งมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นในส่วนภูมิภาคขึ้น ดังนั้นจึงมีมติให้ยกฐานะวิทยาลัยทั้ง 5 แห่ง ในภูมิภาคขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเอกเทศเมื่อปี พ.ศ. 2531 และในปีถัดมา ร่างพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้ถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 กรกฏาคม 2533 พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติดังกล่าว และประกาศในราชกิจจานุเบกษา มหาวิทยาลัยสุรนารีจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนามหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการสอนปีแรกในปีการศึกษา 2536 โดยรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีรุ่นแรก 731 คน ในกลุ่มสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ และกลุ่มสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร
เนื่องจากจุดประสงค์ที่กระจายโอกาสทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ภูมิภาค ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีในระดับโควตา (โควต้าโรงเรียน โควต้าต่างจังหวัด โควต้าผู้มีความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โควต้านักกีฬา และโควต้าดนตรีและนาฏศิลป์) มากถึงร้อยละ 80 ของจำนวนรับนักศึกษาทั้งหมด อีกทั้งยังปรับปรุงระบบการประกันคุณภาพการศึกษาภายในเพื่อรองรับการประกันคุณภาพการศึกษาจากภายนอก พัฒนาระบบการศึกษาไร้พรมแดน และการผลิตชุดสื่อประสม สำหรับการเรียนการสอน พัฒนาระบบสหกิจศึกษา และพัฒนาอาชีพให้กว้างขวางและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เตรียมความพร้อมด้านการจัดตั้งศูนย์การศึกษา มทส. จังหวัดอุดรธานี และจังหวัดบุรีรัมย์ เตรียมความพร้อมด้านการผลิตแพทย์ และพัฒนาบุคลากรด้านการบินร่วมกับสถาบันการบินพลเรือน นอกจากนี้ยังพยายามสร้างเครือข่ายเพื่อใช้ทรัพยากรและดำเนินภารกิจร่วมกันให้เกิดประโยชน์สูงสุดระหว่างสถาบันอุดมศึกษาที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันในนาม "ภาคีอุดมศึกษานครราชสีมา" จัดตั้งศูนย์หนังสือจุฬาฯ-มทส. และการพัฒนาระบบห้องสมุดดิจิตอล
สัญลักษณ์
ตราประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีประกอบด้วย ภาพท้าวสุรนารี ณ ใจกลาง เส้นโค้งงอนหงายขนาบ 2 ข้างของภาพข้างละ 4 เส้น และมีภาพเชิงนามธรรมของพืชพรรณและเฟืองจักรรองรับฐานของภาพท้าวสุรนารี "ภาพท้าวสุรนารี" สื่อความหมายถึง ปรัญชาและภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยที่เน้นความเคารพและศรัทธาต่อท้าวสุรนารีในฐานะวีรสตรีแห่งชาติ "เส้นโค้งงอนหงายขนาบ 2 ข้าง" ซึ่งเกยและเชื่อมต่อกันเหมือนกระเบื้องมุงหลังคา หมายถึง ความสำเร็จทางเทคโนโลยีต่อเนื่องกันและความเจริญก้าวหน้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด ส่วน "ภาพเชิงนามธรรมของพืชพรรณและเฟืองจักร" หมายถึง การเกษตรและอุตสาหกรรม
สีประจำสถาบันได้แก่ "สีแสด-ทอง" ซึ่ง "สีแสด" นั้นเป็นสีประจำจังหวัดนครราชสีมา และเป็นสีของธงประจำกองเสือป่านครราชสีมาที่ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ยังเป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งถือเป็นวันครู ส่วน "สีทอง" เป็นสีแห่งความรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ และศรัทธา
"ต้นปีบทอง" มีดอกสีแสด ซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัย และเป็นต้นไม้ปลูกง่าย ทนทาน โตเร็ว มีทรงพุ่มกว้าง สื่อความหมายถึง ความเรียบง่าย แข็งแกร่ง ความรุดหน้า และความร่มเย็น
มีอะไรเรียนบ้าง
1. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
วิทยาศาสตร์การกีฬา
2. สำนักวิชาเทคโนโลยีสังคม
หลักสูตรการจัดการบัณฑิต
การจัดการการตลาด
การจัดการโลจิสติกส์
การจัดการผู้ประกอบการ
หลักสูตรวิทยาการสารสนเทศบัณฑิต
นิเทศศาสตร์
สารสนเทศเพื่อการจัดการ
สารสนเทศศึกษา
3. สำนักวิชาเทคโนโลยการเกศตร
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
เทคโนโลยีการผลิตพืช
เทคโนโลยีการผลิตสัตว์
เทคโนโลยีอาหาร
4. สำนักวิชาแพทยศาสตร์
หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต
อาชีวอนามัยและความปลอดภัย
อนามัยสิ่งแวดล้อม
หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต
5. สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
วิศวกรรมการผลิต
วิศวกรรมเกษตรและอาหาร
วิศวกรรมขนส่ง
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์
วิศวกรรมเคมี
วิศวกรรมเครื่องกล
วิศวกรรมเซรามิก
วิศวกรรมโทรคมนาคม
วิศวกรรมพอลิเมอร์
วิศวกรรมไฟฟ้า
วิศวกรรมยานยนต์
วิศวกรรมโยธา
วิศวกรรมโลหการ
วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
วิศวกรรมอากาศยาน
วิศวกรรมอุตสาหการ
เทคโนโลยีธรณี
ค่าใช้จ่าย
หน่วยกิตละ 500 บาท และยังมีค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายถึง ค่าลงทะเบียนแรกเข้า ค่าบำรุงการศึกษา ค่าประกันสุขภาพ ค่าบำรุงห้องสมุด และค่าบำรุงกีฬา 5,000 บาทต่อปี ค่าบำรุงกิจกรรมนักศึกษา 200 บาทต่อปี และค่าประกันของเสียหายทั่วไป 3,500 บาท (เรียกเก็บครั้งเดียวและคืนให้เมื่อออกจากมหาวิทยาลัย)
สิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียน
- หอสมุด ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษาเปิดบริการทุกวัน ค่อนข้างจะทันสมัย มีโสตทัศนอุปกรณ์ไว้บริการนักศึกษาด้วย จะเน้นสื่อมัลติมีเดียที่ทันสมัยมากๆ
- ระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ใช้ระบบ Gi-gabit Network สำหรับสนับสนุนการดำเนินงานในทุกภารกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยระบบการจัดการช่องสัญญาณ 1 Gbps และมีบริการระบบเครือข่ายไร้สาย มทส.ครอบคลุมจุดสำคัญๆ ภายในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังจัดให้มีบริการคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตแก่นักศึกษาในบริเวณอาคารเรียนรวม ห้องสมุด หน่วยการเรียนรู้ด้วยตนเอง และหอพักนักศึกษา
- ห้องเรียนและห้องปฏิบัติการเครื่องมือวิทยาศาสตร์ มีห้องเรียนขนาดใหญ่ตั้งแต่ 60-1,500 ที่นั่ง พร้อมติดเครื่องปรับอากาศและสื่อโสตทัศนูปกรณ์ที่ครบครัน ส่วนห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ก็มีเทคโนโลยีและเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัย โดยใช้บริการแยกตามสาขา รวมทั้งหมด 240 ห้อง
- ทรัพยากรสารสนเทศ มีบริการสื่อดิจิตอล และทำการเชื่อมโยงระบบห้องสมุดอัตโนมัติกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ รวมไปถึงการบอกรับวารสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ศูนย์บรรณาสารและสื่อการศึกษา
- โครงการศึกษาไร้พรมแดน บริการบทเรียนออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต โดยมีรายวิชาทั้งสิ้น 73 รายวิชา
- ศูนย์หนังสือจุฬา-มทส. จำหน่ายหนังสือเรียน หนังสืออ่านเล่น อยู่อาคารเทคโนธานี ซึ่งติดกับร้านเซเว่น
- มหาวิทยาลัยนี้มีห้องฟิตเนสดีมาก ติดแอร์และยังมีห้องลีลาศ ซึ่งใช้เป็นที่จัดเต้นแอโรบิคด้วย
- โรงอาหารทั้งหมด 7 แห่ง รวมโรงอาหารในหอพักด้วย และที่ดีมากก็คือทางมหาวิทยาลัยและนักศึกษาจะมีส่วนร่วมในการคัดเลือกร้านอาหารที่จะมาเปิดจำหน่ายในโรงอาหารด้วย ดังนั้นอาหารที่นี่ค่อนข้างอร่อยมีมาตรฐาน เหมือนๆ กันทุกร้าน
- หอพักนักศึกษา มี 3 ลักษณะ คือ
1. หอพัก 3 ชั้น สำหรับนักศึกษาหญิง จำนวน 6 อาคาร (หอพักสุรนิเวศ 1-6) ห้องน้ำรวม
2. หอพัก 2 ชั้น สำหรับนักศึกษาชาย มีจำนวน 6 อาคาร (หอพักสุรนิเวศ 7-12) ห้องน้ำรวม
3. หอพักชั้นเดียว มีจำนวน 4 อาคาร (หอพักสุรนิเวศ 13-16) ห้องน้ำในตัว
ภายในหอพักมีระบบอินเทอร์เน็ตทุกอาคารทั้งแบบใช้สายและไร้สาย สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ได้แก่ เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ ห้องดูโทรทัศน์ ร้านถ่ายเอกสาร ร้านอาหาร มินิมาร์ท ATM ธ.กรุงไทย และ ธ.ไทยพาณิชย์ และยังมีศูนย์การเรียนรู้หอพักนักศึกษาด้วย ค่าธรรมเนียมหอพักสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีอยู่ที่คนละประมาณ 2,000-2,700 บาทต่อภาคการศึกษา นอกจากนี้ยังสามารถพักค้างชั่วคราวได้ด้วย โดยคิดค่าธรรมเนียมวันละ 30 บาทต่อคน
นอกจากหอพักนักศึกษา ภายในมหาวิทยาลัย ยังมีโรงแรมชื่อว่า "สุรสัมนาคาร" ให้บริการที่พักสำหรับผู้ปกครองที่ต้องการมาเยี่ยมบุตรหลานอีกด้วย
ทุนการศึกษา
มทส. จัดสรรทุนการศึกษาหลากหลายประเภทไว้ให้กับนักศึกษา รวมทั้งสิ้นหลายพันทุน ได้แก่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ของรัฐบาล) ทุนจากองค์กรและหน่วยงานภายนอก ทุนการศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งยังสามารถแบ่งออกได้เป็น ทุนเงินยืมเพื่อการศึกษา ทุนที่นำดอกผลจากกองทุนมาจัดสรร (ทุนการศึกษาหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ทุนการศึกษามูลนิธิสมเด็จพระสังฆราช ทุนการศึกษามูลนิธิเลนำคิน) ทุนการศึกษาประเภทโควตาเรียนดี ทุนการศึกษาประเภทโควตาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นอกจากนี้ก็ยังมีทุนเงินยืมฉุกเฉิน ในกรณีที่นักศึกษามีการขาดแคลนทุนทรัพย์อย่างกะทันหันเป็นครั้งคราว ครั้งละไม่เกิน 5,000 บาท สอบถามรายละเอียดได้ที่ งานทุนการศึกษา ส่วนกิจการนักศึกษา
ชีวิตนักศึกษา
ตัวมหาวิทยาลัยอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 20 กิโลเมตร และไม่ได้ติดถนนหลัก แต่เป็นถนนที่แยกออกจากถนนสายมิตรภาพมาประมาณ 7 กิโลเมตร โดยต้องผ่านกองบินที่ 1 และแยกเข้าถนนสู่มหาวิทยาลัย มีระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณเกาะกลางของถนนนี้จะปลูกต้นปีบทองซึ่งเป็นต้นไม้ประจำมหาวิทยาลัยไว้ตลอดทาง ทำให้เป็นถนนที่สวยงามมากแห่งหนึ่งในประเทศ
นักศึกษา ม. เทคโนโลยีสุรนารี จะเป็นเด็กสายวิทย์ประมาณ 90% สายศิลป์ประมาณ 10% การรับน้องจะมีการตั้งชื่อรุ่นแตกต่างกัน โดยใช้ชื่ออันเป็นเอกลักษณ์ของภาคอีสานต่างๆ เช่น รุ่นปีบทอง รุ่น พ.ศ. 49 และรุ่นชูช่อ ณ ม.ที่ราบสูง
มอเตอร์ไซค์ดูจะเป็นยานพาหนะคู่ชีพของนักศึกษาที่นี่เวลาไปเรียนตามอาคารต่างๆ เพราะพื้นที่มีบริเวณกว้าง หอพักและอาคารเรียนอยู่ห่างกันประมาณ 3 กม. แต่ก็มีรถเมล์ให้บริการรอบๆ บริเวณ รถออกทุก 5 นาที หากมีเวลาว่าง นักศึกษาก็นิยมไปเดินเล่นที่เดอะมอลล์โคราช หรือไม่ก็ที่ตลาดสินค้ามือสองบริเวณสามแยกปักธงชัย สินค้าจะมีหลากหลายกว่าที่ไนท์บาร์ซ่าในเมืองโคราช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น
บรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยจะคึกคักตอนสอบ เพราะจะมีการจัดติวโดยอาจารย์และรุ่นพี่เสมอๆ ที่หอพักและที่คณะ และถึงแม้หนังสือเรียนของที่นี่จะเป็นภาษาอังกฤษแทบทั้งนั้น นักศึกษาก็ไม่ต้องกังวลไป เพราะส่วนมากมีชี้ทแจกอธิบายเพิ่มเติมให้ด้วย ส่วนใครที่กลัวสอบไม่ผ่าน ขอแนะนำสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัยนี้ที่เรียกว่า "ลานย่า" ซึ่งมีรูปย่าโมอยู่ตรงกลาง มีขนาดใหญ่ แต่ก็มีขนาดจำลองเหมือนของจริง ซึ่งนักศึกษานิยมแก้บนโดยการทำความสะอาดบริเวณโดยรอบของลาน