วิธีเลี้ยงสัตว์น้ำในอควาเรียม

วิธีเลี้ยงสัตว์น้ำในอควาเรียม

วิธีเลี้ยงสัตว์น้ำในอควาเรียม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในการจัดตู้ปลาสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดคือต้องจัดสภาพแวดล้อมให้ใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของปลาให้มากที่สุด เลยนึกเทียบกับการนำสัตว์น้ำมาเลี้ยงใน อควาเรียม (aquarium) ว่าจะมีหลักการจัดเหมือนกับการจัดตู้ปลากันหรือไม่

ประยุตธ์ จีบุณย์ Display Supervisor แห่ง Siam Ocean World อธิบายว่า ก่อนการขนส่งปลาจะต้องงดให้อาหารปลาก่อน เพราะถ้าให้ปลากินอาหาร เวลาขนส่งปลาก็จะขับถ่ายออกมาทำให้น้ำเสีย เมื่อขนส่งปลาถึงจุดหมายแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะนำมาปลามาปรับสภาพ ถ้าเป็นปลาขนาดเล็กที่ใส่มาในถุงก็จะนำมาปรับสภาพภายใน แต่ถ้าเป็นปลาขนาดใหญ่ที่นำมาจากบ่อ สระ หรือ ปลาที่บรรทุกก็จะนำปลามาปรับสภาพข้างนอก ซึ่งในการนำปลาไปปรับสภาพนั้น ก็เหมือนการปรับสภาพปลาที่นำมาเลี้ยงที่บ้าน แต่อาจจะใช้เวลานานกว่าเพราะเป็นปลาขนาดใหญ่

หลังจากที่ปลาเข้ามาอยู่ในสถานที่เลี้ยงแล้ว ปลาจะถูกกักบริเวณหรือที่เรียกว่าอยู่ในช่วง quarantine เป็นช่วงระยะเวลาประมาณหนึ่ง เพื่อดูว่าปลาที่เข้ามามีโรคหรือนำพาหะเชื้อโรคเข้ามาหรือเปล่า ถ้ามีเจ้าหน้าที่ก็จะแยกปลาตัวนั้นไปรักษาในบ่อบำบัด ถ้ามั่นใจว่าปลาไม่มีโรคก็จะย้ายปลาลงตู้ ซึ่งตู้แต่ละใบก็จะมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับปลาชนิดนั้นๆ ปลาบางชนิดชอบน้ำเย็นก็จะมีเครื่องทำความเย็นให้ ปลาบางชนิดชอบอยู่กับสาหร่ายก็จะมีสาหร่ายเที่ยมให้ หรือปลาบางชนิดชอบอยู่ในบริเวณที่มีน้ำไหลแรงๆ ก็จะจัดตู้นั้นให้มีน้ำไหลแรงกว่าปกติ

สัตว์น้ำทุกตัวที่ Siam Ocean World ผู้ดูแลก็ได้พยายามจำลองสภาพแวดล้อมของปลาชนิดนั้นให้เหมือนกับสภาพแวดล้อมในทะเลให้มากที่สุด น้ำทะเลที่ใช้เป็นน้ำทะเลสังเคราะห์ ไม่ใช่น้ำทะเลจริง คือใช้เกลือวิทยาศาสตร์ที่ใช้สำหรับเลี้ยงปลาโดยเฉพาะมาผสมให้ได้ความเค็มเทียบเท่ากับน้ำทะเล ซึ่งตามปกติความเค็มของน้ำทะเลในแต่ละฤดู หรือในทะเลแต่ละแห่งความเค็มของน้ำในแต่ละช่วงก็ไม่เท่ากัน แต่ที่ Siam Ocean World จะรักษาระดับความเค็มไว้ที่ประมาณ 30-33 ส่วน ต่อน้ำ 1,000 ส่วน ซึ่งเป็นความเค็มของน้ำทะเลทั่วไป

TIPS จำนวนผู้ชมและมารยาทในการชมอควาเรียมมีส่วนอย่างมากในการเจ็บป่วยหรือการตายของปลาที่อาศัยอยู่ อควาเรียมหลายแห่งมีกฏข้อบังคับในการห้ามเคาะกระจก ห้ามถ่ายรูปด้วยแสงแฟลชหรือจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในแต่ละรอบไม่ให้มากเกินไปเพราะไม่ต้องการให้ฝูงปลาเกิดความเครียดจากการถูกรบกวน

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook