รังนก...เสริมสุขภาพ
คนกับธรรมชาตินั้นใกล้ชิดกันมาก หรือว่าเป็นสิ่งเดียวกันด้วยซ้ำไป เราจึงมักนึกถึงธรรมชาติในการเป็นเครื่องมือบำบัดเพื่อการส่งเสริมสุขภาพของเรา เรื่องหนึ่งในหลายความเชื่อนั้น คือเรื่องของรังนกนางแอ่น ที่เชื่อกันนักหนาว่าเป็นยาอายุวัฒนะ เป็นยาขนานเอกในการบำรุงร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่สุขภาพเสื่อมโทรมรังนกจึงกลายเป็นเป้าหมายของการไล่ล่า เพื่อนำมาบริการคนที่ต้องการจนกลายเป็นของขวัญที่มีราคาแพง ผู้ผลิตอาหารเสริมบางรายได้นำรังนกซึ่งชาวจีนเชื่อกันมานานว่ามีคุณประโยชน์ในการบำรุงเลือด มาบรรรจุขวดขายในราคาแพงลิบลิ่ว
แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งของสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กลับพบว่า ในรังนก ๑ ขวด (ประมาณ ๗๐-๗๕ มิลลิลิตร) จะมีโปรตีนผสมอยู่เพียงเล็กน้อยคือประมาณ ๐.๒๕ กรัมเท่านั้นเอง ที่เหลือเป็นส่วนประกอบของคาร์โบไฮเดรตหรือน้ำตาล ซึ่งจะให้พลังงานประมาณ ๕๒ กิโลแคลอรี่
แร่ธาตุอื่นๆ ก็ให้น้อยมาก วิตามินมีเพียงวิตามินบี ๒ ประมาณ ๒๐ ไมโครกรัม ในขณะที่นม ๑ กล่องจะให้ประมาณ ๔๐๐ ไมโครกรัม หรือว่าไข่ ๑ ฟอง จะให้ ๒๐๐ ไมโครกรัม คุณค่าของสารอาหารในรังนกส่วนใหญ่จึงเป็นน้ำตาล
เราต้องกินรังนกแบบนี้ถึง ๒๖ ขวด จึงจะได้โปรตีนเท่ากับการกินไข่ไก่ ๑ ฟอง และต้องกินรังนกถึง ๓๔ ขวด จึงจะมีคุณค่าทางอาหารเท่ากับนม ๑ กล่อง
รังนกจึงเป็นอาหารที่กินเพื่อความอร่อยเท่านั้น จะไปหวังประโยชน์จากรังนกคงลำบาก ผู้ที่ดื่มกินเข้าไปก็จะได้แค่ความอร่อยตามที่ต้องการคือความหวาน และ รสชาติบางอย่างเท่านั้นเอง เมื่อวินิจฉัยอย่างเป็นวิทยาศาสตร์เราจะพบว่า อาหารเสริมรังนกไม่ได้มีความจำเป็นอะไรเลย
ถ้าเราพยายามศึกษาว่าคนโบราณมีนิสัยในการกินอย่างไร เราก็พบแนวทางการบริโภคที่จะทำให้ร่างกายแข็งแรง เพราะคนสมัยก่อนแข็งแรงกว่าคนในปัจจุบัน ไม่จำเป็นต้องเข้าโรงพยาบาล เพื่อซ่อมสุขภาพบ่อยครั้งเหมือนคนสมัยนี้ คนเราในปัจจุบันมักกินอาหารไม่ครบหมวดหมู่และความหลากหลายอย่างที่ร่างกายต้องการ หนักไปที่แป้ง หรือหนักไปที่การดื่มสุราแทนการกินอาหารบ้าง ลุขภาพจึงไม่แข็งแรง หากเราย้อนกลับไปกินและอยู่ใกล้เคียงกับสภาพเมื่อ ๓๐-๔๐ ปีก่อน คล้ายกับประสบการณ์ในสมัยพ่อแม่ของเรา เราจะปลอดภัยจากโรคและภาวะต่างๆ ที่กำลังเบียดเบียนเราอยู่
ใช่ว่ารังนกจะไม่มีคุณค่าทางอาหารเลย เพียงไม่ได้มีคุณค่ามากไปกว่าอาหารที่เรารับประทานกันอยู่ในปัจจุบัน และยังเป็นการทรมานเพื่อร่วมโลกคือนกนางแอ่นอย่างไม่จำเป็นเลยด้วยครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)
กลับหน้าแรก Campus
อ่าน คอนเทนท์มากกว่านี้ คลิก..