สช. ชี้เด็กไทยเสี่ยง "มะเร็ง-เบี่ยงเบนทางเพศ"

สช. ชี้เด็กไทยเสี่ยง "มะเร็ง-เบี่ยงเบนทางเพศ"

สช. ชี้เด็กไทยเสี่ยง "มะเร็ง-เบี่ยงเบนทางเพศ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เหตุใช้ผิด สารพิษในพลาสติกปนเปื้อนสู่อาหาร

สถาบันสุขภาพเด็กฯ เดินหน้าปกป้องเด็กไทยให้ปลอดภัยจากสารพิษในพลาสติก หลังพบพฤติกรรมพ่อแม่และผู้ปกครองยังขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารและน้ำให้เด็ก ชี้หากใช้ผิดวิธีสารพิษจากพลาสติกจะปนเปื้อนในอาหาร ส่งผลกระทบต่อสุขภาพเด็กในระยะยาว เพิ่มปัจจัยเสี่ยงโรคมะเร็ง และพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ

สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการจัดทำโครงการ "อาหารปลอดภัย เด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก" ต่อเนื่อง 2 ปี ระหว่างปีพ.ศ.2553-2554 ภายใต้โครงการ "อาหารปลอดภัยเด็กไทยฉลาด" ของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อรวบรวมองค์ความรู้ด้านความปลอดภัยในการใช้พลาสติกบรรจุอาหารและน้ำดื่ม และสร้างความตระหนักถึงพิษภัยจากสารเคมีในพลาสติกที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

ถึงแม้ในปัจจุบันภัยของ "สารพิษในพลาสติก" ในประเทศไทยจะยังไม่ใช่ปัญหาหลักของกระทรวงสาธารณสุข แต่ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้เล็งเห็นว่าเรื่องสารพิษในพลาสติกเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับเด็กไทย เพราะในปัจจุบันพลาสติกเป็นนวัตกรรมของภาชนะบรรจุอาหารที่ได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลาย ถ้าหากมีการนำภาชนะพลาสติกมาบรรจุอาหารและน้ำดื่มให้กับเด็กด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องและปลอดภัย จะส่งผลให้เกิดการสะสมของสารพิษต่างๆ ทำให้เด็กไทยมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังได้

แพทย์หญิงศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า ปัจจุบันพลาสติกได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้ประโยชน์ในการบรรจุอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ในขณะที่เรามีพลาสติกมากมายหลายชนิด แต่กลับไม่เคยมีการศึกษาถึงผลกระทบของการใช้พลาสติกในการบรรจุอาหารที่มีต่อสุขภาพ

"สถาบันฯได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเด็กไทย หากมีการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารและน้ำดื่มอย่างไม่ถูกต้องและปลอดภัย ซึ่งจะทำให้สารเคมีที่เป็นอันตรายจากพลาสติกชนิดต่างๆ ปนเปื้อนลงสู่อาหารและน้ำดื่ม ทำให้เกิดการสะสมสารพิษตั้งแต่ในวัยเด็ก ส่งผลให้เกิดโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็กเล็ก" พญ.ศิราภรณ์กล่าว

แพทย์หญิงนัยนา ณีศะนันท์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และหัวหน้าโครงการฯ เปิดเผยว่าประเด็นเรื่องสารพิษจากพลาสติกในบริบทของประเทศไทยยังไม่เคยมีการศึกษาประเด็นด้านสุขภาพ ที่สำคัญผู้บริโภคซึ่งเป็นพ่อแม่หรือผู้ปกครองของเด็กเองก็ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการเลือกซื้อ วิธีการใช้งานภาชนะพลาสติกแต่ละประเภทที่ถูกต้องและปลอดภัยสำหรับตนเองและบุตรหลาน

"พลาสติกแต่ละชนิดหากนำไปใช่อย่างผิดวิธีจะทำให้สารเคมีต่างๆ ปนเปื้อนในอาหาร เช่นสาร BPA ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตพลาสติกชนิดแข็งใสที่เรียกว่าโพลีคาร์บอเนต เป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตขวดนมสำหรับเด็ก พลาสติกชนิดนี้เมื่อถูกกับความร้อนจากการต้มจะทำให้สาร BPA ละลายออกมาปนเปื้อนในอาหาร ซึ่งศูนย์พิษวิทยาแห่งชาติ (NTP) ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่าสารชนิดนี้จะส่งผลต่อระบบประสาท พัฒนาการของ ทารกในครรภ์ เด็กทารก และเด็กเล็กได้ และอาจเป็นสาเหตุก่อมะเร็งต่อมลูกหมากและมะเร็งเต้านมได้ นอกจากนี้การวิจัยในต่างประเทศยังพบว่าสาร BPA นั้นมีลักษณะเป็นตัวกวนฮอร์โมน ทำให้ฮอร์โมนเพศในร่างกายเกิดความสับสน และอาจส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศสำหรับเด็ก รวมไปถึงความสามารถในการสืบพันธุ์ในอนาคต" พญ.นัยนาระบุ

แพทย์หญิงรัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ หน่วยกุมารเวชศาสตร์สังคม และเลขาฯ โครงการเปิดเผยถึงการดำเนินงานและกิจกรรมต่างๆ โครงการ "อาหารปลอดภัย เด็กไทยพ้นภัยสารพิษพลาสติก" ว่า การทำงานในปีนี้ทางคณะทำงานได้รวบรวมและวิเคราะห์องค์ความรู้ ความปลอดภัย ความไม่ปลอดภัยของการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารและน้ำดื่ม เพื่อนำมาผลิตสื่อความรู้ต่างๆ เผยแพร่ให้กับประชาชน ได้เกิดความตระหนักและใส่ใจในการเลือกซื้อเลือกใช้พลาสติกที่ถูกต้อง

"เราได้มีการจัดทำแบบสอบถามเพื่อศึกษาพฤติกรรมของพ่อแม่ ผู้ปกครองและเด็ก ในการใช้ภาชนะพลาสติกบรรจุอาหารและน้ำดื่ม ซึ่งผลของการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างพบว่ามีความรู้เรื่องของพลาสติกในหลักการแต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการเลือกซื้อ เนื่องจากวิถีชีวิตและความเร่งรีบในสังคมปัจจุบัน ประกอบกับรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย ทำให้ยากแก่การเลือกใช้พลาสติกอย่างถูกต้อง และเหมาะสมกับอาหารแต่ละประเภท ซึ่งผลที่ได้จากการศึกษาพฤติกรรมในครั้งนี้ จะทำให้เรารับรู้ปัญหาและสถานการณ์ของคนไทยเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้พลาสติก และจะถูกนำไปต่อยอดขยายผลในการทำงานเชิงรุกในปีหน้า เพื่อที่จะหาช่องทางที่เหมาะสม ในการสื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องออกไปสู่ประชาชาชนให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อให้คนไทยและเด็กไทยปลอดภัย และห่างไกลจากพิษภัยของสารพลาสติกมากยิ่งขึ้น" พญ.รัชดากล่าว

"การที่จะทำให้เด็กไทยพ้นภัยและห่างไกลจากพิษภัยของสารพิษจากพลาสติกได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องทำให้พ่อ แม่ และผู้ปกครอง เกิดความตระหนัก มีความรู้ ความเข้าใจถึงพิษภัยต่างๆ ที่แฝงมาในพลาสติก และมีความใส่ใจในการเลือกซื้อ เลือกใช้ภาชนะพลาสติกที่เหมาะสมในการใช้งานกับอาหารและเครื่องดื่มประเภทต่างๆ สำหรับตนเองและบุตรหลานแล้ว นอกจากนี้พฤติกรรมในการเลือกซื้อ เลือกใช้ภาชนะพลาสติกอย่างถูกต้องของพ่อแม่และผู้ปกครอง จะถูกซึมซับและถ่ายทอดไปสู่บุตรหลาน ไม่เพียงแต่จะทำให้ตัวของเขาปลอดภัยและบุตรหลานปลอดภัยจากพิษสารพลาสติกแล้ว จะยังทำให้สังคมไทยปลอดภัยจากพิษร้ายในพลาสติกด้วย" แพทย์หญิงศิราภรณ์กล่าวสรุป.

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook