หนทางสู่ความสำเร็จของกวีไร้ขนบ ซะการีย์ยา อมตยา

หนทางสู่ความสำเร็จของกวีไร้ขนบ ซะการีย์ยา อมตยา

หนทางสู่ความสำเร็จของกวีไร้ขนบ ซะการีย์ยา อมตยา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

 

มติเอกฉันท์ที่ให้บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นอิสระจากกาลเวลา สถานที่ และศาสนา เรื่อง "ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน หรือ รางวัลซีไรต์ ประจำปีนี้สร้างความประหลาดใจให้กับผู้คนที่ติดตามอยู่ไม่น้อย เพราะผลงานดังกล่าวได้นำความแตกต่างมาสู่กวีแบบแผนที่เป็นที่นิยมดั้งเดิมในเมืองไทย

 

กว่าจะมาถึงวันนี้ ซะการีย์ยา อมตยา หรือ "เช ปุถุชน" วัย 35 ชายมุสลิมจากอ.บาเจาะ จ. นราธิวาส ผู้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแม่ ผ่านการเขียนกวีมาแล้วหลายร้อยบท ความสนใจด้านงานขีดเขียนของเขาเริ่มต้นจากการไปศึกษาที่ประเทศอินเดียและต้องเผชิญกับอุปสรรคทางด้านภาษาที่ทำให้เขาต้องระบายความอึดอัดต่างๆ ออกมาเป็นภาษากวี

 

นับแต่การจากบ้านเกิดไปหลายสิบปี ซะการีย์ยาได้ค่อยๆ หล่อหลอมอัตลักษณ์ทั้งในเชิงความคิดและทัศนคติผ่านการศึกษาเล่าเรียน ความคิดปรัชญา และความสนใจส่วนตัวได้อย่างน่าสนใจ

การศึกษาของเขาด้านอิสลามศาสตร์ ภาษาอาหรับและวรรณคดีเปรียบเทียบ รวมทั้งการมีเพื่อนร่วมห้องเรียนเป็นทั้งพระและบาทหลวงทำให้เขาตระหนักว่า จริงๆ แล้วมนุษย์นั้นเมื่อถอดความแตกต่างทางภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อ หรือศาสนาออกไป ทุกคนล้วนไม่ต่างกันในสิ่งหนึ่ง คือ ความเป็นมนุษย์ และความเป็นมนุษย์นั้นมีคุณค่าในความคิดของซะการีย์ยา

"ปฏิเสธไม่ได้ครับว่าคนเราทุกคนต้องการปัจจัยสี่ในชีวิตเหมือนกัน ทุกคนรู้สึกหิว รู้สึกอยากนอน เป็นเหมือนกันหมด" กวีชาวใต้กล่าว

ด้วยวิธีคิดเช่นนี้ทำให้เขาไม่เคยจินตนาการหน้าผู้อ่านเมื่อประพันธ์บทกวี ดังนั้นผู้อ่านของเขาสามารถเป็นใครก็ได้ มาจากชาติใด หรือเผ่าพันธุ์ใดก็ได้ และเขาเชื่อว่าถึงแม้ศาสนาต่างๆ จะไม่สามารถรวมกันได้เพราะมีความเชื่อต่างกัน แต่ในความต่างนั้นมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขโดยการยอมรับและเคารพในความแตกต่าง

ซะการีย์ยากลายเป็นกวีเต็มตัวเมื่อเขาสนใจและหลงใหลในบทกวีต่างชาติ การศึกษาบทกวีเหล่านี้ทำให้เขาได้เรียนรู้วิธีคิดใหม่ๆ จากกวีต่างทวีปและได้เห็นการใช้คำอุปมาในบริบทสังคมต่างๆ และเมื่อศึกษามากขึ้น เขาจึงอยากเผยแพร่สิ่งที่ได้สัมผัสผ่านการแปลลงบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ตามแบบที่เขาถนัดให้กับผู้พิสมัยกวีในประเทศไทย

"บทกวีต่างประเทศกลายเป็นเพื่อนผม มันทำให้ผมรู้สึกใกล้ชิดกวีที่เขียน ซึ่งผมก็รู้สึกว่าเขากลายเป็นครูของผมที่ผมไม่เคยเจอ แม้ว่าบางท่านอาจเสียชีวิตไปแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้เศร้าอะไรเพราะบทกวีของเขายังอยู่ และบทกวีเหล่านี้เมื่อหยิบมาอ่านทีไรก็ยังมีชีวิตชีวาอยู่เสมอ" กวีซีไรต์ปีนี้กล่าว

ถึงแม้ความเป็นกวีเต็มขั้นจะทำให้เขาต้องมีวิถีชีวิตอย่างประหยัด แต่ซะการีย์ยากล่าวว่าเขายอมรับในความจริงข้อนี้ได้เพราะงานเขียนกับตัวตนของเขานั้นแยกกันไม่ออก เขาเล่าว่าสิ่งเดียวที่เขายอมซื้อแม้จะมีราคาสูงและถือว่าเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยที่สุดในชีวิตมีอย่างเดียวเท่านั้น คือ หนังสือ

"ผมมีความสุขเวลาได้เขียน และผมก็เรียกว่ามันเป็นอาชีพของผม ซึ่งการเขียนบางทีก็ไม่ได้เงิน แต่ผมต้องเขียนเพราะมันเป็นการเสพติด เป็นความสุข ซึ่งถ้าคนไหนอยากเป็นกวีแต่ยังไม่แข็งแกร่งพอที่จะใช้ชีวิตแบบมัธยัสถ์ ผมว่าคงจะต้องหางานประจำ" ซะการีย์ยาแนะเมื่อถูกถามว่าการเขียนบทกวีจะยึดถือเป็นอาชีพจริงๆ ได้หรือไม่หากเยาวชนรุ่นใหม่สนใจ

ขณะเดียวกันการได้รับรางวัลซีไรต์ในปีนี้ ซะการีย์ยาเชื่อว่าจะทำให้เสียงของกวีไทยดังขึ้นในสังคมและหวังว่าจะทำให้คนไทยหันมาสนใจบทกวีเล่มอื่นๆ มากขึ้นเช่นกัน

ทุกวันนี้เขายอมรับว่าไม่ได้กลับบ้านเกิดบ่อยนักจนรู้สึกว่าเป็นคนแปลกหน้าของถิ่นกำเนิดตัวเองไปแล้ว ในก้าวต่อไปซะการีย์ยาจึงมีความคิดอยากเขียนนิยายเล่าเรื่องในวัยเด็กของตนเอง ความคิดถึงในบ้านเกิด และความสวยงามต่างๆ ในความทรงจำ แต่เขายังหาถ้อยคำที่ถูกใจไม่ได้เพราะใช้เวลาในการเลือกสรรคำมากเกินไป

"ไม่มีหญิงสาวในบทกวี" เป็นหนังสือที่ตีพิมพ์เล่มแรกของชายผู้นี้ เป็นผลงานกวีที่เขารวบรวมขึ้นจากการเขียนเมื่อสิบปีที่ผ่านมา

"ผมตัดสินใจรวมเล่มทั้งๆ ที่เมื่อก่อนไม่เคยคิด เพราะคิดที่จะเผยแพร่บทกวีทางเว็บไซต์อย่างเดียว แต่จู่ๆ วันหนึ่งเกิดคิดขึ้นมาว่าถ้าปล่อยเวลาให้ผ่านไป เราอาจตกขอบประวัติศาสตร์ เนื้อหาในกวีของเราก็อาจล้าสมัยจนเลยจุดที่เราอยากจะตีพิมพ์"

รางวัลซีไรต์เป็นรางวัลวรรณกรรมที่มอบให้แก่นักเขียน 10 ประเทศที่เป็นสมาชิกสมาคมอาเซียน ได้แก่ ไทย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม

ซะการีย์ยา อมตยาจะเข้ารับพระราชทานรางวัลอันทรงเกียรตินี้พร้อมกับผู้ชนะรางวัลจากประเทศสมาชิกอื่นในวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ


ทิพากร ศุภลักษณ์ รายงาน

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook