ปฏิรูปประเทศไทย ปฏิรูปอาหารปลอดภัย
หลังพบสารเคมีปนเปื้อนอื้อ
ประเทศไทย ถือเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารเพื่อการบริโภคและผลิตเพื่อการส่งออกที่มีชื่อเสียง ซึ่งนั่นนับเป็นการสร้างรายได้หลักให้กับประเทศได้อีกทาง แต่เมื่อมองย้อนกลับมาภายในประเทศกลับพบปัญหามากมายเกี่ยวกับอาหารอย่างที่เป็นข่าว ไม่ว่าจะเป็นการพบสารบอแรกในลูกชิ้น สารฟอกขาวในถั่วงอก เส้นก๋วยเตี๋ยว หรือพบยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ แม้กระทั่งนมในโรงเรียนก็ยังคงพบว่า "บูด" ได้ ทั้งที่อยู่ในความรับผิดชอบของรัฐบาลก็ตาม
ปัญหาความไม่ปลอดภัยในอาหารของบ้านเรา สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคแทบจะไม่รู้เลยว่า อาหารมาจากไหน ใครเป็นผู้ผลิต กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร และหากผู้บริโภคต้องการตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารด้วยตนเองคงไม่ต้องพูดถึง เพราะเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเป็นเรื่องของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรือแม้การเข้าถึงผลการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างอาหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ทำได้ลำบาก ทำให้ทุกครั้งที่บริโภคอาหารผู้บริโภคทุกคนอาจตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัยทางสุขภาพ ท่ามกลางแนวโน้มความเสี่ยงที่จะได้รับอาหารที่ไม่ปลอดภัยก็ยิ่งสูงขึ้น เนื่องจากการค้าที่เปิดกว้างทำให้มีการนำเข้าอาหารจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น แต่ระบบป้องกันกลับยังไม่สามารถทำงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ได้
รศ.ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ หัวหน้าฝ่ายพิษวิทยาทางอาหารและโภชนาการ สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงสถานการณ์เรื่องอาหารของไทย ว่า ขณะนี้มีอยู่ 2 ด้าน คือ สารพิษที่เจือปนอยู่ในอาหาร และคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ปัญหาสารพิษที่เจือปนในอาหารพบบ่อยมาก แต่สามารถแก้ไขได้ เพราะทราบดีว่าอาหารบางอย่างก็อาจเกิดผลเสียได้ เช่น อาหารปิ้ง ย่าง ทอด ดังนั้น ควรปรับการรับประทานให้สมดุล เช่น การทานข้าวที่มีสีกับเนื้อสัตว์ หรือผักผลไม้อย่างเหมาะสม หลักการง่ายที่สุดคือ ใน 1 มื้อต้องหลากหลาย และหลากสี อาหารที่สมดุลกันก็จะทำหน้าที่ล้างพิษในตัวเอง สำหรับเรื่องคุณค่าทางโภชนาการที่ไม่เหมาะสม ปัจจุบันคนไทยประสบปัญหาโภชนาการเกินมากกว่า ดูได้จากจำนวนประชากรที่น้ำหนักเกินมาตรฐานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
"มีงานวิจัยพบว่า คนอ้วนจะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งได้มากกว่าคนน้ำหนักปกติ และยังพบว่า การขาดสารอาหารบางชนิดก็ทำให้เกิดโรคได้ เช่น การขาดใยอาหาร ทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ส่วนการขาดวิตามิน และเกลือแร่บางชนิด ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง เพราะทำให้เซลล์ในร่างกายทำงานไม่สมบูรณ์ แบ่งตัวได้ไม่ดี ความสมดุลและเหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ การให้ความรู้เรื่องโภชนาการอาหารเป็นสิ่งสำคัญ ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันป้องกันตัวเองได้" รศ.ดร.แก้ว กล่าว
ด้วยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ส่งผลให้เกิดการรวมกันระหว่างเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคใน 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ พะเยา สงขลา และสตูล มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์และเครือข่ายห้องปฏิบัติการทางอาหารในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนา"โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภค" ระวังความปลอดภัยทางด้านอาหารที่มีประสิทธิภาพโดยผู้บริโภค ตลอดจนคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจากความไม่ปลอดภัยของอาหารและสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังความปลอดภัยทางด้านอาหารที่เข้มแข็ง
ตลอดระยะเวลา 1 ปี ตั้งแต่ มิ.ย. 52 - พ.ค.53 ที่ดำเนินงานตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารร่วมกันทั่วประเทศ ตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์รวมกว่า 750 รายการ พบว่าอย่างน้อย 1 ใน 3 ของอาหารที่สุ่มตัวอย่าง มีการปนเปื้อนเกินมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นด้านจุลินทรีย์ เช่น สารกันบูดในลูกชิ้น และเนื้อสัตว์ ยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ โลหะหนักในของจำพวกกุ้งแห้ง เห็ดหอมแห้ง สาหร่าย ความผิดปกติของโปรตีนในนมโรงเรียน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอาหารนำเข้าในประเทศไทย พบว่า จากผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพอาหารนำเข้าที่ด่านอาหารและยาในภาคเหนือปีล่าสุด พบอาหารที่มีสารปนเปื้อนคือ 1.ผัก ผลไม้ มียาฆ่าแมลงเกินมาตรฐาน 10.81% พบมากใน ผักกาดฮ่องเต้ สลัดแก้ว เซอร์รารี่ กวางตุ้ง ถั่วลันเตา องุ่น ทับทิม สาลี่ ลูกพลับ 2.อาหารแห้ง พบสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์เกินมาตรฐาน 83.9% โลหะหนักเกินมาตรฐานเช่น ตะกั่ว ปรอท สารหนู 37.5% พบมากใน สาหร่าย เยื่อไผ่ เห็ดหอมแห้ง 3.อาหารทะเลพบสารหนูเกินมาตรฐาน 4.1% สารฟอร์มาลินเกินมาตรฐาน 33.3% และพบโลหะหนักปนเปื้อนซึ่งเกิดจากธรรมชาติมากขึ้น 4.ขนมพร้อมบริโภค พบสีสังเคราะห์เกินมาตรฐาน 20% พบมากใน ลูกอม เยลลี่ อาหารกระป๋อง และ 5.ผลิตภัณฑ์นม พบเมลามีนเกินมาตรฐาน 3.3%
จากการสำรวจของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีแนวโน้มการเจ็บป่วยจากสารพิษในอาหารเพิ่มมากขึ้น ทั้งเจ็บป่วยแบบเฉียบพลันและเป็นโรคเรื้อรัง เช่น สารปรอทในอาหารทะเล เมื่อสะสมมากทำให้ป่วยโรคสมองฝ่อ พิการ ส่งผลต่อระบบประสาทกล้ามเนื้อ สารหนู ทำให้เกิดอาการเฉียบพลัน อาเจียน ท้องเสียจนถึงขั้นหัวใจล้มเหลวได้ ยาฆ่าแมลง จะทำลายประสาทส่วนกลาง เสี่ยงต่อมะเร็ง และโรคพาร์กินสัน สารหนู ก่อให้เกิดมะเร็งผิวหนัง หัวใจล้มเหลวได้
หากยังคงปล่อยไว้เช่นนี้ สุขภาพของคนไทยทุกคนต้องตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์ความเสี่ยง
เครือข่ายโครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารของผู้บริโภคจึงได้มีข้อเสนอที่จะปฏิรูปนโยบายด้านอาหารปลอดภัยว่า 1.ให้มีองค์การเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ ทำหน้าที่กำหนดมาตราต่างๆ ตรวจสอบและรายงานการกระทำเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค 2.ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับอาหาร ให้ผู้บริโภคมีสิทธิในการตรวจสอบมาตรการต่างๆก่อนที่จะออกมาใช้ 3.สนับสนุนองค์กรผู้บริโภคให้มีบทบาทรับเรื่องร้องเรียนด้านอาหาร 4.สนับสนุนให้ผู้บริโภคร่วมมือกับเกษตรกรในการผลิตอาหารที่ปลอดภัย 5.พัฒนาความร่วมมือและความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ 6.บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ 7.พัฒนาระบบข้อมูลข่าวสารให้เกิดการตื่นตัวและป้องกัน 8.ให้อาหารทุกชนิดมีฉลากและควบคุมโฆษณา
ข้อเสนอแนะนี้จะเป็นไปได้ยาก หากทุกคนไม่จะลุกขึ้นมาปกป้องชีวิตของตัวเองให้ปลอดภัยจากอันตรายแฝงจากอาหารที่เราต้องบริโภคในชีวิตประจำวัน... อนาคตคุณอาจจะต้องสูญเสียเงินจำนวนมหาศาลเพื่อใช้ในการรักษาตัวก็เป็นได้ นี่อาจถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่เราจะร่วมมือกันจัดการอาหารในประเทศเราให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน เพื่อร่วมกันสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น....
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่