ฟันผุเกิดจากปัญหาใด?

ฟันผุเกิดจากปัญหาใด?

ฟันผุเกิดจากปัญหาใด?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นความเชื่อมาโดยตลอดที่ว่าเกิดจากการกินของหวาน แปรงฟันไม่ถูกวิธี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดฟันผุอย่างแน่นอน ตามที่ได้ร่ำเรียนกันมา รศ.ทพญ.ชุติมาได้ขยายให้ฟังอีกว่า ยังพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุในเด็กเล็ก เกิดจากการดูดนมแม่ นมขวด ที่ดูดคาปากเวลานอน ถึงแม้จะเป็นนมจืด แต่ในนมจืดมีน้ำตาลแล็กโตส ขณะที่ในช่องปากมีแบคทีเรียที่สามารถเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นกรดและเกิดฟันผุได้ แล้วยังพบอีกว่าผู้ปกครองจำนวนมากไม่ทราบว่าควรจะแปรงฟันลูกเมื่อไหร่ บางรายก็แปรงเมื่อลูกเริ่มโตเดินได้ แต่ความจริงแล้ว ผู้ปกครองควรแปรงฟันลูกตั้งแต่ซี่แรก ซึ่งวิธีการแปรงฟันอย่างถูกวิธีทำได้ไม่ยาก

 · แปรงฟันตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 500 ppm ใช้ยาสีฟันเพียงเล็กน้อย ปริมาณขนาดแตะปลายขนแปรงพอชื้น

 · เลือกแปรงสีฟันที่มีลักษณะขนแปรงนุ่ม หน้าตัดเรียบ หัวเล็กที่สามารถครอบคลุมฟันประมาณ 3 ซี่ และมีด้ามจับที่ใหญ่

 · แปรงฟันให้แก่เด็กวันละ 2 คร้ง โดยอาจแปรงฟันในช่วงก่อนหรือหลังอาบน้ำให้แก่เด็กเพื่อฝึกให้เป็นกิจวัตร

 · การแปรงฟันควรให้เด็กอยู่ในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอนหรืออาจให้เด็กนอนบนตัก โดยที่สามารถแปรงฟันได้ครอบคลุมทุกซี่ จากนั้นต้องไม่ลืมเช็ดฟองที่เกิดขึ้นออก เพื่อให้ง่ายควรใช้มืออีกข้างที่ไม่ได้จับแปรงสีฟัน ช่วยประคองคางเด็ก ใช้นิ้วช่วยดันแก้ม และริมฝีปากออก เพื่อให้เห็นบริเวณที่จะแปรง วิธีนี้ยังช่วยป้องกันไม่ให้แปรงสีฟัน กระแทกถูกริมฝีปาก หรือกระพุ้งแก้มของเด็ก

· ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งจะเป็นช่วงอายุที่เด็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อนิ้วมือได้ดีแล้ว หรืออาจสังเกตจากที่เด็กผูกเชือกรองเท้าได้ด้วยตัวเอง

"โดยทั่วไปน้ำตาลแล็กโตสในนมไม่ได้มีผลทำให้ฟันผุโดยตรง แต่แบคทีเรียในช่องปากมีความสามารถพิเศษที่จะปรับตัว และสามารถทำให้แล็กโตสเกิดกรดได้ ดังนั้น การดูแลรักษาฟันอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี อย่างยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์จากการศึกษาในระยะสั้นจะช่วยป้องกันฟันผุได้ประมาณร้อยละ 30 แต่มีนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าหากศึกษาในระยะยาวจะพบว่าฟลูออไรด์จะช่วยลดการเกิดฟันผุให้ได้ประมาณร้อยละ 50-60 ส่วนยาสีฟันของเด็กที่มีรสหวานนั้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะเป็นตัวการทำให้ฟันผุ เพราะในยาสีฟันของเด็กจะใช้น้ำตาลเทียม" รศ.ทพญ.ชุติมา กล่าว

แต่หากเกิดฟันผุไปแล้วจะทำอย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเกิดฟันผุในเด็กเล็ก ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล อดีตประธานชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแห่งประเทศไทย เล่าว่า ฟันผุที่ไม่ได้รักษาจะเกิดอาการบวมและติดเชื้อในช่องปากได้ เด็กบางคนพบฟันผุมากบวมไปถึงใต้ตาจนเกือบตาปิดก็มี การรักษาฟันผุจำนวนมากต้องใช้เวลาการรักษามากกว่า 10 ครั้ง

กรณีติดเชื้อเฉียบพลัน 1.ควบคุมติดเชื้อไม่ให้ลุกลาม ให้การรักษาในโรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด (IV) 2.กำจัดสาเหตุของโรค โดยร่วมกับการดมยาสลบ ถอนฟันและผ่าระบายหนองออก จากนั้นจึงรักษาฟันผุซี่อื่นๆ ในช่องปาก

 "เมื่อฟันผุเจ็บปวดเป็นหนอง จึงจำเป็นต้องได้รับการทำฟันโดยการดมยาสลบ ซึ่งแม้จะเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กเล็กได้รับการรักษาที่มีคุณภาพสูง แต่ทั้งทีมแพทย์และผู้ปกครองทราบดีว่าต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันในการรักษานั้น การดมยาสลบในเด็กต้องทำอย่างรอบคอบ โดยเวลาที่ใช้ในการดมยาสลบ คือ 3-6 ชั่วโมง และฉีดยาให้เด็กหลับก่อนที่จะดมยา เพื่อไม่ให้เด็กฝังใจกลัวหมอฟัน เราจะใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูกเพื่อช่วยให้มีพื้นที่ในช่องปากมากขึ้น และต้องมีการถ่ายเอกซเรย์ในช่องปากและวางแผนรักษา นอกจากนี้ไม่ควรดมยาสลบในเด็กที่มีอาการไข้หวัด ควรจะให้หายจากอาการหวัดประมาณ 2 สัปดาห์ถึงทำการรักษาได้" ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล กล่าว

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Teamcontent www.thaihealth.or.th

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook