เจ็ตแล็กได้ไงในเมื่อไม่ได้นั่งเครื่องบิน?
หลายคนที่ต้องโดยสารเครื่องบินไปทำธุระ ท่องเที่ยวหรือพบญาติที่ต่างประเทศคงคุ้นเคยกับคำหรืออาการที่เรียกกันว่า "เจ็ตแล็ก" (Jetlag) กันบ้างนะคะ หรือถ้าจะอธิบายยสักหน่อยก็คงจะเป็นอาการของคนที่ต้องนั่งเครื่องบินข้ามเขตเวลาหรือ ไทม์โซนนั่นเอง
โดยอาการที่พบก็จะมีตั้งแต่ ปวดหัว เหนื่อยล้า หมดแรง เซื่องซึม อารมณ์ฉุนเฉียวผิดปกติ หงุดหงิดง่าย ตัดสินใจอะไรไม่ค่อยได้ สมาธิกระเจิง ไปจนถึงเบื่ออาหาร คือเรียกได้ว่าอาการแปลกๆทั้งหลายจะปรากฏออกมาตอนนี้แหละค่ะ ส่วนจะมากหรือน้อยก็แล้วแต่ปัจจัยเสริมอื่นๆ ทางด้านร่างกายและจิตใจ
แล้วทีนี้มันดันมีผลวิจัยชิ้นหนึ่งออกมาบอกค่ะว่าอาการเจ็ตแล็กนั้นก็สามารถเกิดกับคนที่ไม่ได้นั่งเครื่องบินผ่านไทม์โซนก็ได้เหมือนกัน มิหนำซ้ำยังไม่ต้องเสียเงินค่าตั๋วเครื่องบินก็เกิดได้ และจะพบมากในวัยรุ่นไปจนถึงวัยทำงานเสียด้วย
เป็นความเชื่อที่ผิดค่ะถ้าคุณคิดว่าการนอนดึกและตื่นเช้าในแต่ละวันนั้นจะสามารถชดเชยได้ด้วยการนอนหลับแบบลืมโลกในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณคิดจะออกไปยืดเส้นเบาๆในคืนวันศุกร์
จากการศึกษาถึงผลกระทบของรูปแบบการนอนของวัยรุ่นในลักษณะที่ว่านี้ ในกลุ่มนักเรียนมัธยมที่มีอายุระหว่าง 15-16 ปี ผลเบื้องต้นจากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการอยู่ดึกในคืนวันศุกร์หรือเสาร์ แล้วนอนยาวทดแทนในช่วงกลางวันของวันอาทิตย์จะส่งผลให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายต้องเริ่มตั้งเวลาให้ตัวเองใหม่ตามเวลาตื่นที่สายไปกว่าปกติ และส่งผลให้มีอาการสะลึมสะลือ หรือเบลอๆ เมื่อตื่นขึ้นมาในเช้าวันจันทร์
ทั้งนี้นักวิจัยได้ให้คำแนะนำโดยเฉพาะกับเด็กๆวัยรุ่นว่าควรคงเวลาตื่นในตอนเช้าวันเสาร์และอาทิตย์ไว้ให้เท่าๆกับการตื่นนอนในวันธรรมดาจะดีที่สุด เพราะอาการเจ็ตแล็กจากการนอนชดเชยเช่นนี้อาจมีผลกระทบต่อผลการเรียนได้ด้วย และจากผลการวิจัยนี้เอง นักวิจัยได้ให้คำแนะนำว่า วัยรุ่นควรนอนให้เพียงพอเป็นปกติในทุกๆคืนและตื่นนอนเป็นเวลาประจำทุกวันโดยคำแนะนำนี้ก็ไม่สงวนสำหรับวัยทำงานหรือคนที่คิดว่าตัวเองนอนเท่าไหร่ก็ไม่พอสักทีค่ะ หวังว่าเมื่ออ่านบทความจบคราวนี้เพื่อนรวมทั้งตัวเซียเองคงได้คำตอบนะคะ ว่าทำไม
แหล่งที่มา: http://www.reuters.com
by anacia