รองเท้า นันยาง ฮิตมาตั้งแต่รุ่นพ่อ
แฟชั่นมันจะมาแล้วก็ไป วนเวียนไปเรื่อยๆ แบบนี้ แต่รองเท้าที่ยอดฮิต หรือโครตฮิต ต้องยกให้นันยาง เพราะฮิตมาตั้งแต่รุ่นพ่อ วันนี้เข้าอินเทอร์เน็ตก็นึกอยากรู้ประวัติของรองเท้านันยางขึ้นมา ว่าแล้วก็ไม่ลืมหาข้อมูลดีๆมาให้เพื่อนๆ สนุก! แคมปัส ได้อ่านกัน
การเดินทางของช้างตัวหนึ่งที่ชื่อ "นันยาง"
2450 - 2462 เสื่อผืนหมอนใบ
สมัยตอนต้นรัชกาลที่ 6 หนุ่มน้อยจากมณฑลฮกเกี้ยน ชื่อซู ถิง ฟาง หรือ วิชัย ซอโสตถิกุล เดินทางเข้ามา ยังแผ่นดินไทยครั้งแรกพร้อมบิดา เมื่ออายุ 15 ปีโดยอาชีพแรกของเขาเมื่อถึงแผ่นดินไทย คือขายเหล็กในโรงงานของผู้เป็นน้องของบิดา
2463 - 2477 ก่อร่างสร้างตัว
หลังผ่านการทดสอบในระดับหนึ่ง เขาก็สั่งสมประสบการณ์ในหน้าที่การงาน จนถึงระดับได้ทำหน้าที่ หลงจู๊ ในโรงไม้จินเส็ง ซึ่งมีสำนักงานอยู่ใกล้วัดตะเคียน (วัดมหาพฤฒารามในปัจจุบัน) ในพระนคร
วิชัยพบรักกับสาวไทยเชื้อสายจีนที่เป็นคนอยุธยา บุญสม บุญยนิตย์ หลังจากแต่งงานเป็น ครอบครัวที่สมบูรณ์ อาชีพในโรงไม้ก็ยังมั่นคง เขาได้บุตร-ธิดาเป็นทายาทสืบทอดตระกูล ซอโสตถิกุล รวมทั้งสิ้น 9 คน ด้วยสภาพการต่อสู้อันยากลำบากจากจุดเริ่มต้นยังดำเนินต่อไป กว่าจะตั้งหลักทางธุรกิจได้ก็ ต้องวนเวียนอยู่กับการเป็นลูกจ้างอยู่ในระยะนี้
2478 - 2490 บริษัท ฮั่วเซ่งจั่น จำกัด
ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 วิชัยตัดสินใจลาออกจากการเป็นหลงจู๊ในโรงไม้แห่งเดิม เพื่อก่อตั้งบริษัท ฮั่วเซ่งจั่น จำกัด โดยเช่าอาคารสำนักงาน 2 ชั้น บริเวณหัวโค้งเชิงสะพานพุทธฯ (บริเวณถนนตรีเพชร แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนครในปัจจุบัน) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะผันตัวเองขึ้นมาเป็น "เถ้าแก่" บุกเบิกธุรกิจของตัวเอง โดยธุรกิจของเขาเริ่มต้นในช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลก ไม่ได้ซับซ้อนมากไปกว่าการซื้อมา-ขายไป
2491 - 2495 บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด, รองเท้าผ้าใบยี่ห้อ "หนำเอี๊ย"
เมื่อควันของสงครามยุติลง สถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ วิชัย ซอโสตถิกุล และครอบครัว ย้ายกลับมาเข้าในกรุงเทพฯ หลังหลบภัยสงคราม และตั้ง บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2491 โดยยย้ายสำนักงานไปอยู่บริเวณย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ (บริเวณตรงข้ามซอยสำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ในปัจจุบัน) ช่วงนี้เองที่ธุรกิจของวิชัย ซอโสตถิกุล เริ่มมั่นคงและขยายตัวรุดหน้าไปเรื่อยๆ มีการติดต่อกับต่างประเทศ นำเข้า-ส่งออกสินค้าหลากหลายชนิด รวมถึงรองเท้าจากประเทศสิงค์โปร์ ยี่ห้อหนำเอี๊ย (แปลว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้)
ณ จุดนี้เองเป็นจุดสำคัญที่มีการติดต่อร่วมทำธุรกิจระหว่าง นายโซว คุน ชู (Mr. Soh Koon Choo) ประธานบริษัทนันยางสิงคโปร์ และวิชัย ซอโสตถิกุลซึ่งตัวแทนนำเข้ารองเท้ายี่ห้อ หนำเอี๊ย เข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งในขณะนั้น มีจำหน่ายเฉพาะรองเท้าผ้าใบรุ่น 500 สีน้ำตาล พื้นยางสีน้ำตาล บรรจุถุงกระดาษสีน้ำตาล ในราคาคู่ละ 12 บาท
การขายรองเท้าผ้าใบหนำเอี๊ยใน 2 ปีแรกยังขาดทุน เนื่องจากประสบกับภาวะต้นทุนที่สูงมาก แต่ภายหลังเมื่อตลาดเริ่มตอบรับดีขึ้นในตลาดสำเพ็ง และลูกค้าทางภาคเหนือ เนื่องจากคุณภาพที่ดี จนมีคนกล่าวติดตลกว่า "ใส่เดินข้ามภูเขาไปกลับได้สบายๆ ส่วนยี่ห้ออื่น ขาไปใส่หนึ่งคู่พังพอดี ต้องเตรียมไปอีกหนึ่งคู่เพื่อใส่กลับ"
เมื่อรองเท้าผ้าใบรุ่น 500 เป็นที่นิยมอย่างมากในเวลาต่อมา ทำให้บริษัทฯ ลดการนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆ และเน้นการขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว ขณะนั้นเองเป็นได้เปลี่ยนจากชื่อยี่ห้อจาก หนำเอี๊ย ซึ่งเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว เป็นภาษาจีนกลางที่ออกเสียงว่า หนันหยาง แต่เพื่อให้เรียกสินค้าได้ง่าย และดูเป็นคำไทยขึ้น จึงใช้ชื่อว่า "นันยาง ตราช้างดาว" และได้จดทะเบียนการค้าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492
2496 - 2510 ก้าวย่างที่ยิ่งใหญ่ของรองเท้านันยาง
จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น มีนโยบายเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ โดยเกี่ยวเนื่องกับการเสียดุลการค้า บริษัทฯ จึงมีแนวคิดจะผลิตสินค้าเอง โดยใช้วัตถุดิบและแรงงานในประเทศ
ในที่สุดนายห้างวิชัยได้ตัดสินใจร่วมทุนกับคุณชู (Mr. Soh Koon Choo) และกลุ่มนักธุรกิจชาวสิงคโปร์ ก่อตั้ง บริษัท ผลิตยางนันยาง(ไทย) จำกัด บนเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ เรียบถนนเพชรเกษม แขวงบางหว้า เขตภาษีเจริญ (ในปัจจุบัน) เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2496 เพื่อเป็นฐานการผลิตรองเท้านันยางในประเทศไทย และเพิ่มประโยคที่ว่า "Made in Thailand" ในเครื่องหมายการค้า "นันยาง ตราช้างดาว" เดิม และขอซื้อกรรมวิธีการผลิตจากสิงคโปร์ โดยในช่วงแรกเมื่อช่างไทยยังไม่มีความชำนาญ ได้มีช่างจากสิงค์โปร์มาประจำ 30 คน ซึ่งเดินทางโดยเรือมาจากสิงคโปร์ไปมาเลเซีย และนั่งรถต่อมาถึงกรุงเทพฯ และผลิตรองเท้าได้ประมาณวันละ 70 คู่เท่านั้นเอง
ขณะที่นายห้างวิชัยดูแลภาพรวมของบริษัท คุณนายบุญสม ซอโสตถิกุล ภรรยาคู่ใจ หลังจากที่ลูกสาวคนสุดท้องอายุ 2 ขวบ ได้อาสาดูแลการผลิต และควบคุมคุณภาพสินค้าด้วยตัวเองทุกวัน บ่อยครั้งจะลงมือคัดเลือกรองเท้าที่ไม่ได้มาตรฐานด้วยตนเอง ก่อนที่สินค้าจะส่งออกสู่ตลาด
2511 - 2521 เติบโตอย่างมั่นคง
รองเท้าผ้าใบนันยางได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน โดยรองเท้าผ้าใบรุ่น 500 ยังคงเป็นที่นิยมของวัยรุ่น และคนทำงานสมัยนั้น นอกจากนี้ยังมีการเริ่มต้นผลิตรองเท้าแตะฟองน้ำ รุ่น200 ด้วยการพัฒนาส่วนผสมและกระบวนการผลิตอย่างลงตัว ทำให้รองเท้าแตะฟองน้ำ รุ่น 200 ของนันยาง ตราช้างดาวขณะนั้นได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม ซึ่งในช่วงแรกมีสองสีคือ สีน้ำตาลและสีน้ำเงิน บรรจุในถุงพลาสติกใส จำหน่ายในราคาคู่ละ 15 บาท
รองเท้าพื้นสีเขียว
ราวพุทธศักราช 2512 เพียรศักดิ์ ซอโสตถิกุล บุตรชายคนโตของวิชัย ซอโสตถิกุล กลับมาจากประเทศอังกฤษพร้อมกับความรักกีฬา โดยเฉพาะแบดมินตัน จึงต้องการออกแบบและผลิตรองเท้านันยางรุ่นใหม่ ให้เหมาะกับการเล่นแบดมินตัน จึงได้ผลิตรองเท้าผ้าใบรุ่นใหม่ รุ่น 205 S ซึ่งพัฒนามาจากรุ่น 205 แต่มี พื้นสีเขียว ซึ่งนับเป็นสีที่แปลกมากในขณะนั้น ด้วยเป็นผู้คร่ำหวอดในวงการแบดมินตันไทย ซึ่งภายหลังได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมแบดมินตันแห่งประเทศไทย ทำให้รองเท้านันยางรุ่น 205S ที่เพียรศักดิ์ออกแบบ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่นักแบดฯโดยไม่ได้คาดว่า รองเท้าพื้นเขียวนี้จะไปอยู่ในใจของหมู่นักเรียนไทยในไม่กี่ปีต่อมา
ด้วยความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรอปกับการขยายตลาดของสินค้านันยาง ส่งผลให้บริษัทฯ ตัดสินใจลงทุนขยายและพัฒนาฐานการผลิตไปยังศูนย์การผลิตแห่งใหม่ที่ทันสมัย ห่างจากโรงงานเดิมประมาณ 3 กิโลเมตร (บริเวณเขตบางแคในปัจจุบัน) และก่อตั้งบริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัดขึ้น เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2512
2522 - 2540 ปรากฏการณ์พื้นเขียว
ด้วยการเติบโตทางธุรกิจ บริษัท วัฒนสินพาณิชย์ จำกัด จึงเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัดในพ.ศ. 2522 และ ย้ายสำนักงานขายจากแยกตลาดน้อย มาบริเวณถนนสี่พระยา เขตบางรัก เมื่อปีพ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของบริษัทฯในปัจจุบัน
ในช่วงแรก "นันยาง พื้นเขียว" จึงเป็นที่นิยมเฉพาะในหมู่คนเล่นแบดมินตัน จนกระทั่งขยายตัวไปยังกลุ่มนักเรียนประถมและมัธยม ทำให้นักเรียนในยุคนั้นรู้จักรองเท้านักเรียนนันยาง และใส่กันตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา รองเท้าผ้าใบพื้นเขียวได้รับความนิยมอย่างมาก จนได้รับรางวัล "ผู้ผลิตสินค้าไทยดีเด่น" จากรัฐบาล เมื่อพ.ศ. 2527
รองเท้านันยางพื้นเขียว รุ่น 205-S เป็นที่นิยมอย่างเป็นปรากฏการณ์ของวงการรองเท้าไทย ที่ให้ความนิยมและยอดซื้อได้อย่างต่อเนื่องในกลุ่มนักเรียน โดยเฉพาะนักเรียนชายที่ใส่ทั้งไปโรงเรียน เล่นกีฬา หรือไปเที่ยว โดยมีการปรับดีไซน์เล็กน้อยเพื่อให้เข้ากับวัยรุ่นในแต่ละยุค แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ คือ การเป็นผ้าใบพื้นเขียวมาอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มโลโก้ "Nanyang" บนตัวรองเท้าเพื่อตอกย้ำให้ผู้บริโภคทราบว่าใส่รองเท้านันยางของจริงเท่านั้นในช่วงต้น พ.ศ. 2537
นันยางยังไม่ลืมว่าการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญต่อทรัพยากรบุคคลของประเทศ จึงมีการมอบทุนการศึกษา "บุญสม ซอโสตถิกุล" ให้กับนักเรียนทุกปี ตั้งแต่พ.ศ. 2533 เป็นต้นมา
2541- ปัจจุบัน
เมื่อก้าวมาสู่ยุคแห่งโลกาภิวัฒน์และการสื่อสาร การแข่งขันทางการตลาดเข้มข้นยิ่งขึ้น กลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค นันยางได้เริ่มทำภาพยนตร์โฆษณาทางโทรทัศน์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2531 รวมทั้งโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทางสื่อสิ่งพิมพ์เพิ่มมากขึ้น มีการแลกซื้อของเล่นแปลกๆ ซึ่งเป็นของเล่นที่ไม่มีขายในประเทศไทยในสมัยนั้น และเมื่อระบบอินเตอร์เน็ตกำลังจะมีบทบาทสำคัญในไม่ช้า
นันยางได้เปิดเวปไซต์ www.nanyang.co.th เพื่อเป็นช่องทางสื่อสารใหม่กับลูกค้าและส่วนงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ในต้นพ.ศ. 2541
พ.ศ. 2542 ปรับปรุงระบบกระจายสินค้า โดยพัฒนาโรงงานแห่งแรกที่ได้ย้ายฐานการผลิตไปแล้ว บริเวณแขวงบางหว้า มาเป็นการศูนย์กระจายสินค้าแห่งใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบคลังสินค้า ขนส่งและการกระจายสินค้าให้ทันสมัย รองรับกับความต้องการของตัวแทนจำหน่ายที่เพิ่มมาขึ้น และกระจายอยู่ทั่วประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้นันยางยังได้กระจายสินค้าผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดและห้างสรรพสินค้ามากขึ้น เริ่มตั้งแต่ เทสโก้ โลตัสใน พ.ศ. 2545 รวมไปถึง เซ็นทรัล โรบินสัน เดอะมอล บิ๊กซี และคาร์ฟูร์ต่อมาภายหลัง
การสื่อสารไปยังกลุ่มผู้ใช้รองเท้านันยางเป็นไปอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง ภาพยนตร์โฆษณา และสื่อต่างๆ ของนันยางหลายเรื่องในยุคนี้เป็นเรื่องราวต่างๆที่เกินขึ้นในโรงเรียน ยังเป็นที่กล่าวขานและประทับใจของคนไทย เช่น เก๋ามาตั้งแต่รุ่นพ่อ, เหยียบส้น เป็นต้น
ในขณะที่โฆษณารองเท้าแตะฟองน้ำนันยาง ชุดบลูด๊อก เป็นตัวแทนจากประเทศไทย ได้รับรางวัลชนะเลิศ Cresta Award (www.cresta-awards.com) ประเภท Print Advertising และ Outdoor & Ambience Advertising ในปีพ.ศ. 2550 โดยสมาคมโฆษณานานาชาติ (International Advertising Association) ร่วมกับ Creative Standards International
สื่อมวลชนหลายสำนักได้ยกให้นันยางเป็นสินค้าคุณภาพที่อยู่คู่กับคนไทยมาอย่างยาวนั้น อาทิ นิตยสาร OOM ได้มอบรางวัล Another Design Award 2007 ประเภท Classic Product
"วัสดุธรรมดาๆ ที่ได้รับการออกแบบจนอยู่เหนือกาลเวลา เหมือนกับ Levi's หรือ Converse ที่ยิ่งใส่ยิ่งเก่า ยิ่งเก่ายิ่งเท่ เรียกว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงในตัวเองตลอดอายุการใช้ งาน คุณค่าทางอารมณ์นี้เอง ที่ไปตรงกับความต้องการของกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งอยากเป็นที่ยอมรับในหมู่เพื่อนฝูง นี่คือจุดเด่นที่ดีไซน์ไทยอย่าง นันยาง สร้างได้อย่างมั่นคงและแข็งแกร่ง"
ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ Thailand Creative & Design Center (TCDC) กล่าวถึงรองเท้านันยาง ในงานนิทรรศการรองเท้าไทยว่า
"รองเท้าผ้าใบนันยางรุ่นพื้นเขียวคลาสสิกให้เสียงเอี๊ยดอ๊าดยามเดิน เป็นที่นิยมหมู่นักเรียนชายไทยมานานกว่า 50 ปี โดยมักสวมใส่แบบเหยียบส้นให้ดูเก๋า"
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ 360 รายสัปดาห์ ตีพิมพ์บทความชื่อ "เปิดตำรารบ 3 เรือธงในสมรภูมิเลือด" ที่กล่าวถึงสินค้าอย่าง มาม่า ชาเขียวโออิชิ และรองเท้านักเรียนนันยาง ที่สามารถฝ่ากระแสอุปสรรคต่างๆ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้มีแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นในตลาดตลอดเวลา
"เอกลักษณ์การเป็น 'รองเท้าผ้าใบพื้นเขียว' ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักเรียนชาย จนกลายเป็นต้นแบบที่ทำให้ผู้ผลิตรองเท้ารายอื่น ต้องเพิ่มคุณสมบัติดังกล่าว เพื่อเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าด้วย จนมีผู้ลอกเลียนแบบสินค้านันยางเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผู้ผลิตรองเท้าออกสินค้าพื้นเขียวจำนวนมาก แต่ในฐานะที่นันยางเป็นแบรนด์แรกที่ทำการออกแบบรองเท้าผ้าใบรุ่นดังกล่าวและคุณภาพที่ดีกว่า ทำให้นันยางสามารถพูดได้เต็มปากว่าตนเองเป็น 'ต้นตำรับ' ผ้าใบพื้นเขียว ที่กลายเป็นจุดขายและจุดแข็งที่ไม่สามารถปฏิเสธได้"
พ.ศ. 2553 บริษัท มายด์แชร์ มีเดียเอเยนซี่ผู้นำด้านการตลาดและเครือข่ายสื่อ ได้ศึกษาวิจัยข้อมูลกลุ่มวัยรุ่น วัยระหว่าง 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ชี้นำเทรนด์ใหม่ ๆ เพื่อดูว่าคนกลุ่มนี้คิดว่าอะไรคือสิ่งที่ "เจ๋ง" หรือ "เท่" สำหรับพวกเขาบ้าง ภายใต้หัวข้อ "What"s Cool" โดย รองเท้านันยาง เป็นหนึ่งในสินค้าที่ "เจ๋ง" และ "เท่ห์" ของวัยรุ่น เช่นเดียวกับ X-BOX, Ray-Ban, Converse, Apple, You Tube, Mini, Nike, BMW, BlackBerry, สิงห์, แม่โขง, และเสื้อตราห่านคู่ ฯลฯ
การเดินทางที่ผ่านมาบนรองเท้านันยาง ด้วยตระหนักถึงคุณภาพของสินค้า การบริหารและดำเนินธุรกิจด้วยคุณธรรม จากเด็กชายชาวฮกเกี้ยนคนหนึ่ง ถึงพนักงานบริษัทและบริษัทในเครือกว่าหมื่นชีวิต ทำให้บริษัทและสินค้าของบริษัทเป็นที่ยอมรับมาอย่างยาวนานและต่อเนื่องกว่าครึ่งศตวรรษ และจะดำเนินต่อไปอย่างก้าวหน้าและมั่นคง
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : http://www.nanyang.co.th/