รร. เซ็ง รับตรงสร้างปัญหา ม.6 ทิ้งห้องเรียน

รร. เซ็ง รับตรงสร้างปัญหา ม.6 ทิ้งห้องเรียน

รร. เซ็ง รับตรงสร้างปัญหา ม.6 ทิ้งห้องเรียน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรื่องวุ่นๆเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย มีให้เห็นอยู่เป็นประจำ ล่าสุดปัญหาการรับตรงของบรรดามหาวิทยาลัยต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง  เมื่อผู้อำนวยการโรงเรียน ทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด(บางส่วน) ให้ความเห็นในลักษณะเดียวกันคือ เด็กไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนแต่จะเน้นกวดวิชาและวิ่งรอกสมัครสอบตรง ทำให้กระทบเวลาเรียน อีกทั้งยังสร้างภาระให้ผู้ปกครอง เพราะสอบตรงแต่ละคณะ/มหาวิทยาลัย ใช้เงินค่าสมัครสอบไม่น้อยเลยที่เดียว

นางเบญญาภา คงรอดผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดนายโรง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้นักเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย โดยเฉพาะม.5 และ ม.6 ไม่มีสมาธิกับการเรียนการสอนในห้องเรียน เพราะนิยมไปเรียนกวดวิชาเพื่อสอบในระบบรับตรงของคณะต่างๆ ที่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยนักเรียนบางคนไปสมัครสอบรับตรงมากถึง 16 คณะ ใน 10 มหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนต้องใช้เวลาเรียนในห้องเรียนไปสอบรับตรง ไม่สนใจเรียนในห้องเรียน เพราะมหาวิทยาลัยไปแย่งเด็กจากในห้องเรียน ในขณะที่ครูกำลังอบรมบ่มเพาะ ทั้งในเรื่องเนื้อหา สติปัญญาคุณธรรม จริยธรรม หน้าที่ จิตสำนึก มารยาทสุขภาพร่างกาย และอื่นๆ โดยนักเรียนจะไม่สนใจสิ่งที่ครูสอน ยิ่งนักเรียนที่มุ่งสอบในระบบรับตรงและไปเรียนกวดวิชา จะดูถูกครูที่สอนในห้องเรียน ทำให้ครูเสียใจ

นางเบญญาภากล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยในประเทศมีจำนวนมากที่ต้องการรับนักศึกษาในเชิงปริมาณ มีศูนย์นอกที่ตั้งอยู่ทั่วประเทศ เพราะต้องการกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาโดยไม่สนใจคุณภาพ จึงอยากถามว่าสถาบันอุดมศึกษารับนักศึกษาจำนวนมากๆ เพื่ออะไรเพื่อเงิน หรือเพื่ออะไร

น.ส.อัมราพร โพธิ์แดง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดสังข์กระจาย (แจ่มวิชาสอน) กล่าวว่า โรงเรียนเปิดสอนในระดับชั้นอนุบาลถึง ป.6 แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ คนขับรถของโรงเรียนซึ่งมีลูกจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีการศึกษา 2554 สงสารลูก อยากให้ลูกของตัวเองสอบเข้าได้คณะดีๆเพราะลูกเรียนเก่ง จึงไปกู้เงินนอกระบบ เพื่อให้ลูกนำเงินไปใช้ในการสมัครสอบตรงในมหาวิทยาลัยต่างๆ

นายสุทธิศักดิ์ เฟื่องเกษม ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ กรุงเทพฯ กล่าวว่า ที่นักเรียนชั้น ม.6 ไม่ยอมเข้าห้องเรียนนั้น เป็นปัญหาของโรงเรียนเทพศิรินทร์เช่นเดียวกันเพราะจะมีนักเรียนอยู่กลุ่ม หนึ่งที่เอาเวลาไปเรียนกวดวิชา และสมัครสอบรับตรงของมหาวิทยาลัยต่างๆ แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็สร้างปัญหาได้เพราะจะทำให้นักเรียนส่วนใหญ่ของโรงเรียนทำตามบ้าง เพราะเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่มาเรียน ก็จะไม่มาเรียนบ้าง ทางโรงเรียนต้องประสานไปยังผู้ปกครองเพื่อทำความเข้าใจว่าเด็กไม่มาเรียนไม่ ได้เพราะจะเรียนไม่จบ เนื่องจากเวลาเรียนอาจไม่พอตามที่กำหนดไว้ ว่าต้องมีเวลาเรียนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ทั้งนี้ ปัญหาดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้นในภาคเรียนที่ 2 ซึ่งจะเป็นเวลาที่มหาวิทยาลัยเปิดสมัครสอบรับตรง

นายสำรวย ชัยยศ ผู้อำนวยการโรงเรียนสตรีสิริเกศ จ.ศรีสะเกษ กล่าวว่า ยอมรับว่าการที่นักเรียนชั้น ม.6 ทิ้งห้องเรียนไปสมัครสอบรับตรงเข้ามหาวิทยาลัย สร้างปัญหาให้กับโรงเรียนเพราะหากไม่ยอมเข้าเรียนจะทำให้เวลาเรียนไม่พอ และอาจเรียนไม่จบ อย่างโรงเรียนสตรีสิริเกศมีนักเรียนประมาณ 40-50 คน ที่ไม่ยอมเข้าเรียนจนต้องเรียกผู้ปกครองและนักเรียนมาชี้แจงทำความเข้าใจ ซึ่งในสัปดาห์หน้าก็จะเชิญผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.6 ทั้งหมดประมาณ 550 คนมาประชุมทำความเข้าใจในเรื่องนี้

น.ส.สุภาวดี วงษ์สกุล ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี กล่าวว่าโรงเรียนมีปัญหาไม่มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกำหนดกิจกรรมให้นักเรียนชั้น ม.6 ต้องทำร่วมกับกลุ่มโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยต่างๆ เช่นกิจกรรมเชียร์ แปรอักษร เป็นต้น ส่วนที่มีนักเรียนบางส่วนต้องวิ่งสมัครสอบรับตรงนั้น ทางโรงเรียนก็เข้าใจ และจะยืดหยุ่นเวลาเรียนให้

เหรียญมี 2 ด้านเสมอการเปิดสอบตรงก็เพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมและมีความพร้อมมากที่สุดเพื่อเข้าเรียนในคณะ/และมหาวิทยาลัยนั้นๆ แต่ปัญหาที่อาจารย์หลายท่านกล่าวมามีก็มีเหตุผลเช่นเดียวกัน น้องๆที่เตรียมตัวเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา เลือกเดินสายกลางหน้าจะดีที่สุด ตั้งใจเรียนในห้อง และเลือกสอบตรงในคณะและมหาวิทยาลัยที่สนใจจริงๆ จะได้ไม่ต้องเสียทั้งเงินและเวลา *-*

* จากการตรวจสอบค่าสมัครสอบรับตรงในบางสาขาวิชา และบางมหาวิทยาลัย พบว่าค่าสมัครไม่ต่ำกว่า 1,000 บาท เช่น วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) ใบสมัครชุดละ 1,000 บาท ค่าสอบวิชาปฏิบัติ วิชาละ 300 บาท ค่าสอบวิชาทฤษฎีวิชาละ 300 บาท, วิทยาลัยนานาชาติ มม. ค่าสมัครสอบที่ไม่มีผลสอบภาษาอังกฤษสากล2,000 บาท มีผลสอบภาษาอังกฤษสากล 1,200 บาท, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ค่าสมัคร 1,000 บาท, คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ค่าสมัคร 1,000 บาท เป็นต้น 

ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก : หนังสือพิมพ์มติชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook