"อัพภาน หะยีเจ๊ะมะ" 1 ใน 3 คนไทย พิชิตทุน ALA เรียนต่อโทออสเตรเลีย
เมื่อปลายเดือนตุลาคม 2553 เอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย "เจมส์ ไวส์" ประกาศรายชื่อ 3 นักศึกษาไทยที่ได้รับทุนการศึกษา Australian Leadership Award (ALA) สำหรับปีการศึกษา 2011 ที่จะถึงนี้ ประกอบด้วย นายอัพภาน หะยีเจ๊ะมะ นายกฤษณะ เอื้อสุนทรวัฒนา และน.ส.เพ็ญใจ สินเสมอสุข
ทุนการศึกษา Australian Leadership Award (ALA) เป็นทุนการศึกษาที่ดำเนินโครงการโดยสำนักงานเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย (AusAID) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนาศักยภาพความเป็นผู้นำ เสริมสร้างความเป็นพันธมิตรและความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างออสเตรเลียและประเทศที่ได้รับทุน
นายอัพภาน หะยีเจ๊ะมะ หนึ่งในผู้ได้รับทุน ปัจจุบันเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
จังหวัดปัตตานี เปิดเผยถึงเคล็บลับในพิชิตทุนนี้ว่า การเตรียมตัวถือว่าเป็นงานที่หนักมาก เพราะกฎเกณฑ์ที่ทาง Canberra กำหนดไว้ในคู่มือการสมัครค่อนข้างละเอียด และใช้เวลาในการดำเนินการนานเกือบเดือนเลยทีเดียว อาทิ การหาบุคคลรับรองเอกสาร ใบตอบรับที่สมบูรณ์จากมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียที่ทาง ALA listไว้ คำรับรองจากผู้ใหญ่ 3 ท่าน การเขียนบทความเป็นภาษาอังกฤษในประเด็นเรื่อง "ภาวะผู้นำในตัวเรากับการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ"
สำหรับขั้นตอนในการเตรียมตัวนั้น เน้นอยู่หลายประเด็นด้วยกัน อาทิ ความสอดคล้องของความรู้ภูมิหลังหรือความถนัดของผู้สมัครกับสาขาวิชาที่จะไปเรียนหรือกับความต้องการขององค์การที่เราจะกลับมาร่วมมือในประเทศ , ความเข้มข้นของเนื้อหาในการเขียนบทความภาษาอังกฤษด้านทักษะความเป็นผู้นำว่าเป็นจุดยืนหรือจุดแข็งของเรามากน้อยเพียงใดและแสดงตัวตนของเราแท้จริงหรือไม่ , ความถนัดทางภาษาอังกฤษทั้ง การฟัง พูด อ่าน และ เขียน , ความจำเป็นต่อการกลับมาพัฒนาประเทศหากเราได้รับทุนนี้แล้ว และความโดดเด่นในการอธิบายความเป็นตัวเรา และ ความต้องการผลักดันให้เราได้ไปเรียนโดยผู้รับรองทั้ง 3 ท่าน (ซึ่งต้องเป็นข้อมูลจริง ไม่สร้างภาพ)
โดยหลังจากที่ปิดรับสมัครไปแล้ว ทางสถานทูตจะคัดกรองผู้สมัครทั้งหมดจนเหลือประมาณ 6-7 คนที่ผ่านรอบแรก และทั้ง 6-7 คนนี้จะต้องมาสอบสัมภาษณ์ที่สถานทูต ช่วงประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากที่ปิดรับสมัครไปแล้ว ซึ่งทั้ง 6 - 7 คนนี้ จะได้รับการติดต่อผ่านทางโทรศัพท์และทางอีเมล์ หลังจากการสัมภาษณ์แล้ว ทางสถานทูตจะส่งรายชื่อของทั้ง 6 -7 คนที่เข้าสัมภาษณ์ไปยัง Canberra ซึ่งจะมีทีมคณะกรรม ALA หลัก พิจารณาอีกครั้งหนึ่งว่า ตกลงจะให้ทุนกี่คน จากคนที่ทางสถานทูตคัดเลือกเอาไว้แล้ว อย่างในปีนี้ จากจำนวน 6 คนที่สัมภาษณ์ คัดเหลือ 3 คน ที่ได้รับทุนในปีนี้ จะทราบผลอย่างเป็นทางการประมาณเกือบ ๆ 3 เดือนหลังจากสัมภาษณ์
การสอบสัมภาษณ์เป็นไปแบบกึ่งทางการ แต่ผมค่อนข้างจะเกร็งสักหน่อย เพราะเจอกับชาวออสซี่ 3 ท่าน และ เจ้าหน้าที่สถานทูต (คนไทย) อีก 1 ท่าน คำถามมักจะมาจากสิ่งที่เราเขียนไว้ในบทความ เช่น เรื่องความจำเป็นของการให้ทุนกับเรา กับสาขาที่เราจะไปเรียน ความโดดเด่นในตัวเรา ความตั้งใจจะกลับมาพัฒนาประเทศ และอะไรจะเป็นสิ่งสำคัญที่จะไปแสวงหาที่ออสเตรเลีย เพื่อความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศด้วย
สำหรับการสอบข้อเขียน จริงๆแล้วไม่ใช่เป็นการสอบข้อเขียน แต่เป็นบทความภาษาอังกฤษที่จะต้องเขียนในส่วนของใบสมัครอยู่แล้วตามหัวข้อที่เขากำหนด โดยจะกำหนดจำนวนคำด้วยประมาณ 200 - 250 คำ โดยทั่วไปแล้วผู้สมัครจะเลือกเขียนบทความภาษาอังกฤษแบบออนไลน์มากกว่าแบบกรอกลงในกระดาษ เพราะแบบออนไลน์หากเราป้อนคำเกินจำนวนที่กำหนด มันจะฟ้องให้เราตัดคำทิ้งโดยอัตโนมัติ ซึ่งเนื้อหาในส่วนนี้สำคัญมาก เพราะทั้งทางสถานทูตเอง และ ทาง Canberra จะนำมาเป็นส่วนสำคัญในการพิจารณาให้ทุน ดังนั้นต้องมีความเข้มข้นในเนื้อหาและทักษะการเขียนภาษาอังกฤษที่ดีด้วย
อนาคตผมวางแผนเอาไว้ว่า ตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยอนุญาตให้ผมลาศึกษาต่ออยู่ครับ แล้วค่อยกลับมาสอนที่มหาวิทยาลัยเหมือนเดิม คือ ปริญญาโท 2 ปี ปริญญาเอก 5 ปี และ Post-Doctoral degree อีกประมาณ 3 ปี รวม ๆ แล้วก็ 10 ปีได้ ผมอยากเรียนให้เต็มที่ มองไว้ว่าจะเรียนปริญญาโทที่ประเทศออสเตรเลีย และเรียนปริญญาเอกที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นจะไปเรียน Post-Doctoral degree ที่ประเทศแคนาดาหรืออเมริกาครับ
สุดท้ายนี้อยากฝากเอาไว้ว่า พยายามดำรงตนเป็นคนดี ช่วยเหลือสังคมและผู้อื่นให้มากๆ แล้วสิ่งดีๆ ก็จะสะท้อนกลับมาสู่เราเองครับ ที่สำคัญต้องมีจุดยืนในการวางแผนเพื่อการพัฒนาตนและสังคมอย่างมั่นคงและแน่วแน่ควบคู่ไปกับการพัฒนาจริยธรรมและคุณธรรม สำหรับผู้ที่สนใจทุนนี้ควรเตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างน้อย 1 ปี ทั้งการสอบวัดระดับความรู้ภาษาอังกฤษ IELTS หรือ TOEFL การสมัครเรียนมหาวิทยาลัยที่ออสเตรเลียเพื่อรอใบตอบรับที่สมบูรณ์ การจัดการเรื่องเอกสารต่าง ๆ รวมไปถึงผู้รับรองและเนื้อหาที่จะต้องเขียนในบทความตอนสมัคร เป็นกำลังใจให้ทุกคนครับ
ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ปิยะนุช zorau123@hotmail.com