วิ่งรอกสอบเข้ามหาวิทยาลัย กับปัญหาจิตสำนึกของสังคมไทย

วิ่งรอกสอบเข้ามหาวิทยาลัย กับปัญหาจิตสำนึกของสังคมไทย

วิ่งรอกสอบเข้ามหาวิทยาลัย กับปัญหาจิตสำนึกของสังคมไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พลันที่ข่าวสารเกี่ยวกับปัญหาการคัดเลือกนักศึกษาเพื่อเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยในระบบรับตรงปรากฏเป็นข่าวเด่นดังตามสื่อฉบับต่างๆ ในประเด็นที่ว่า ระบบรับตรงที่ว่านี้ได้สร้างปัญหาความได้เปรียบเสียเปรียบในบรรดานักเรียนที่ต้องสมัครสอบแข่งขันคัดเลือก โดยเป็นที่มาของปัญหาการ "วิ่งรอบสอบ" คัดเลือกฯ ส่งผลให้กลุ่มนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่า มีโอกาสหรือช่องทางค่อนข้างน้อยในการเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย (ปิดชั้นนำ) ของรัฐ

ข้อเสียเปรียบที่ว่านี้นั้น ประเด็นสำคัญมากจากปัจจัยเกื้อหนุนในการเรียนไม่เฉพาะแต่กับการศึกษาขั้นพื้นฐานในโรงเรียนระดับประถมและมัธยมเท่านั้น หากยังรวมถึงการเป็นปัจจัยสนับสนุนการเรียนกวดวิชาในสถาบันที่มีชื่อเสียงและมีผลการันตีความสำเร็จจากนักเรียนที่มาเรียนกวดวิชาแล้วประสบความสำเร็จในการสอบแข่งขันคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย

เงินอันเป็นทุนสนับสนุนของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ว่านี้ มีความสัมพันธ์อย่างมากมายกับความสำเร็จของบรรดาลูกๆ ในการศึกษาต่อ ซึ่งเรื่องเช่นว่านี้ไม่ต้องหาหลักฐานมาสนับสนุน โดยเป็นที่ประจักษ์ชัดถึงความสำคัญ และหากจะมีการคัดค้านหรือโต้แย้งก็เป็นเฉพาะรายเฉพาะกรณีไป ที่เด็กนักเรียนเรียนตามแบบเรียนในโรงเรียนต่างจังหวัดจะประสบความสำเร็จ ซึ่งยกให้เป็นคุณสมบัติส่วนบุคคลที่เรียกว่า "อัจฉริยะ" ก็ว่าได้

ที่กล่าวมาทั้งหมด มิใช่ว่าจะเป็นต่อว่าต่อขานคนที่ฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่า ในทำนองว่าบุตรหลานท่านเหล่านี้เอารัดเอาเปรียบในการแข่งขันฯ หากแต่เพื่อชี้ในประเด็นที่ว่า ระบบการคัดเลือกฯ นักศึกษาเข้ามหาวิทยาลัยในประเทศยังมีปัญหาให้ต้องขบคิดให้มากกว่าที่เป็นอยู่ กล่าวคือ ด้วยค่านิยมในสังคมไทยถือว่า การสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำและมีชื่อเสียงในระดับประเทศ เป็นเรื่องสำคัญกว่าการเรียนเพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้แก่คนๆ หนึ่งที่กำลังจะเติบโตในอนาคต โดยที่การเรียนในชั้นเรียนปกติเป็นเพียงการเข้าสู่ระบบหรือขั้นตอนหนึ่ง เพื่อนำทางไปสู่การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งจะถือเป็นเป้าหมายสุดท้ายที่สำคัญและการันตีโอกาสในก้าวเข้าสู่งานหรืออาชีพที่สามารถทำรายได้หรือยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคมมากกว่าเรื่องอื่นใด

เหตุดังกล่าว จึงเป็นการตอบคำถามที่ว่า "ในแต่ละวันของการเรียน ทำไมเด็กนักเรียนตัวเล็กๆ จึงต้องทั้งแบก ลาก เข็น กระเป๋าหนังสือ ซึ่งแทบจะหนักกว่าตัวเอง" พร้อมๆ กับภาพการเข้าเรียนในโรงเรียนกวดวิชาชนิดจองห้องเรียนกันข้ามปี กับบรรดาเกจิหรือไม่ก็ปรมาจารย์นักติวในกันทุกเย็นหลังเลิกเรียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ประจำสัปดาห์ พร้อมๆ การเติบโตของโรงเรียนกวดวิชาที่ขยายสาขาและเปิดกิจการใหม่ๆ อย่างมากมาย และภาพเหล่านี้ก็ปรากฏจนกระทั่งกลายเป็นความเคยชินในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน โดยที่มีน้อยครั้งมากที่จะมีหน่วยงานใดออกมาวิพากษ์วิจารณ์

กระนั้นก็ใช่ว่า การเรียนพิเศษหรือกวดวิชา จะเลวร้ายเสียจนหาข้อดีไม่เจอ ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า การเรียนพิเศษหรือกวดวิชาเป็นหนึ่งในการเรียนเทคนิคการทำข้อสอบหรือเจาะข้อสอบให้ถูกต้องแม่นยำ และสามารถทำได้ในเวลาอันจำกัดเมื่อเข้าห้องสอบ ซึ่งประเด็นดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในคัมภีร์เฉพาะของบรรดาครูกวดวิชาที่ แทบไม่มีสอนในการเรียนการสอนในโรงเรียนปกติทั่วไป ยกเว้นแต่ว่า โรงเรียนที่ต้องการสร้างชื่อเสียงด้วยการผลิตนักเรียนที่สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้จำนวนมากในแต่ละปีจะกำหนดนโยบายที่สนับสนุนให้ครูหรืออาจารย์ของโรงเรียนสอนพิเศษนอกเวลาเรียน ซึ่งก็มีน้อยมากที่จะทำเช่นนี้ได้

และด้วยระบบการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไป สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัยได้มีการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบการรับนักศึกษาใหม่ โดยขยายรูปแบบการรับนักศึกษาจากรูปแบบที่มีอยู่เฉพาะการรับผ่านระบบกลาง หรือเอนทรานซ์ หรือแอดมิชชั่นส์ในปัจจุบัน ออกการรับตรงโดยคณะวิชา มหาวิยาลัย หรือโครงการพิเศษ พร้อมๆ กับการกำหนดช่วงเวลาที่แต่ละสถาบันมีความเป็นอิสระในการเปิดสมัครสอบ

เมื่อลงทุนการเรียนกวดวิชากันขนานใหญ่ดังที่กล่าวข้างต้นมาแล้ว จึงไม่แปลกที่นักเรียนจำนวนไม่น้อยที่มีความพร้อมในการสอบแข่งขัน จะเดินสายสอบไปตามมหาวิทยาลัยในเปิดรับนักศึกษาในระบบรับตรงกันเป็นจำนวนมากในแต่ละปี และก็ปรากฏว่า "สอบได้แล้วสละสิทธิ์ หรือไม่ไปรายงานตัว" ซึ่งมีเป็นจำนวนวนแต่ในแต่ละหลักสูตร หรือสาขาวิชา/คณะ/มหาวิทยาลัย

ระบบการประกาศสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยจึงกลายเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดเป็นปัญหาให้ต้องขบคิดและหาทางแก้ไขทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงอย่างทั้งที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และองค์กรการศึกษาอื่นๆ ว่าจะกำหนดแนวทางและมาตรการอย่างไรกับปัญหาดังกล่าว และก็กลายเป็นปม ที่ไม่ต่างอะไรกับลิงแก้แห ที่สุดท้ายแล้วก็วนกับมาในเรื่องเดิมที่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงระบบการคัดเลือก จากระบบการคัดเลือกแบบเอนทรานซ์ในอดีตกาล และแอดมิชชั่นส์ และก็ระบบอื่นๆ ที่กำลังจะเป็นไป หากมีการปิ๊งไอเดียของคนบางกลุ่มนอีกในอนาคต

ระบบการวิ่งลอกสอบตรง กับผลประโยชน์การจัดสอบ ถือเป็นสองสิ่งที่กลายเป็นปมปัญหาที่บรรดาผู้ใหญ่ในวงการศึกษาเพิ่งจะหวนกลับมาคิดที่หลายคนบอกว่า "ใหม่" แต่เอาเข้าจริงแล้วก็เป็นเรื่อง "เก่า" ในอดีตที่ต้องสร้าง/มอบ/ไว้วานความรับผิดชอบการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยอย่างทบวงมหาวิทยาลัยในอดีต หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ในปัจจุบัน ทั้งๆ ที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ระบบการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัยเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละสถาบันการศึกษา/มหาวิทยาลัยจะดำเนินการเอง ด้วยแนวทางหรือนโยบายที่ว่า "มหาวิทยาลัย/สถาบันการอุดมศึกษา สาขา/คณะวิชา ย่อมรู้คุณลักษณะ หรือคุณสมบัติของคนที่จะเข้าศึกษาในแต่ละสาขามากกว่าคน/องค์กรอื่น" จึงไม่แปลกที่ปัจจุบัน บรรดาคณะ/สาขาวิชาแพทยศาสตร์ จะรวมกลุ่มรวมพลังในการคัดและเลือกคนที่มีคุณสมบัตินักศึกษาตรงตามความต้องการ รวมถึงในคณะวิชาอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อยพยายายามดำเนินการเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่เป็นระบบกลางในอดีต ปัจจุบันอยู่ในความรับผิดชอบโดยองค์ที่รับผิดชอบโดยตรงคือ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย หรือ ทปอ. ซึ่งก่อนหน้าที่มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) รับผิดชอบ ได้ดำเนินการรับสมัครนักศึกษาในระบบกลางหรือแอดมิชชันส์ หากแต่ระบบการรับนักศึกษาดังกล่าว ก็ถือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบการคัดเลือกทั้งระบบ ซึ่งโดยข้อเท็จจริงแล้ว จำนวนตัวเลขนักศึกษาที่แต่ละคณะวิชา/มหาวิทยาลัยรับโดยตรงมีจำนวนมากกว่า จึงกลายมาเป็นประเด็นปัญหาการวิ่งรอกสอบดังกล่าว และกลายเป็นคำถามว่า ระบบบการรับตรงทำให้ใครได้ประโยชน์มากกว่ากัน ระหว่างกลุ่มนักเรียนด้วยกันเอง หรือว่า คณะวิชาที่เปิดรับสมัครฯ กับนักเรียนที่สมัครคัดเลือกฯ

การจะตอบข้อคำถามที่ว่านี้ ดูเหมือนว่าจะเป็นเรื่องยาก เพราะถึงที่สุดแล้วมันไม่ใช่ความผิดของใครคนใดหนึ่ง หากแต่เป็นเรื่องของนโยบายการศึกษาของชาติทั้งระบบมากกว่า รวมถึงเรื่องของจิตสำนึกทั้งในบรรดาผู้สมัครสอบคัดเลือก ผู้ปกครอง และมหาวิทยาลัย/คณะวิชา ซึ่งสุดท้ายก็เป็นเรื่องของคนทั้งสิ้น โดยที่การผ่านการคัดเลือกแล้วสละสิทธิ์ในภายหลัง ก็อาจเป็นเพียงเรื่องของการทดลองวิชาสอบมากกว่าเรื่องของความต้องการเข้าเรียนในสาขาวิชานั้นๆ จริง หรือไม่ก็เป็นเรื่องของความต้องการเข้าศึกษาต่อในสถาบันที่มีชื่อเสียงมากกว่า ซึ่งมักเกิดขึ้นในกลุ่มคนที่มีโอกาสที่มากกว่าคนอื่นๆ และเป็นคำตอบสุดท้ายที่ชี้เห็นว่า คนเก่ง/ฉลาดจะมีจิตสำนึกดีกว่าคนอื่นๆ ในสังคมเสมอไป

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ณัฐพงศ์ 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook