เป็นได้แน่ แอร์-สจ๊วด ตำราเส้นทางสู่อาชีพนางฟ้า

เป็นได้แน่ แอร์-สจ๊วด ตำราเส้นทางสู่อาชีพนางฟ้า

เป็นได้แน่ แอร์-สจ๊วด ตำราเส้นทางสู่อาชีพนางฟ้า
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอร์โฮสเตส หรือสจ๊วด เป็นอีกสายอาชีพหนึ่ง ที่อยู่ในความสนใจของหนุ่มสาวมาทุกยุคทุกสมัย แม้ว่าการก้าวสู่ตำแหน่งนางฟ้าของสายการบินจะยากเย็นเพียงใดก็ตาม แต่ต่อจากนี้ไป เรื่องความฝันของหนุ่มสาวอาจจะไม่ยากเหมือนแต่ก่อนแล้ว เมื่อทุกคนได้ตำราฉบับพิเศษจากทีมงาน EXITBOOK

"เป็นได้แน่..แอร์ สจ๊วด" พ็อกเก็ตบุ๊คที่รวบรวมเกี่ยวกับเส้นทางสายอาชีพในฝันของหนุ่มสาวหลายคน อาชีพที่หลายคนบอกว่าเท่ห์สุด ๆ เงินค่าตอบแทนสูง แถมได้ท่องเที่ยวไปทั่วโลก และได้ช้อปปิ้งกันเพลินสุด ๆ แต่อีกมุมมองหนึ่ง หลายคนอาจจะมองว่า แอร์-สจ๊วด ก็คือนังแจ๊วบนเครื่องบินดีๆ นี่เอง

แต่ไม่ว่าจะมองมุมไหน ก็แล้วคนจะมอง ที่แน่นอน "เป็นได้แน่..แอร์-สจ๊วด" เล่มนี้ นำเสนอเรื่องราวที่น่าสงสัยและสิ่งที่หลายคนอยากรู้ได้อย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเปิดสอนการเป็นนางฟ้าบนเครื่องบิน ทั้งภาครัฐและเอกชน ข้อมูลเด็ด ๆ สายการบินไหน "เข้ายากมากๆ " หรือว่า "ค่าตอบแทนสูงสุดๆ" เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังนำเสนอสายการบินชั้นนำแบบเจาะลึก ไม่ว่าจะเป็น Thai Airways, Emirates, JALways และAir Asia เป็นต้น การหาข้อมูลเบื้องต้น คุณสมบัติของผู้ที่จะสมัครเป็นแอร์-สจ๊วด การเขียนใบสมัคร การสอบสัมภาษณ์ การสอบว่ายน้ำ และที่น่าสนใจสุด ๆ สำหรับผู้สนใจ ก็คือ การได้อ่านประสบการณ์จริงของแอร์-สจ๊วด ของสายการบิน ชั้นนำ ถือเป็นแนวทาง และเป็นปัจจัยที่จะช่วยในการให้ทุกคนตัดสินใจว่าจะเดินทางนี้ได้อย่างที่ใจฝันหรือไม่
และนี่คือตัวอย่างของผู้ที่ผ่านประสบการณ์จริง มาบอกเล่าให้พวกเราได้ทราบกัน

 เกด วันวิสาข์ วงศ์ภูมิ (สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส)
"หน้าที่ของแอร์ ฯ คือการดูแลความปลอดภัย"

"หน้าที่ของแอร์ฯ หลักจริงๆ ก็คือ ด้านความปลอดภัย เราต้องทำอย่างไรให้ผู้โดยสารเดินทางสู่เป้าหมายปลายทางด้วยความปลอดภัยโดยสวัสดิภาพ ส่วนงานด้านบริการถือเป็นอันดับรองลงมา แต่ต้องทำควบคู่กันไป"

"จริงๆ แล้วไม่อยากให้มองว่าอาชีพนี้เป็นนางฟ้าเลย ถ้ามาเห็นภาพคนทำงานจริงๆ แอร์ฯ ต้องเป็นคนสุขภาพดีมาก ๆ ต้องแข็งแรง รู้จักออกกำลังกาย เวลากิน เวลานอนก็ไม่เหมือนคนปรกติเขา ถึงเวลากินเราต้องทำงาน ถึงเวลานอนเราต้องทำงาน สภาพร่างกายต้องปรับให้ได้"

กวาง ภัทรา ภัทรายุตวรรตน์ (สายการบิน Asiana)
"เป็นแอร์ฯ ต้องมองโลกในแง่ดีและอดทน"

"กวางว่าคนที่ทำงานนี้ต้องมีความอดทนมาก ๆ ต้องเป็นคนมองโลกในแง่ดีมาก ๆ เหมือนแต่ละครั้งที่เราไป ไม่รู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น การทำงานของเราจะเปลี่ยนเพื่อนร่วมงานไปเรื่อยๆ เราไม่รู้ว่าแต่ละไฟลท์ต้องเจอกับใคร เราจะเจอคนแปลกใหม่ไปเรื่อยๆ ดังนั้นเวลาทำงานต้องทำใจก่อนว่าในไฟลท์นี้เราจะเจออะไรก็ไม่รู้นะ แต่คิดไปว่ามันต้องดี"

"อยากฝากถึงน้องๆ ที่ต้องการเข้ามาทำงานตรงนี้ อยากให้สำรวจตัวเองดีๆ ก่อนว่าชอบทำงานตรงนี้หรือเปล่า มันอาจจะไม่สวยหรูอย่างที่คิด มันไม่ใช่แค่คุณเดินมาเสิร์ฟอาหารเท่านั้น มันมีอะไรหลายอย่างที่ต้องทำอีกเยอะ ต้องมีการเทรน กว่าจะผ่านได้แต่ละวิชาก็ไม่ใช่ง่าย ต้องมีการเทรนทางด้าน Emergency มีการร้องห่มร้องไห้กัน มันต้องใช้ความอดทนมาก มันต้องเป็นคนรักจริงๆ นะ"

บุ้ง ตรีนุช เขียนทอง (สายการบิน JALways)
"ต้องดูแลผู้โดยสารเหมือนญาติเรา"

"สำหรับบุ้ง คิดว่าคนที่มาทำงานนี้ต้องมีการมองโลกในแง่ดี และการเอาใจเขามาใส่ใจเรา อย่างที่บอกว่าวันไหนไฟลท์เต็ม แล้วเรามัวแต่คิดว่าวันนี้ยุ่ง ๆ เหนื่อยๆ มัวแต่ขออะไรอยู่ได้ ถ้าคิดอย่างนั้นมันจะไม่เป็นผลดีต่อเรา เราเหนื่อย ผู้โดยสารก็ไม่แฮปปี้

"ถ้าเราเห็นยายคนหนึ่งเราต้องคิดว่าเขาคือยายเราจริงๆ งานของเราไม่ใช่แค่การเสิร์ฟข้าวเสิร์ฟน้ำ เราต้องดูแลผู้โดยสารป่วย หรือทำความสะอาดห้องน้ำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การทำให้ผู้โดยสารได้รับความสะดวกสบายใจเวลาที่อยู่บนเครื่องบินให้มองผู้โดยสารเหมือนญาติของเรา ไฟลท์หนึ่งๆ เรามีทั้งลูกหลานของผู้โดยสาร รวมทั้งในเวลาเดียวกัน ก็เป็นแม่ เป็นพี่ด้วย"

คิท ภิรมย์ทิศ ทองแถม ณ อยุธยา (สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส)
"สจ๊วดไม่ได้แค่งานบริการ แต่ต้องบริหารไปด้วย"
"การทำงานจริงๆ ต้องปรับตัวบ้างในเรื่องของการทำงาน ส่วนการทำงานบนเครื่องต้องใช้การบริหารเข้ามาช่วยด้วยเพราะไม่ได้มีแค่การเสิร์ฟเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้ถึงจำนวนผู้โดยสาร สิ่งที่จะเสิร์ฟ และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของเวลา
แต่ละไฟลท์จะต่างกัน เวลาบินต่างกัน จำนวนผู้โดยสารแต่ละวันก็ต่างกัน บางไฟลท์จะมีผู้โดยสารต้องการนู่นนี่ต่างกัน ยิ่งไฟลท์ยาวยิ่งลำบากในเรื่องของเวลาต้องบริหารให้ดีว่าขึ้นไปแล้วต้องเสิร์ฟอะไรก่อน ซึ่งจะเสิร์ฟอะไรก่อนหลังจะมีไกด์ไลน์ของบริษัทอยู่แล้ว แต่ยากตอนที่เราเสิร์ฟเสร็จแล้วอาหารต้องมาถึงทันที ซึ่งอาหารต้องใช้เวลาอุ่นต่างกัน บะหมี่ต้องอุ่นอย่างหนึ่ง ไข่เจียวก็อุ่นอย่างหนึ่ง ข้าวก็อุ่นอย่างหนึ่ง เราต้องมั่นใจว่ามันร้อนและไม่ไหม้ คือน้ำไปถึงปุ๊บ อาหารต้องไปถึงปั๊บ รถเข็นคันหนึ่งใส่ถาดได้กี่ที่ แล้วต้องออกไปกี่คัน เหลืออีกกี่ที่ที่เราต้องเติมไปอีกด้วจำนวนลูกเรือเท่านี้ ต้องคิดล่วงหน้า และมีการวางแผนทุกวัน"

ต้องยอมรับกันว่า อาชีพแอร์-สจ๊วด เป็นอาชีพทางด้านการบริการ ดังนั้นเรื่องของใจรักในอาชีพ เป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ ที่ผู้สนใจต้องคำนึงว่าตนเอง มีจุดนี้หรือไม่ นอกนั้นแล้ว เรื่องของการมีบุคลิกที่ดี การใช้ภาษาต่างประเทศ สุขภาพกายและสุขภาพใจ ก็เป็นเรื่องต้องคำนึงเช่นกัน
และหากว่าน้อง ๆ มีความมุ่งมั่นที่จะก้าวสู่อาชีพนี้จริง ๆ เราก็เชื่อว่า คุณบินได้
"we believe you can fly"

ที่มา "การศึกษาวันนี้" 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook