เอนทรานซ์ แอดมิชชั่นส์ ระบบรับตรง วังวนการรับนักศึกษาไทย

เอนทรานซ์ แอดมิชชั่นส์ ระบบรับตรง วังวนการรับนักศึกษาไทย

เอนทรานซ์ แอดมิชชั่นส์ ระบบรับตรง วังวนการรับนักศึกษาไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การได้รับคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยหรือการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นับเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของใครหลายคน

สร้างความภาคภูมิใจแก่พ่อแม่และครอบครัวอย่างยากอธิบาย ความรู้สึกที่บุตรหลานหรือลูกๆ ได้เรียนมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง หลายคนก็มักมองว่าเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ครั้งสำคัญของลูกๆ และก็มักเป็นเช่นนั้น เพราะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงย่อมบ่งบอกถึงคุณภาพการศึกษา เป็นการการันตีอาชีพและอนาคตในระดับที่วางใจได้ ด้วยเหตุดังกล่าว จึงไม่แปลกที่แต่ละปี บรรดานักเรียนที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะวุ่นวายและเคร่งเครียดอยู่กับการเตรียมตัวสอบวัดระดับ และวิ่งวุ่นกับการเดินทางไปสมัครตามมหาวิทยาลัยและสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ทั้งใกล้และไกล

ความสับสนที่ว่านี้ส่วนหนึ่งไม่อาจปฏิเสธได้ จากที่มาของระบบการรับนักศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งหากย้อนกลับไปเปรียบเทียบระบบการรับนักศึกษาฯ จะพบว่า ในอดีตที่ผ่านมานั้น กระบวนการรับที่เรียกว่า "เอนทรานซ์" หรือ แม้แต่ระบบ "แอดมิชชั่นส์" ที่รับผิดชอบโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะเป็นระบบที่มีการจัดการชัดเจน และไม่ยุ่งยากซับซ้อนเฉกเช่นในปัจจุบัน กล่าวคือ ทั้งระบบการสอบคัดเลือกที่ใช้วิธีการแบบเลือกอันดับ โดยไม่ต้องมีการสอบวัดความรู้ หากแต่สอบครั้งเดียวพร้อมๆ กับการสมัครฯ ที่ต้องเลือกสาขา/คณะวิชาและมหาวิทยาลัย ทำให้นักเรียนไม่ต้องวิ่งรอกสอบ เรียกว่าใครพร้อมหรือเตรียมตัวมาดี รวมถึงพวกเรียนเก่งก็สอบผ่านการคัดเลือกไปแบบสบายๆ ไม่ต้องเครียดหลายครั้งหรือหลายหนเหมือนสมัยปัจจุบัน

ในขณะที่พัฒนาการของการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาเป็นระบบ "แอดมิชชั่นส์" ที่มีลักษณะของการให้โอกาสแก่นักเรียนได้ปรับตัวเองได้ กล่าวคือ จัดให้มีระบบการสอบวัดความรู้ 2 ครั้งต่อปี และเมื่อสมัครฯ คัดเลือก สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ก็จะทำการเลือกคะแนนที่ดีที่สุดของการสอบวัดความรู้ฯ ที่ผู้สมัครฯ แต่ละคนมีอยู่ มาพิจารณาจัดลำดับว่าเลือกสาขาใดคณะใดเป็นลำดับแรก และนำไปเปรียบเทียบคะแนนกับผู้สมัครฯ คนอื่นๆ ในสาขาวิชา/คณะเดียวกัน และเมื่อไม่อยู่ในกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือก ก็จะนำการเลือกคณะวิชาลำดับรองลงมาพิจารณาฯ ระบบการคัดเลือกเช่นนี้ จึงค่อนข้างมีความชัดเจนและเป็นระบบที่ไม่สร้างความสับสนวุ่นวายแต่ประการใด และนักเรียน รวมถึงผู้ปกครองก็สามารถเข้าใจระบบการคัดเลือกฯ ได้โดยง่าย นักเรียนก็ไม่ต้องเคร่งเครียดตลอดทั้งปี โดยเฉพาะผู้ที่เตรียมตัวในการสอบเก็บคะแนนเป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม ระบบการสอบสองรูปแบบดังกล่าวข้างต้น ก็มิใช่ว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อนักเรียนที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัย รวมไปถึงนักเรียนจำนวนมากก็มักนิยมการไปเรียนเพิ่มเติมตามสถาบันหรือโรงเรียนกวดวิชา เพราะเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปพร้อมกับมีข้อพิสูจน์ให้เห็นเป็นตัวอย่างมาโดยตลอดว่า การเรียนกวดวิชาย่อมมีโอกาสในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้มากกว่าการเรียนเฉพาะในโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งตรรกะหรือแนวคิดดังกล่าว ส่วนสำคัญย่อมมาจากการเรียนกวดวิชาก็ไม่ต่างอะไรกับการได้ทบทวนการเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้เรียนรู้วิธีคิดในทางลัดและรวดเร็วในการวิเคราะห์หรือตีโจทย์ข้อสอบได้แตกฉานตรงประเด็น และที่สำคัญในฝึกฝนในการทำข้อสอบมากกว่าการเรียนในรูปแบบและวิธีการปกติ รวมไปถึงการอ่านหรือทบทวนหนังสือด้วยตนเอง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า มักสร้างความน่าเบื่อหน่ายได้ง่าย

สำหรับการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยหรือสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งกำลังเป็นประเด็นร้อนในสังคม และเกิดคำถามตามว่า ระบบการคัดเลือกฯ เข้ามหาวิทยาลัยในปัจจุบันสร้างปัญหาหรือสร้างความยุ่งยากในการสมัครฯ คัดเลือก กว่าในอดีตหรือไม่นั้น ทั้งขั้นตอนในการสอบวัดช่วงชั้น การจัดตั้งกลุ่มสาขาวิชาในการดำเนินการคัดเลือกของแต่ละคณะวิชาและมหาวิทยาลัย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บทบาทของมหาวิทยาลัยโดยคณะวิชาต่างๆ ในหลายมหาวิทยาลัยได้ใช้ระบบการรับสมัครนักศึกษาโดยวิธีรับตรงเป็นจำนวนมากนั้น กรณีดังกล่าวนับเป็นประเด็นร้อนและท้าท้ายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องหันกลับมาพิจารณาและหาทางออกกันอย่างเร่งด่วน

ก็อย่างที่เคยเขียนถึงมาหลายครั้งหลายคราว่า ระบบการรับนักศึกษานั้นถึงที่สุดแล้ว เป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละมหาวิทยาลัยที่จะดำเนินการในการคัดเลือกฯ หากแต่ในทางปฏิบัตินั้นในอดีตมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รวมตัวและทำการมอบหรือไว้วานให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) หรือทบวงมหาวิทยาลัยในอดีต รับผิดชอบในการดำเนินการให้ ด้วยเหตุที่ว่า ปัญหาการวิ่งรอกสอบไปตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำให้เกิดความวุ่นวายและเป็นภาระแก่ผู้ปกครองทั้งในด้านค่าใช้จ่ายซึ่งต้องใช้จำนวนมากทั้งในด้านที่พักและการเดินทาง ในขณะที่นักเรียนก็ต้องทุ่มเทการเตรียมตัวสอบในแต่ละครั้งที่ไปสมัคร และเรื่องของเวลา สร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างนักเรียนที่อยู่ในครอบครัวที่ฐานะทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน รวมไปถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างนักเรียนในต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ หรือนักเรียนที่อาศัยอยู่ในตัวเมืองกับชนบท

ระบบการคัดเลือกที่เป็นระบบเอนทรานซ์ จึงช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวได้ค่อนข้างมาก และถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยในช่วงเวลาที่ยาวนาน และท้ายสุดก็เปลี่ยนมาเป็นระบบแอดมิชชันส์ที่ให้โอกาสในการพัฒนาและปรับปรุงตัวเองด้วยการจัดสอบวัดความรู้สองครั้งในแต่ละปี แต่ในข้อเท็จจริงแล้วแม้ว่าจะใช้ระบบเอนทรานซ์หรือระบบแอดมิชชั่นส์ แต่ในขณะเดียวกันในช่วงเวลาดังกล่าว ระบบการรับแบบรับตรงหรือโควต้าก็ถูกนำมาใช้ผสมผสานในการรับนักศึกษาเช่นเดียวกัน และมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีชื่อเสียงก็นำมาใช้ แต่ก็ด้วยค่านิยมของคนในสังคมไทยที่ให้ความสำคัญหรือมุ่งเน้นการสอบแข่งขันในระบบเอนทรานซ์และแอดมินส์ชั่น ระบบการรับทั้งระบบรับตรงหรือโควตาก็เป็นเพียงระบบการรับนักศึกษาเพิ่มเติมเท่านั้น (แม้ว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งจะรับนักศึกษาในระบบนี้เป็นจำนวนมากก็ตาม) และไม่ได้รับความนิยมจากนักเรียนมากนัก ระบบการคัดเลือกในระบบเดิมจึงไม่เป็นประเด็นทางสังคมมากนัก กล่าวคือ ไม่ถูกตั้งคำถามกับประเด็นที่ว่า เป็นระบบที่มหาวิทยาลัยนำมาแสวงหาเงินหรือกำไรอย่างเช่นในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันด้วยระบบการรับนักศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และระบบการจัดการศึกษาซึ่งต้นเรื่องก็มาจากนโยบายของรัฐ ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ทั้งในเรื่องการที่มหาวิทยาลัย คณะวิชา หลักสูตร ต้องพึ่งพาตนเองเป็นหลัก มิใช่พึ่งพาเงินงบประมาณ อีกทั้งระบบการประเมินและประกันคุณภาพการศึกษาภายในและภายนอก และที่สำคัญการจ้างบุคลากรในสายวิชาการ/ครู อาจารย์ พนักงานสายสนับสนุนได้เปลี่ยนไปเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของรัฐ ส่งผลอย่างมากต่อการบริหารจัดการหลักสูตรทั้งในเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน ด้วยมีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นที่มาของการเปิดรับนักศึกษาในโครงการพิเศษต่างๆ ซึ่งทำให้คณะวิชาสามารถมีเงินสนับสนุนในการจัดการศึกษา และเป็นเหตุผลสำคัญในการรับนักศึกษาในระบบปัจจุบัน

และก็เป็นเรื่องที่เกินความคาดหมายที่ส่งผลสะเทือนแก่นักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในปัจจุบันอย่างมากมาย และเป็นประเด็นร้อนที่ว่าจะหาหาแก้ไขปัญหานี้กันอย่างไร

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ภรณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook