ว่าน-รัชชุ สุระจรัส ไม่ว่าเรียนหรืองาน ทุกอย่างแพ้ความตั้งใจ
นับนิ้วย้อนไปไม่กี่ปี เชื่อว่าหลายคนคงมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง "ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่น" ภาพยนตร์รักใส ๆ ที่เคยทำให้หัวใจคุณพองโตมาแล้ว และจากภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เรามีโอกาสได้รู้จักกับนักแสดงหน้าใหม่อย่าง ว่าน-รัชชุ สุระจรัส ถึงแม้จะมีผลงานอื่นมาก่อนหน้านี้ แต่ส่วนใหญ่คนก็มักจะจำว่านได้ในบทของโจ้ หนุ่มน้อยที่แอบรักเพื่อนสนิทของตัวเอง โอกาสดีเจอว่านแบบตัวเป็น ๆ เราก็มิวายจะรีบปรี่เข้าไปทำความรู้จักพร้อมซอกแซกถามเรื่องการเรียนของว่านมาฝากทุกคนกัน
แนะนำตัว
สวัสดีครับ ว่าน-รัชชุ สุระจรัส เรียนอยู่ปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาภูมิสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครับ
ผลงานในวงการ
ที่ผ่านมาก็มีหนังบ้าง ถ่ายโฆษณาบ้าง แต่ที่ทำหลัก ๆ ตอนนี้คือเป็นพิธีกรอยู่ที่ BANG CHANNEL ออกอากาศทาง DTV Thai ช่วงวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 19.00-20.00 น. งานพิธีกรเป็นอะไรที่สนุกครับ เป็นทางใหม่ที่เราได้ลอง และโชคดีที่ว่านได้ทำพิธีกรรายการเพลงก็เลยยิ่งสนุกไปใหญ่ เพราะว่าตัวเองชอบฟังเพลงอยู่แล้ว
เรียนสถาปัตย์สนุกแต่หนัก
ตอนนี้ว่านเรียนปี 3 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาควิชาภูมิสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตอนนี้
ยอมรับว่าเรียนหนักมาก บางครั้งก็ถามตัวเองเหมือนกันว่าจะไหวมั้ยนะ เพราะคณะของว่านไม่เหมือนคณะอื่น อย่างคณะอื่นเขาคงมีการบ้านและมีการอ่านหนังสือกัน แต่เด็กสถาปัตย์จะอ่านเฉพาะช่วงสอบ แต่เวลาที่ไม่สอบเราก็จะทำโปรเจกต์ส่ง ทำโปรเจกต์นี้เสร็จ ก็ต่อด้วยโปรเจกต์อื่นเลย ไม่มีเวลาได้พัก จะมีก็แต่ช่วงสอบที่เด็กสถาปัตย์จะสบายสุด เพราะว่าจะหยุดอ่านหนังสือเพียงอย่างเดียว จะว่าไปมันก็ไม่ได้หนักอะไร แต่เพราะเรากลัวว่าระยะเวลา 5 ปีที่เรียน สิ่งที่เราเรียนไปมันจะไม่พอในการทำงานในอนาคต มีพี่ที่เขาเรียนจบไปแล้วไปทำงานในอาชีพนี้ เขาบอกเลยว่าที่เราเรียนมามันเป็นแค่ Introduction เป็นเพียงพื้นฐาน พอเราเข้าไปอยู่สนามจริงมันโหดกว่านี้มาก คณะเราเลยเน้นการทำโปรเจกต์เยอะ ๆ เพื่อฝึกให้เรามีความพร้อม
เรียนสถาปัตย์แบบไม่ได้วางแผน
ตอนเรียนมัธยมไม่ได้ฟิกตัวเองเลยครับว่าจะเรียนสถาปัตย์ คือเด็กที่อยากจะเข้าเรียนคณะนี้เขาจะไปติวกันตั้งแต่ ม.3-ม.4 แต่ว่านมาเริ่มติวตอน ม.6 เพราะรู้ตัวว่าอยากเรียนสถาปัตย์ตอน ม.6 เพราะเราอยากเล่นดนตรี และอยากจะไปให้สุดทางของมัน พ่อแม่มาถามว่าอยากเรียนอะไร ก็บอกว่าอยากเรียนดนตรี พ่อแม่ไม่ได้ห้าม แต่ว่าอยากให้เรียนอะไรที่มันจับต้องได้ เป็นอาชีพที่เลี้ยงเราได้ ตอนนั้นมีโอกาสได้เจอกับพี่เป๊กวงซีล พี่เป๊กบอกว่า ดนตรีเรียนมันก็ดี แต่บอกเลยว่าไม่เรียนก็ไม่เป็นไร เพราะมันสามารถเรียนรู้ข้างนอกได้ ด้วยระยะเวลาที่เราใช้เวลากับมันไปเรื่อย ๆ ก็เลยนั่งถามตัวเองว่าจะเรียนคณะอะไรดีที่ไม่ต้องมานั่งจำสูตร หรืออะไรที่มันฟิกเราอยู่กับกรอบ มันคงจะน่าเบื่อที่เราต้องมานั่งจำสูตรพวกนี้ที่เราไม่รู้ความหมายของมันจริง ๆ สุดท้ายก็เหลือนิเทศกับสถาปัตย์ ก็เลยเลือกสถาปัตย์ เพราะคิดว่ามันจะสนุกกว่า มีอะไรให้ทำมากกว่า พอเข้ามาเรียนถึงรู้ว่าสถาปัตย์เป็นคณะที่ดีมาก เพราะมันช่วย Process การคิดเรื่องทุกอย่าง มันเปลี่ยนแปลงตัวเราไปครับ มีคำพูดหนึ่งที่ว่านฟังครั้งแรกแล้วประทับใจมาก ตอนไปปฐมนิเทศที่มหาวิทยาลัย คณบดีพูดว่า ใครที่คิดจะเรียนสถาปัตย์เพราะอยากรวยบ้าง เขาบอกให้คนที่ยกมือออกไปเลย เพราะมันไม่มีทางที่เราจะรวยกับอาชีพนี้ ถึงคุณจะมีรายได้เยอะแต่คุณก็ใช้ร่างกาย ใช้มันสมองเปลืองมาก และคนที่เขามาเรียนจนถึงปีสอง ความคิดหรือพฤติกรรมของคุณไม่เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ก็ขอให้ออกไปเหมือนกัน เพราะเราไม่ต้องการคนที่ไร้คุณภาพไปสู่อาชีพของเรา
Maya Lin นักภูมิสถาปัตย์ในดวงใจ
ว่านชอบงาน Landscape ของ Maya Lin เขาเป็นลูกครึ่งจีน-อเมริกัน แต่เขาไปโด่งดังมากที่อเมริกา งานเขาจะออกแนว Conceptual Design งานที่ดังมากของเขาคือVietnam Veterans Memorial มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาถูกต่อต้านมาก ๆ ในการส่งแบบเข้าประกวด เขาส่งเข้าไปโดยการใช้แบบที่สเกตช์ด้วยมือ ส่งแบบไม่คิดว่าจะได้ แต่กรรมการก็ให้เขาผ่าน และสุดท้ายเขาก็ได้รางวัล เพราะสิ่งที่เขาทำคือการดีไซน์ที่น้อยที่สุด เคารพธรรมชาติให้มากที่สุด มันสามารถสื่อสารให้คนที่เข้าไปในพื้นที่ตรงนั้นที่มันเกิดสงครามว่าอเมริกาทำอะไร โดยที่เขาสื่อสารมันออกมาด้วยวิธีที่ไม่ได้ไปต่อว่าอเมริกาว่าผิดหรือเปล่า หรือว่าคนเวียดนามเป็นคนผิดหรือเปล่า เขาโดนกดขี่หรือเปล่า แต่เป็นเหมือนกับว่ามันเป็นอนุสรณ์สถานอันหนึ่งที่ทำให้คนเข้าไปแล้วจดจำได้ว่ามันเคยเกิดอะไรขึ้นมาตรงนี้ เป็นงานที่ดีไซน์น้อยมาก แต่เขาคิดเยอะมาก
สถาปัตย์กับพิธีกรศิลปะที่แตกต่าง
ผมว่าทั้งงานพิธีกร ทั้งเรียนสถาปัตย์ มันเหมือนงานศิลปะครับ คือสองอย่างนี้มันเป็นงานคนละเชิง คนละอย่างกัน แต่งานศิลปะทุกอย่างมันต่างเชื่อมโยง มีจุดหนึ่งที่มันมีการซ้อนทับที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกัน ยกตัวอย่างง่าย ๆ ที่เกิดขึ้นกับตัวเอง เด็กสถาปัตย์เขาจะพรีเซ้นต์สิ่งต่าง ๆ ผ่านไอเดีย ผ่านการวาดออกมาด้วยมือ แต่พอเรามาทำงานพิธีกร เราสามารถที่จะพรีเซ้นต์งานตัวนั้นออกมาเป็นคำพูดได้ดีพอ ๆ กับการเขียนร่างแบบของพวกเรา ในขณะเดียวกัน คณะสถาปัตย์ก็สอนให้เราคิดอย่างมีระบบ เพราะฉะนั้นเวลาที่จัดรายการทำหน้าที่พิธีกร เราก็จะเรียบเรียงสิ่งต่าง ๆ ออกมาเป็นคำพูดให้ทุกคนเข้าใจมากขึ้นครับ
จัดสรรเวลาจุดเชื่อมต่อเรียนกับงาน
คือว่านว่าทุกคนสามารถทำได้นะครับ ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย แต่ก็ต้องอยู่ที่การจัดสรรเวลาที่ดี ในห้องเรียนเราก็ต้องตั้งใจเรียน ทำงานเราก็ต้องตั้งใจ ส่วนไหนที่ซ้อนทับเวลาเราก็ต้องดูความสำคัญ ซึ่งว่านเอาเรื่องเรียนเป็นหลักอยู่แล้ว ก็จะโฟกัสที่เรื่องเรียน แต่โชคดีที่ว่านเป็นคนคิดเร็ว เวลาที่เราคิดงานมันก็จะออกมาเร็ว เวลาที่เราตั้งใจเรียนในห้อง เราก็จะสามารถดึงทฤษฎีบางอย่างมาใช้กับงานเราได้ มันทำให้เราประหยัดเวลาลงไปนิดหนึ่ง เพราะเราไม่ต้องไปเสียเวลาลองผิดลองถูก เราก็เอาเวลาที่เหลือมาทำงาน อะไรประมาณนี้น่ะครับ
ถึงน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบ
ไม่ว่าจะทำอะไร เรื่องสมาธิเป็นเรื่องสำคัญมาก คือถ้าเราเจอข้อสอบแล้วเราไม่มีสมาธิ สิ่งที่เราอ่านมามันก็จะเสีย ตอนที่ว่านสอบ ว่านพยายามมาก เพราะตอนนั้นว่านรู้สึกว่าตัวเองมีเวลาน้อยกว่าคนอื่น ว่านก็อ่านโอเน็ตเต็มที่ เพราะสถาปัตย์สอบโอเน็ต เราต้องแพลนชีวิตตัวเองให้เสร็จเรียบร้อย อย่างเดือนตุลาคมจะมีสอบความถนัดทางสถาปัตย์ ช่วงตั้งแต่ปิดเทอม ม.5 จะขึ้น ม.6 ก็เรียนความถนัดสถาปัตย์ให้เต็มที่ไปเลย โฟกัสอยู่กับอันนี้ ว่านอ่านโอเน็ตเสร็จตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน อ่านเสร็จรอบหนึ่งว่านก็ทิ้งเลย แล้วก็ทำงานและสนุกกับชีวิตมัธยมปลายให้เต็มที่ แต่เราก็ต้องรู้จักตัวเอง บางคนอ่านหนังสือต้องใช้เวลานานกว่าจะจำได้ บางคนก็ใช้เวลาน้อย ว่านเป็นคนอ่านหนังสือเร็ว แต่จำไม่ได้ ก็ต้องอ่านให้มันผ่านตาไว้ก่อน แล้วค่อยกลับมาโฟกัสอีกทีหนึ่ง เราไม่อยากจะพลาดชีวิตตอน ม.6 ไป เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่สนุกที่สุดแล้ว เดือนธันวาคม-มกราคม ว่านก็ใช้ชีวิต ม.ปลายเต็มที่เลย พอกุมภาพันธ์ว่านก็หยุดทุกอย่างแล้วมาโฟกัสเรื่องแอดมิสชั่นส์ สุดท้ายก็สอบได้ทุกอย่าง แพ้ความตั้งใจของเราครับ
ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : iamamwa ช่างภาพ : Phankajhon