กู้เพื่อเรียน คืนเพื่อปลดหนี้ (ทางการศึกษา)
และแล้วน้องคนเล็กของเรา ก็เข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ในฐานะพี่คนโตที่พอมีเงิน มีงานทำเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พ่อและแม่เห็นแววการเป็นผู้นำ เลยส่งหมายมาแจ้งความจำนงว่า ให้ส่งน้องคนเล็กเรียนให้จบ และด้วยความที่เป็นลูกกตัญญูเหลือล้น รับคำมา ซึ่งเรามีตัวช่วยสำหรับเงินค่าเล่าเรียนของน้อง และเพื่อให้น้องตั้งใจเรียนไม่เกเร เราจึงต้องศึกษาเรื่องการกู้เงินเรียน พร้อมการชำระหนี้อย่างจริงจัง สำหรับอนาคต ทุกอย่างก็เพื่อการสร้างความรับผิดชอบทางด้านการเงินให้ทั้งพี่คนโตอย่างฉัน และน้องสาวคนเล็ก
กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) หรือ กองทุนเงินให้กู้ยืมผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) ดีนะ?
กยศ. เป็นกองทุนเงินให้กู้ยืม สำหรับนักเรียนระดับม.ปลาย (ทั้งสายสามัญและสายอาชีพ) นักศึกษาทั้งระดับอนุปริญญา และปริญญาตรี (ภาคปกติ หรือ ภาคพิเศษ) รวมทั้งนักเรียนอาชีวศึกษา (ประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง อนุปริญญา ปริญญาตรี) แต่ต้องเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ที่มีรายได้ครอบครัวไม่เกิน 200,000 บาท/ปี ผลการเรียนต้องดี (มีการสัมภาษณ์)
กรอ. เป็นกองทุนเงินให้กู้ยืม สำหรับนิสิตหรือนักศึกษา ในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) ประกาศนียบัตรวิชาชีพเทคนิค (ปวท.) อนุปริญญา และปริญญาตรี แต่ให้กู้ยืมเฉพาะสาขาวิชาที่มีความต้องการหลัก และมีความชัดเจนของการผลิตกำลังคนในการพัฒนาประเทศ ที่คาดว่าพอจบแล้วจะมีงานทำ มีรายได้อย่างยั่งยืน อาทิ ระดับปวส.และปวท. สาขาการจัดการโลจิสติกส์ เครื่องประดับอัญมณี การโรงแรมและบริการ การจัดการธุรกิจท่องเที่ยว เครื่องกล เทคนิคการผลิต เทคนิคโลหะ ไฟฟ้ากำลัง ปิโตรเคมี คอมพิวเตอร์ เป็นต้น ระดับอนุปริญญา และปริญญาตรี อาทิ ธุรกิจการบิน การออกแบบภายใน การออกแบบอุตสาหกรรม วิทยาการเดินเรือ เทคโนโลยี การพยาบาล เภสัชศาสตร์ แพทยศาสตร์ สัตวแพทย์ เป็นต้น
แล้วขอบเขตการให้กู้ยืมเงินแตกต่างกันอย่างไร
สำหรับ กยส.จะบวกค่าครองชีพ (รายปี) เข้าไปกับค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา (รายปี) ส่วนกรอ.จะมีแค่ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา (รายปี) เท่านั้น ซึ่งจะมีจำนวนเงินต่างกันตามสาขาที่เรียน เช่น
กยส. ระดับปริญญาตรี สาขาสังคมศาสตร์ ศิลปศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 60,000 บาท/ราย/ปี บวกค่าครองชีพ 26,400 บาท/ราย/ปี รวม 86,400 บาท/ราย/ปี = 2 เทอม หารแต่ละเทอมก็จะเท่ากับ 43,200 บาท
กรอ. ระดับปริญญาตรี สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา 70,000 บาท/ปี หรือ แพทยศาสตร์ 150,000 บาท/ปี เป็นต้น
ประเด็นสำคัญอยู่ที่การชำระหนี้
การชำระหนี้ ไม่ใช่การชำระเป็นรายปีระหว่างที่น้องสาวคนเล็กเรียนอยู่ แต่เป็นการชำระคืนเมื่อน้องสาวคนเล็กจบไปแล้วเป็นเวลา 2 ปี หากแต่ในระหว่างช่วง 2 ปีนี้ (เรียกว่า ช่วงปลอดหนี้) น้องสาวมีงานทำแล้ว มีรายได้ เอามาบวกกับที่พี่คนโตจะช่วยชำระให้ ก็จะดีมาก เพราะว่าไม่ต้องเสียดอกเบี้ยตามที่กำหนด ซึ่งสามารถชำระได้ทั้งรายเดือนและรายปี
หากแต่ชำระหนี้หลัง 2 ปีแรกที่จบ ก็จะเข้าสู่ระบบการเสียดอกเบี้ยด้วย โดยมีอัตราชำระเงินต้นในปีแรกอัตราร้อยละ 1.5 ของวงเงินที่กู้ยืมไป เช่น เงินต้น 100,000 บาท เงินที่ต้องชำระคือ 1,500 บาท ปีแรกเท่านั้นที่ไม่เสียดอกเบี้ย หลังจากนั้นจะเสียดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี และจะต้องชำระภายในวันที่ 5 กรกฎาคมเท่านั้น ส่วนในปีต่อๆ ไปก็มีอัตราการชำระเงินต้นที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และมีการเสียดอกเบี้ยตามลำดับ (สามารถเช็กอัตราดอกเบี้ยจากตารางของธนาคารกรุงไทย) และสามารถชำระคืนได้มากสุด 15 ปี หรือจะชำระเงินมากกว่า หรือน้อยกว่า หรือเท่ากับจำนวนเงินที่ต้องชำระก็ได้
ทีนี้ เราก็สามารถจัดระบบระเบียบเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการศึกษาของน้องสาวคนเล็กได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น และเข้าใจเรื่องการกู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาได้อย่างถูกต้อง
ข้อมูลจาก
www.studentloan.or.th
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์สายใจ กยศ. โทร. 0 2610 4888 หรือ กรุงไทยโฟน 1551
ข้อควรระวัง : หากชำระหลังวันที่ 5 ก.ค. จะต้องเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 12 ต่อปีของเงินต้นที่ค้างชำระในงวดนั้น และหากค้างชำระหนี้เกิน 12 เดือน จะเสียค่าปรับในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี
หมายเหตุ : ต้องทำเรื่องกู้และคืนเฉพาะที่ธนาคารกรุงไทยเท่านั้น และมีการเสียค่าธรรมเนียมให้ธนาคารกรุงไทยครั้งละ 10 บาท
เรื่อง : ศรัญญา โรจน์พิทักษ์ชีพ / ภาพประกอบ : อรุณโรจน์ รัตนพันธ์
ตามเหล่าซุปตาไปรับปริญญากัน คลิก!