กลิ่นปาก หรือ ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
กลิ่นปาก หรือ ลมหายใจมีกลิ่น ไม่ใช่ปัญหาเล็ก ๆ ที่ทำให้เราสูญเสียความมั่นใจเท่านั้น เรามารู้ที่มาของการมีกลิ่นปากที่ไม่พึ่งประสงค์กันดีกว่า เพื่อป้องกันและจะได้สังเกตความผิดปกติของร่างกายได้ เริ่มกันเลยนะค่ะ
ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น หรือภาษาอังกฤษที่ว่า bad breath, halitosis, fetor oris or fetor ex ore หมายถึง กลิ่นเหม็นที่ออกมาจากลมหายใจซึ่งสามารถได้กลิ่น ไม่รวมถึงก๊าซในความเข้มข้นมากกว่าปกติที่ไม่สามารถได้กลิ่น
ปัญหาเรื่องลมหายใจมีกลิ่นเหม็นนั้น ดำรงอยู่คู่กับมนุษย์มานานเป็นพันปี ซึ่งพบได้จากหนังสือต่าง ๆ แม้แต่พระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ได้กล่าวถึง ladanum (mastic) ซึ่งได้มาจากต้น Pistacia lentiscus โดยคนที่อาศัยอยู่ในแถบประเทศเมดิเตอเรเนียน ได้ใช้ในการทำให้ลมหายใจสดชื่นมานานนับพันปี
ระบาดวิทยา
ไม่มีใครทราบถึงระบาดวิทยาที่แน่นอน ซึ่งถ้าต้องการศึกษาจริง ๆ จำเป็นต้องศึกษาในคนที่เพิ่งตื่นนอน เนื่องจากลมหายใจจะมีกลิ่นเหม็นมากที่สุดขณะที่ตื่นนอน คนส่วนใหญ่จะต้องประสบกับปัญหาลมหายใจมีกลิ่นเหม็นอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต
เนื่องจากการที่จะประเมินกลิ่นลมหายใจของตนเองนั้น ทำได้ยาก ดังนั้นจึงทำให้คนจำนวนมากไม่ทราบว่าตนมีกลิ่นลมหายใจผิดปกติ และก็มีคนอีกจำนวนมากที่มีกลิ่นลมหายใจปกติ หรือเหม็นเพียงเล็กน้อย แต่ว่าวิตกกังวลอย่างมาก คิดว่าตนมีกลิ่นลมหายใจเหม็น ซึ่งเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Halitophobics
ลมหายใจมีกลิ่นเหม็นสามารถพบได้ในเด็กอายุน้อยตั้งแต่ 2-3 ปี ผู้หญิงมักจะประเมินว่าตนเองมีกลิ่นปากเหม็นมากกว่าผู้ชาย ทั้ง ๆ ที่ความเป็นจริงแล้วผู้ชายมีลมหายใจกลิ่นเหม็นกว่าผู้หญิง
สาเหตุและพยาธิกำเนิดของลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
1. จากช่องปาก (Oral Cavity) - กลิ่นปาก
เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด คือ 80-90 % ของผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องลมหายใจมีกลิ่นเหม็น สาเหตุเกิดจากก๊าซที่มีส่วนประกอบของซัลเฟอร์ ที่เรียกว่า Volatile sulfur compound (VSCs) ได้แก่ สารจำพวก hydrogen sulfide และ methylmercaptan สารเหล่านี้เกิดจากการย่อยสลายของ methionine และ cysteine โดยจุลชีพในปาก
ลมหายใจเหม็นที่มาจากช่องปาก เกิดจากการสะสมของแบคทีเรียที่บริเวณช่องระหว่างฟัน และ ด้านหลังของโคนลิ้น (อาจจะเกิดจากการที่สารคัดหลั่งจากโพรงจมูก ไหลเข้าสู่คอหอยส่วนปาก จึงเกิดการสะสมขึ้น) โดยเชื้อโรคที่ทำให้เกิดกลิ่นปากส่วนใหญ่ ได้แก่ กลุ่มแบคทีเรียกรัมลบที่ไม่ต้องการอากาศ ที่สำคัญ คือ Porphyromonas gingivalis, Fusobacterum nucleatum, Prevotella intermedia และ เชื้อแบคทีเรียชนิดเกลียว
สภาวะที่ทำให้มีสาร VSCs เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาวะที่คาร์โบไฮเดรตต่ำ ภาวะความเป็นกรด เป็นกลาง หรือ เป็นด่าง และภาวะที่ไม่มีอากาศ
ภาวะเหงือกอักเสบ และ periodontitis สามารถทำให้เกิดกลิ่นปากได้ แต่กลิ่นปากก็สามารถพบได้ในคนที่ไม่เป็นโรคเหล่านี้เช่นเดียวกัน
2. โพรงจมูก (Nasal passages)
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยเป็นอันดับสอง คือ 8-10 % ของคนที่ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น ลักษณะที่พิเศษ และต่างจากชนิดอื่น คือ ลักษณะที่มีกลิ่นคล้ายเนย (slightly cheesy) โดยกลิ่นจากโรงจมูกนั้น บ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อในโพรงจมูก เช่น ไซนัสอักเสบ หรือ อาจจะมีภาวะอุดกั้นของโพรงจมูก เช่น polyps และอาจจะเกิดจากความผิดปกติแบบผิดรูป เช่น โรคเพดานโหว่
ในเด็กเล็กอาจเกิดจากที่เด็กเอาวัตถุแปลกปลอมใส่ในรูจมูก ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย และหนองจากโพรงจมูกมักจะเปื้อนทั่วตัวของเด็ก ทำให้อาจจะมีกลิ่นเหม็นทั่วตัว ทำให้การวินิจฉัยลำบาก
3. ต่อมทอนซิล (Tonsils)
พบเป็นสาเหตุได้ประมาณ 3% เท่านั้น ไม่ใช่สาเหตุหลัก ดังนั้นจึงไม่ควรรักษาโดยการผ่าตัดทอนซิลเพียงแค่ปัญหาเรื่องกลิ่นปากเท่านั้น
ในผู้ป่วยบางคนอาจจะมีหินก้อนเล็กๆจากลิ้น หรือจากต่อมทอนซิล ขณะที่เขาไอและมักจะมีกลิ่นเหม็น จึงทำให้ผู้ป่วยมักจะคิดว่ากลิ่นปากตัวเองเหม็น ซึ่งหินนั้นคือ tonsillolith ซึ่งออกมาจาก crypts of tonsils (ร่องของต่อมทอนซิล) ซึ่งรักษาได้โดยการใช้เลเซอร์ปิดร่องนั้น
4. อื่น ๆ (Others)
อาทิเช่น จากการติดเชื้อที่หลอดลม และปอด ไตวาย ตับวาย โรคมะเร็งต่าง ๆ โรคทางเมตาบอลิก ซึ่งโรคเหล่านี้พบได้น้อยมากในผู้ป่วยที่เดินเข้ามารักษาที่โรงพยาบาล
ตัวอย่างที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน ซึ่งมีกลิ่นลมหายใจเหม็นจากสารคีโตน พบเฉพาะในคนที่คุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี และจะไม่มีใครคนที่ระดับน้ำตาลคุมได้ดี
ภาวะลมหายใจมีกลิ่นเหม็นนี้แทบจะไม่พบว่ามาจากหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร หรือ ลำไส้เลย เนื่องจากหลอดอาหารในภาวะปกติจะแฟบ อาจจะมีกลิ่นได้ในขณะที่เรอแต่ว่าจะไม่มีกลิ่นเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้นการส่องกล้องดูกระเพาอาหาร (gastroscope) จึงไม่ควรทำในคนไข้ที่มีปัญหาเพียงแค่กลิ่นลมหายใจเหม็น
ในผู้ป่วยบางคนพยายามที่จะดับกลิ่นปากของตนเอง โดยการสูบบุหรี่ซึ่งกลับทำให้มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์จากบุหรี่เองโดยกลิ่นจากการสูบบุหรี่นี้จะยังคงออกมาจากลมหายใจแม้ว่าจะหยุดไปแล้วมากกว่าหนึ่งวันรวมถึงคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ว่าอยู่ใกล้กับผู้ที่สูบบุหรี่ด้วย
ผู้ป่วยที่มีปัญหาปากแห้ง (xerostomia) จะมีปัญหากลิ่นปากขณะที่ปากแห้ง ซึ่งคาดว่าจะเกิดจากภาวะเป็นกรด หรืออาจจะส่งผลต่อเชื้อโรคที่อาศัยในช่องปาก
การวินิจฉัย
ก่อนพบแพทย์ ผู้ป่วยควรจะหยุดกิจกรรมที่ใช้ปาก อาทิเช่น การกิน การดื่ม การเคี้ยว การสูบบุหรี่ หรือการแปรงฟัน อย่างน้อย 3 ชั่วโมงก่อนพบแพทย์ รวมถึงควรเลี่ยงสารที่มีกลิ่นหอม เช่น น้ำหอม ลิบสติกที่มีกลิ่นหอม
ซักประวัติ
ควรจะซักประวัติอย่างละเอียด โดยเฉพาะ สุขภาพในช่องปาก หรือว่า ผู้ป่วยเป็นผู้ที่หายใจทางปากหรือไม่ หรือว่ามีภาวะอุดกั้นของโพรงจมูกหรือไม่ ถามทั้งผู้ป่วยและผู้ติดตามว่าเขาคิดว่ากลิ่นนั้นออกมาจากไหน และทำไม
ที่สำคัญคือ ควรจะคิดถึงภาวะ Halitophobics ซึ่งมักจะพบในผู้หญิงซึ่งมักจะดูเศร้าสร้อย และเป็นทุกข์ใจมาก อาจจะร้องไห้ขณะพูดคุย โดยผู้ป่วยเหล่านี้ต้องการการบำบัดทางจิตใจคนเหล่านี้มักจะมีประวัติว่าแปรงฟันหลายหนต่อวัน ใช่ไหมขัดฟัน กลั้วปากบ่อย ๆ แต่ต้องระวังว่าคนเหล่านี้อาจจะมีภาวะผิดปกติทางกายจริง ๆ ร่วมด้วยก็ได้ เช่น อาจจะเกิดจาก Tonsillolith
การตรวจร่างกาย
ควรจะแยกชนิดของกลิ่นลมหายใจ หรือกลิ่นปากให้ได้ ได้แก่
1.กลิ่นจากเหงือก ซึ่งมักจะเกิดจากโพรงฟัน หรือช่องระหว่างฟัน
2.กลิ่นจากด้านหลังของโคนลิ้น ซึ่งต้องวินิจฉัยโดยใช้ spoon test
3.กลิ่นจากฟันปลอม ซึ่งพิสูจน์ได้โดยนำไปไว้ในถุงพลาสติกหลาย ๆ นาทีแล้วจะได้กลิ่น
4.กลิ่นจากจมูก ซึ่งดูได้ง่ายโดยการหายใจออกทางจมูก
5.กลิ่นจากการสูบบุหรี่
การตรวจพิเศษ โดย Sulfide Monitors
เป็นการทดสอบที่ไว และสามารถประเมินเชิงกึ่งปริมาณ และเชิงปริมาณได้เป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถใช้ทดแทนการดมการตรวจโดยแพทย์ได้
การรักษาหรือวิธีลดกลิ่นปาก
ในผู้ป่วยที่ทราบสาเหตุ ควรจะรักษาตามสาเหตุ ส่วนผู้ที่ไม่พบสาเหตุ หรือไม่ทราบสาเหตุที่แน่นอน ก็สามารถบรรเทาได้โดยวิธีต่าง ๆ ดังนี้
1. อย่าปล่อยให้ปากแห้งเพราะเมื่อปากแห้งความเข้มข้น
ของแบคทีเรียในปากจะเพิ่มมากทำให้เกิดกลิ่นปากได้ง่าย
2. ดื่มน้ำมากๆ ช่วยล้างแบคทีเรียออกจากน้ำลาย
3. แปรงฟันทุกครั้งหลังมื้ออาหาร และอย่าลืมแปรงด้านบนของลิ้น
อันเป็นที่เกิดของแบคทีเรียด้วย
4.ใช้ไหมขัดฟันวันละ 2-3 ครั้ง
5. ถ้าไม่สะดวกจะแปรงฟัน ให้บ้วนปากด้วยน้ำเปล่าหรือน้ำยาบ้วนปาก
6. เคี้ยวหมากฝรั่งชนิดที่ไม่มีน้ำตาล
7. เคี้ยวใบผักชีฝรั่งหรือกานพลูหลังมื้ออาหาร
8. งดอาหารกลิ่นแรง เช่น กระเทียม, หอมใหญ่, พริกไทย และชีส
9. หลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ หรือเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก
10. กินอาหารให้ครบหมู่ แม้ว่าคุณจะกำลังลดความอ้วนอยู่ก็ตาม
11.เลิกสูบบุหรี่
12.ตรวจสุขภาพฟันสม่ำเสมอ
เวลาที่จะทำการบ้วนปากด้วยน้ำยาทำความสะอาดที่ดีที่สุด คือ ช่วงเวลาก่อนนอน เนื่องจากจะทำให้น้ำยาทำความสะอาดตกค้างในปากได้นาน และออกฤทธิ์ได้นาน รวมถึง ขณะที่นอนหลับนั้น กลิ่นปากหรือกลิ่นลมหายใจจะเหม็นที่สุด เนื่องจากไม่มีการหลั่งน้ำลาย และจุลชีพทำงานได้ดีที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก : followhissteps.com