เลือกคณะวิชา: ข้อคิดที่ควรมาก่อนสถาบัน

เลือกคณะวิชา: ข้อคิดที่ควรมาก่อนสถาบัน

เลือกคณะวิชา: ข้อคิดที่ควรมาก่อนสถาบัน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คิดให้รอบคอบและมองอนาคตน่าจะเป็นสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและโปรดอย่างมองข้าม (ความปลอดภัย...) ในการสมัครคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โดยที่นักเรียนจำนวนไม่น้อยหรืออาจมากถึงมากที่สุดก็ว่าได้ มักไม่ได้ตระหนักคิดสักเท่าไหรในสิ่งที่ควรจะเป็นหลักเกณฑ์สำคัญสำหรับการตัดสินใจว่า จะเลือกคณะวิชาหรือมหาวิทยาลัยไหนดี

หากแต่โดยข้อเท็จจริงก็มักคิดเพียงว่า "ขอให้ผ่านการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ต้องการไว้ก่อนเท่านั้นเป็นพอแล้ว อย่างอื่นค่อนมาว่ากัน" ทัศนะและแง่คิดดังกล่าว หากยังมีอยู่ในหัวสมองก็นับว่า หนักเอาการ พูดง่ายๆ ก็คือ มองโลกแบบเก่ามากเกินไป โดยลืมคิดไปว่า ยุดสมัยนี้มหาวิทยาลัยเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้ว และโดยข้อเท็จจริงที่ปรากฏในระบบการเรียนการสอนไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัยรัฐหรือเอกชนเมื่อเปรียบเทียบกันแล้วมีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านมาตรฐานการเรียนการสอนหรือมาตรฐานการจัดการศึกษา และอะไรที่สามารถชี้วัดได้แน่นอนตายตัวว่า เมื่อจบไปแล้วจะหางานทำได้ง่ายหรือมีโอกาสก้าวหน้ามากกว่ากัน

บทสรุปที่ว่านั้น นับว่ายากที่จะมีคำตอบ และก็มักเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่า รวมไปถึงเป็นเพียงทัศนคติแบบเก่า ผ่านแนวคิดว่า เรียนในมหาวิทยาลัยเด่นดัง เก่าแก่มีชื่อเสียงย่อมมีเพื่อนฟ้องพี่ หรือที่เรียกว่า "รุ่น" ดีกว่า ด้วยเหตุผลที่ว่า สถาบันดังๆ เก่าแก่ ดังกล่าวมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน "รุ่น" จึงมีความหมายรวมถึงโอกาสในการช่วยเหลือเกื้อกูลในภายหน้ามากกว่าการเลือกเรียนในสถาบันใหม่หรือเอกชน ที่มักมีข้อสงสัยกันโดยทั่วไปว่า มีมาตรฐานเพียงพอหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านผู้สอนและมาตรฐานการจัดการเรียนการสอน เครื่องไม้เครื่องมือ และอาคารสถานที่

ข้อสังเกตดังกล่าว นับเป็นเรื่องสำคัญและมักเป็นปัญหาที่เรียกว่าไม่เล็กสักทีเดียว ด้วยมักพบว่า การลงทุนในการจัดการศึกษาของเอกชนมักต้องคำนึงต้นทุนกำไร การจะดำเนินการจัดสร้างอาคารสถานที่ จัดหาเครื่องไม้เครื่องมือที่มีคุณภาพระดับสูงจึงต้องคำนวณต้นทุนและผู้เรียนว่ามีจำนวนสัดส่วนพอเหมาะหรือเหมาะสมกันหรือไม่
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นต้องนำมาพิจารณาความสมกันด้วยเหมือนกัน อย่างไรก็ตาม สำหรับในแง่ของผู้สอนหรือคณาจารย์และอาคารสถานที่ เครื่องไม้เครื่องมือเมื่อเปรียบเทียบในระดับมาตรฐานคุณภาพ โดยรวมแล้ว อาจกล่าวได้ว่าถึงที่สุดแล้วโดยรวมมหาวิทยาลัย (ปิด) ของรัฐย่อมดีกว่าในแทบทุกด้าน เพราะรัฐมีงบประมาณสนับสนุน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีระบบหรือกระบวนการ รวมถึงวิธีการสนับสนุนที่หลากหลาย จนเป็นประเด็นต่อมาในปัจจุบันที่ทำให้มหาวิทยาลัยต้องเปิดหลักสูตรจำนวนมากเพื่อหารายได้เลี้ยงองค์กร/หน่วยงานของตน และผลก็คือ ผู้เรียนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในระดับที่สูงมากชนิดที่เรียกว่าไม่น้อยแต่มากกว่ามหาวิทยาลัยเอกชน (หลายแห่ง) ด้วยซ้ำไป

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในรายละเอียดบางกรณี ก็อย่าได้คิดเหมารวมไปเสียทั้งหมดว่า มหาวิทยาลัย (ปิด) รัฐ จะดีไปทั้งหมด ก็อย่างที่เขียนอธิบายไปแล้ว ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว มหาวิทยาลัยหรือสถาบันการศึกษาของรัฐก็ไม่ต่างไปจากเอกชนแต่ประการใด แม้ว่าจะมีสูตรท่องจำเสียจนขึ้นใจมาเนิ่นนานแล้วว่า เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ หรือคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ารับใช้สังคม หรือสืบต่ออนาคตของชาติ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า ค่าใช้จ่ายในการศึกษาแพงระดับที่ไม่น่าเชื่อ ในขณะที่มาตรฐานการจัดการเรียนการสอน รวมไปถึงหลักสูตรล้วนไม่ทันกับยุคสมัย เช่นเดียวกับบรรดาผู้สอนก็ล้วนมือใหม่ไม่ต่างจากสถาบันเอกชน หรือบางกรณีก็อาจมีประสบการณ์น้อยกว่าด้วยซ้ำไป ด้วยเหตุที่ว่า บรรดาคณาจารย์ที่เกษียณอายุราชการไปแล้วมักถูกซื้อตัวไปบริหารหรือสอนในสถาบันเอกชนซึ่งปรากฏให้เห็นเป็นจำนวนมากในขณะนี้ และย่อมสะท้อนให้เห็นว่า คุณภาพการสอนในมาตรฐานที่อยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นที่เชื่อถือได้และเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับทัศนคติแบบเก่าที่มองและคิดว่าเอกชนมีมาตรฐานต่ำกว่ามหาวิทยาลัย/สถาบันการศึกษาของรัฐ

ปัญหาที่เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาของรัฐในขณะนี้นั้นหนักหนาเอาการ โดยปัญหาด้านบุคลากรสอนที่มักอยู่ในช่วงการผลัดเปลี่ยนรุ่น ส่งผลต่อประสบการณ์ทั้งในการสอนและการทำวิจัย ในขณะที่ระบบการศึกษาปัจจุบันเน้นการทำงานในระบบการรายงานและการบันทึก วันทั้งวันจะมักง่วนอยู่กับเอกสาร ให้คำปรึกษานักศึกษา ตรวจการบ้านหรือรายงาน เป็นที่ปรึกษาให้การจัดกิจกรรมทั้งรายวิชาและนอกรายวิชามากกว่าจะค้นคว้า วิจัยอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งย่อมส่งผลต่อคุณภาพการสอนอย่างรุนแรงและน่าเป็นห่วงในปัจจุบัน
ด้วยเหตุที่เห็นและดำเนินอยู่ในปัจจุบัน จึงสะท้อนให้ชวนคิดว่า ในฐานะที่ต้องตัดสินใจเลือกคณะวิชาและสถาบัน ควรใช้เกณฑ์ใดเป็นลำดับก่อนและหลัง หากแต่กรอบแนวคิดที่ไม่ควรมองข้ามและละเลยโดยเด็ดขาดก็คือ "ต้องการเรียนอะไร และเป้าหมายชีวิตคืออะไร" อาทิ หากอยากเป็นนักสื่อสารมวลชน ที่จำเป็นต้องเลือกเรียนในคณะหรือวิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยทั้งของรัฐแลเอกชนที่เด่นก็ย่อมอยู่ในกลุ่มของจุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม รวมถึงมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นต้น ข้อเด่นของมหาวิทยาลัยเอกชนเหล่านี้ก็คือ เครื่องไม้เครื่องมือพร้อมสรรพที่ไม่น้อยกว่ามหาวิทยาลัยหรืออาจดีกว่าในบางกรณีด้วย

ในขณะเดียวกันกับสาขาวิชานิติศาสตร์ ก็อาจมีหลายตัวเลือก อาทิ จุฬา ธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันเก่าแก่มีชื่อเสียง และหากไม่อยากเครียดกับการลุ้นสมัครคัดเลือก ก็สามารถเรียนได้ในมหาวิทยาลัยเปิดของรัฐซึ่งมีอยู่สองแห่งที่สำคัญคือ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในขณะที่หากเป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ก็มีให้เลือกค่อนข้างเยอะ อาทิ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นต้น และก็เช่นเดียวกันกับ หากมีเป้าหมายเฉพาะในสถาบันการศึกษาประเภทปิดของรัฐ ก็ยังมีให้เลือกอีกมากมาย เพียงแต่ว่าเป็นคณะวิชาใหม่ทั้งที่แยกตัวออกมาจากคณะเดิมหรือเพิ่งจัดการเรียนการสอนได้ราวสิบปีหรือมากกว่า อาทิ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นต้น สำหรับข้อเด่นในสาขานี้ของมหาวิทยาลัยเอกชนก็คือ เป็นที่รวมของบรรดาคณาจารย์ที่มีชื่อเสียงที่เคยอยู่ในมหาวิทยาลัยของรัฐมาก่อน จึงไม่แปลกที่มักพบว่า ผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสถาบันเอกชนเป็นจำนวนมากผ่านการสอบเนติบัณฑิตได้ในเวลาอันสั้นหลังจากสำเร็จการศึกษามาแล้ว
จากที่กล่าวข้างต้น การเลือกเรียนในมหาวิทยลัยของรัฐและเอกชนในปัจจุบันจึงไม่ใช่คำตอบที่ถูกมากที่สุดเพียงคำตอบเดียวในความสำเร็จของชีวิตครับ........

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ภรณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook