"โอม" ศรัณย์ เลิศหิรัญวงศ์ คว้าทุน ธปท. เรียนโทด้านวิศวกรรมการเงิน
ตอนสมัครเรียนต่อในสาขา Financial Engineering ก็พอทราบมาบ้างว่าเป็นสาขาที่หลาย ๆ สถาบันการเงินต้องการ และมีการให้ทุนไปเรียนต่อในสาขานี้ในธนาคารหลาย ๆ แห่งด้วยกัน
คนเก่งพิชิตทุนที่เราพามาเผยเคล็ดลับประจำฉบับนี้ คือ "หนุ่มโอม" ศรัณย์ เลิศหิรัญวงศ์ ปัจจุบันทำงานในแผนกบริหารความเสี่ยง ธนาคารแห่งประเทศไทย อยากรู้ว่าโอมคว้าทุนอะไร และมีเทคนิคในการพิชิตทุนนี้อย่างไรบ้างต้องติดตาม
ผมสมัครทุนในสาขาวิชาที่หายากครับ ไปเรียนต่อปริญญาโท สาขา Financial Engineering ที่ Columbia University รัฐ New York สหรัฐอเมริกา
ตอนสมัครเรียนต่อในสาขา Financial Engineering ก็พอทราบมาบ้างว่าเป็นสาขาที่หลาย ๆ สถาบันการเงินต้องการ และมีการให้ทุนไปเรียนต่อในสาขานี้ในธนาคารหลาย ๆ แห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ธนาคารกสิกร ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย ซึ่งในแต่ละที่เขาจะมี requirement ว่าเราต้องได้เรียนในมหาวิทยาลัยอะไร และในสาขาอะไร นี่เป็นคุณสมบัติขั้นต้นในการสมัครทุนประเภทนี้ เพราะจะต้องมีที่เรียนที่แน่นอนแล้ว
ส่วนการเตรียมตัวในการสอบชิงทุนนั้น ตอนนั้นไม่ได้เตรียมอะไรมาก เพราะต้องการให้ได้ที่เรียนก่อน เพื่อสามารถนำไปขอทุนได้ และพอผมติดที่ Columbia สาขา Financial Engineering ถึงได้ไปยื่นสมัครขอทุน ที่ธปท. ตอนนั้นผมเตรียมหาข้อมูลคร่าว ๆ เกี่ยวกับ ธปท. เช่น อ่านลักษณะงานของ ธปท. และศึกษาโครงสร้างขององค์กรอย่างคร่าว ๆ เพื่อให้เห็นภาพของธปท.ชัดขึ้น เผื่อเป็นประโยชน์ในการสอบสัมภาษณ์ และอีกอย่างหนึ่งคือหาความรู้รอบตัวไว้เยอะ ๆ อ่านข่าวมาก ๆ เพื่อที่จะทำให้เรามีมุมมองใหม่ ๆ และทันโลกอยู่ตลอดเวลาครับ
ตอนสมัครทุนนี้ไม่มีการเขียน essay จะมีก็เป็นแนวการตอบคำถามที่เขาให้เรามาเตรียมตัวก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ครึ่งชั่วโมง จะมีประมาณ 10 คำถาม และให้เราเลือกตอบ 5 คำถาม โดยให้เราไป present คำตอบของเราในห้องสัมภาษณ์ เพื่อฝึกทักษะในการนำเสนอ การตอบคำถามอย่างเป็นเหตุเป็นผล และมีข้อมูลสนับสนุน ซึ่งการที่เราจะมีข้อมูลมาสนับสนุนได้นั้น เราต้องรู้ให้รอบ นั่นคือการหาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือการฟังข่าว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์มาก นอกเหนือจากการที่ทำให้เราเป็นคนมีความรู้กว้างแล้ว ยังทำให้เราสามารถคิดนอกกรอบได้อีกด้วย สำคัญมากในการตอบคำถามต่าง ๆ ครับ
ที่เลือกเรียนต่อทางด้านนี้ เพราะรู้สึกว่าผมเริ่มสนใจในเรื่องการเงิน ประกอบกับมีพื้นฐานความคิดแบบวิศวกร จากการเรียนวิศวกรรมไฟฟ้ามา พอรู้ว่ามี Financial Engineering ทำให้อยากไปศึกษาต่อทางด้านนี้สำหรับการเลือกมหาวิทยาลัยผมดูจาก Ranking ของมหาวิทยาลัย ในสาขาวิชา Quantitative Finance ซึ่ง Columbia University เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ และเป็นตัวเลือกแรกที่ผมอยากไปเรียน เหตุผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ นิวยอร์กเป็นเมืองที่เรียกได้ว่าเป็นใจกลางของวงการการเงินของโลกก็ว่าได้ นอกจากนี้หลักสูตรที่เลือกเรียนก็มีโอกาสให้เราได้ไปศึกษาดูงานในบริษัทต่าง ๆ ในนิวยอร์ก ว่าเวลาทำงานจริงเป็นอย่างไร อีกทั้งมีการเชิญวิทยากรมาเล่าถึงประสบการณ์จริงเป็นประจำ การเรียนที่นี่จะไม่ดูเป็นวิชาการมากเกินไป แต่จะเน้นแนวบริหาร (MBA) ด้วยครับ
การได้ไปเรียนในครั้งนี้เป็นการเรียนที่หนักมาก แต่ก็เป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำอย่างยิ่ง ทุกช่วงเวลาไม่ว่าจะเป็นการที่เราได้ฝึกใช้ชีวิตด้วยตัวเอง แก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้า และที่สำคัญคือการได้มิตรภาพที่ดีจากเพื่อน ๆ ทำให้การใช้ชีวิตในต่างประเทศไม่ว้าเหว่ ไม่เหงา แต่กลับสนุก และน่าจดจำ บางครั้งต้องอ่านหนังสือในห้องสมุด หรือทำรายงานข้ามวันข้ามคืนไม่ได้หลับไม่ได้นอน อาจเป็นช่วงเวลาที่ท้อแท้และเหนื่อยล้ามาก แต่เมื่อมันผ่านไป มันก็เป็นความทรงจำที่ดีว่าเราก็ผ่านมันมาได้ และก็ได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับเพื่อน ๆ ที่เรียนผ่านมาด้วยกัน เรียกว่า เหนื่อยแต่ก็มีความสุข นอกจากนี้การที่เราสามารถผ่านสิ่งยาก ๆ เหล่านี้มาได้ กลับทำให้เราแกร่งขึ้น และเป็นแรงผลักดันให้เราสามารถทำสิ่งอื่น ๆ ในอนาคตที่เราคิดว่ายากหรือเป็นไปไม่ได้ให้ผ่านพ้นไปได้ เพราะจริง ๆ แล้วไม่มีอะไรยากเกินความตั้งใจจริงของเราหรอกครับ
อนาคตผมคงจะยังทำงานใน ธปท. ต่อไป เพราะยังมีงานที่น่าสนใจและน่าเรียนรู้อีกมากมาย แต่ก็มีคิด ๆไว้ว่าอาจจะเรียนต่อปริญญาโทอีกใบ หรือไม่ก็ต่อปริญญาเอก ตอนนี้อนาคตยังไม่แน่นอน รอโอกาสและจังหวะดี ๆ ก่อนครับ
อยากฝากถึงเพื่อน ๆ ที่อยากสมัครทุน ธปท. บ้างว่า ไม่อยากให้คิดว่าอยากได้ทุน เพราะอยากได้เงินอย่างเดียว ดูจะเป็นแง่ของผู้รับอย่างเดียว แต่อยากให้คิดในแง่ของผู้ให้บ้างว่า เราสามารถทำอะไรให้กับองค์กรที่ให้ทุนเราได้บ้าง อยากให้ใช้ความสามารถของเรามาช่วยพัฒนาองค์กรที่เขาให้ทุนเราจริง ๆ และอยากให้คิดว่าทุนของธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นทุนที่มีเกียรติและเป็นที่ยอมรับ ผู้ที่ได้รับทุนย่อมได้มากกว่าเงิน แต่ได้มาซึ่งเกียรติประวัติที่ดีแก่ตนเองและวงศ์ตระกูลครับ
ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : ปิยะนุช zorau123@hotmail.com