ดูดีๆ เมื่อต้องส่งลูกไปเรียนเมืองนอก

ดูดีๆ เมื่อต้องส่งลูกไปเรียนเมืองนอก

ดูดีๆ เมื่อต้องส่งลูกไปเรียนเมืองนอก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"พ่อ จ๋า แม่จ๋า หนูอยากไปเรียนเมืองนอก" คำขอร้องของเด็กไทยบางคนที่เรียกร้องไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีฐานะทางการ เงินที่ดีพอจะส่งลูกคนหนึ่งไปเรียนต่อต่างประเทศ เพราะค่าเล่าเรียนในแต่ละครั้งไม่ใช่น้อยๆ เรียกได้ว่า เหยียบแสนกันทีเดียว ยิ่งช่วงปิดเทอมใหญ่แบบนี้ เวลาว่างของลูกจะมีเยอะมาก พ่อแม่บางคนเชื่อว่าการส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์ช่วงสั้นๆ ก็หวังจะได้ภาษา ได้ความรู้ ได้ทักษะชีวิตการช่วยเหลือตัวเองติดกลับมา

ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ บอกว่า การส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์ในช่วงสั้น ๆ นั้น บางครอบครัวก็ส่งไปเรียนตามแฟชั่น บ้างก็คิดว่าเป็นการเปิดหูเปิดตาให้กับเด็กๆ ซึ่งการจะส่งลูกไปเรียนไกลๆ แบบนี้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุด คือเรื่องของความปลอดภัย โดยสถาบันการศึกษาที่ส่งไปเรียนนั้นต้องมีคุณภาพ ได้รับการยอมรับและเชื่อถือได้ และควรมีเรื่องของกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ และควรฝึกให้ลูกของเรามีวัฒนธรรมที่ดีงาม เพื่อนำไปแสดงต่อต่างชาติได้อย่างน่าภูมิใจ ทั้งนี้ผู้ปกครองเองควรต้องรู้จักบุตรหลานของตนว่าเป็นผู้ที่มีความรับผิด ชอบ มีระเบียบวินัยมากพอหรือไม่ เพราะเด็กต้องรู้จักหัดดูแลตัวเองให้ได้ ซึ่งถือเป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ

"ใจผมรู้สึกว่าเด็กควรเกิดการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งบางครั้งหากพ่อแม่ต้องการจะส่งลูกไปเรียนเมืองนอกเพราะแค่ต้องการให้ลูก ได้ภาษา บางทีอาจไม่ได้ผล เพราะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ อาจต้องระวัง แต่ถ้าต้องการจะส่งลูกไปจริงๆ ก็ต้องดูที่ตัวลูกเราเองว่ามีความรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน เพราะไปอยู่ต่างประเทศต้องมีวินัยในการดูแลตัวเอง อย่างเด็กบางคนอยู่บ้านยังไม่ดูแลข้าวของเอง เก็บที่นอนก็ไม่เป็น หากินเองก็ยังไม่เป็น ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องฝึกให้เค้าทำ"ดร.อมรวิชช์กล่าว

ผู้อำนวยการสถาบันรามจิตติ ยังมองว่า ช่วงอายุที่เด็กจะไปเรียนไกลๆ แบบนี้ ควรเป็นช่วงระดับชั้น ม.3 ซึ่งถือเป็นวัยที่สามารถดูแลตัวเองได้แล้ว แต่ก็อาจไม่เป็นตัวยืนยันที่ชัดเจนเสมอไป เพราะบางบ้านลูกที่อายุน้อยๆ ก็มีวินัยพอที่จะดูแลตัวเองได้ดีกว่า ขณะเดียวกันสิ่งที่สำคัญคือเรื่องของเพื่อน ซึ่งอาจารย์อมรวิชช์แนะนำว่าพ่อแม่ควรจะดูกลุ่มเพื่อนของลูกให้ดีๆ เพราะถ้าเจอเพื่อนกลุ่มที่สร้างสรรค์ ทำดี ก็ถือเป็นเรื่องดีไป แต่ถ้าตรงกันข้าม บางทีพ่อแม่อาจต้องนั่งกุมขมับ

"ผมอยากฝากให้ดูกลุ่มเพื่อนของลูกๆ ให้ดี เพราะเป็นเรื่องสำคัญ ยิ่งช่วงวัยรุ่นที่เป็นช่วงวัยที่กำลังแรง หากไม่ระวังไปเจอกลุ่มเพื่อนที่ชวนทำอะไรที่ไม่สร้างสรรค์อันนี้ก็จะถือว่า เป็นเรื่องที่เสี่ยง หากลูกไปเตลิดเปิดเปิงก็น่ากลัว แต่บางครั้งถ้าพ่อแม่คิดอยากส่งลูกไปเพื่อเรียนภาษา บางทีอาจไม่ได้ผล เพราะผมเคยเจอเด็กที่พูดภาษาอังกฤษได้ดี จนผมคิดว่าเค้าไปเรียนเมืองนอกมา แต่ตัวเด็กเองไม่เคยไปเรียนเมืองนอกเลย แค่เป็นคนที่ชอบฟัง อ่านจากสื่อ จากหนัง ซึ่งเด็กๆ สามารถฝึกทักษะทั้ง 4 ฟัง พูด อ่าน เขียนได้จากสื่อเหล่านี้ เดี๋ยวนี้มีจานดาวเทียมติดกันเกือบทุกบ้าน สาระดีๆ มีอยู่ในนั้น" อาจารย์อมรวิชช์ กล่าว

ด้านนายแพทย์ประเวช ตันติพิวัฒนสกุล ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมสุขภาพจิตเพื่อสุขภาวะสังคมไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาสิ่งที่เคยพบปัญหาสภาพจิตใจของเด็กที่ไปเรียนต่อต่างประเทศ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการปรับตัว อาหารการกิน อากาศ ภาษา และการเรียนการสอน หากพักกับครอบครัว ก็จะขึ้นอยู่ว่า เข้ากันได้กับครอบครัวที่ทำหน้าที่จัดที่พักและอาหารได้หรือไม่ เนื่องจากระบบการเรียนการสอนของไทยกับต่างประเทศต่างกัน โดยของไทยยังเน้นการเรียนแบบท่องจำ และตามที่ครูสอน ขณะที่ต่างประเทศ เน้นที่นักเรียนค้นคว้า คิดและลองทำ พึ่งตนเองมากกว่า ทำให้ต้องปรับตัวด้านการเรียน แต่ที่ก่อปัญหาได้มาก คือ เรื่องปากท้อง คือ รสชาดอาหาร ไม่ถูกปาก โดยผู้ที่ชอบทานรสจัด จะยิ่งปรับตัวยากกว่า เพราะอาหารต่างประเทศส่วนใหญ่จะจืดกว่าอาหารไทย

สำหรับคำว่า "ช็อคทางวัฒนธรรม" นายแพทย์ประเวช เล่าว่า การช็อคทางวัฒนธรรม เป็นคำรวมๆ ที่บอกว่า เขาปรับตัวไม่ได้ และวัฒนธรรมก็ครอบคลุมทั้งเรื่องการกิน การสื่อแสดงออก การวางตัว กฎเกณฑ์เวลาอยู่ร่วมกัน ทุกอย่างที่เป็นวิถีชีวิตเป็นเรื่องของวัฒนธรรม ดังนั้น การไปอยู่ต่างแดนที่มีวิถีชีวิตและความเชื่อพื้นฐานต่างกัน ก็ต้องอาศัยเวลาในการปรับตัว อีกเรื่องหนึ่ง ปกติเวลาเราอยู่ประเทศไทย เราทำอะไรได้ก็รู้สึกภูมิใจ แต่เมื่อไปที่นั่น หากมีปัญหาภาษา เรียนไม่รู้เรื่อง ไม่มีเพื่อน ทำอะไรก็ยังไม่สำเร็จเหมือนสมัยอยู่เมืองไทย ก็ทำให้เสียความเชื่อมั่นได้มาก

"เวลาที่คนเราปรับตัวไม่ ได้ ก็จะแสดงอาการออกมาได้หลายทาง ในด้านอาการทางกาย อาจกินไม่ค่อยได้ นอนหลับไม่ดี อาหารไม่ย่อย ปวดมึนหัว เป็นต้น ในด้านความคิด อาจมีความคิดวนเวียนกับปัญหาที่ยังปรับตัวไม่ได้ สับสน หรือบางรายก็ซึมเศร้า เสียความเชื่อมั่นในตัวเอง บางรายที่เป็นมาก อาจมีอาการทางจิตเวช ถ้าเป็นมาก บางคนก็ไม่สามารถอยู่เรียนต่อได้ จำเป็นก็ต้องกลับบ้าน แต่การตัดสินใจส่งลูกกลับทันทีมัก เป็นเรื่องยาก เพราะเหมือนเป็นการถอยหลัง ซึ่งก็มีความจำเป็นในบางกรณี เช่น มีอาการเครียดรุนแรงจนไม่สามารถดูแลตนเองได้ หรือหากมีอาการทางจิตชัดเจน ก็ควรส่งตัวกลับ แต่ในบางกรณี อาการก้ำกึ่ง ควรประเมินใกล้ชิด เพื่อตัดสินใจ โดยให้ลูกมีส่วนร่วม และมีผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจช่วยสังเกตและประเมิน หากสงสัยว่าป่วยทางจิต อาจต้องมีการประเมินโดยจิตแพทย์"นายแพทย์ประเวชกล่าว

สุดท้ายนี้ นายแพทย์ประเวชยังได้กล่าวฝากไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองไว้ว่า การตัดสินใจไปเรียนต่อเมืองนอกไม่มีอะไรจะดีเท่ากับการได้อยู่กับพ่อแม่ จึงควรส่งลูกไปเมื่อเขาโตพอสมควรแล้ว และควรเตรียมความพร้อมให้เขาพึ่งตนเองได้ให้มากที่สุด ฝึกให้มีทักษะในการดำรงชีวิต หากเป็นไปได้ ควรมีโอกาสได้ทดลองอยู่ที่นั่นระยะสั้นๆ ดูว่าเป็นอย่างไร นอกจากนี้ ในยามเจ็บป่วยมักเป็นช่วงเวลาที่จิตใจเปราะบาง หากลูกมีทักษะพื้นฐานในการดูแลสุขภาพ ก็จะช่วยได้มากควรทำความรู้จักกับครู และผู้ใหญ่รอบตัวลูก เพื่อช่วยเป็นหูเป็นตา ช่วยดูแล เป็นที่ปรึกษา และมีการติดต่อกันสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงที่ลูกต้องการกำลังใจ

และไม่ว่ากระแสฮิตส่งลูก ไปเรียนนอกจะยังเป็นกระแสหรือไม่ หรือยังจะมีเด็กไทยอีกสักกี่บ้านที่อยากส่งลูกไป ก็คงไม่ว่ากัน เพราะทุกอย่างมีทั้ง 2 ด้านเสมอ แต่ถ้าจะเลือกให้ลูกไปเรียนไกลตาแบบนี้ อย่าลืมนำข้อแนะนำต่างๆ นี้ไปใช้ เงินที่เสียไปกับค่าเล่าเรียนจะได้ไม่เปล่าประโยชน์ แต่ที่สำคัญคุณค่าไม่ใช่อยู่ที่ตัวเงิน หากแต่อยู่ที่ตัวลูกๆ ของคุณว่าเค้าจะได้รับอะไรกลับมามากกว่า

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th

โดย sunanta

กด Like เพื่อติดตามเรื่องเด็ดๆ โดนๆ จากทีมงาน Sanook! Campus

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook