"สุจินต์ สุขะพงษ์" แนะเคล็ดชิงทุน สกอ. โครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร

"สุจินต์ สุขะพงษ์" แนะเคล็ดชิงทุน สกอ. โครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร

"สุจินต์ สุขะพงษ์" แนะเคล็ดชิงทุน สกอ. โครงการแลกเปลี่ยนบุคลากร
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และจีน

จากนโยบายของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ที่มุ่งเน้นให้บุคลากรทางการศึกษาของไทย ได้มีโอกาสพัฒนาทักษะทางด้านวิชาการ เพื่อเตรียมพร้อมในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาจึงสนับสนุนให้เกิดโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรและนักศึกษากับประเทศภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพื่อพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน

ด้านมหาวิทยาลัยศรีปทุมเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาทางด้านวิชาการของคณาจารย์ภายในมหาวิทยาลัยเช่นกัน จึงให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยได้คัดเลือก "อ.สุจินต์ สุขะพงษ์" อาจารย์ประจำภาควิชาอุตสาหกรรมบริการ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม เป็นตัวแทนในการสมัครชิงทุนในโครงการครั้งนี้

อ.สุจินต์ สุขะพงษ์ เปิดเผยว่า "ทุนนี้เป็นทุนที่ทาง สกอ.จัดตั้งขึ้นมา เพื่อเป็นโครงการแลกเปลี่ยนบุคลากรทางการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยกับประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย ไทย ลาว พม่า กัมพูชา เวียดนาม และจีน ซึ่งผมได้ติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของทุนนี้มาประมาณ 2 ปีแล้ว คิดว่าเป็นทุนที่ไม่ง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถที่จะทำได้ ผมรวบรวมประวัติและผลงานการสอนของตัวเองไปให้ทาง สำนักงานวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ช่วยดำเนินการประสานงานให้และเสนอเรื่องไปทาง สกอ. ในที่สุดก็ได้รับการอนุมัติทุน จนมาลงตัวที่ "มหาวิทยาลัยไป๋เซอะ" (Baise University) มณฑลกวางสี สาธารณรัฐประชาชนจีน"

"กิจกรรมหลักๆที่ไปทำก็คือ การสอนหนังสือ เพราะที่นั่นมีการเรียนการสอนในหลักสูตร Tourism & Hospitality ซึ่งตรงกับสาขาวิชาที่ผมสอนอยู่ ผมได้เตรียมการสอนไปทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ และอีกกิจกรรมที่ต้องทำคือ การเป็น Guest Speaker เข้าไปสอนเสริมในวิชาภาษาไทย ไปเสริมทางด้านสำเนียงการพูด เพราะปัจจุบันมีนักศึกษาจีนให้ความสนใจเรียนภาษาไทยกันมาก รวมถึงการเผยแพร่วัฒนธรรมประเพณีของไทยเราด้วย"

"กิจกรรมที่ทางคณะกรรมการการอุดมศึกษาเน้น ก็คือ มุ่งเน้นการสอนและบรรยาย การทำวิจัยหรือวิจัยร่วม การให้คำปรึกษาเพื่อพัฒนาหลักสูตร วิธีการเรียนการสอน รวมถึงการสร้างและสานต่อความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาในประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยมีระยะเวลาแลกเปลี่ยน 4 เดือน"

อ.สุจินต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า "โครงการนี้เป็นโครงการสำคัญโครงการหนึ่งที่จะมีส่วนในการพัฒนาการเรียนการสอนของเรา และเป็นการสานสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศจีนให้แน่นแฟ้นมากขึ้น เราจะได้เรียนรู้ระบบการศึกษาของจีนด้วยว่าเป็นอย่างไร เพราะนักศึกษาจีนส่วนใหญ่มีประสิทธิภาพในด้านต่างๆมากมาย เหล่านี้คิดว่าเป็นประโยชน์มาก เพราะจะได้นำเอาเทคนิคการสอนที่จะเป็นประโยชน์กับนักศึกษาไทยมาปรับใช้ต่อไป"

สุดท้ายนี้ผมอยากฝากเอาไว้ว่า "ไม่ว่าจะเป็นคณาจารย์หรือนักศึกษาไทยทุกคนว่า โอกาสดีๆของเรามีอยู่ตลอดเวลา อยู่ที่เราไขว่คว้าหรือไม่ แหล่งข้อมูลของทุนการศึกษาต่างๆมีมากมาย เพียงแค่เราเปิดโอกาสให้ตัวเอง มีความมุ่งมั่น ตั้งใจจริงๆ อย่างไรก็ต้องประสบความสำเร็จเข้าสักวัน สำหรับผมคิดว่าระยะเวลา 4 เดือน ที่เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ เป็นการเดินทางที่มีจุดหมายและได้ประโยชน์มากมายอย่างแน่นอนครับ"

ที่มา "การศึกษาวันนี้"
ผู้เขียน : กองบรรณาธิการ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook